ไอเดียดีๆ ที่น่ายกย่อง บัณฑิต “คณะวิศวกรรม ม.มหานคร”
ผ่องถ่ายงาน “หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด” จากรุ่นสู่รุ่น
การก่อการร้ายด้วยวัตถุระเบิดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด ในการปฏิบัติงานเก็บกู้ แต่ปัจจุบันระเบิดมีการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ การจุดชนวนที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และอำนาจทำลายร้างที่เพิ่มขึ้น ทำให้การก่อการร้ายด้วยวัตถุระเบิด มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น! ดังนั้นการป้องกันการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งสำคัญ เป็นที่มาของการค้นคว้าเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน “หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด” เป็นคำตอบที่บัณฑิต, เจ้าหน้าที่ รวมถึงนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ภายใต้การนำของ ผศ. ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ใช้เป็นทางออกในการนำ “ความรู้” เป็น “พลัง” ช่วยเหลือสังคม พร้อมจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ ภายใน “ศูนย์นวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ (Applied Innovation Centre : AI Centre) เพื่อศึกษา, ทดลอง, ผลิต รวมถึงดัดแปลงหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดเวอร์ชั่นใหม่ๆ มาใช้ ให้อัจฉริยะเพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่จริง โดยได้ร่วมกับ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก, บริษัท เอวีเอ แชทคอม จำกัด ผลิตหุ่นยนต์ฯ ไปใช้งานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว และพร้อมจัดตั้งศูนย์ซ่อมแซมหุ่นยนต์ เพื่อนำกลับไปใช้งานใหม่ นอกจากจะประหยัด “ชีวิต” ของบุคลากรที่ทำหน้าที่เพื่อชาติแล้ว ยังเซฟเงินในกระเป๋าของกองทัพได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยปัจจุบันพัฒนาไปถึงขีดขั้น Inhouse Production กล่าวคือ อะไหล่ทุกชิ้น สามารถผลิตเองได้ โดยบุคลากรแต่ละสาขา ภายใน คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร ซึ่งจะเปรียบเปรยไปแล้ว หลายปีที่ผ่านมาฟูมฟักให้ที่นี่ เป็นดั่ง“โชว์รูมหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด” ก็ไม่ปาน!!!นายวรนล กิติสาธร สมบัติที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น นับตั้งแต่เริ่มประดิษฐ์ครั้งแรกในปี 2556 ดัดแปลงจนใช้งานได้จริงในปี 2558 นอกจาก “หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด” ที่ใช้เป็นต้นแบบแล้ว ยังมีความคิด, วิสัยทัศน์, ความรับผิดชอบต่อสังคม ฯลฯ ผ่องถ่ายให้บัณฑิตในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในแต่ละสาขาที่นี่ จากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย โดย นายวรนล กิติสาธร นักวิจัยศูนย์ AICentre บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมระบบวัดคุมและเมคคาทรอนิกส์ เป็นตัวแทนรุ่นพี่เผยว่า “จุดเด่นของ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร นอกจากให้ความรู้เชิงทฤษฎีในห้องบรรยายแล้ว ยังมีความรู้ในห้องปฏิบัติงาน ซึ่งนักศึกษาจะได้ทักษะไปใช้ในการทำงานจริง ยกตัวอย่างที่ได้เข้าร่วม หน่วยเฉพาะกิจ ภายใน “ศูนย์นวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ (Applied Innovation Centre : AI Centre) แม้จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่ก็ภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในโปรเจคต์สำคัญ โดยทราบจากรุ่นพี่ว่าจุดเริ่มต้นนั้น มาจากจิตอาสาและอุดมการณ์ล้วนๆ ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่มีเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการคุยกันในหมู่เพื่อนๆ และอาจารย์ในคณะว่าในฐานะวิศวกร เราจะมีส่วนช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือประเทศกับปัญหานี้ได้อย่างไร ประกอบกับข่าวใหญ่ การสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่และการเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในการเก็บกู้วัตถุระเบิด เลยเป็นแนวความคิดแบบฉับพลันในตอนนั้น ว่าพวกเราควรทำ “หุ่นยนต์กู้ระเบิด” เพื่อให้ทหารและตำรวจได้นำไปใช้ ลดการสูญเสียชีวิต โดยเสียเป็นเครื่องจักรแทน ซึ่งเครื่องจักรที่เป็นหุ่นยนต์นี้ก็สามารถนำกลับมาซ่อมแซมใช้ใหม่ด้วย ซึ่งแต่ก่อน หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด ต้องนำเข้า ค่าใช้จ่ายสูง ภายหลังที่ศึกษาและสามารถประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ได้เอง ช่วยลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ให้เป็นศูนย์ ขณะปฏิบัติงานแล้ว ยังในเรื่องภาระค่าใช้จ่ายด้วย ภายหลังทางผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงทำให้เป็นโครงการชัดเจนและต่อเนื่อง พร้อมจัดตั้งศูนย์ซ่อมแซมเพื่อส่งกลับไปใช้งานด้วย”ซึ่ง หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด ต้องบอกว่าเป็นผลงานชิ้นเอกที่ชาวคณะภาคภูมิใจ โดยหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง กว่าจะสร้างขึ้นมาจนใช้งานจริงสมบูรณ์แบบ เบื้องหลังนั้นใช้ความรู้ ความทุ่มเท จากวิศวกรหลายสาขา ทั้ง สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์, สาขาวิศวกรรมเคมี, สาขาวิศวกรรมโยธา, สาขาวิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมยานยนต์ ทุกคนรวมใจกัน! ซึ่งรายละเอียด หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด เวอร์ชั่นพัฒนาในปี 2558 นั้น จุดเด่นอยู่ที่การทำงาน โดยระบบ Interface System ลักษณะดังนี้ ขนาดกว้าง 548 มิลลิเมตร ยาว 740 มิลลิเมตร (พับเก็บแขนปีนป่าย) สูง 190 มิลลิเมตร *** ความยาวแขนปีนป่าย 350 มิลลิเมตร, ความสูงส่วนท้องวัดเทียมกับพื้นระนาบห่าง 35 มิลลิเมตร, น้ำหนักเฉพาะตัวฐานหุ่นยนต์ (ไม่รวมแขนกล) 25-30 กิโลกรัม, ตัวหุ่นยนต์สามารถรับน้ำหนักแนวดิ่งได้ ณ จุดศูนย์กลางน้ำหนัก 20 กิโลกรัม, ระบบขับเคลื่อนโดยใช้ล้อสายพานแบบ Differential Track Wheels, มีระบบป้องกันการลื่นไหลขณะปีนป่าย, ติดตั้งกล้องความละเอียดสูง 15 กิโลเมตร/ชั่วโมง, ปีนทางลาด, บันไดที่มีความชันไม่เกิน 60 องศา, รับสัญญาณควบคุมระหว่างสถานทีควบคุมกับตัวหุ่นยนต์แบบไร้สาย ผ่านระบบ Wi-Max ที่ความถี่ปรับแต่งได้ตั้งแต่ 4-6 GHz, ส่งสัญญาณภาพผ่านระบบ Wi-Max ที่ความถี่ปรับแต่งได้ 4-6 GHz, รับส่งข้อมูลเซนเซอร์เพื่อแสดงผลผ่านระบบ Wi-Max ที่ความถี่ปรับแต่งได้ตั้งแต่ 4-6 GHz, มีระบบป้องกันการส่งข้อมูลผิดพลาด, ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง ขนาด 28 โวลต์ 16.8 แอมแปร์ ติดตั้งระบบบริหารจัดการ, ระยะเวลาปฏิบัติงานปกติ (Normal load) 2 ชั่วโมง ระยะเวลาปฏิบัติงานหนัก (Full load) ½ ชั่วโมง , สามารถติดตั้งแขนกลได้หลายรูปแบบ สามารถเปลี่ยนแขนกลได้ทันที, สามารถทำงานได้โดยไม่ติดตั้งแขนกล (ทำหน้าที่เป็นหุ่นยนต์สำรวจ) คุณสมบัติพิเศษของการทำงาน โดยระบบ Interface System คือระบบ Interface นั้นถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยผู้ใช้งานให้สามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้น โดยระบบจะเป็นตัวสื่อสารแจ้งข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นให้ผู้ใช้งานทราบในเวลานั้น เช่น ปริมาณแบตเตอรี่ ท่าทางของแขนหุ่นยนต์ ภาพจากกล้องหุ่นยนต์ เป็นต้น โดยการแสดงข้อมูลต่างๆ นั้นจำเป็นต้องแสดงข้อมูลทั้งหมดให้ใกล้เคียงกับเวลาจริง (Real time) มากที่สุด ซึ่งระบบ Interface นั้น เป็นระบบที่สำคัญ ต้องทำการออกแบบให้เข้าใจง่าย ใช้งานง่าย และมีความน่าเชื่อถือ เรียกว่า Win Win ทั้งระบบ กองทัพฯ ก็ได้ใช้ ส่วนนักศึกษาที่จะว่าไปเป็น “ฟันเฟือง” เล็กๆ แต่ก็มากด้วยคุณค่า ช่วยทำให้ทุกอย่างขับเคลื่อนไปได้ดี นอกจากนั้นเหล่านักศึกษาวิศวกรรม จิตอาสา ก็ยังมีวิชาความรู้ รวมถึงทักษะจากการปฏิบัติงานจริง แก้ปัญหาจริง ในการผลิตและซ่อมแซมหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดในแต่ละครั้งด้วย!! ดังนั้น บรรดา เลือดใหม่ น้องๆ ที่สนใจคณะ “วิศวกรรมศาสตร์” และอยากมี “โน-ฮาว” ด้านการผลิตหุ่นยนต์กู้ระเบิด ที่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ เหล่ารุ่นพี่ ยินดีสอนพร้อมผ่องถ่ายอุดมการณ์ และพลังของจิตอาสา ท้ายที่สุดเหล่านักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จากรุ่นสู่รุ่น ฝากบอกไปยังเจ้าหน้าที่ ตามปณิธานที่ไม่มีวันเสื่อมคลายง่ายๆ นับตั้งแต่วันแรกของการทำโปรเจคต์นี้ว่า … “ขอบคุณ…ในความเสียสละ ขอบคุณ…ในความเข้มแข็ง ขอบคุณ…วีรบุรุษที่หลั่งเลือดปกป้องไทย ขอเป็นกำลังใจ เหล่าผู้กล้าที่ยังหยัดยืน ต่อแต่นี้เราจะขอต่อสู้ร่วมกับท่าน ต่อแต่นี้จะไม่ทิ้งท่านลำพังให้เดียวดาย ต่อแต่นี้จะต่อสู้ด้วยแรงใจและแรงกาย เป็นสหายหลังแนวหน้ากล้าหยัดยืน ม.เทคโนโลยีมหานคร กำลังแร่งทำการวิจัยหุ่นยนต์กู้ระเบิดมีเป้าหมายส่งไปช่วยเหลือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรา… ในฐานะวิศวกรไทยนั้น ขอใช้ความสามารถที่มีเป็นกำลังหนุนให้ทหารที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เราจะทำอย่างต่อเนื่อง เราจะทำอย่างไม่หยุดยั้ง… เราจะไม่เป็นแค่สายลมที่พัดผ่าน….”