happy on January 30, 2015, 08:09:24 PM
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม OPEN HOUSE โชว์ลุคใหม่
เปิดตัว 3 โปรเจ็คต์ใหญ่เทิดพระเกียรติ 60 พรรษาสมเด็จพระเทพฯปี 58



                 สถาบันอาหาร  กระทรวงอุตสาหกรรม จัด OPEN HOUSE ให้สื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี พร้อมอวดโฉมด้วยรูปลักษณ์ทันสมัย หลังปรับปรุงใหม่ทั้งอาคารสำนักงาน อาคารจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ และศูนย์บริการห้องปฏิบัติการอุตสาหกรรมอาหาร(แล็บ) รองรับภารกิจสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนและครบวงจรตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารของไทย แจงผลจากการพัฒนาองค์กรในรอบ 4 ปี ทั้งยกระดับบุคลากรและมาตรฐานการผลิตอุตสาหกรรมอาหารสู่สากล  หนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาด  ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในร้านอาหารและวงการเชฟทั่วโลก  และผลักดันการใช้บริการห้องแล็บให้เติบโตแบบก้าวกระโดด.....ปี 58 พร้อมเดินหน้า 3 โปรเจ็คใหญ่เทิดพระเกียรติ 60 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ครั้งแรกในวงการอุตสาหกรรมอาหารไทย คณะกรรมการฯ อนุมัติงบประมาณ 60 ล้านบาทปรับปรุงอาคารสำนักงานโรงสุราบางยี่ขันเดิมเป็น ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย หรือ Thai Food Heritage เตรียมเปิดตัว Thailand Sustainability Award 2015 (TSA) พร้อมมอบรางวัลแก่กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่มีความเป็นเลิศในการบริหารองค์กรสู่ความยั่งยืน  พร้อมผุดโครงการยกระดับ 600 ครัวอาหารของไทย ก้าวไกลสู่มาตรฐานสากล เชิญชวนครัวผลิตอาหารให้คนหมู่มาก 600 รายทั่วประเทศทั้งครัวร้านอาหาร ครัวโรงแรม ครัวในศูนย์อาหารเข้าร่วม พร้อมผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่ครัวโลกอย่างต่อเนื่อง ผ่าน 3 โครงการหลัก Thailand Food Quality to the World, Thailand Food Forward  และ โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่มุ่งสนองนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก”


นายเพ็ชร ชินบุตร

                 นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถาบันอาหารได้ดำเนินงานมาจนครบปีที่  18 แล้ว โครงการสำคัญๆ ที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรมตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการนั้นมีผลสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายด้วยดี ทั้งยังเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางมีศักยภาพการแข่งขันทัดเทียมกับนานาประเทศในเวทีการค้าโลกได้อย่างน่าพอใจ  โดยเฉพาะการยกระดับบุคลากรและมาตรฐานการผลิตอุตสาหกรรมอาหารสู่สากล หนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาด ทั้งในรูปแบบ Ready to Eat และ Ready to Cook ซึ่งในภาพรวมของทุกโครงการ สถาบันอาหารได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งสิ้น  270 ผลิตภัณฑ์ (ในปี 2555 มีผลิตภัณฑ์ใหม่ 31 ผลิตภัณฑ์ ปี 2556 มี 116 ผลิตภัณฑ์ และปี 2557 มี 123 ผลิตภัณฑ์) ทั้งนี้ในปี 2557 นี้ทางสถาบันอาหารจึงได้ริเริ่มจัดตั้ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมุ่งเน้นการเปิดตลาดอาหารไทยสู่ AEC ด้วยการจัด Business Matching, Business Creation and Networking ในประเทศเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการของไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ให้สามารถเข้าสู่สนามการค้าโลกได้อย่างยั่งยืน

                 ขณะเดียวกันก็มุ่งส่งเสริมการใช้วัตถุดิบอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในร้านอาหารและวงการเชฟทั่วโลก  โดยสนับสนุนการจัดแข่งขันปรุงอาหารไทยระดับโลกในประเทศไทย อาทิ การแข่งขันสุดยอดเชฟอาหารไทยชิงแชมป์โลก (Thailand Culinary World Challenge) รวมทั้งสนับสนุนการแข่งขันของเชฟไทยบนเวทีนานาชาติ ตลอดจนการให้ความรู้ ความเข้าใจ การประยุกต์ใช้วัตถุดิบอาหารไทยกับเมนูอาหารต่างชาติ การสร้างสรรค์เมนูอาหารไทยใหม่ๆ โดยการจัดอบรมแก่พ่อครัวแม่ครัวในร้านอาหารไทยในต่างประเทศ และการเข้าร่วมงานแสดงอาหารในประเทศเป้าหมายทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อสร้างชื่อเสียง สร้างภาพลักษณ์อาหารไทย และวัตถุดิบอาหารไทยให้ได้รับการยอมรับในคุณภาพและรสชาติที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว  นอกจากนี้ยังผลักดันการใช้บริการห้องแล็บให้เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยพบว่าผลงานด้านบริการตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ได้ให้บริการโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและหน่วยงานภาครัฐ จำนวนเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 1,200 แห่ง (ประกอบด้วยภาครัฐ ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ในสัดส่วนประมาณ 15 : 30 : 40 : 15)   มีจำนวนรายการให้บริการเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2557 ให้บริการไปกว่า 127,000 รายการ มากกว่าปี 2556 ที่ให้บริการไป 100,521 รายการ นอกจากนี้ ยังมีความมุ่งมั่นในการขยายขอบเขตงานให้ตอบสนองต่อภาคอุตสาหกรรม โดยพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการมาโดยตลอด ในปัจจุบันมีการให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุม คือ 760 บริการงานทดสอบและสอบเทียบ  และ 44 โปรแกรมทดสอบความชำนาญ










                 ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันอาหารได้ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ประการ คือ 1. การสร้างนวัตกรรมและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน 2. การพัฒนาระบบข้อมูลสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารที่ล้ำสมัย เข้าถึงได้ง่ายและตอบสนองทันต่อเหตุการณ์ 3. การพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อาหารสู่สากล และ4. การพัฒนาสมรรถนะสถาบันเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร เช่นเดียวกับในปี 2558 นี้ที่ยังคงดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

                 ทั้งนี้ได้ดำเนินกิจกรรมหลากหลายผ่านโครงการสำคัญๆ คือ 1)โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก หรือ Thailand Food Quality to the World 2)โครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย หรือ Thailand Food Forward และ3)โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ทั้ง 3 โครงการเป็นโครงการที่มุ่งสนองนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” โดยเน้นให้ไทยเป็น “ครัวคุณภาพของโลก”

                 โดยในปี 2558 นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้สนับสนุน 3 โครงการหลักดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถาบันอาหาร ยังคงผลักดันเป้าหมายที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งสร้างคุณค่า(Value Creation) ให้อุตสาหกรรมอาหารไทยเป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก และเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตไปในทิศทางที่สอดรับกับการเข้าสู่ AEC อย่างเต็มรูปแบบ โดยได้มุ่งพัฒนาและผลักดันให้โรงงานแปรรูปอาหารของไทยทุกระดับเข้าสู่ระบบคุณภาพสุขอนามัยในการผลิตระดับสากลไม่น้อยกว่า 500 สถานประกอบการ พัฒนาบุคลากรไม่น้อยกว่า 3,000 คน พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคและเสริมสร้างมูลค่าวัตถุดิบทางการเกษตรไม่น้อยกว่า 90 ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังนำพาผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดสากล และมุ่งเน้นการส่งเสริมเอกลักษณ์อาหารไทยและวัฒนธรรมไทย   อีกด้วย

                 นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า ในการเปิด Open House ของสถาบันอาหารในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่เติบโตอย่างเข้มแข็งในการทำ Right sizing องค์กรใน 4 ปีที่มาดำรงตำแหน่ง และได้ปรับปรุงพัฒนาให้สถาบันอาหารมีภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปรวมถึงผลการดำเนินงานที่สามารถล้างบัญชีสะสมที่ติดลบในอดีตมาเป็นรายได้มากกว่ารายจ่ายในปัจจุบันได้อย่างมีคุณภาพ

                 และเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2558 สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านอาหาร จนได้รับพระสมญานามว่าเจ้าฟ้านักโภชนาการ ในปี 2558 นี้ สถาบันอาหารจึงริเริ่มดำเนินการ ”โครงการเทิดพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ขึ้น  3 โครงการ ด้วยกัน ได้แก่ 1)โครงการส่งเสริมการเรียนรู้อุตสาหกรรมอาหารของไทย การจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย (Thai Food Heritage) 2)โครงการพัฒนาเกณฑ์การบริหารสู่ความเป็นเลิศด้านความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน(Thailand Sustainability Award : TSA) และการให้รางวัล Thailand Sustainability Award 2015 แก่กลุ่มอุตสาหกรรมบริการอาหาร และ3)โครงการยกระดับ 600 ครัวอาหารของไทย ก้าวไกลสู่มาตรฐานสากล (600 Thai Mass Catering for International Standard)

                 “โดยศูนย์การเรียนรู้อาหารไทยหรือ Thai Food Heritage นั้น คณะกรรมการสถาบันอาหารได้อนุมัติงบประมาณเบื้องต้น 60  ล้านบาท โดยใช้อาคารเก่าที่จะต้องทำการปรับปรุงมีจำนวน 3 ชั้น ตั้งอยู่ภายในบริเวณเดียวกันกับที่ทำการสถาบันอาหารในปัจจุบัน การจัดแสดงนิทรรศการ ภายใต้แนวคิดเปิดตำรับนวัตกรรมอาหารไทย แสดงศักยภาพนวัตกรรมอาหารไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลก แสดงการเดินทางของอาหารไทยจากฟาร์มสู่โต๊ะอาหารระดับโลก(From Farm to the World) ดึงเสน่ห์เอกลักษณ์ของอาหารไทยในเรื่องศิลปะ ความพิถีพิถัน และภูมิปัญญามานำเสนอเพื่อสื่อถึงความพร้อมสู่การเป็นครัวของโลก ในรูปแบบที่ทันสมัยใช้สื่อเทคโนโลยีผสมผสานกับความเป็นไทย อาทิ การใช้ VDO Mapping, Model Mapping, Application Interactive และ Infographic เป็นต้น

                 เมื่อแล้วเสร็จ Thai Food Heritage จะเป็นพื้นที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารไทยและการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย เป็นแหล่งบริการความรู้ที่สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยรูปแบบใหม่ทันสมัย  มีชีวิตชีวา สร้างแรงบันดาลใจ ให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าถึงคุณค่า ความหมาย และศักยภาพของอาหารไทยอย่างลึกซึ้ง สามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดมูลค่าได้อย่างสูงสุด และเป็นพื้นที่ส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Engaging Stakeholder) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอาหารไทย รองรับกลุ่มเป้าหมายเชิงธุรกิจ ได้แก่ นักธุรกิจ นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติ  กลุ่มเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ นักเรียน  นักศึกษา  ผู้ประกอบการและบุคคลที่สนใจธุรกิจอาหาร  รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ คาดว่าจะสามารถเปิดบริการบางส่วน ในเฟสแรกได้ในวันที่ 2 เมษายน 2558 นี้ ”

                 สำหรับโครงการพัฒนาเกณฑ์การบริหารสู่ความเป็นเลิศด้านความสามารถในการดำเนินงานอย่างยั่งยืน(Thailand Sustainability Award: TSA) และการให้รางวัล Thailand Sustainability Award 2015  แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของไทย เป็นการนำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งการดำเนินงานขององค์กรควรส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าต่อธุรกิจของตนเอง ไปพร้อมกับการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ซึ่งในการที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้มั่นใจว่าองค์กรจะสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กับสังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

                 ซึ่งสถาบันอาหารโดยความร่วมมือกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จะพัฒนาเกณฑ์และแนวทางการประเมินการบริหารองค์กรสู่ความยั่งยืนขึ้นมาให้เหมาะกับบริบทของผู้ประกอบการภายในประเทศ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกประเภทธุรกิจทั้งภาคการผลิตและการบริการ โดยจะทำการอบรมและสร้างความรู้ความเข้าใจพร้อมมอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา รวม 600 คน และค้นหา 60 องค์กรต้นแบบในการ คัดเลือกรางวัล Thailand Sustainability Award 2015

                 ในส่วนของโครงการยกระดับ 600 ครัวอาหารของไทย ก้าวไกลสู่มาตรฐานสากล(600 Mass Catering for International Standard) ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการรับสมัครครัวอาหารจากทั่วประเทศให้เข้าร่วมโครงการแล้วโดยความร่วมมือกับสมาคมโรงแรมไทย สมาคมเชฟประเทศไทย  ทั้งนี้สถาบันอาหารได้จัดทำ “สุขลักษณะที่ดีของครัวผลิตอาหารสำหรับคนหมู่มาก (GMP in Mass Catering)” เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการอาหารของไทยใช้เป็นแนวทางการบริหารจัดการ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาในการผลิตและบริการอาหารสำหรับคนหมู่มากอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคอาหาร และยกระดับมาตรฐานด้านสุขลักษณะในการผลิตและบริการอาหารให้สูงขึ้นเทียบเท่าสากล รวมทั้งสร้างความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน