KTAMมั่นใจตลาดหุ้นนอร์ทเอเชียพุ่งต่อ เปิดขายทริกเกอร์ฟันด์ตั้งเป้า6เดือน5%
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทประสบความสำเร็จจากการเปิดจำหน่าย กองทุนเปิดเคแทม นอร์ท เอเชีย อิควิตี้ 8% ทริกเกอร์ ฟันด์ ( KTNA8 ) ที่ใช้ระยะเวลาในการบริหารกองทุนเพียง 1 เดือน 9 วัน สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายที่ 8% ให้กับผู้ลงทุน
ในโอกาสนี้ จึงเห็นว่า ยังเป็นช่วงจังหวะที่ดี สำหรับการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดเคแทม นอร์ท เอเชีย อิควิตี้ 5% ทริกเกอร์ ฟันด์ (KTNA5) ในวันที่ 12 – 20 มกราคม 2558 มูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท ในราคาหน่วยลงทุนละ 10 บาท โดยกองทุนจะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนอีทีเอฟในต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีหุ้นของประเทศในภูมิภาคเอเชียเหนือ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ซึ่งกองทุนจะทำการซื้อขายหน่วยลงทุนอีทีเอฟ ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ฮ่องกง และเกาหลีใต้ โดยกองทุนจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่วนที่เหลือกองทุนอาจพิจารณาลงทุนใน ตราสารทุน ตราสารหนี้ ตราสารทางการเงิน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต.กำหนด
ทั้งนี้ บริษัทจะเลิกโครงการโดยอัตโนมัติ เมื่อหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.7000 บาท เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันขึ้นไป หลังจากนั้น บริษัทจะสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดไปยังกองทุนเปิดกรุงไทยสะสมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงินอื่นที่บริษัทเปิดให้สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน โดยมูลค่าหน่วยลงทุนที่คืนให้กับผู้ถือหน่วยต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 105 ของมูลค่าที่ตราไว้ที่ 10 บาท
ในกรณีที่ไม่เกิดเหตุการณ์ที่มูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้เลิกกองทุนภายใน 6 เดือน นับจากวันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม บริษัทจะเปิดทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนทุกวันทำการ ตั้งแต่เริ่มเปิดทำการจนถึงเวลา 12.00 น. และหากในวันใดวันหนึ่งราคาหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.7000 บาท เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันขึ้นไป บริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ พร้อมสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนทั้งหมดไปยังกองทุนเปิดกรุงไทยสะสมทรัพย์
ทั้งนี้ ในการบริหารกองทุน ผู้จัดการกองทุน สามารถปรับสัดส่วนการลงทุน ในแต่ละประเทศ ได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยบริษัทจะวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทั้งภาพรวมของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เช่น นโยบายอัตราดอกเบี้ย การอัดฉีดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนย้ายการลงทุน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มผลประกอบการ โดยภาพรวมเพื่อประเมินมูลค่าที่แท้จริงของตลาด เพื่อคัดสรรการลงทุน ในตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และมีมูลค่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน โดยทีมวิจัยของบลจ.กรุงไทย จะคอยติดตาม และประเมินสภาวะตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การประเมินการตัดสินใจการลงทุนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และทันต่อการเปลี่ยนแปลง
นางชวินดา กล่าวถึง มุมมองต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศนอร์ทเอเชีย ว่า เริ่มที่ญี่ปุ่น นโยบายการเงิน-การคลังที่ยังผ่อนคลายจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนและรักษาแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ ไม่ว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางญี่ปุ่น นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 3.5 ล้านล้านเยนออกมา รวมถึงแนวโน้มที่จะมีการลดภาษี Corporate Tax ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น
ตลาดญี่ปุ่นยังได้รับปัจจัยบวกจากกองทุนบำเหน็จบำนาญรัฐบาลญี่ปุ่น (GPIF) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนให้มีสัดส่วนการลงทุน
ส่วน ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีจะค่อยลดลงและทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่การฟื้นตัวอีกครั้ง โดยบริษัท คาดว่า Earnings Growth ของดัชนี Nikkei จะอยู่ที่ 12.7% ในปีนี้ นับเป็นตลาดที่มีการเติบโตของกำไรสูงในลำดับต้นๆ และคาดเป้าหมาย 12 เดือนข้างหน้าไว้ที่ 18,317 จุด
ประเทศจีน เศรษฐกิจยังขยายตัวในระดับสูงแม้ว่าจะมีทิศทางลดลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 7.1% ในปี 2558 และ 6.8% ใน2559 ทั้งนี้ ถึงแม้การเติบโตจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ทางการก็ได้มีนโยบายผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อช่วยรองรับผลกระทบในทางลบ โดยธนาคารกลางจีนได้ลดอัตราดอกเบี้ยลง รวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มที่รัฐบาลจีนจะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตและรักษาระดับการจ้างงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ปีที่ผ่านมาการลงทุนในตลาดหุ้นจีนให้ผลตอบแทนที่โดดเด่น โดยให้ผลตอบแทน 52.87% มากที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก แต่มูลค่าของตลาดยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบในภูมิภาค โดยคาดว่าในปีนี้ดัชนี Shanghai SE Composite จะมีอัตราการเติบโตอยู่ ที่ 12.2% อย่างไรก็ตาม ดัชนีได้มีการปรับตัวขึ้นไปค่อนข้างสูง จึงต้องเน้นการจับจังหวะการลงทุนเป็นหลัก
ประเทศฮ่องกง มีความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออกจากตลาดค่อนข้างสูงจากการที่ค่าเงิน HKD นั้นผูกติดอยู่กับ USD ทำให้ในช่วงที่เฟดดำเนินนโยบาย QE ก็มีเงินไหลเข้ามาในฮ่องกงค่อนข้างมากเช่นกัน ช่วยผลักดันราคาสินทรัพย์ทั้งอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ทางการเงินขึ้น แต่เมื่อเฟดมีแนวโน้มจะยกเลิก QE ฮ่องกงก็มีแนวโน้มที่จะได้ผลกระทบตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงยังได้รับอานิสสงค์จากการฟื้นตัวของประเทศจีน ทั้งจากด้านการค้า การลงทุน ธุรกิจการเงิน และภาคการท่องเที่ยว และการควบคุมดูแลที่ดีทำให้ภาคการธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีซึ่งน่าจะทนต่อความผันผวนต่อกระแสเงินทุนได้ บริษัทจดทะเบียนน่าจะมีกำไรเติบโตประมาณ 10.2% ในขณะที่มูลค่าหุ้นค่อนข้างถูกเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต โดยคาดเป้าหมายดัชนี Hang Seng ใน 12 เดือนข้างหน้าไว้ที่ 26,787 จุด หรือเติบโตประมาณ 12.3%
ประเทศเกาหลีใต้ การส่งออกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกจะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มีการประกาศมาตรการทางด้านการคลังมูลค่าราว 41 ล้านล้านวอน หรือคิดเป็นประมาณ 3% ของ GDP เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และธนาคารกลางเกาหลีใต้ ยังมีแนวโน้มใช้มาตรการการเงินเพิ่มเติม เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย โดยคาดเป้าหมายดัชนีปีนี้ ไว้ที่ 2,418 จุด หรือเติบโตขึ้นประมาณ 20.2%