happy on October 19, 2009, 03:32:40 PM
                                       THE BROTHERS BLOOM



5 พฤศจิกายนนี้ เฉพาะที่ SFW เซ็นทรัลเวิล์ด และ APEX สยามสแควร์

-เนื้อหา-

             เอเดรียน โบรดี้ นักแสดงชายรางวัลออสการ์จาก The Pianist (2002), ราเชล ไวซ์ นักแสดงหญิงรางวัลออสการ์จาก The Constant Gardener (2005), มาร์ค รัฟเฟโล (Zodiac) และริงโกะ คิคูชิ นักแสดงสาวชาวญี่ปุ่นผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์จาก Babel (2006) ร่วมประชันบทบาทกันใน The Brothers Bloom ภาพยนตร์เบาสมองเรื่องของการผจญภัยครั้งสุดท้ายของสองหนุ่มนักต้มตุ๋นมือหนึ่งของโลก

             ขอต้อนรับเข้าสู่โลกของคู่พี่น้องตระกูลบลูม โลกที่การหลอกลวงคือศิลปะ และไม่มีสิ่งใดเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น สองพี่น้องมีฝีไม้ลายมืออันหาที่ติไม่ได้ตลอดระยะเวลาหลายปีของการร่วมงานกัน บัดนี้ทั้งคู่ตัดสินใจทำงานชิ้นสุดท้าย ด้วยการวางแผนหลอกล่อสาวสวยรวยทรัพย์นิสัยประหลาดคนหนึ่ง ให้เดินเข้าสู่หลุมพรางที่ทำให้พวกเขาต้องออกเดินทางท่องไปทั่วโลก

             เท่าที่จำความได้ สตีเฟ่น  (มาร์ค รัฟเฟโล) และบลูม  (เอเดรียน โบรดี้) มีเพียงกันและกันตลอดมาตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่เป็นสิบแปดมงกุฎระดับชาติ ทั้งสองแบ่งปันทุกสิ่งร่วมกัน สตีเฟ่นเป็นคนคิดแผนการอันซับซ้อน ขณะที่บลูมผู้น้องยังคงใฝ่ฝันถึงการผจญภัยอันแท้จริง แบบที่ไม่ต้องพึ่งพาแผนการของพี่ชาย และเมื่ออยากวางมือ บลูมรับปากทำงานกับสตีเฟ่นเป็นครั้งสุดท้าย โดยเข้าไปตีสนิทกับเพเนโลพี (ราเชล ไวซ์) ทายาทมหาเศรษฐีจากนิวเจอร์ซีย์ จนเมื่อความสัมพันธ์เริ่มเบ่งบาน เพเนโลพีก็เชื่อว่าตนเองกำลังจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต เธอและ บลูม พร้อมด้วยสตีเฟ่น และแบงแบง (ริงโกะ คิคูชิ) ผู้ช่วยสาวของพวกเขา ร่วมเดินทางข้ามมหาสมุทรไปกรีซ และตระเวนไปทั่วโลก จากกรุงเอเธนส์ ไปกรุงปราก ไปเม็กซิโก สู่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มก้าวเข้าใกล้จุดอันตราย บลูมจึงได้รู้ว่าแผนครั้งนี้ของพี่ชายคือแผนที่เสี่ยงตายที่สุดในชีวิตการเป็นนักต้มตุ๋นของเขา









-เบื้องหลังงานสร้าง-

             ในฐานะนักสร้างภาพยนตร์รุ่นใหม่ไฟแรง  ไรอัน จอห์นสัน ผู้เขียนบทและผู้กำกับ The Brothers Bloom มีประสบการณ์เกี่ยวกับหนังมาตั้งแต่ช่วงวัยแรกรุ่น จากการดูหนังคลาสสิค และทำหนังโฮมมูฟวี่ร่วมกับเพื่อนๆ ของเขา Brick ผลงานขนาดยาวเรื่องแรกของจอห์นสันที่เป็นหนังสืบสวนในโรงเรียนมัธยม ชนะรางวัล Special Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์ซันดานซ์ปี 2005 และผลงานต่อมาคือ The Brothers Bloom เรื่องนี้ คือการนำสไตล์เล่าเรื่องอันโดดเด่นในแบบของเขา มาใส่ไว้ในหนังแนวคลาสสิค

             ท่ามกลางภาพยนตร์มากมายหลายเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้จอห์นสันในวัยเด็ก  มีหนังเบาสมองอย่าง The Sting และ Dirty Rotten Scoundrels ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักต้มตุ๋นมืออาชีพ ผู้ที่ชีวิตของพวกเขาต้องก้าวล้ำนำหน้าคนอื่นไปขั้นหนึ่งเสมอ “ผมอยากทำหนังตลกเกี่ยวกับนักต้มตุ๋น” เขากล่าว “ผมค่อยๆ เขียนเรื่องของสองพี่น้องและหญิงสาวคนหนึ่งที่พวกเขาพบ และในที่สุดมันก็เกิดเป็นหนังเรื่องนี้ขึ้นมา”

             บรรดาตัวละครพิเศษที่จอห์นสันสร้างสรรค์ขึ้นมา ทำให้เขาต้องออกไปค้นหาโลเคชั่นแปลกๆ ทั่วโลก มารองรับความใหญ่โตของเรื่องราว “มันกลายเป็นหนังผจญภัยเรื่องยิ่งใหญ่ ที่ต้องท่องเที่ยวไปทั่วยุโรป” จอห์นสันกล่าว “เรามีฉากเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก, รถไฟวิ่งผ่านหุบเขาฮังกาเรี่ยน และตรอกซอกซอยในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มีทุกอย่างที่เป็นจินตนาการอันสวยสดงดงามเกี่ยวกับยุโรปของชาวอเมริกัน”

             ด้วยเหตุที่ Brick ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง จอห์นสันจึงไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยมากนักกับการหานายทุนมาสร้างภาพยนตร์เรื่องที่สองของเขา “เราไม่ได้โยนบท The Brothers Bloom ให้ใครสุ่มสี่สุ่มห้า” ผู้อำนวยการสร้าง แรม เบิร์กแมน กล่าว “เราไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น นี่คือหนังเรื่องต่อมาของไรอัน จอห์นสัน มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสองหนุ่มนักต้มตุ๋นผู้ผจญภัยไปทั่วโลก แค่นี้ใครๆ ก็อยากอ่านมันแล้ว ทุกคนชอบ Brick หรือถ้าไม่ชอบ พวกเขาก็ยังชื่นชมพรสวรรค์ของไรอัน และอยากร่วมงานกับเขาอยู่ดี”

             ตอนที่เบิร์กแมนอ่านบทหนังเรื่องแรกของจอห์นสัน เขาเชื่อว่าตัวเองค้นพบเพชรเม็ดงามเข้าแล้ว “แต่คุณก็ไม่รู้หรอกว่าเขามีพรสวรรค์จริงหรือเปล่า จนกว่าจะได้ทำงานกับเขา ตั้งแต่ตอนถ่ายฉากแรก เขาก็เป็นผู้นำได้อย่างดีแล้ว เขารู้ว่าเขาต้องการอะไร มันเป็นหนังเรื่องแรกที่ผมสามารถพูดว่า ‘ฉันไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นี่ ผู้กำกับคนนี้รู้ดีว่าเขากำลังทำอะไร’ และที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ เขายังเป็นชายหนุ่มที่สุภาพน่ารักที่สุดในโลกด้วย”

             The Brothers Bloom เป็นผลงานการสร้างโดย Endgame Films บริษัทผลิตภาพยนตร์ที่อยู่เบื้องหลังหนังดังอย่าง Hotel Rwanda และ I’m Not There “เราโชคดีอย่างเหลือเชื่อที่ได้อ่านบทหนังของไรอันตั้งแต่เนิ่นๆ และเราก็หลงรักมันทันที” เจมส์ สเทิร์น หัวหน้าฝ่ายบริหารของ Endgame กล่าว “เรารู้เดี๋ยวนั้นว่า เราอยากสร้างหนังเรื่องนี้”

             เวนดี้ จาเฟ็ท ประธานฝ่ายผลิตของ Endgame บอกว่า แม้เธอจะได้อ่านบทภาพยนตร์จำนวนมากมายมหาศาลตลอดชีวิตการทำงานของเธอ แต่ The Brothers Bloom ก็โดนใจเธอด้วยเหตุผลหลายประการ “การเขียนบทที่ชาญฉลาด ความสนุกสนาน และเนื้อหาที่มองโลกในแง่ดี ไรอันเข้าใจตัวละครที่เขาเขียนอย่างถ่องแท้ ว่าทำไมพวกเขาถึงทำอย่างที่พวกเขาทำ และการเดินทางที่เกิดขึ้นนั้นมีความหมายอย่างไร”

             “หนังเรื่องนี้มีท่วงทำนองและโลกของมันเอง” จาเฟ็ท เจ้าของผลงานอำนวยการสร้างภาพยนตร์อย่าง The Italian Job และ Without a Paddle กล่าว “มันอบอุ่นและมีอารมณ์ขัน ฉันชอบหนังที่ทำให้เรารู้สึกถึงบางสิ่ง ตอนที่ฉันอ่านบท ฉันหัวเราะ แล้วก็ร้องไห้ ฉันคิดว่าลูกสาวของฉันก็คงชอบหนังเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะว่ามันมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังอำนาจของเพศหญิงแฝงอยู่ในเรื่อง ซึ่งฉันชอบมันจริงๆ”

             หนึ่งในเหตุผลของการตัดสินใจรับบทบาทผู้อำนวยการสร้าง  The Brothers Bloom ของเบิร์กแมน ภายใต้การลงทุนของสตูดิโอใหญ่แห่งหนึ่งคือ “หน้าที่อย่างหนึ่งของผมคือการปกป้องไรอัน” เบิร์กแมนกล่าว “มุมมองของเขาไม่เหมือนใคร และคุณต้องช่วยให้เขามีอิสระในการทำตามใจ หนังเรื่องแรกของเขาประสบความสำเร็จเพราะเขาสามารถทำมันตามความคิดของตัวเอง เขาทำทุกอย่าง ทั้งเขียนบท กำกับ ตัดต่อ ส่วนเราก็ช่วยให้เขาทำในสิ่งที่เขาอยากทำ และก็เผยแพร่มันออกไป”

             จาเฟ็ท ผู้ทำงานภายใต้ระบบสตูดิโอ บอกว่าบริษัทสร้างภาพยนตร์อิสระเปิดโอกาสให้เธอได้ร่วมงานกับบรรดานักสร้างหนังผู้มีวิสัยทัศน์ “ไรอันคือหนึ่งในคนทำหนังเหล่านั้น” เธอกล่าว “และนั่นเป็นโชคของเรา บวกกับจังหวะที่เขามีบทหนังอยู่ในมือพอดี เราจึงคว้ามันเอาไว้”

             การถ่ายทำในสถานที่ต่างๆ ของยุโรปตะวันออก ทำให้นักแสดงและทีมงานต้องเผชิญกับงานหนักหนาสารหัส แต่จากถ้อยคำของเจมส์ สเทิร์นที่บอกว่าเบิร์กแมนคือผู้รวบรวมกลุ่มคนผู้เชี่ยวชาญมาไว้ด้วยกันเป็นทีมหนึ่ง “ผมชอบทำงานกับแรม” สเทิร์นกล่าว “การทำหนังไม่เคยเป็นเรื่องง่าย และงานนี้ต้องยกย่องไรอันและแรม ที่ทำให้การถ่ายทำเป็นไปอย่างราบรื่นมาก คุณต้องทำหนังมาสักหลายๆ เรื่อง ก่อนที่คุณจะพบทีมงานที่เหมาะสม”

             เมื่อตอนกำกับภาพยนตร์ครั้งแรก จอห์นสันทำเรื่องสืบสวนในโรงเรียนมัธยมให้ออกมาเป็นหนังแนวฟิล์มนัวร์ แต่กับ The Brothers Bloom เขาสร้างเรื่องราวผจญภัยของคู่นักเสี่ยงโชคยุคปัจจุบัน ให้ออกมาเป็นลักษณะกึ่งจริงกึ่งฝัน “เราสร้างโลกที่เป็นของเราเอง เพราะหนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องภายในโลกที่สตีเฟ่นเป็นคนสร้างขึ้นมา” ผู้กำกับกล่าว “มันเป็นโลกแห่งมายา ที่ทุกสิ่งดูจะเกินจริงไปนิดหน่อย และสตีเฟ่นจงใจใส่ความรู้สึกเพ้อฝันลงไปเพื่อชักจูงเพเนโลพีให้คล้อยตาม ลองจินตนาการดูสิว่า ถ้าทุกคนที่คุณเจอล้วนเป็นนักแสดงที่กำลังเล่นไปตามบท แต่คุณเป็นคนเดียวที่ไม่มีบท นั่นคือสิ่งที่ดึงดูดใจสำหรับเรื่องนี้ ในฐานะผู้ชม เราอาจเป็นส่วนหนึ่งของโลกนั้น มันทำให้เราสนุกสนานไปกับเรื่องราวนั้นด้วย”

             จอห์นสันเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการสร้างหนังสั้นร่วมกับเพื่อนๆ และครอบครัว “การทำหนังไม่เคยเป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าต้องแยกตัวเองออกจากผู้คนที่อยู่รอบกาย มันควรให้ความรู้สึกเหมือนว่าคุณหยิบกล้องขึ้นมา แล้วก็ออกไปถ่ายหนังกับเพื่อน เช่นเดียวกับการสร้างหนังเรื่องนี้ที่ต้องใช้เงินทุนสูง และถ่ายทำในสถานที่มากมาย สิ่งหนึ่งที่ผมกังวลคือ มันจะให้ความรู้สึกเหมือนเดิมหรือเปล่า









-นักแสดง-

เอเดรียน  โบรดี้ (บลูม)

             ภาพยนตร์เรื่อง The Pianist ของผู้กำกับ โรมัน โปลันสกี้ ทำให้โบรดี้เป็นนักแสดงอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม อีกทั้งยังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสาขาเดียวกันนี้บนเวทีลูกโลกทองคำ, Screen Actors Guild Award และ BAFTA ด้วย

            โบรดี้เกิดและโตในนิวยอร์ค เข้าศึกษาในโรงเรียนการแสดง และเรียนต่อที่ American Academy of Dramatic Arts ผลงานที่ทำให้เขาเริ่มถูกจับตามองคือ King of the Hill (1993) ตามมาด้วย Summer of Sam (1999) และ Liberty Heights (1999) ส่วนภาพยนตร์เด่นเรื่องอื่นๆ ของเขาได้แก่ Cadillac Records (2008), The Darjeeling Limited (2007), Hollywoodland (2006), King Kong (2005), The Village (2004), The Thin Red Line (1998) และ The Last Time I Committed Suicide (1997) 


ราเชล ไวซ์ (เพเนโลพี)

             นักแสดงสาวชาวอังกฤษ ที่มักได้รับบทเป็นผู้หญิงกล้าหาญและชาญฉลาดคนนี้  ยังคงมองหาบทที่ท้าทายความสามารถของเธออยู่เสมอ หลังจากที่การแสดงอันยอดเยี่ยมของเธอในภาพยนตร์ดราม่าเรื่อง The Constant Gardener ทำให้เธอคว้ารางวัลมากมาย ทั้ง Screen Actors Guild Award, ลูกโลกทองคำ และออสการ์

             ไวซ์ก้าวเข้าสู่อาชีพนักแสดงตั้งแต่เธอยังเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  ที่ซึ่งเธอได้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Talking Tongues Theatre เพื่อนำเสนอละครแนวทดลองหลายเรื่อง จนได้รับรางวัล Guardian Award จากเทศกาลเอดินเบิร์ก

             ผลงานภาพยนตร์เด่นเรื่องอื่นของไวซ์  ได้แก่ My Blueberry Nights (2007), The Fountain (2006), Runaway Jury (2003), The Shape of Things (2003), About a Boy (2002), Enemy at the Gate (2001), The Mummy (1999) และ Stealing Beauty (1996)

             

มาร์ค รัฟเฟโล (สตีเฟ่น)

             หนึ่งในนักแสดงชายที่มีคนต้องการร่วมงานด้วยมากที่สุดในฮอลลีวูด รัฟเฟโลเริ่มต้นอาชีพนักแสดงในวงการละคร และได้รับรางวัล Lucille Award สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง This is Our Youth รวมถึงได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลโทนี่จากบทบาทบนเวทีบรอดเวย์เรื่อง Awake and Sing!

             สำหรับวงการภาพยนตร์ รัฟเฟโลโด่งดังจาก You Can Count on Me ในปี 2000 ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์มอนทรีอัล และรางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งลอส แองเจลิส

             รัฟเฟโลขึ้นชื่อว่าเป็นนักแสดงที่เข้าถึงบทบาทได้ในภาพยนตร์ทุกแนว ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ดราม่าอย่าง Reservation Road (2007), Zodiac (2007), All the King’s Men (2006) ภาพยนตร์เบาสมองอย่าง Rumor Has It… (2005), Just Like Heaven (2005), 13 Going on 40 (2004) หรือภาพยนตร์แอ็คชั่นอย่าง Collateral (2004), Windtalkers (2002)     

             

ริงโกะ  คิคูชิ (แบงแบง)

             ริงโกะ (หรือชื่อเดิมว่ายูริโกะ) คิคูชิ เริ่มต้นอาชีพนางแบบและนักแสดงตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น  ผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอคือ  Ikitai ในปี 1999 จากนั้นก็มีผลงานโฆษณาและภาพยนตร์ตามมาอีกมากมาย อาทิ The Reason (2004), The Taste of Tea (2004), Funky Forest (2005), Portrait of the Wind (2005), Arch Angels (2006) และ Tokyo Serendipity (2007) แต่ผลงานที่สร้างชื่อให้เธอโด่งดังขึ้นมาอย่างแท้จริงคงหนีไม่พ้น Babel ภาพยนตร์อเมริกันเรื่องแรกของเธอ ซึ่งการแสดงอันเปี่ยมพลังในบทเด็กสาวหูหนวก ทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ และลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมในปี 2006 


ร็อบบี้ โคลเทรน (เดอะ คูเรเทอร์)

             โคลเทรนปรากฏตัวบนจอภาพยนตร์ตั้งแต่ยุค  80 ในผลงานอย่าง Britannia Hospital (1982), Krull (1983), Defence of the Realm (1985), Caravaggio (1986) และ Mona Lisa (1986) แต่เขามาเป็นที่จดจำจากบทจิตแพทย์ชื่อฟิทซ์ ในซีรีส์ยอดนิยมเรื่อง Cracker ซึ่งทำให้เขาได้รับรางวัล BAFTA สาขานักแสดงโทรทัศน์ชายยอดเยี่ยม

             เขาเคยรับบทเป็นวาเลนทิน  ซูคอฟสกี้ คู่ปรับของเจมส์  บอนด์ ในเรื่อง Goldeneye (1995) และ The World is Not Enough (1999) ผลงานเด่นเรื่องอื่นของโคลเทรน ได้แก่ Ocean’s Twelve (2004), Van Helsing (2004), From Hell (2001), The Pope Must Die (1991), Nuns on the Run (1990) และภาพยนตร์ชุด Harry Potter

             

แม็กซิมิเลี่ยน เชลล์ (ไดม่อน ด็อก)

             อีกหนึ่งผู้ชนะรางวัลออสการ์  และเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลทางด้านการแสดงมาอย่างมากมายนับไม่ถ้วนตลอดอาชีพของเขา  ตัวอย่างเช่น ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์  6 ครั้ง, ชนะรางวัลจากชมรมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งนิวยอร์ค 3 ครั้ง, รางวัลลูกโลกทองคำอีกหลายครั้ง รวมถึงรางวัล Deutscher Filmpreis 7 ครั้ง เป็นต้น

             เชลล์ได้ชื่อเป็นนักแสดงที่พูดภาษาเยอรมันผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดในฮอลลีวูด เขาเกิดที่กรุงเวียนนา เป็นบุตรของกวีชาวสวิส และนักแสดงหญิงชาวออสเตรีย เริ่มแสดงละครเวทีเมื่อปี 1954 และแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องแรกเมื่อปี 1958 คือ The Young Lions ประกบกับดาราใหญ่ มาร์ลอน แบรนโด และมอนต์โกเมอรี่ คลิฟท์ สามปีต่อมา เชลล์ก็ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดอย่างรวดเร็ว ด้วยการพิชิตรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง Judgment at Nuremberg จากนั้นก็ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ในสาขาเดิมอีกครั้งจาก The Man in the Glass Booth (1975) และสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Julia (1977) นอกจากการเป็นนักแสดงฝีมือเยี่ยม เขายังเป็นผู้กำกับฝีมือดีด้วย งานกำกับเรื่อง First Love (1970) และ The Pedestrian (1973) ได้รับเลือกเป็นตัวแทนจากประเทศเยอรมนีในการเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และในปี 1984 ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Marlene ของเขา ก็ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ รวมถึงได้รับรางวัลจากชมรมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งนิวยอร์ค และ National Board of Review

             ผลงานภาพยนตร์เรื่องเด่นของเชลล์มีดังนี้ Topkapi (1964), The Castle (1968), The Odessa File (1974), Cross of Iron (1977), Peter the Great (1986), The Freshman (1990), Little Odessa (1994) และ Deep Impact (1998)