มูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษในพระราชูปถัมภ์ฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยชั้นนำ
จัดตั้งโครงการ “ตั้งไข่”
ครั้งแรกเพื่อช่วยเหลือเด็กวัยเรียนที่มีปัญหาบกพร่อง
และภาวะความเสี่ยงต่อการเรียนรู้
15 ธันวาคม 2557: มูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยชั้นนำ ม.ราชภัฎสวนดุสิต ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ม.รามคำแหง ม.เกษมบัณฑิต และ ม.ราชภัฎภูเก็ต ได้จัดโครงการ “ตั้งไข่” We believe you can shine หรือ โครงการคัดกรองเพื่อค้นหาความต้องการพิเศษทางการศึกษาแก่เด็กวัยเรียน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติพระชนมายุครบ 60 พรรษา ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ ในปี 2558 เพื่อช่วยเหลือและพัฒนาเด็กที่มีความต้องการพิเศษทุกประเภทให้มีโอกาสพัฒนาความสามารถได้เต็มศักยภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษในพระราชูปถัมภ์ฯ เปิดเผยว่า คณะกรรมการมูลนิธิฯ มีมติให้จัดงานเฉลิมพระเกียรติเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการจัดโครงการ “ตั้งไข่” We believe you can shine หรือ โครงการ "คัดกรองเพื่อค้นหาความต้องการพิเศษทางการศึกษาแก่เด็กวัยเรียน” วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาการเรียนรู้ โดยการคัดกรองเพื่อค้นหาความบกพร่องด้านต่างๆ อาจเป็นความบกพร่องที่ต้องได้รับการกระตุ้นพัฒนาการจากผู้ชำนาญการ หรือ ต้องการอุปกรณ์จำเป็น เช่น เครื่องช่วยฟัง แว่นตา เป็นต้น เด็กพิเศษเหล่านี้หากได้รับการช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้แต่เนิ่นๆ จะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้งมีความมั่นใจในการศึกษาร่วมกับเด็กปกติอีกด้วย โครงการ “ตั้งไข่” ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ ในการจัดกิจกรรมการคัดกรองความบกพร่องทางการเรียนรู้ และการวัดแววความสามารถพิเศษด้านต่างๆ อาทิ ม.ราชภัฎสวนดุสิต ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ม.เกษมบัณฑิต ม.ราชภัฎภูเก็ต และ ม.รามคำแหง โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2557 ถึง วันที่ 15 มีนาคม 2558 ซึ่งผู้ได้รับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”
ศาสตราจารย์ ศรียา นิยมธรรม ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษในพระราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า เด็กแต่ละคนมีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม การจัดการศึกษาโดยทั่วไปจะจัดหลักสูตรเพื่อการพัฒนาเด็กส่วนใหญ่ที่มีลักษณะการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น เด็กที่มีความแตกต่างจากเด็กกลุ่มใหญ่จึงยากที่จะก้าวตามไปได้ในสภาวะการเรียนการสอนที่มีระยะเวลาเท่ากัน หรือ วิธีการสอนและอุปกรณ์การสอนอย่างเดียวกัน
เนื่องจากความแตกต่างทั้งที่ปรากฏชัดเจนและไม่ชัดเจนต้องอาศัยการวิเคราะห์จากผู้ชำนาญการ โดยหลักการช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษขั้นแรก คือ การช่วยเหลือในระยะแรกเริ่มโดยเร็วที่สุด ด้วยการค้นให้พบว่าเด็กคนใดคือเด็กที่มีความต้องการพิเศษประเภทใด เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือได้ทันท่วงที สำหรับกิจกรรมการคัดกรองเพื่อค้นหาความบกพร่องและวัดแววความสามารถพิเศษด้านต่างๆ มีดังนี้
1. วัดแววความสามารถด้านต่างๆ
2. ทดสอบการประสานงานมือตา และประสาทสัมผัสต่างๆ
3. ทดสอบความคิดสร้างสรรค์
4. ทดสอบสภาวะเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางการเรียนรู้
5. ทดสอบบุคลิกภาพ
6. ทดสอบระดับสติปัญญา
7. ทดสอบความฉลาดทางอารมณ์
8. การประมวลผลข้อมูลจากการมองเห็น และคัดกรองสายตา
9. ทดสอบความชัดเจนในการพูด
10. ตรวจคัดกรองการได้ยิน
ผลจากการจัดกิจกรรมการคัดกรองและวัดแววความสามารถพิเศษต่างๆ จะสามารถให้ความช่วยเหลือในระยะแรกเริ่ม โดยจะให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองถึงแหล่งรับบริการต่างๆ อีกทั้งเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้แก่โรงเรียนในการจัดโปรแกรมการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อไป”
ผู้สนใจขอรับบริการกิจกรรมโครงการฯ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 มีนาคม 2558 ติดต่อรายละเอียดที่ มูลนิธิเพื่อการศึกษาพิเศษในพระราชูปถัมภ์ฯ ทุกวัน จันทร์–ศุกร์ ในเวลาราชการ โทรศัพท์ 081-753-5830, 085-153-8245 หรือ 081-499 -1001