happy on January 30, 2015, 06:14:19 PM
หนุ่มนักวางระบบ “แชมป์เน็ตไรเดอร์ 2 ปีซ้อน” จาก ม.เทคโนโลยีมหานคร
เผยเทคนิคพิชิตแชมป์วิศวกรรมเครือข่าย พร้อมหนทางสร้างงาน, อาชีพ ไม่หลุดเทรนด์แน่ในอนาคต

               “ไอที” ไม่มีเอ๊าท์ แม้  “เครื่องมือ” และ “เทคโนโลยี” จะมีเก่าไปใหม่มา ทว่าระบบที่ใช้ในการติดต่อประสานงาน หรือที่เรียกย่อยๆ ว่า “โครงข่าย” หรือ “เครือข่าย” จัดเป็นศูนย์กลางที่แท้จริง ดังนั้นงาน “วิศวกรรมเครือข่ายและการวางระบบอินเทอร์เน็ต” จึงเป็นวิชาชีพและสาขาที่มั่นใจได้เลยว่า รุ่งเรือง เนื้อหอม แน่นอนทั้งตอนนี้รวมถึงในอนาคต!!


                และเมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดแข่งขัน “ไทยแลนด์ เน็ตไรเดอร์ 2014” โดย ซิสโก (CISCO) บริษัทที่เกี่ยวกับเน็ตเวิร์คยักษ์ใหญ่จากอเมริกา  ซึ่งมีผู้สนใจสมัครรวมกว่า 160 ทีม!!! เป็นที่น่าสนใจว่า “แชมป์เน็ตไรเดอร์” ในปีนี้ ยังคงเป็นสองเยาวชนคนเก่ง ณัฐพล  เปรมจิตต์เสถียร (ดิ๊บ) และ สุรศิษฏ์ โตรักษา (แซม) นักศึกษาปีที่ 4  สาขาวิศวกรรมเครือข่ายและอินเทอร์เน็ต (NETI) คณะวิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.เทคโนโลยีมหานคร ที่ซิวตำแหน่งแชมป์ไปเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนั้นยังคว้า รางวัลชนะเลิศ (ระดับประเทศ) โครงการค้นหาสุดยอดฝีมือโทรคมนาคมและไอซีทีเฉลิมพระเกียรติ ครั้งที่ 7 ประจำปี 2557 ในสาขา Data Communication  มาตุนไว้ในพอร์ทเพิ่มอีกรางวัล สะสมดีกรี การันตีความเจ๋ง ถึงตอนนี้ต้องเรียกว่าเป็นทีมเวิร์คด้านเครือข่ายคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตามอง ในทางเดียวกันก็เป็น Idol ให้กับน้องๆ รุ่นใหม่ที่สนใจเรียนทางด้านสาขานี้ด้วย!!!


แซม สุรศิษฏ์


ดิ๊บ ณัฐพล

               ทั้ง “ดิ๊บ” และ “แซม” เผยแรงบันดาลใจที่ตัดสินใจเรียนทางด้านนี้ เมื่อ 4 ปีที่แล้วว่า “ตอนนั้นก็เหมือนเด็กทั่วไป ที่อยากเรียนวิศวกรรมศาสตร์ แต่เรียนทางไหนล่ะ เลยหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และปรึกษาเพื่อนรุ่นพี่ที่เรียนทางด้านนี้   แต่สุดท้ายคำถามก็มาตกที่ตัวเองชอบแบบไหน  ผมก็มานั่งนึกดูว่า (แซม) เด็กๆ เราชอบเล่นคอมพิวเตอร์นะ แล้วเราก็รู้สึกแปลกใจ สงสัย ทำไมเราไม่เห็นหน้ากัน แต่เราก็สามารถเล่นไปด้วยกันได้ ทั้งที่อยู่คนละบ้าน หรือบางทีอยู่คนละโลก เลยเริ่มสนใจในเรื่องของการวางโครงข่าย มาศึกษาเพิ่ม  เมื่อสี่ปีที่แล้ว ตอนนั้น สาขาวิศวกรรมเรือข่ายและอินเทอร์เน็ต ยังไม่ติดตลาดเท่าไหร่  ยังไม่มีที่ไหนเปิดสอนปริญญาเลย มีแต่ปริญญาโท จนนาทีสุดท้ายรุ่นพี่แนะนำที่นี่ ม.เทคโนลีมหานคร ซึ่งกำลังจะเปิดพอดี และที่นี่มีรากฐานจากการสอนสาขานี้ ในปริญญาโท ก็เลยตัดสินใจมาสมัคร” ส่วน ดิ๊บ เผยว่า “พี่และเพื่อนรุ่นพี่ อยู่ในแวดวงการวางระบบอยู่แล้ว ส่วนตัวก็สนใจเป็นอย่างมาก เพราะมั่นใจว่ามีตลาดรองรับในอนาคต การสื่อสารกันจะเป็นเรื่องง่าย การวางระบบที่ดีจะช่วยลดขั้นตอน และช่วยเพิ่มยอดขายและกำไรในธุรกิจ จึงเริ่มศึกษาและพบว่าที่ม.เทคโนมหานคร เน้นการปฏิบัติจริง ได้เรียนด้านเน็ตเวิร์คอย่างเต็มที่ รวมถึงโปรแกรมด้วย ความที่ไม่ชอบนั่งฟังอาจารย์สอน แล็คเชอร์อย่างเดียว ชอบเรียนรู้ผ่านการทำมากกว่า เพราะส่วนตัวคิดว่าตัวเองจะจดจำได้แม่น เข้าหัวมากกว่า เลยตัดสินใจมาเรียนที่นี่”

               เมื่ออยู่คลาสเดียวกัน ทั้งสองได้นำความสามารถพิเศษมารวมกันเป็นหนึ่ง จึงคว้าชัยเวทีใหญ่ “ไทยแลนด์ เน็ตไรเดอร์ ” โดย ซิสโก (CISCO) บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเน็ตเวิร์ครายใหญ่จากอเมริกา  ได้สองปีซ้อน “แชมป์ปีนี้ พวกเรายกเครดิตให้จากปีที่แล้ว ได้ลองทำข้อสอบ ลงภาคสนามจริง ทำให้มีประสบการณ์ นำมาเพิ่มพูนทักษะและการเรียนรู้ ทำให้มีการเตรียมตัวที่ดีมากขึ้น สำหรับการสอบภาคทฤษฎี ค่อนข้างยาก เป็นภาษาอังกฤษ มีร้อยข้อแต่เวลาหกสิบนาที เฉลี่ยต้องตัดสินใจทำแต่ละข้อไม่ถึงนาที เพราะฉะนั้นข้อมูลต้องแม่น” ดิ๊บ “ส่วนตัวผมจะชอบอ่านจากแลคเชอร์ที่จดไว้นั่นแหล่ะ เอาให้แม่น เพราะบางที เวลาถึงสถานการณ์จริง มีเรื่องเวลา การตื่นตัว ตื่นเต้นกับสถานที่ ทำให้หลงลืม การที่เราอ่านมาก จะช่วยจดจำได้มาก” แซม “เราแบ่งหน้าที่กัน ส่วนผมก็จะหาความรู้ใหม่ๆ มาเพิ่มเติมให้กับทีม เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราต้องอัพเดท ยิ่งมีความรู้มากก็จะยิ่งได้เปรียบเวลาทำข้อสอบ” เข้าสู่ภาคปฏิบัติที่เป็นโจทย์การวางระบบ ตรงนี้ทั้งสองไม่ห่วงอะไร เพราะเข้าขากันดีอยู่แล้ว สิ่งที่จะช่วยทำให้ทีมลงตัวขึ้นมาได้ คือการมีความรู้และความเข้าใจที่ตรงกัน ให้เกียรติอีกฝ่าย รับฟังเวลาเสนอแนะ และไม่พูดหรือทำกริยาไม่ดี เวลาที่อีกฝ่ายทำผิดพลาด เพราะจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจ เวลามีประเด็นหรือความรู้ใหม่ๆ ก็จะหาคำตอบร่วมกันเพื่อความกระจ่างและเข้าใจตรงกัน!!!






               ถามจุดเด่นของเน็ตเวิร์คเกอร์ และ คีย์ซัคเซส ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ ?สองหนุ่มตอบแบบถ่อมตัว เพราะยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่อาชีพนี้เตรียมตัว เพียงแต่ถ้าให้แสดงความคิดเห็นน่าจะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาระบบได้เร็ว “การแก้ปัญหาได้เร็ว ช้า ขึ้นอยู่กับปัญหาครับ ซึ่งปัญหาก็เหมือนเชื้อโรคมีมากมายหลากหลายต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป แต่หลักการจะแก้ได้คือ ทฤษฎีเราต้องแน่น หมั่นอ่านหนังสือและขวนขวายหาความรู้เฉพาะทาง, ซ้อมแก้ปัญหา ด้วยการทำเป็นแบบฝึกหัดอยู่บ่อยๆ จะได้รู้อาการ วิเคราะห์ หาทางแก้ได้แม่นยำ, สั่งสมประสบการณ์ เรียนรู้จากเคสจริงหรือเสมือนจริงจะช่วยได้มาก เวลาคิดไม่ออก อย่ารน มีสติ ค่อยๆ แก้ทีละจุด”

               ในฐานะรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ อยากให้แนะนำน้องๆ ว่าควรจะเลือกเรียนอะไร สาขาไหน และต้องพิจารณาจากอะไรบ้าง?ดิ๊บ “อย่างแรกเลย ต้องรู้ว่าเราชอบอะไร ถ้าไม่รู้ ก็ต้องลองสังเกตว่าส่วนใหญ่เราใช้เวลาไปกับอะไรมากกว่ากัน อย่างของผม ส่วนใหญ่จะเป็นคอมพิวเตอร์ เป็นเกม เป็นอะไรที่สามารถดึงคนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมได้แม้อยู่กันคนละที่ แบบนี้ครับ แล้วก็จะสนใจว่าเขาทำได้ยังไง ใช้โปรแกรมไหน เอาอะไรมาต่อกับอะไร ความที่ชอบ เราก็จะศึกษาและลงมือทำ เวลาเรียนเราก็จะตั้งใจและมีความสุขไปกับมัน พอได้สาขาแล้ว การจะเลือกเรียนที่ไหน ให้ปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ หรือรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ ถ้าให้ดี คุยกับรุ่นพี่ที่เรียนในมหาลัยและคณะนั้นๆ เพื่อประเมินว่าที่ไหนเหมาะกับเรา เราชอบแนวคิด วิธีการสอน และหลักสูตรในแบบไหน คือตอนนี้ทุกสถาบันเปิดกว้างมาก เราสามารถหาข้อมูลทุกอย่างได้จากอินเทอร์เน็ต”  แซม “เพิ่มเติมจากดิ๊บ คือพยายามดูว่าเทรนด์ต่อไปจะเป็นแบบไหน มันจะช่วยในเรื่องของความคุ้มค่า ในแง่ที่จบมามีตลาดรองรับแน่นอน  คือต้องเริ่มจากความชอบก่อนนั่นแหล่ะ ถูกแล้ว แต่ก็ต้องมองในเรื่องอนาคตด้วย และสมัยนี้หลักสูตรเปิดกว้าง มีสาขาใหม่ๆ ให้เลือกตรงกับที่เราชอบ และตลอดรองรับเยอะ ให้หมั่นหาข้อมูลทุกด้าน เพื่อที่ว่าจะได้ไม่เสียเวลาเมื่อตัดสินใจแล้ว อยากเปลี่ยนภายหลัง เพิ่มเติมขณะเรียน ความรู้นอกห้องก็สำคัญมากๆ ยิ่งตอนนี้ก็มีเวทีการแข่งขันเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้เยอะ ซึ่งถ้าเราทุ่มเทและตั้งใจ ก็จะได้อะไรจากกิจกรรมและเวทีตรงนี้เยอะมากครับ”

               มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จากผู้เชี่ยวชาญด้าน Network Security ว่าอาชีพ “เน็ตเวิร์คเกอร์” ในต่างประเทศกำลังเป็นอาชีพยอดฮิต เพราะมีดีมานด์การจ้างงาน ฝังตัวอยู่ในทุกธุรกิจ ยิ่งในยุค Social Media  ครองเมือง ความต้องการเน็ตเวิร์คเกอร์ หรือวิศวกรด้านเครือข่าย ไปทำงานประจำเพื่อโปรโมท, หาช่องทางเข้าถึงผู้บริโภค  รวมถึงป้องกันการเสียหายของธุรกิจ ฯลฯ อยู่จำนวนมาก  และจากสถิติในปี 2557 พบว่า คนไทยใช้เวลาอยู่กับหน้าจอต่างๆ มากถึง 436 นาทีต่อวัน  โดยแบ่งเป็น  Smart Phone 167 นาที, แท็บเล็ต 95 นาที, คอมพิวเตอร์ 96 นาที, โทรทัศน์ 78 นาที   นอกจากนี้  ข้อมูลตัวเลข  94% ของผู้ใช้ทั้งหมด  ใช้โทรศัพท์มือถือหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจซื้อ และมีอีก 51% ใช้บริการซื้อสินค้าออนไลน์ ทั้งหมดปัจจัยเสริมและผลักดันให้  Social Media  เป็นเครื่องมืออันทรงพลัง  รวมถึงพัฒนาให้บุคลากรแวดวงโดยตรงอย่าง “เน็ตเวิร์คเกอร์” หรือ “วิศวกรด้านวิศวกรรมเครือข่าย”  กลายเป็นตำแหน่งเนื้อหอม ที่ใครๆ ก็รุมตอม ด้วยผลตอบแทนที่คุ้มค่า หากจะเรียกว่าต่อไปจะเป็นยุคทองของอาชีพนี้ก็ว่าได้!!!

                ด้านน้องที่กำลังสนใจ มีความชอบและอยากเรียนในคณะและสาขาที่มั่นใจได้ว่า ในอนาคตมีตลาดรองรับ สาขาวิศวกรรมเรือข่ายและอินเทอร์เน็ต ก็มีความน่าสนใจ และถ้าอย่างมีคนเก่งๆ เป็นรุ่นพี่ ก็ไปสมัคร หรือขอวิชาเพิ่มกับสองหนุ่มได้ที่คณะที่ ม.เทคโนโลยีมหานคร หรือ สอบถามที่ 02-9884021-4  ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครด้วย