สองเยาวชนหัวกะทิ ชนะเลิศผลงานออกแบบในโครงการ “Nippon Paint Young Designer Award 2014” เตรียมอวดผลงานและร่วมเวิร์คช็อปกับนักออกแบบระดับโลกที่ญี่ปุ่น ต้นปีหน้า
ปัจจุบัน เราพบเห็นสถาปัตยกรรมเก่าที่ไม่ได้ใช้งานและถูกปล่อยให้รกร้างเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไป สถาปัตยกรรมเหล่านั้นไม่อาจตอบโจทย์การใช้งานของคนในยุคปัจจุบันได้อีกต่อไป ในขณะที่พื้นที่ว่างก็เริ่มมีไม่เพียงพอกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ดังนั้น จะดีแค่ไหนถ้ามีใครสร้างสรรค์แนวคิดในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้างเหล่านี้ให้กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างประโยชน์และทำให้ "ชุมชน” น่าอยู่ยิ่งขึ้น
บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง จำกัด (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสีทาอาคารรายใหญ่ของประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ในชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้นจึงจัดโครงการประกวด “Nippon Paint Young Designer Award 2014” ภายใต้โจทย์
‘ReThink: ReCreate, Our Community, Our Home’ เพื่อเปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ และวิสัยทัศน์ของตนที่มีต่อชุมชน ต่อเมือง ต่อประเทศที่อาศัยอยู่ ผ่านงานดีไซน์ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม และการออกแบบภายใน และแสดงแนวคิดของการฟื้นฟูพัฒนา ในการสร้างชุมชนในอุดมคติ หรือแหล่งที่อยู่อาศัยที่ช่วยให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมที่น่าอยู่และมีความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับหลักคิดขององค์กรนิปปอนเพนต์ที่ต้องการเห็นการพัฒนาทั้งในด้านอุตสาหกรรมออกแบบและการพัฒนาสังคมให้น่าอยู่มากขึ้น
สำหรับสองเยาวชนคนเก่งที่ชนะเลิศในโครงการ Nippon Paint Young Designer Award ประจำปี 2557 ได้แก่ นายวีริศ วาณิชตันติกุล นิสิตชั้นปีที่ 5 สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานชื่อ “ReBrown” ชนะเลิศในประเภทการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม (Architecture Category) และ นางสาวกฤติกา วิรัติ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาออกแบบภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จากผลงานชื่อ “Smoking Zone” ชนะเลิศประเภทการออกแบบภายใน (Interior Design Category) โดยผู้ชนะทั้งสองได้รับทุนการศึกษา 100,000 บาท พร้อมคอมพิวเตอร์ MacBook Pro 1 เครื่องมูลค่ากว่า 39,000 บาท และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันออกแบบในเวทีระดับเอเชีย พร้อมทั้งได้เปิดประสบการณ์ด้วยการเข้าร่วมเวิร์คช็อปกับนักออกแบบชื่อดังระดับโลก ณ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2558
นายวีริศ วาณิชตันติกุล นิสิตชั้นปีที่ 5 สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชนะเลิศในประเภทการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม เปิดเผยว่า “ผลงานที่นำเสนอมีชื่อว่า ‘ReBrown’ มาจากแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่สีน้ำตาล ซึ่งเป็นพื้นที่รกร้างและไม่ได้ถูกใช้งานในบริเวณที่ทำอุตสาหกรรมซึ่งมีอยู่มากในเมืองใหญ่ รวมถึงในกรุงเทพฯ มาฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อเชื่อมโยงชุมชนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ โดยพื้นที่ที่ผมเลือกเป็นโมเดลในผลงานชิ้นนี้ คือพื้นที่ในโรงงานยาสูบ บริเวณถนนพระราม 4 เพราะมองว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีศักยภาพในการนำมาพัฒนา อีกทั้งยังตั้งอยู่ใจกลางเมืองและมีชุมชนโอบรอบอยู่ จึงน่าจะนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง”
นายวีริศ อธิบายถึงผลงานว่า “ไอเดียหลักๆ ของผลงานนี้คือการสร้างสรรค์พื้นที่สำหรับทำการเกษตรใจกลางเมือง เพราะมองว่าการทำการเกษตรนอกจากจะส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งเสริมการประกอบอาชีพของคนในชุมชนด้วย เนื่องจากผลิตผลทางการเกษตรสามารถนำมาบริโภคและนำไปขายได้ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและมีรายได้เพิ่มขึ้น การวางโครงสร้างต่างๆ ในโครงการ ‘ReBrown’ นี้ประกอบด้วยตลาดขายของ โรงเรียน ร้านอาหาร พื้นที่อยู่อาศัย และลานสาธารณะประโยชน์ ซึ่งแต่ละโครงสร้างต้องเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากขึ้น อย่างเช่น การสร้างอาคาร ร้านอาหาร โครงสร้างหลักจะใช้เป็นกระจกเพื่อใช้แสงสว่างจากดวงอาทิตย์แทนไฟฟ้า แต่เราต้องเลือกกระจกที่สามารถสะท้อนความร้อนได้ ดังนั้น นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานแล้ว คนที่อยู่ในอาคารก็ยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของพื้นที่ทำการเกษตรได้ด้วย หรือการที่ทำให้มีพื้นที่สาธารณะที่มีต้นไม้มากขึ้น ผู้คนก็ได้สูดอากาศบริสุทธ์มากขึ้นแทนการสูดดมแต่ควันพิษจากรถยนต์ ส่วนการนำผลิตผลทางการเกษตรที่ปลูกไว้ไปขายในตลาดหรือส่งขายตามร้านอาหาร ก็เป็นการหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจในชุมชนให้เติบโตได้ พร้อมๆ ไปกับการลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า เรียกได้ว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็งทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมซึ่งสามารถเป็นชุมชนต้นแบบขยายไปดำเนินการต่อในพื้นที่อื่นๆ ได้อีกด้วย”
ทางด้านนางสาวกฤติกา วิรัติ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาออกแบบภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ชนะเลิศในประเภทออกแบบภายใน กล่าวถึงผลงานของตนเองว่า “ผลงานที่ออกแบบครั้งนี้ชื่อ ‘Smoking Zone’ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการที่เราต้องรอรถประจำทาง และในระหว่างที่รอรถ ก็ต้องสูดรับมลพิษต่างๆ มากมาย ทั้งควันจากยานพาหนะ ควันบุหรี่ ฝุ่นละอองในอากาศ รวมถึงความแออัดของพื้นที่ จึงเกิดไอเดียอยากจะปรับปรุงพื้นที่บริเวณที่รอรถให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้”
“ผลงานชิ้นนี้เลือกพื้นที่รอรถประจำทางบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสจตุจักร เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถประจำทางและสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งมีผู้คนสัญจรเป็นจำนวนมาก แนวคิดหลักของผลงาน คือ มีการแบ่งโซนต่างๆ อย่างชัดเจน ซึ่งประกอบด้วย โซนสำหรับรอรถประจำทางสำหรับคนทั่วไป โซนรอรถประจำทางสำหรับคนสูบบุหรี่ และร้านกาแฟ โดยโซนสำหรับรอรถประจำทางของคนทั่วไปนั้นจะตั้งอยู่ที่ชั้น 1 และมีผนังด้านหลังที่ใช้วัสดุในการดูดซับมลพิษ ส่วนโซนรอรถประจำทางสำหรับคนสูบบุหรี่จะตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 เพื่อให้ลมช่วยพัดพาควันบุหรี่ออกไป และสำหรับโซนคนสูบบุหรี่ นอกจากจะออกแบบโดยใช้วัสดุดูดซับสารพิษแล้วยังจะต้องเพิ่มการใช้ต้นไม้จริงมาประดับตกแต่ง เพื่อช่วยในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยออกซิเจนออกมามากขึ้น ที่สำคัญพื้นที่ ‘Smoking Zone’ นี้ จะช่วยลดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ผู้ที่สูบบุหรี่ก็จะไม่รบกวนผู้อื่น ส่วนในร้านกาแฟ ก็จะออกแบบโดยใช้ผนังที่ทำจากวัสดุดูดซับสารพิษเช่นกัน และยังสามารถใช้วัสดุที่ทำจากไม้ หรือวัสดุรีไซเคิลอื่นๆ มาตกแต่งได้อีกด้วย ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องมารอเป็นเวลานานๆ และเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคทันสมัยนี้ ดิฉันคิดว่าจุดเล็กๆ ของโครงการ ‘Smoking Zone’ นี้น่าจะช่วยด้านส่งเสริมให้คนในชุมชนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการอยู่ร่วมกันมากขึ้น และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์ให้สังคมน่าอยู่และมีความยั่งยืนมากขึ้น”นางสาวกฤติกา อธิบายสรุป
สำหรับโครงการ Nippon Paint Young Designer Award เป็นโครงการประกวดออกแบบระดับเอเชีย สำหรับเยาวชนในระดับอุดมศึกษา โดยจัดขึ้นพร้อมกันถึง 9 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน และประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยผลักดันวงการออกแบบผ่านการศึกษาและการเรียนรู้ของเยาวชน เพราะตระหนักดีว่าการศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญของวงการออกแบบ ขณะที่เยาวชนเองก็นับเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนวงการออกแบบให้ก้าวไปข้างหน้า และยังเปิดโอกาสให้สถาปนิกและมัณฑนากรไทยรุ่นใหม่ได้ใช้ความรู้ในการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน รวมทั้งให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมระดับนานาชาติกับเยาวชนจากประเทศต่างๆ