Facebook on June 26, 2015, 12:30:48 PM
นานมีบุ๊คส์ร่วมกับราชบัณฑิตยสภาเปิดตัวพจนานุกรมเล่มใหม่ ให้คนไทยใช้ภาษาไทยถูกต้อง-ตามกระแส









          นานมีบุ๊คส์ร่วมกับราชบัณฑิตยสภาเปิดตัวพจนานุกรมเล่มใหม่ ให้คนไทยใช้ภาษาไทยถูกต้อง-ตามกระแส "พจนานุกรมคำใหม่ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑-๒" และ "ศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ พิมพ์ครั้งที่ ๔ (แก้ไขเพิ่มเติม)"

          นานมีบุ๊คส์ร่วมกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เปิดตัวหนังสือพจนานุกรม ๒ เล่ม ได้แก่ "พจนานุกรมคำใหม่ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑-๒" และ "ศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ พิมพ์ครั้งที่ ๔ (แก้ไขเพิ่มเติม)" หนังสือที่คนไทยทุกคนควรอ่าน และใช้อ้างอิง โดยหวังกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าและความงดงามของภาษาไทย เพื่อช่วยกันรักษาภาษาไทยและสร้างความเจริญงอกงามแก่ภาษาไทยสืบไป ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น ๕ อาคารนานมีบุ๊คส์เฮาส์ ซอยสุขุมวิท ๓๑

          สุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และพงษ์ศักดิ์ ศิริวงษ์ รองเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานร่วมจัดงาน พร้อมได้รับเกียรติจาก พจมาน พงษ์ไพบูลย์ อดีตที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.วิภาส โพธิแพทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาและวรรณคดีไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และครูทอม-จักรกฤษ โยมพยอม ติวเตอร์ภาษาไทยและแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่ มาร่วมเสวนาในประเด็น "คนไทยใช้คำไทย" โดยมี ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ ดำเนินรายการ

          สุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า "นับเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งของ นานมีบุ๊คส์ ที่ได้รับความไว้วางใจจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ให้อนุญาติจัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือพจนานุกรมคำใหม่ และศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ ด้วยตระหนักว่าพจนานุกรม เป็นหนังสือสามัญประจำบ้านที่ทุกครอบครัวคนไทยควรมีไว้อ่าน ไว้ใช้อ้างอิง เพราะการใช้ภาษาไทย รู้จักใช้คำและเข้าใจความหมายอย่างถ่องแท้เป็นคุณสมบัติที่ดีของคนไทยทุกคน ยิ่งไปกว่านั้น พจนานุกรมยังเป็นหนังสือที่สามารถใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพต่างสมควรใช้พจนานุกรมในการตรวจสอบการใช้ภาษาโดยเฉพาะภาษาเขียนให้ถูกต้อง และยังเป็นการร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทย วัฒนธรรมและมรดกประจำชาติของเราอีกด้วย"

          พจมาน พงษ์ไพบูลย์ อดีตที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวถึงความสำคัญของประเด็นคนไทยควรใช้คำไทยไว้ว่า "ภาษาไทยเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ เพราะจะเป็นสิ่งเดียวที่ยืนยันถึงตัวตนของเราว่านี่คือสยามประเทศ ด้วยเหตุนี้พจนานุกรมจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนไทยเป็นอย่างมาก เพราะเรามีภาษาต่างประเทศเข้ามามากมาย บางครั้งเราไม่แน่ใจว่าคำที่เราใช้อยู่เป็นภาษาไทยแท้หรือเปล่า เกิดการใช้ภาษาปนกันไป เมื่อเรามีพจนานุกรมก็จะทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่าคำนี้ใช้ถูกหรือไม่ ซึ่งพจนานุกรม ๒ เล่มนี้จะเป็นคู่มือหลักในการใช้คิดค้นหาคำและความหมาย สอนการเลือกใช้คำให้ถูกกาลเทศะ และเป็นตัวแบบของภาษาเขียนและภาษาพูดที่สละสลวย แทนการใช้ไทยคำอังกฤษคำ เช่น "จะไปไฟล์ทไหน" ควรใช้ว่า "จะไปเที่ยวบินไหน" หรือ "อิมเมจไม่ดีเลยเด็กคนนี้" ควรใช้ว่า "ภาพลักษณ์ไม่ดีเลยเด็กคนนี้" เป็นต้น หากเราไม่สามารถใช้คำภาษาตัวเองพูดให้คนในประเทศตัวเองเข้าใจ จะสามารถไปพูดกับคนชาติอื่นได้อย่างไร"

          ดร.วิภาส โพธิแพทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาและวรรณคดีไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมไว้ว่า "การใช้คำภาษาต่างประเทศมีมานานแล้ว เช่น ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต หรือภาษาเขมร เพราะบางทีเรายังไม่มีคำที่จะมาแทนความคิดนั้นๆ เราจึงต้องยืมคำนั้นๆ ของภาษาอื่นๆ มา แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย เพราะพื้นความรู้แต่ละคนจะไม่เท่ากัน เมื่อฟังแล้วอาจได้ความหมายไม่ตรงกัน หรืออาจจะไม่เข้าใจสิ่งที่พูดทั้งหมดเลย ก็จะทำให้การสื่อสารผิดพลาดได้เพราะฉะนั้นหากเรามีคำไทยที่ใช้อยู่แล้ว เราก็ควรใช้คำไทย เพราะจะสื่อได้ดีกว่า แต่ถ้าเราไม่มีคำไทย ก็สามารถใช้ทับศัพท์ได้"

          "หนังสือพจนานุกรมคำใหม่ จะเป็นประโยชน์สำหรับหลายๆ คนที่ได้อ่านโซเชียลมีเดีย หรือในกลุ่มสื่อมวลชน บางทีเราอาจไม่ทราบความหมาย เราก็สามารถหาได้จากเล่มนี้ ซึ่งในเล่มก็จะบอกไปถึงคำอีกคำที่สามารถให้ความหมายได้ใกล้เคียงกัน ใช้อย่างไร บางทีก็บอกที่มาด้วย อย่างคำว่า "กวนโอ๊ย" (คำว่า โอ๊ย มาจากภาษาจีน แปลว่ารองเท้า) เป็นต้น"

          "สำหรับศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ จะช่วยคลายความอึดอัดเมื่อเราต้องใช้ภาษาเขียน บางทีเราใช้คำต่างประเทศจนชิน เวลาเขียนไม่รู้ว่าคำนี้ใช้ภาษาไทยที่เป็นทางการว่าอะไร อย่างหากเราเขียนจดหมายธุรกิจหรือจดหมายราชการ หากใช้คำทับศัพท์ที่เป็นภาษาปากลงไปก็จะลดความเป็นทางการลง ถ้าเรามีคู่มือเล่มนี้ก็จะมีประโยชน์มาก"

          ครูทอม-จักรกฤต โยมพยอม ติวเตอร์ภาษาไทย และแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่ กล่าวเสริมอีกว่า "เด็กไทยปัจจุบันจะใช้ภาษาต่างประเทศปนกับภาษาไทย ซึ่งบางครั้งเราใช้ภาษาต่างประเทศโดยที่ไม่จำเป็น ถ้ามีภาษาไทยใช้ก็ขอให้ใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะการเขียน ถ้าเราสะกดเป็นภาษาไทยจะง่ายกว่าสะกดเป็นภาษาอังกฤษ และพอสะกดก็มักจะสะกดผิดกัน เช่น "ซีรีส์" หลายคนสะกดว่า "ซีรีย์" เวลาเราจะเขียนคำทับศัพท์เราต้องลองนึกก่อนว่าภาษาอังกฤษสะกดอย่างไร อย่างคำว่า "แก๊ง" มาจากภาษาอังกฤษ "gang" หลายคนชอบสะกดว่า "แก๊งค์" ซึ่งผิด ในกรณีนี้หากเราสะกดไม่ถูกก็ควรจะใช้คำไทยไปเลยว่า "กลุ่ม" ซึ่งจะทำให้เข้าใจได้ดีเหมือนกันและสามารถสะกดได้ถูกต้องอีกด้วย"

          "พจนานุกรมคำใหม่นอกจากจะบันทึกคำศัพท์ต่างๆ สำหรับวัยรุ่น ยังเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใหญ่อีกด้วย เพราะคุณพ่อคุณแม่ถ้าลองได้มาเปิดอ่านเล่มนี้ ก็จะเข้าใจภาษาของลูกมากขึ้น จะทราบว่าคำนี้ใช้ในความหมายไหนบ้าง หากคุณพ่อคุณแม่ใช้คำเหล่านี้ในกรุ๊ปไลน์ครอบครัวจะทำให้ลูกหลานสนใจพวกท่านมากขึ้น ช่วยลดช่องว่างระหว่างวัย และกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้มากขึ้น"

          "ส่วนศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ ดีมากเลย เพราะบางครั้งตัวผมเองบางครั้งเวลาจะพิมพ์คำบางคำเป็นภาษาไทยก็ไม่รู้ว่าเขาใช้คำว่าอะไร เราก็ต้องใช้คำทับศัพท์ หรือบางครั้งเราไม่รู้ว่าคำทับศัพท์สะกดอย่างไรถึงจะถูกต้องตามหลัก เราก็เลยต้องสะกดเป็นภาษาอังกฤษแทน ซึ่งจริงๆ แล้วหากคำนั้นๆ มีคำไทยให้ใช้ก็ควรใช้คำไทย ซึ่งคิดว่าเล่มนี้เป็นประโยชน์มากๆ โดยเฉพาะสื่อมวลชน หรือรายการโทรทัศน์ หากมีการพิมพ์เป็นตัวหนังสือ ควรใช้เล่มนี้เป็นคู่มือประกอบเพราะจะช่วยให้ใช้ได้ถูกต้อง รวมถึงเล่มนี้มีการใช้คำภาษาไทยที่ครอบคลุมมากๆ ไม่ว่าภาษาอังกฤษคำไหน เราก็มีภาษาไทยใช้ได้"

           พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม ๑-๒ เก็บรวบรวมคำและสำนวนที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคมไทยไว้มากกว่า ๑,๐๐๐ คำ โดยเรียงหมวดตามพยัญชนะ ก-ฮ เช่น กรีดนิ้ว กะเปิ๊บ เสร่อ และอินดี เป็นต้น คำเหล่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน และโดยปกติภาษาจะมีการผันแปรและเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับสังคม ดังนั้น ภาษาไทยจึงผันแปรไปตามความเป็นไปของสังคมไทยด้วย

          ศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ เล่ม ๑ พิมพ์ครั้งที่ ๔ (แก้ไขเพิ่มเติม) เป็นหนังสือที่รวบรวมคำต่างประเทศซึ่งเป็นคำทั่วๆ ไปที่คนไทยนิยมใช้โดยการทับศัพท์ โดยรวบรวมจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และที่พูดกันในชีวิตประจำวันไว้มากถึง ๘๕๓ คำ โดยเรียงตามตัวอักษร A-Z กับคำอ่านภาษาไทยและคำไทยที่ใช้แทน เช่น go interออกสู่สากล homestay เรือนแรม เป็นต้น

          พจนานุกรมคำใหม่ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑-๒ ราคาเล่มละ ๓๐๐ บาท และศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ พิมพ์ครั้งที่ ๔ (แก้ไขเพิ่มเติม) ราคาเล่มละ ๒๕๐ บาท จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด วางจำหน่ายแล้วที่ร้านแว่นแก้ว และนานมีบุ๊คส์ช็อปทุกสาขา และร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือสอบถามที่ Nanmeebooks Call Center ๐-๒๖๖๒-๓๐๐๐ กด ๑ www.nanmeebooks.com และ www.facebook.com/nanmeebooksfan