บทสัมภาษณ์ “ฝน-ขนิษฐา ขวัญอยู่” นั่งแท่นผู้กำกับครั้งแรก ในภาพยนตร์ผี-ระทึกขวัญเรื่อง “อาปัติ”
แนะนำตัว-ประวัติการทำงาน
สวัสดีค่ะ "ฝน - ขนิษฐา ขวัญอยู่" ค่ะ เป็นผู้กำกับและเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง "อาปัติ" ค่ะ
ฝนจบปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพค่ะ ตอนนั้นสมัยที่เรียนอยู่ปี 4 ก็ทำโปรเจ็คต์หนังสั้นขี้นมาเรื่องหนึ่งคือเรื่อง "เวลา...รัก" ตอนนั้นมีผู้กำกับฯ กับนักวิจารย์เยอะมากที่ได้ไปดูผลงาน มีการตัดสินชิงรางวัลกันในมหาวิทยาลัยฯ แล้วก็ดันไปเข้าตา ได้หลายรางวัลในปีนั้น แล้วหลังจากนั้นก็ส่งประกวดเทศกาลหนังสั้นของมูลนิธิหนังไทย ครั้งที่ 12 (พ.ศ. 2551) ได้ Popular Vote อันดับ 4 มั้งคะ แล้วก็เลยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทาง GTH ก็เลยมาหยิบเรื่องนี้ไปพัฒนาต่อเป็นหนังยาวเรื่อง "ความจำสั้น แต่รักฉันยาว"
หลังจากนั้น เราก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมผลิตหนังไทย ถูกชักนำโดย "พี่อ๊อด-บัณฑิต ทองดี" กับ "พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว" ตอนนั้นก็เริ่มหนังเรื่องแรกด้วยการทำคอนทินิวเรื่อง "ฝัน หวาน อาย จูบ" ของพี่อ๊อดค่ะ แล้วก็ได้ไปทำผู้ช่วยผู้กำกับ "ความจำสั้น แต่รักฉันยาว" ที่ GTH ต่อจากนั้นเราก็เริ่มมีงานเขียนบทเรื่อยๆ มา แล้วปัจจุบันก็ได้เป็นอาจารย์พิเศษวิชาเขียนบทภาพยนตร์กับวิชาการเล่าเรื่องที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาควิชาภาพยนตร์ค่ะ
ความทรงจำแรกเริ่มที่มีต่อภาพยนตร์
คือจริงๆ ฝนชอบดูหนัง แล้วที่บ้านเป็นธุรกิจหนังกลางแปลงด้วย แต่ตอนเด็กๆ มันเหมือนเป็นอะไรคาใจเฉยๆ ว่าบ้านเราฉายหนังกลางแปลง แต่พ่อไม่ให้เราไปดูหนังกลางแปลง มันก็เลยมีความอยากดูอยู่ตลอดอะไรอย่างนี้ คือเราเป็นลูกสาว (หัวเราะ) โตขึ้นมาแล้วเป็นอย่างงี้กระโดกกระเดก หนังกลางแปลงสมัยก่อน มันดึก ถ้าจะได้รับอนุญาตให้ดูเนี่ย ก็จะได้ดูเรื่องแรกที่จะฉายหัวค่ำ ซึ่งมันยังไม่ใช่เรื่องพีคๆ ที่มันสนุก เรื่องที่พีคมันคือประมาณเรื่องที่สามหรือเรื่องสุดท้ายอะไรอย่างงี้ มันก็จะต้องกลับดึก ก็จะมีแต่พวกพี่ชายไปดูกัน พ่อเค้าก็เหมือนหวงห่วงอ่ะค่ะ แล้วมันยิ่งทำให้เรารู้สึกแบบ..พี่ชายมันชอบกลับมาพูดกันแล้วเราไม่รู้เรื่อง จนเราเริ่มคลี่คลายความรู้สึกนี้เมื่อมันมีวิดีโอเข้ามา พ่อก็จะให้เราไปเช่าวิดีโอมาดูที่บ้านประมาณนี้ค่ะ พอโตขึ้นมามันก็เลยเหมือนเป็นเพื่อนไปเลย
ช่วงยุควิดีโอเข้ามานั้น ที่บ้านฝนก็ยังทำธุรกิจหนังกลางแปลงอยู่นะคะ นี่เพิ่งจะหยุดเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วเอง อันนี้คือที่ลพบุรีนะคะ ฝนเป็นคนลพบุรีค่ะ หนังกลางแปลงของเราก็จะฉายที่ประจำ แล้วก็เร่ไปที่ต่างๆ ด้วย แต่ช่วงหลังเราจะไม่ได้เร่ เราจะได้รับจ้างตามงาน แต่ช่วงสมัยก่อน ตอนที่เรายังเล็กๆ ก็เร่หนังกันค่ะ หนังกลางแปลงของที่บ้านที่ฉายนี่ก็ผสมกันไปค่ะ ส่วนใหญ่แล้วหนังแอ็คชั่นจะพีคมากตอนนั้นนะคะ แล้วก็จะเป็นหนังผีจีน แล้วก็พวกหนังกำลังภายในต่างๆ บินได้ เหาะได้ กระบงกระบี่ไรงี้ แต่ก็มักจะไม่ค่อยได้ดูค่ะ (หัวเราะ)
ความชอบดูหนังจริงๆ ก็พูดได้ว่าได้อิทธิพลมาจากครอบครัวส่วนหนึ่ง
น่าจะเป็นอย่างนั้นนะคะ แล้วฝนก็กลายเป็นคนชอบดูหนังไทยเก่าๆ พวกยุคแบบอาเอก สรพงษ์อะไรเหล่านั้นเลย คือแบบว่าโตขึ้นมากับบ้านที่ข้างล่างมันเป็นออฟฟิศ มีโปสเตอร์แปะๆ อยู่ไรงี้ ตอนเด็กๆ ก็ชอบไปขูดเล่น (หัวเราะ) เค้าไม่ให้ไปดูหนังก็ฉีกโปสเตอร์ ทุกวันนี้เสียดายมาก ถ้ารู้ว่ามันมีมูลค่าขนาดนี้ จะไม่เอาความโมโหไปลงที่ใบปิดหนังเลยค่ะ
ถ้าถามความชอบส่วนตัว แนวหนังที่ชอบดูจะเป็นแนวไหนเป็นพิเศษ
ฝนชอบหนังที่เหมือนหนังดราม่า เหมือนหนังที่มัน coming of age เติบโตขึ้นไปกับเค้าอ่ะค่ะ มันเหมือนแบบ พอดูแล้วเราอิน แล้วก็หนังรักต่างๆ เวลาดูแล้วแบบชอบจังเลย มันมีช่วงยุคนึงที่เป็นยุคหนังรักเลย จะมีหนังรักออกมาเยอะมาก แล้วก็ดีๆ ทั้งนั้นเลย เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย...เนี่ย ชอบหนังแบบนี้ แต่จริงๆ ก็ดูหนังได้ทุกประเภท จริงๆ ก็ชอบแบบ...พูดเป็นภาษาไงดี เหมือนหนังวายป่วง หนังจูราสสิค ปาร์ค หนังอะไรพวกนี้ที่แบบในยุคนั้นก็จะชอบหมดค่ะ แต่ถ้าเอาความรู้สึกจริงๆ ไม่ลังเลที่หยิบมาดูเลยก็จะเป็นหนังรักค่ะ
ตอนเด็กก็ดูหนังรักค่ะ ก็จะแบบว่าร้องไห้กับ "น้ำเซาะทราย" มาก ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ดูตั้งแต่ยุค "นาท ภูวนัย" อะไรอย่างงี้ ดูแล้วก็...อ๋อ มันเป็นงี้นี่เอง มันเหมือนตื่นเต้นมากกว่าค่ะ หนังมันทำแบบนี้นี่เอง มันก็เลยเหมือนแบบว่าทำให้ชอบไปโดยปริยาย แล้วก็จะมาเจอยุคหลังๆ ที่แม่เค้าจะสงสารลูก ก็เลยพาเข้ามากรุงเทพฯ พามาเปิดโลกใหม่ที่เมเจอร์ปิ่นเกล้า ฝนจำได้ แม่พาไปดูหนังเรื่อง "จูราสสิค ปาร์ค ภาค 2" ภาพยนตร์มันเป็นแบบนี้นี่เอง เข้าไปในเมเจอร์ฯ แล้วแบบ...เราเป็นเด็กต่างจังหวัด มันไม่ใช่โรงเดี่ยว Stand Alone แบบที่บ้าน มันมีใบปิดหนัง มันมีโลกๆ นี้อยู่ รู้สึกเลยว่ามันใช่อ่ะ แล้วพอไปเจอจูราสสิค ปาร์คปุ๊บ มันมีไดโนเสาร์ ก็หาอ่านข้อมูล หลังจากนั้นมาเจออนาคอนด้า อุ๊ย เค้าทำอย่างงี้ได้ด้วย ก็เริ่มรู้สึกว่า เราคลั่งหนังมากๆ ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาค่ะ
จากความชอบดูหนังเลยเบนเข็มมาเรียนต่อสายภาพยนตร์ด้วย
ตอนแรกจะมาเรียนต่อวิศวะโยธา เรียนช่าง เรียนสายอาชีพ แต่มันก็มีความรู้สึกว่า เราจะเรียนมหาวิทยาลัยแล้วนะ เราควรที่จะเรียนอะไรที่มันเหมาะกับตัวเองจริงๆ เห็นเค้าแนบข้างหลังว่า "ภาพยนตร์" ของที่ ม.กรุงเทพ ก็เลยรู้สึกว่ามันตื่นเต้น มันน่าเรียน แต่ยังไม่ได้คิดว่าแบบฉันจะต้องมาเป็นผู้กำกับหรืออะไรอย่างนี้ ยังไม่ได้คิดขนาดนั้น คิดแค่ว่าเราแค่ชอบดูหนัง มันน่าจะเป็นเรื่องที่เราเรียนแล้วสนุก อยากเรียนแล้วสนุกมากกว่า ตอนนั้นนะคะ
จนกระทั่งต้องทำหนังสั้นของตัวเอง
คือตอนนั้นปี 4 มันเป็นวิชาฟิล์มโปรดักชั่นค่ะ แล้วเราก็ต้องทำหนัง 4 ตัว ตัวแรกเป็น "หนังส่วนตัว" อาจารย์ให้โจทย์มาเล่า 3-4 นาทีสั้นมากๆ ฝนรู้สึกว่าตอนนั้นที่ฝนเรียนปี 4 เราเรียนไปซักพัก เรารู้สึกว่าเรามีเรื่องอยากจะทำอยากจะเล่า เราไม่ได้รู้สึกว่าเราอยากจะเป็นผู้กำกับหรือว่าอะไร วิชานี้มันเป็นวิชาที่เด็กฟิล์มตอนนั้นจะได้ลงมือทำ เรารอคอยวิชานี้มาก ฝนก็เลยหนีเพื่อนแอบไปลงเรียนคนเดียว เพื่อที่ตัวเองจะได้เรียนแบบเต็มๆ แล้วดันไปเลือกลงวันจันทร์เช้า ซึ่ง นักศึกษาจะรู้ว่าวันจันทร์เช้า เราจะไม่อยากเรียน แล้วมันก็ประสบความสำเร็จมาก เพราะว่า section นี้คนน้อยมาก (หัวเราะ) อาจารย์เกือบจะปิด sec แล้ว แต่สุดท้ายก็เลยได้ทำคนเดียว ทุกงานได้ทำคนเดียว ก็มี "หนัง ส่วนตัว" 3 นาที, "หนังไม่ตัด" เป็นหนัง long take 3 นาทีเหมือนกัน ต่อมาเป็น "หนังไม่พูด" 3 นาทีทั้งเรื่องจะต้องไม่พูดอะไรแล้วเล่าเรื่อง จนมาอันสุดท้ายเนี่ย "หนังไม่เล็ก" เป็นหนังสั้น 30 นาที ทุกคนต้องแข่งกันขายบท เรามีสิทธิ์เลือกเพื่อนในห้องมาอยู่ในทีมเราได้ ฝนรู้แต่ว่าฝนอยากทำหนังรัก เราก็มองโจทย์ว่า รักแบบเด็กก็มีแล้ว รักแบบวัยรุ่นมันก็มีแล้ว เราทำหนังรักคนแก่แล้วกัน ซึ่งตอนนั้นเขียนบทมา ผ่านตั้งแรก ตั้งแต่ขายรอบแรก ดีใจมาก หลังจากนั้นอาจารย์ที่ดูแลโปรเจ็คต์นี้คือ "อาจารย์เต้ย-พีรชัย เกิดสินธุ์" (ผกก. The Isthmus ที่ว่างระหว่างสมุทร) ค่ะ คือแกให้เราแก้บททุกวัน ทำบททุกวัน แก้จนฝนไม่รู้จะแก้ไรแล้ว ให้ขยับขวดน้ำปลา ยังรู้สึกว่าต้องมีความหมาย อาจารย์ให้หนูแก้อะไรคือหนูไม่รู้จะแก้อะไรแล้ว
จนถึงตอนถ่ายทำก็ต้องไปแคสติ้งนักแสดงมา เราก็เจอป้าอู๊ดกับลุงนพ ด้วยความที่เค้าดูแลเอาใจใส่กันเป็นพิเศษ เราก็เลยคิดว่าเค้าต้องเป็นแฟนกันแน่เลย ก็เลยแอบดูเค้ากระหนุงกระนิงกัน คุยกัน น่ารักมาก ด้วยความอยากรู้เราก็เลยคุณป้า ป้าอู๊ดเค้าใช้คำที่น่ารักมากๆ เค้าบอกฝนว่า ทุกคนต่างเข้าใจกันไปหมดเลยว่าสองคนนี้เป็นแฟนกัน เป็นสามีภรรยากัน ซึ่งจริงๆ แล้วเราทั้งคู่ต่างมีครอบครัว แล้วก็เป็นพ่อม่ายแม่ม่าย แล้วเราก็มาเจอกัน เค้าไม่ขอใช้คำว่าแฟนหรือกิ๊ก เค้าใช้คำว่าเราเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด เราเป็นเพื่อนที่เข้าอกเข้าใจกัน แล้วความเป็นเพื่อนในบางครั้งลูกก็ให้ไม่ได้ ลูกพูดไม่ได้ ลูกไม่เกิดความเข้าใจในจุดนี้ เราเลยรีบมาเล่าให้อาจารย์ฟัง อาจารย์รู้มั้ยเนี่ย นักแสดงหนูน่ารักมากเลยนะ อาจารย์เลยบอกว่าทำไมเธอไม่ทำเรื่องนี้ล่ะ แต่ว่าเราเปลี่ยนเรื่องมาเยอะแล้ว จนสุดท้ายฝนก็เลยไปขอว่าหนูอยากทำเรื่องนี้ได้มั้ย ทั้งคู่ก็อนุญาต แล้วก็เร็วมากในการเขียน แล้วพอเราไปถ่าย ตอนนั้นเราก็ทำหนังไม่เป็นเลย ถ่ายมา ถ่ายผิด ถ่ายพลาด ต้องแก้ใหม่ทั้งหมด สองคนนี้เค้าก็น่ารักมากยอมมาถ่ายใหม่ จนทุกวันนี้ป้าอู๊ดก็ถือเป็นญาติผู้ใหญ่ให้กับฝน ฝนก็เลยตีโจทย์ความรักนี้ว่า มันเป็นความรักที่คน 2 คนมาคบกันในแบบที่เข้าใจกัน มันไม่มีเรื่องเซ็กส์ มันไม่มีเรื่องอะไรที่มันมาครอบเค้าทั้งสองคน มันคือการดูแลซึ่งกันและกัน มันจึงเกิดเป็นหนังเรื่อง "เวลา...รัก" ขึ้นมา ซึ้งได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ดีมากจนเรารู้สึกว่า นี่คือพลังของการเล่าอะไรสักอย่าง จนกระทั่งพี่เก้งสนใจ อยากจะเอามาพัฒนาต่อ เพราะเค้าก็เหมือนกับว่ามีโปรเจ็คต์หนังที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว มันก็คือการต่อยอดไป ก็เลยเป็นหนังที่แบบเหมือนคู่บุญกันเลยตอนนั้น ตอนนี้ฝนกับคุณป้าก็ยังเป็นลูกหลาน เป็นหลานรักกันอยู่
พอเรียนจบก็เริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัว
เข้าวงการมาแบบเต็มตัวก็คือมาทำโปรดักชั่นค่ะ มาทำคอนทินิว (ควบคุมความต่อเนื่อง) ก่อน แล้วก็มาทำผู้ช่วยผู้กำกับ หลังจากนั้นก็มีการเขียนบทค่ะ มันคาบเกี่ยวกับตอนที่เราเรียนจบพอดี พี่ปรัชกับพี่อ๊อดก็บอกว่า มันน่าจะถึงเวลาแล้วนะ ฝนก็เรียนจบแล้ว แล้วก็เหมือนกับเข้ามาทำงานตรงนี้ ฝนมองว่าพี่ๆ เค้าให้มาฝึกมากกว่าว่าเราจะทำได้มั้ย เพราะว่ามันเยอะมาก เยอะกว่าห้องเรียนจริงๆ พอถึงเวลาที่เรียนจบปุ๊บ พี่เค้าก็บอกว่า มีอะไรจะเสนอมั้ย ลองมาเสนอดู เราก็เสนอโปรเจ็คต์ไปแต่ว่าไม่ผ่าน (หัวราะ) พอหลังจากกนั้นก็มีการเขียนบทไปเรื่อย มีหนังสั้นมาก็เขียน มันก็เหมือนพัฒนาตัวเองไป แต่ว่าก็ได้สอน คือเรียนจบมาไม่นาน ก็ได้ไปเป็นผู้ช่วยสอนก่อนเทอมสองเทอม หลังจากนั้นก็ได้สอนจริงๆ ฝนว่าจริงๆ มันคือรวมๆ แล้วการได้ไปสอน เราก็ไม่ลืม มันก็พูดอยู่ทุกๆ วัน มันก็เลยฝึกไปเรื่อยๆ ก็ทำอยู่สองสามอย่าง ไปออกกอง ไปเป็นผู้ช่วยด้วย ไปกำกับเองบ้างที่เป็นตัวหนังสั้นตามโครงการต่างๆ
ชอบอย่างไหนมากกว่ากันระหว่างเขียนบทกับการกำกับ
จริงๆ ถ้าถามความชอบเนี่ย ฝนชอบกำกับเพราะว่า ไม่ชอบอยู่นิ่งๆ ชอบคุย เป็นคนชอบคุยมาก แล้วการเขียนบทนี่มันเป็นสิ่งที่เราไม่คิดว่าเราจะทำได้ แล้วดันทำได้ แล้ววันหนึ่งเราก็ เออ...เราชอบว่ะ แต่ถ้าถามว่าให้เรียงลำดับ เราชอบกำกับมากกว่า แต่การเขียนบทนะคะ บางครั้งมันก็เหนื่อย เรารู้สึกว่าแบบรสนิยมในการชอบของแต่ละคน แล้วเราต้องเขียนให้เค้า แล้วเรารู้สึกว่าไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของไอเดียซึ่งมันยาก จนเวลาที่มันผ่านๆ มา มันทำให้เราค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ ปรับทัศนคติว่า เราจะทำยังไงในโจทย์ที่เราไม่ถนัด ไม่ชอบ แล้วเราจะทำยังไงให้เราชอบ เพราะการเขียนบทมันคือเราต้องชอบก่อน และยิ่งมาสอนเขียนบทกับนักศึกษาด้วย มันจะเป็นตัวตอบโจทย์ทันทีว่า เราไม่อยากเขียนอะไรที่เขียนแล้วมันไม่ดี เราอยากเขียนที่อย่างน้อยๆ มันต้องดีนะ อย่างน้อยๆ มันต้องรู้เรื่อง มันต้องครบเครื่องนิดนึงในโจทย์ที่เราได้รับมา มันถึงมีภาวะความเครียดอยู่ แล้วมันต้องอยู่กับที่ (หัวเราะ) ต้องมีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง
จุดเริ่มต้นโปรเจ็คต์ "อาปัติ"
คือจริงๆ แล้วมันเริ่มมาจากน้องคนหนึ่ง สมัยก่อนตอนน้องเค้าบวชเป็นสามเณรก็เล่าให้ฟังว่า สามเณรกับเพื่อนเค้าเนี่ยเห็นผู้หญิงห้อยขานั่งอยู่บนต้นไม้ สวยมาก ไม่ใส่เสื้อผ้าเลย ร่างสวยมาก ทุกอย่างสวย เป็นหญิงไทยแต่ไม่มีหัว เห็นตอนกลางวัน สามเณรวิ่งๆ ทุกคนเห็นเหมือนกันหมด ด้วยความกลัวผี คนแถวนั้น คนเฒ่าคนแก่เค้าบอกว่า คือ "ผีเผต" ผีประเภทนี้คือ ผีผู้หญิงตอนก่อนตายไปมีอะไรกับพระ ตายไปเลยเป็นแบบนี้ เราก็แบบ 'มีแบบนี้ด้วยเหรอเนี่ย' อันนี้คือไอเดียตั้งต้นที่มันโอเคมาก เราก็เลยหยิบไอเดียนี้มา หลังจากนั้นมันก็ถูกพัฒนาเป็นโครงเรื่องประมาณ 1 หน้ากระดาษค่ะ ก็ถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ ก็มีการพูดคุยกัน แต่ก็ไม่รู้ทำไม มันถูกส่งกลับมาที่เรา ผู้กำกับที่ได้ไปเค้าติดอะไรไม่รู้ สุดท้ายเค้าก็ไม่ได้ทำ ก็เลยวนกลับมาที่เรา
คือจริงๆ แล้วฝนพยายามจะเลี่ยง แต่มันเลี่ยงไม่ได้เรื่องพระพุทธศาสนา เพราะมันเป็นไอเดียตั้งต้นของเรา แล้วคำว่า "ผีเผต" มันคือผีอะไรวะ มันก็ขมุกขมัวอยู่มาก ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด เราเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานก่อน กูกลัวแบบไหน กลัวผีประเภทไหน เรื่องนี้มีหลายเวอร์ชั่นมาก เวอร์ชั่นที่กว่าจะพอใจก็ประมาณที่4 ที่5 ได้แล้ว ถ้าฝนจำไม่ผิด พอได้เวอร์ชั่นที่มันโอเค ผ่านการปรับเปลี่ยน ผ่านการพูดคุย เออ...มันควรจะเพิ่มรสอะไร อะไรดีที่แบบทำออกมาแล้ว
บาลานซ์ความหนักเบา พี่ปรัชก็ให้คำแนะนำว่า ในเรื่องนี้เนี่ยเราอาจจะมีพระที่ไม่ดี แต่สุดท้ายฝนต้องมีพระที่ดี เพื่อที่จะสะท้อนให้คนดูเห็น มันเหมือนการปลดกุญแจบางอย่าง มันโอเคมากเลยค่ะที่พี่ปรัชพูด แต่หลังจากนั้นคือ มันกลายเป็นว่า เราทำการบ้านหนักกว่าเดิม หนักมากมันเหมือนรื้อทั้งหมดใหม่ มันไม่ใช่แค่ผีอย่างเดียวละ คำสอนของพระพุทธศาสนามันมีอะไรบ้าง ฝนต้องการอะไรที่มันเข้าใจง่ายที่สุดเลย เรื่องไหนที่เข้าใจง่าย ทำไมเราถึงไม่เข้าใจ และทำไมเราถึงเข้าวัดอย่างบริสุทธิ์ใจ บางครั้งเราก็แอนตี้กับคนบางกลุ่มที่ทำแบบนี้ ถามตัวเองก่อนเลย รู้สึกใช้เวลา 1 ปีกับการอยู่กับตัวเองอย่างนี้ ซึ่งมันจะมีข่าวนู้นนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แล้วฝนเองบ้านติดวัด พ่อจะไปวัด ก็จะปรึกษาพ่อ อันนี้ทำไมเค้าทำแบบนั้นแบบนี้ พอสุดท้ายเราก็มาได้จุดตรงกลางว่า เราจะแค่เล่าแค่นี้เอง เล่าแค่ผิดชอบชั่วดี แค่นี้หนูว่าเบสิกที่สุดแล้ว เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่เก็ต ไม่ได้เข้าวัด มันเป็นนามธรรมมากๆ ซึ่งฝนก็ยังไม่เคยเห็นผี กลัวแต่ก็ยังไม่เคยเห็นผี สุดท้ายก็เลยรู้สึกว่า คำสอนมันสากลมากๆ มันฝังมาตั้งแต่ต้นเรื่องผิดชอบชั่วดี สติมันอยู่กับเราตลอด คำสอนจริงๆ มันฝังรากอยู่กับเราทุกๆ คน เพียงแต่เราไม่ได้มามองย้อนมัน และฝนว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด คนที่ทำไม่ดีไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดของเค้าจะทำไม่ดี และมีคนที่เค้าไม่ดีในสายตาคนอื่น แต่จริงๆ แล้ว เค้าปล่อยให้คนอื่นมองว่า เค้าเป็นคนที่ไม่ดีได้โดยที่เค้ารู้ตัวว่าเค้ากำลังทำอะไรอยู่ ฝนก็เลยรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มันไม่ได้ผีจ๋า ฝนไม่ชอบผีหลอก แต่ว่าเราควรจะให้ความเป็นธรรมกับผีบ้าง บางครั้งผีอาจจะมาเพื่อที่จะบอกอะไรเรา ทำไมเราไม่ฟังเค้า ทำไมเราไม่มองย้อนตัวเองบ้าง หนังเรื่องนี้มันจะแบบ กลายเป็นหนังที่เราไม่ถนัด แต่สุดท้ายก็ชอบและรู้สึกว่ามันโอเค
ขั้นตอนการเขียนบท รวมๆ แล้วใช้เวลามากน้อยแค่ไหน
ประมาณ 3 ปีโดยประมาณนะคะ การหาเวอร์ชั่นที่ใช่ หาเวอร์ชั่นที่ชอบ ก็อยู่ประมาณเกือบ 2 ปีได้ละ พอได้เวอร์ชั่นที่ชอบเสร็จ ก็แก้ไป 10 ร่างฝนจำได้ มีร่างที่ 11 ที่ไฟนอล มันแก้ด้วยยุคสมัยที่ปรับเปลี่ยน คำคอมเมนต์ต่างๆ ในความหนักเบาของตัวละคร บางอันหนักไป บางอันแรงไป หรือวิธีเล่า เล่ายังไงที่เรื่องมันเรง แต่เราจะเลือกนำเสนอยังไง ให้ภาพมันดูเบา สตอรี่นั้นมันยังอยู่ สุดท้ายก็ปรับเกี่ยวกับทุนสร้างด้วย คือตอนเขียนเราเหมือนพระเจ้าเลย เนรมิตมันได้ พอมีเรื่องเข้ามา ตอนถ่ายทำฝนไม่อยากไปปรับหน้ากอง จึงมีการปรับเพื่อให้ซัพพอร์ตกับทุนที่เรามี ให้ภาพมันใกล้เคียงที่สุด เรื่องนี้เลยใช้เวลารวมๆ แล้ว 3 ปีกว่าน่าจะได้ค่ะ เวอร์ชั่นที่ปรับแก้ก็ประมาณปีกว่าๆ ได้
นอกจากเป็นคนกลัวผีแล้วต้องมาจับเรื่องวงการศาสนา รู้สึกกดดันมั้ย
ฝนไม่ถือเป็นเรื่องกดดันนะ ฝนรู้สึกว่าเป็นการสู้กับตัวเอง คือตลอดระยะเวลาทำบท ฝนจะมีคนสำคัญคือ "อาจารย์เต้ย-พีรชัย เกิดสินธุ์" แกจะคอยมาจังหวะที่เราแย่ๆ เสมอ อาจารย์จะสอนว่า เราต้องกดดันกับงานนะ เราอย่ากดดันตัวเอง คือมันดีพอหรือยัง แต่ถ้าเรากดดันตัวเอง เราจะทำงานไม่ได้ เราเองจะไม่เกิดความกดดัน แต่ทุกครั้งมันจะเขียนออกมายากมาก มันดีหรือยัง มันใช่หรือยัง ส่วนที่เราไปทำประเด็นนี้ เราเป็นผู้หญิง ฝนจะรู้สึกว่าคนจะเข้าใจทัศนคติที่เรามองหรือเปล่า เพราะจริงๆ แล้วการที่สีกามีอะไรกับพระ ฝนมองว่าความรักมันไม่ผิดนะ ความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก มันเกิดขึ้นได้กับคนทุกคน บางครั้งเราเห็นข่าว เขาอาจจะรักกันก็ได้ แต่มันผิดวินัย ต้องแยกออกมาก่อนว่า ความรักมันไม่ผิด คุณรักใครก็ได้ แต่การที่เราจะทำหรือไม่ทำ มันคือความผิดชอบชั่วดีที่เรารู้ว่าจะทำหรือไม่ทำดีกว่า คุณรักได้มั้ย ได้เลย แต่ถ้าคุณไม่กระทำ ไม่ก้าวเข้าไป คุณผิดมั้ย ไม่ผิดนี่ แต่ถ้าจะบอกว่ารักนะ สึกได้มั้ย รออยู่นะ อันนี้ฝนว่า
มันผิดละ มันล้ำเส้นไปแล้ว แล้วเราก็ทำอะไรก็ได้ให้คนดูรู้สึกว่าความรักมันไม่ผิด อยากให้เข้าใจว่ามันอาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งฝนมองว่าความรักมันไม่ผิด มันเกิดขึ้นได้ อันนี้ก็เลยไม่กดดัน แต่แค่เราจะเขียนยังไงดี เพราะเวลาไปนั่งคุย เออ...พี่หนูรู้สึกแบบนี้ อาจารย์หนูรู้สึกแบบนี้ ทุกคนแบบโอเคหมดเลย แต่ทีนี้จะเขียนยังไงล่ะ เออนั่นน่ะสิ จะเขียนยังไงดี ไปกดดันตรงนั้นมากกว่า
ฝนรู้สึกว่าในแง่ของคนเขียนบท คือเราต้องรู้สึกต้องเข้าใจเค้ามากๆ สร้างตัวละครขึ้นมาตัวหนึ่ง ถามว่าทำไมต้องทำวะ จริงๆ มันมี Back Story ของตัวละครทุกตัวที่ฝนสร้าง แต่ด้วยข้อจำกัดของหนัง มันจะต้องถูกเล่าเท่านี้ มันไม่สามารถมาเล่าตั้งแต่ต้นว่าทำไม เพราะอะไร ในบทเราพรรณนาเยอะ ทัศนคติที่ฝนถือคือเราจะเล่าอะไร กำให้มั่นเลยว่าเราจะเล่าอะไร แล้วเราจะรู้ว่าเราจะถ่ายยังไง พอมันได้แบบนี้ เรานั่งอยู่หน้ามอนิเตอร์ สุดท้ายไอ้สิ่งที่เราจะเล่า พอยัง ถ้ามันโอเคคือพอ แต่ข้อดีของบทก็คือ มันทำให้ทุกคนเข้าใจได้ตรงกัน ทำงานง่ายมาก ทุกคนเห็น Mood & Tone เหมือนกัน เวลาดูโลเกชั่นดูอะไรต่างๆ มันเป็นประมาณนี้ มันจะคุยกันง่ายมาก ทำไมตัวละครตัวนี้เป็นแบบนี้ เค้าจะเข้าใจหมดเลย เหมือนพอคนในทีมงานเข้าใจ เหลือแต่เราละ ชั้นจะเล่าอะไรยังไง ต้องกำให้แน่นๆ
ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขียนยากที่สุดมั้ย
ด้วยความที่พอเราเริ่มทำงานเยอะขึ้น การเป็นมืออาชีพ เราควรจะทำโจทย์ที่ได้รับได้อย่างมีความสุขสิ คิดอย่างนั้น เราน่าจะภูมิใจตัวเองว่าเราทำได้ พอเรารู้อะไรที่มันลึกกว่าคนอื่น มันมีพลังอยากจะบอกอยากจะเล่ามาก ก็เลยตื่นเต้นมากขึ้น ด้วยจังหวะมันเหมือนหนังโรแมนติก-ดราม่าที่เล่าอยู่กับตัวละคร เรื่องนี้มันมีสิ่งที่มันซ่อนอยู่ที่เราจะเล่าแค่ไหน อันนี้คือความยาก ลีลาในการเล่าเราจะเล่าได้มั้ย ออกมาน่ากลัวมั้ย มีเหตุผลมั้ย ซึ่งรู้สึกว่าพอทำได้ปุ๊บ อยากให้คนอื่นรู้ว่าเราเขียนได้แล้ว ทำได้แล้ว พอกลับไปเขียนหนังรักมันง่ายมาก เหมือนเรื่องนี้มันยาก ตรงวิธีเขียน แล้วอินเนอร์มันเยอะกว่าเหตุการณ์ที่เราเจอมา ประสบการณ์มันเยอะ บางอันมันเยอะเกินไป ไม่เห็นภาพ ต้องทำให้เห็นภาพขึ้นมา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขียนยากที่สุด สู้กับตัวเองด้วย หลายๆ อย่าง แล้วเรื่องนึ้คนเราเชื่อไม่เหมือนกัน ทำยังไงดีให้ดูแล้วโอเค ให้มันสากล
ความตั้งใจก็คืออยากเล่าให้มีความน่ากลัว มันตกใจ เรารู้สึกว่าเราไปดูหนัง เราจะจำหนังเรื่องนี้ได้แล้วต้องพูดต่อ เราอยากได้หนังแบบนั้น หนังที่ออกมาแล้วแบบเราขนลุกอันนี้มากเลย เราจะชอบหนังแบบนี้มากกว่า เพราะอะไรเราถึงชอบแบบนั้น สุกท้ายมันคือการเล่าเรื่อง เราอินไปแล้ว เค้ากลัวเรากลัว เค้าเจอเราเอาใจช่วย อยากให้คนดูดูแล้วอยากรู้ต่อไปเรื่อยๆ เรื่องมันคืออะไรกันแน่ นี่น่าจะเป็นความสนุก แล้วบรรยากาศก็เป็นตัวเสริมขึ้นมา หลักสำคัญมากคือเขียนเรื่องอะไรก็ได้แล้วอยากรู้ต่อ ในแง่ของบทถือว่าสำเร็จ เวลาใครที่อ่านบทมาแล้ว คุยกันจะได้คำคอมเมนท์ที่ดี จะได้ไปปรับแก้ พี่ปรัชเคยพูดว่าหนังที่ดีคืออะไร คือมันสนุกในแบบของมัน หนังผีคืออะไร ความสนุกของหนังดราม่าคืออะไร เออ...เราตอบโจทย์เค้าว่าหนังมันสนุก สุดท้ายคนอ่านเข้าใจว่าเราต้องการจะเล่าอะไร กลายเป็นว่าคนอ่านแล้วเอาใจช่วย ต้องทำออกมาให้ได้นะ ในแง่ของบทคือฟินไปแล้ว ที่เหลือก็ต้องไปดู (หัวเราะ)
ช่วงเขียนบทมีการรีเสิร์ชค้นหาข้อมูลมากน้อยแค่ไหน
เยอะค่ะ ตั้งแต่ชื่อเรื่องเลย อาบัติคืออะไร การผิดวินัย การสวดวันพระใหญ่ ที่แน่ๆ คือเรื่องของงานบุญข้าวประดับดิน ความหมายของมัน มันมีเรื่องท้องถิ่นที่เป็นอีสาน แล้วก็หาจากคนใกล้ตัวด้วย บางครั้งเราสงสัยเราก็ถาม ประสบการณ์ส่วนตัวด้วย อย่างเช่นตอนที่เสียคุณแม่ เอ๊ะ ทำไมเขาถึงเอาใบชามาโรย ใบชามันสามารถดูดกลิ่นได้ มันจะได้ดีเทลอะไรเยอะๆ ที่มันสำคัญกับเรื่องเราพอดี วันพระใหญ่ มันมีความศักดิ์สิทธิ์อะไร การมีฤกษ์สึก ไม่มีฤกษ์สึก มันสำคัญตรงไหน มันเป็นเรื่องที่แบบทำการบ้านมาเลย เณรต้องถือศีลกี่ข้อ พระแบบนี้มีมั้ย วัดป่าเป็นยังไง จีวรแบบไหน การนุ่ง มันมีกี่แบบ เยอะค่ะเยอะมาก เรื่องของการปลงอาบัติ ทำไมต้องมีการปลงอาบัติ ปลงอาบัดคืออะไร แต่ว่ามันไม่ได้ลงลึกขนาดนั้น เพราะว่าเราเป็นวัยรุ่น เราเป็นคนทั่วไป ลึกมากกว่านี้เราจะไม่อยากรู้ มากกว่านี้มันยากเกินละ มันยากไป เอาอะไรที่แบบคลอดออกมาแล้วเราย่อยงาน ทุกคนพูดกันรู้เรื่อง ทำไมต้องทำบุญ ทำไปทำไม เอ๊ะ...ทำไมคนเข้าวัดทำบุญยังทำผิดได้ อะไรประมาณนี้