happy on November 22, 2014, 07:59:56 PM
ครั้งแรกในประเทศไทยกับการแสดงสุดยิ่งใหญ่ตระการตา
“พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์”

ปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย กับการแสดง “พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์ ถ่ายทอดบทพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่า หลักธรรมคำสอนด้านความเพียร และความวิริยะอุตสาหะ บนเวทีกลางน้ำสุดอลังการ ผสานการแสดงแสงสีเสียงด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยระดับโลก พร้อมรองรับประชาชนเข้าชมฟรีวันละ 10,000 ที่นั่ง ระหว่างวันที่ 1-9 ธันวาคม นี้ ณ เวทีกลางทะเลสาบ สวนเบญจกิติ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และนายวินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวการจัดแสดง “พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์” เพื่อถ่ายทอดบทพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แฝงไปด้วยปรัชญาแห่งคุณธรรมและความเพียร ซึ่งจะจัดขึ้นบนเวทีกลางน้ำสุดอลังการ พร้อมเทคโนโลยีอันทันสมัยระดับโลก โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชมฟรีวันละ ๑๐,๐๐๐ ที่นั่ง ระหว่างวันที่ ๑-๙ ธันวาคม นี้ ณ เวทีกลางทะเลสาบ สวนเบญจกิติ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

บุคคลในภาพจากด้านซ้าย
๑.นายวินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด
๒.นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
๓.นายยืนยง โอภากุล ผู้ขับร้องบทเพลง “พระมหาชนก”
๔.นางสาวกุลมาศ ลิมปวุฒิรานนท์ (ขนมจีน) รับบทเป็น พระนางสีวลีเทวี
๕.นายขรรค์ ประจวบเหมาะ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
๖.นายอนุทิน ชาญวีรกูล
๗. นายสมชาย เวชากร ประธานกรรมการ บริษัท ยูโรเปี้ยนฟู้ด จำกัด (มหาชน)


                “พระมหาชนก” บทพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แฝงไปด้วยปรัชญาแห่งคุณธรรม ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะและการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้ชื่อ “พระมหาชนก เดอะ  ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์” (MAHAJANAKA THE PHENOMENON LIVE SHOW) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1-9  ธันวาคม 2557
ณ เวทีกลางทะเลสาบ สวนเบญจกิติ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการศึกษาและเรียนรู้อย่างกว้างขวางและแพร่หลาย ซึ่งประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ได้รับชมการแสดง จะได้สัมผัสถึงความรัก ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความอดทนและความเพียรพยายามของพระมหาชนก และน้อมนำหลักธรรมคำสอน ไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิตรวมถึงเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา ในปี 2557



                นายวินิจ เลิศรัตนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด ในฐานะผู้จัดการแสดง“พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์” กล่าวว่า รู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติสูงสุด
ที่ได้น้อมนำบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มานำเสนอในรูปแบบของละครเพลง เพื่อให้ผู้ชมได้รับอรรถรสที่งดงาม ทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหาของบทพระราชนิพนธ์ และความไพเราะของบทเพลงที่เรียงร้อยขึ้นใหม่ รวมถึงความตระการตาของการแสดงประกอบฉากสุดอลังการ ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยระดับโลก เพื่อให้ผู้ชมเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวอันทรงคุณค่าของบทพระราชนิพนธ์ โดยได้มีการเนรมิตเรือไฮดรอลิคขนาดใหญ่กว่า 30 เมตร มาโลดแล่นบนเวทีกลางน้ำที่ยาวที่สุดในประเทศกว่า 100 เมตร พร้อมฉากม่านน้ำ (Water Screen) ที่งดงามตระการตา เพื่อให้คนดูได้ร่วมผจญภัยไปกับองค์พระมหาชนก ที่มีความเพียรพยายามในการว่ายน้ำตลอด 7 วัน 7 คืน โดยมิทรงย่อท้อ ขณะเดียวกันก็ต้องพบเจอกับเหล่าอสูรกายที่คอยจะทำร้ายกัดกิน รวมไปถึงปูยักษ์ที่มาช่วยพระองค์ในยามที่เหนื่อยล้ากลางมหาสมุทรอีกด้วย”


                ในส่วนของบทละครจะแบ่งออกเป็น 9 องก์ โดยจะเน้นถึงแก่นของบทพระราชนิพนธ์อันเป็นหัวใจของเรื่อง คือ วิริยะบารมี ปัญญาบารมี และเมตตาบารมีของพระมหาชนก ได้แก่ องก์ที่ 1 นาวาล่มระหว่างกลางสมุทร, องก์ที่ 2 เจ็ดทิวาเจ็ดราตรี, องก์ที่ 3 บารมีแห่งความเพียร, องก์ที่ 4 จะอยู่ได้อย่างไรไร้ราชา, องก์ที่ 5 ราชรถเสี่ยงทาย, องก์ที่ 6 ฉลองราชย์ราชันย์, องก์ที่ 7 ราชสมบัติประหนึ่งคล้ายกับไม้ผล, องก์ที่ 8 ต้นไม้แห่งปัญญา และองก์ที่ 9 มหาราชันย์มหาราชา










                นายวินิจ กล่าวต่อไปว่า สำหรับนักแสดงนำได้รับเกียรติจากคุณทฤษฎี สหวงษ์ (ปอ) รับบท พระมหาชนก, คุณแคทรียา อิงลิช (แคท) รับบท นางมณีเมขลา, คุณกุลมาศ ลิมปวุฒิรานนท์ (ขนมจีน) รับบท พระนางสีวลีเทวี, คุณญาณี ตราโมท (โย) รับบท อำมาตย์ ร่วมด้วยนักแสดงสมทบและทีมงานรวมกว่า 1,000คน โดยในส่วนของบทเพลงหลักประกอบการแสดง (Theme Song)  ได้รับเกียรติจาก คุณยืนยง  โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว)  คุณอัสนี  โชติกุลและคุณกิตตินันท์ ชินสำราญ เป็นผู้ขับร้องบทเพลง “พระมหาชนก” ร่วมด้วยวงออเครสต้า บิ๊กแบนด์ เครื่องดนตรีกว่า 60 ชิ้น ที่จะมาบรรเลงบทเพลงประกอบการแสดงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด




                “การจัดแสดง พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอนไลฟ์ โชว์ จะจัดแสดงระหว่างวันที่ 1-9 ธันวาคม พ.ศ. 2557 รวม 9 วัน ณ เวทีกลางทะเลสาบ สวนเบญจกิติ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าชมการแสดงฟรีวันละ 10,000 ที่นั่ง  โดยสามารถรับบัตรเข้าชมได้ที่ผู้สนับสนุนการจัดงาน หรือสามารถรับบัตรหน้างานได้ด้วยตนเองจำนวน 5,000 ที่นั่ง/วัน  ในเวลา 17.00 น. ณ บริเวณลานกลางน้ำอเนกประสงค์  ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สอบถามได้ที่ วันทูวัน คอนแทคส์  โทร.0-2975 5550 โดยประตูจะเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. และเริ่มการแสดงในเวลา 20.00-22.00 น. ทางคณะผู้จัดงานขอเชิญชวนให้ประชาชนที่จะเข้า รับชมการแสดงแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลือง เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2557  พร้อมขอความร่วมมือให้ผู้ที่จะเข้าชมการแสดงใช้บริการรถสาธารณะในการเดินทางมารับชมการแสดง” นายวินิจ กล่าวในตอนท้าย

                นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานและผู้สนับสนุนหลักการจัดแสดง “พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์” กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยและประเทศไทยเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคล 5 ธันวาคม 2557 ที่กำลังจะมาถึงซึ่งการน้อมนำบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” มาจัดแสดงผ่านสื่อมัลติมีเดีย แสงสีเสียง ที่มีความงดงามตระการตาด้วยเทคนิคที่ทันสมัยระดับโลกในครั้งนี้นอกจากจะสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชมแล้ว  ยังเป็นการถ่ายทอดหลักธรรมคำสอนจากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปยังเด็ก เยาวชนและประชาชนคนไทย เพื่อให้ตระหนักถึงความเพียร ความอดทน และการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

                นอกจากการแสดงแล้ว ทางบริษัทฯ ได้จัดให้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเปิดให้ประชาชน ร่วมลงนามถวายพระพร ณ บริเวณลานกลางน้ำอเนกประสงค์ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 1-9 ธันวาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป

happy on November 22, 2014, 08:26:34 PM
ข้อมูลสำคัญ (Fact Sheet)
การจัดงาน “พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์”
(MAHAJANAKA THE PHENOMENON LIVE SHOW)
วันที่ ๑-๙ ธันวาคม ๒๕๕๗
ณ เวทีกลางทะเลสาบ สวนเบญจกิติ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ที่มาของโครงการ

พระมหาชนก” บทพระราชนิพนธ์อันทรงคุณค่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่แฝงไปด้วยปรัชญาแห่งคุณธรรม ความเพียร ความวิริยะอุตสาหะและการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน  ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ภายใต้ชื่อ “พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์” (MAHAJANAKA THE PHENOMENON LIVE SHOW)  โดยถ่ายทอดผ่านสื่อนักแสดง ดนตรีประกอบแสงสีเสียง มัลติมีเดีย และเทคนิคพิเศษสุดตระการตา  เพื่อให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติได้ น้อมนำหลักธรรมคำสอนที่แฝงอยู่ในบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิตและเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๗ พรรษา ในปี ๒๕๕๗

วัตถุประสงค์

1.   เพื่อถ่ายทอดบทพระราชนิพนธ์ สู่การศึกษาและเรียนรู้อย่างกว้างขวางและแพร่หลาย
2.   เพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมสู่การท่องเที่ยวเชิงศิลปวิทยาการ ให้กับชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
3.   เพื่อถ่ายทอดกิจกรรมสู่การเรียนรู้อย่างยั่งยืน


วันเวลาการจัดแสดง

[size=14ptวันที่จัดแสดง      วันที่ ๑-๙ ธันวาคม ๒๕๕๗
รับบัตรที่นั่ง      ๑๗.๐๐ น. (ณ ลานกลางน้ำอเนกประสงค์ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์)
ประตูเปิดเวลา      ๑๘.๐๐ น.
เริ่มการแสดง      ๒๐.๐๐ - ๒๒.๐๐ น.][/size]

แนวคิดในการแสดง

ในการแสดงครั้งนี้ ทางผู้จัดตั้งใจที่จะนำบทพระราชนิพนธ์มานำเสนอในรูปแบบของละครเพลงที่ใช้เพลงในการดำเนินเรื่องทั้งหมด เพื่อให้ผู้ชมได้รับอรรถรสที่งดงาม ทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหาของบทพระราชนิพนธ์ ความไพเราะของบทเพลงที่เรียงร้อยขึ้นใหม่ทั้งหมดความตระการตาของการแสดง  ความยิ่งใหญ่ของฉากแสงเสียงและเทคนิคพิเศษ เพื่อให้สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในส่วนของบทละครจะเน้นถึงแก่น ของบทพระราชนิพนธ์อันเป็นหัวใจของเรื่อง คือ วิริยะบารมี หรือ ความเพียรของมหาชนกในการไม่ย่อท้อ ที่จะว่ายน้ำต่อไปแม้ไม่เห็นฝั่ง ปัญญาบารมี คือสติปัญญาอันเฉลียวฉลาดลึกซึ้งของพระมหาชนก ในการทายปริศนาทั้งสิบหกประการอันปรากฏอยู่ในชาดก รวมไปถึงปัญญาในการปกครองและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย “ความไม่รู้” ของประชาชน และท้ายที่สุด เมตตาบารมี อันได้แก่ ความเมตตาอันไพศาลที่พระมหาชนก
มีต่อประชาชนแห่งเมืองมิถิลา ในการให้การศึกษาเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางสติปัญญาของประชาชนเอง


แนวคิดในการออกแบบการแสดง

เมืองมิถิลาอันเป็นเมืองของพระมหาชนกนั้นตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ คือ เมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในแคว้นวิเทหะในชมพูทวีป บริเวณที่เป็นเนปาลและอินเดียตอนเหนือในปัจจุบัน ชื่อมิถิลาปรากฏอยู่ในรามเกียรติ์ นิทานปรัมปราและชาดกอีกหลายเรื่อง ดังนั้นในด้านของการออกแบบองค์ประกอบศิลป์โดยรวม ทีมงานจึงผสมผสานศิลปะไทยกับศิลปะในดินแดนแถบนั้น เพื่อให้ผู้ชมได้จินตนาการเห็นภาพความงดงามยิ่งใหญ่ของศิลปะและอารยะธรรมโบราณอันมีอิทธิพลแผ่ไปทั้งทวีปเอเชียในยุคนั้น

เวลาที่ใช้ในการแสดง  ประมาณ  ๖๐  นาที  แบ่งออกเป็น  ๙  องก์
ตัวละครหลักในเรื่องพระมหาชนก

พระมหาชนก


ทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าอริฏฐชนก แห่งกรุงมิถิลา เมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ในการทำสงครามกับพระโปลชนกซึ่งเป็นพระอนุชา พระมารดาซึ่งทรงครรภ์พระมหาชนกอยู่นั้นได้หนีออกจากเมือง มิถิลา มุ่งสู่นครกาลจัมปากะ และได้พบกับอุทิจจพรามหณ์ที่ได้ให้การช่วยเหลือ เมื่อพระมหาชนกเจริญวัยถึง  ๑๖ พรรษา ทรงทราบเหตุทั้งหมดทั้งมวล จึงได้ทรงดำริจะทวงคืนราชบัลลังก์ของมิถิลา และออกเดินทางไปสุวรรณภูมิด้วยเรือเพื่อไปหาทุนทรัพย์มาชิงบัลลังก์คืน

นางมณีเมขลา

เมขลา หรือ มณีเมขลา เทพธิดาแห่งห้วงมหาสมุทร คอยพิทักษ์ปกป้องห้วงน้ำในสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล และคอยช่วยชีวิตผู้มีบุญที่ประสบเภทภัยในอาณาเขตที่นางดูแลอยู่

พระนางสีวลีเทวี

พระราชธิดา ใน พระโปลชนก ผู้ครองกรุงมิถิลา ก่อนพระราชบิดาจะสวรรคตนั้นได้ทรงตรัสมอบ ราชบัลลังก์ให้แก่ผู้ที่ทำให้นางพอพระทัย ผู้ที่รู้หัวนอนแห่งบัลลังก์ ผู้ที่ยกสหัสสถามธนูขึ้น และผู้ที่สามารถนำปริศนาสมบัติทั้ง ๑๖ แห่งออกมาได้

มหาอำมาตย์

                ขุนนางเก่าแก่ของราชบัลลังก์มิถิลา ผู้ที่พระโปลชนกไว้พระทัย มีหน้าที่สนองพระบรมราชโองการ  เมื่อพระโปลชนกสิ้นพระชนม์ มหาอำมาตย์ก็เป็นผู้นำในการตามหาบุรุษผู้มีคุณสมบัติครบที่จะได้ครองบัลลังก์
มิถิลาสืบไป


เรื่องย่อบทละคร

ปฐมบท


บทบรรยายเล่าเรื่องสาเหตุแห่งสงครามระหว่างพระเจ้ากรุงมิถิลาและพระอนุชา ความเข้าใจผิดอันตามมาด้วยสงคราม การช่วงชิงราชบัลลังก์ที่ทำให้พระเจ้ากรุงมิถิลาผู้เป็นพระบิดาของ พระมหาชนกสิ้นพระชนม์ พระมารดาต้องหนีไปยังเมืองอื่นโดยมีพระมหาชนกติดพระครรภ์ ไปด้วยเวลาผ่านไปจนมหาชนกเติบใหญ่ได้รู้ความจริง จึงตั้งใจจะหาทุนทรัพย์ไปช่วงชิงบัลลังก์ มิถิลาคืนด้วยการเดินทางโดยเรือพาณิชย์ไปค้าขายยังสุวรรณภูมิ

องก์ที่  ๑    นาวาล่มระหว่างกลางสมุทร

พระมหาชนก ออกเดินทางกับเรือพาณิชย์เพื่อข้ามมหาสมุทรไปยังเมืองสุวรรณภูมิ  เมื่อเดินทางมาเป็นเวลาเจ็ดวันวันคืน เป็นระยะทางไกลถึงเจ็ดร้อยโยชน์ ก็เกิดพายุร้ายขึ้นคลื่นลมกระหน่ำทำให้เรือแตก  ผู้โดยสารและชาวเรือต่างกลัวตายร้องเรียกให้เทวดาช่วยโดยไม่คิดจะช่วยตนเอง ยกเว้นแต่พระมหาชนกผู้มีสติปัญญาจึงเตรียมพร้อมสำหรับการที่จะต้องว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร  ที่มีสัตว์ร้ายใต้น้ำคอยทำร้ายกัดกิน

องก์ที่ ๒    เจ็ดทิวาเจ็ดราตรี

พระมหาชนก  ว่ายน้ำอยู่กลางมหาสมุทรอยู่เป็นเวลาถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน โดยมิได้ย่อท้อ ในคราที่พระองค์ทรงเหนื่อยล้านั้น พระมหาชนกรู้สึกว่าในบางครั้งเหมือนเท้าแตะทรายใต้น้ำ ให้พักขาได้  แท้จริงสิ่งนั้นคือปูทะเลยักษ์ที่ชาวสุวรรณภูมิในเรือเคยเล่าให้ฟังว่าผู้มีบุญเท่านั้นจึงจะสัมผัสได้

องก์ที่ ๓    บารมีแห่งความเพียร

นางมณีเมขลาเทพธิดาแห่งมหาสมุทร เห็นพระมหาชนก ว่ายน้ำอยู่เพียงผู้เดียวในท้องน้ำที่กว้างใหญ่ไพศาล แม้ว่าจะแลไม่เห็นฝั่งแต่ก็ยังเพียรว่ายไป  นางจึงได้ปรากฏกายขึ้นและตั้งปุจฉาถามพระมหาชนกว่าเพราะเหตุใดจึงพยายามว่ายอยู่ พระมหาชนกตอบว่า หากเพียร ต่อไปไม่ย่อท้อก็อาจมีโอกาสไปถึงที่หมายสักวันหนึ่ง แต่หากไม่เพียรพยายามก็คงต้องตกเป็นเหยื่อสัตว์ร้ายเหมือนดังคนในเรืออื่นๆ นางมณีเมขลาได้เห็นแจ้งแห่งความเพียรของ
พระมหาชนกจึงได้ช่วยพาไปยังมิถิลานครโดยโอบอุ้มพระมหาชนกขึ้นจากมหาสมุทร ก่อนที่พระมหาชนกจะหลับลงด้วยความเหนื่อยอ่อน ได้ยินนางเมขลาขอให้พระองค์ถ่ายทอดสติปัญญาของพระองค์แก่ประชาชนโดยตั้งสถานศึกษาขึ้นให้ชื่อว่า โพธิยาลัยมหาวิชชาลัยอันหมายถึงสถานที่แห่งการรู้แจ้งแต่พระมหาชนกอยู่ในสภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่นจึงคิดว่าเป็น ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย


องก์ที่ ๔    จะอยู่ได้อย่างไรไร้ราชา

ที่เมืองมิถิลาขณะนั้น พระโปลชนกผู้เป็นอาของมหาชนกสวรรคตลงพระองค์มีแต่พระราชธิดา ชื่อ สีวลี ซึ่งตามจารีตประเพณีไม่สามารถให้สตรีครองเมืองได้ ประชาชนชาวมิถิลาระส่ำระสาย  ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปเมื่อไร้พระราชา

องก์ที่ ๕    ราชรถเสี่ยงทาย

พระโปลชนกได้รับสั่งไว้ก่อนสวรรคตว่า ผู้ที่มีคุณสมบัติจะได้ครองเมืองมิถิลานั้นจะต้องไขปริศนาเพื่อหาขุมทรัพย์ของแผ่นดินสิบหกแห่งที่ซ่อนอยู่ในที่ต่างๆ ได้  ต้องเป็นผู้ที่มีกำลังยกคันธนูใหญ่และต้องเป็นผู้ที่ทำให้พระราชธิดาทรงพอพระทัย ในที่สุดเมื่อไม่มีผู้ใดที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ครบ เสนาอำมาตย์ จึงต้องทำพิธีปล่อยราชรถเสี่ยงทาย ขบวนราชรถออกเดินทางไปทั่วแผ่นดิน และ  มาหยุดลงที่ตรงหน้าพระมหาชนกที่นอนหลับอยู่ใต้ต้นไม้ พระมหาชนกสามารถตอบปริศนาได้ ทุกประการ ทั้งยกคันธนูใหญ่ได้และทำให้พระราชธิดาพอพระทัย ดังนั้นทุกคนจึงพร้อมใจกันถวายบัลลังก์มิถิลาให้แก่พระองค์

องก์ที่ ๖    ฉลองราชย์ราชันย์

พระมหาชนกขึ้นครองราชย์ ทรงปกครองประชาชนด้วยทศพิธราชธรรมประชาชนใต้พระบารมีร่มเย็นเป็นสุข พุทธศาสนาเรืองรองประชาชนจึงร่วมแซ่ซ้องสรรเสริญ

องก์ที่ ๗    ราชสมบัติประหนึ่งคล้ายกับไม้ผล

วันหนึ่ง พระมหาชนกเสด็จพระราชดำเนินไปชมพระราชอุทยาน ที่ทางเข้าประตูอุทยานได้ ทรงเห็นต้นมะม่วงสองต้น  ต้นหนึ่งมีผลเต็มต้นแต่อีกต้นหามีผลไม่ จึงทรงเด็ดผลมะม่วงเสวย จากนั้นก็เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปในอุทยาน  เมื่อคนทั้งหลายเห็นดังนั้นก็ตรงเข้ายื้อแย่งปีนป่ายเพื่อจะเอาผลมะม่วงจนในที่สุดต้นมะม่วงถูกทำลายโค่นลงเมื่อพระมหาชนกเสด็จกลับออกมาจากในอุทยานทอดพระเนตรเห็นจึงเกิดสังเวชใจ ได้ทรงพิจารณาเปรียบเทียบว่าราชสมบัติก็คล้ายกับต้นมะม่วงที่มีผล มีแต่คนจะแก่งแย่งชิงกัน ทรงปรารถนาจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างต้นที่มีแต่ใบและไร้ผล คือ ออกผนวชเพื่ออยู่อย่างสงบไม่ต้องเผชิญกับการแก่งแย่งชิงดีอีกต่อไป

องก์ที่ ๘    ต้นไม้แห่งปัญญา

เหล่าเสนาบดีทูลถามพระองค์ว่าจะให้ทำอย่างไรกับต้นมะม่วงที่ถูกทึ้งทำลายไปแล้วพระองค์จึงทรงใช้ปัญญาบารมีในการฟื้นฟูและขยายพันธ์ต้นมะม่วงขึ้นมาใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนต่อไปได้หลังจากนั้นได้ทรงคิดถึงสิ่งที่นางมณีเมขลาบอกกับพระองค์คราวที่ช่วยจากมหาสมุทรมาส่งที่มิถิลาเรื่องให้ตั้งสถาบันการศึกษา จึงได้ทรงตั้งปูทะเลย์มหาวิชชาลัยขึ้น เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน

องก์ที่ ๙    มหาราชันย์มหาราชา

ด้วยบุญญาบารมีและความเมตตาที่ทรงมีต่อประชาชน ชาวมิถิลาจึงร่วมกันระลึกถึง
พระมหากรุณาธิคุณและกล่าวสรรเสริญมหาชนกผู้ทรงเป็นมหาราชันย์ผู้ยิ่งใหญ่ของปวงชน


เทคนิคการแสดง

-   เนรมิตเวทีกลางน้ำที่มีความยาวกว่า ๑๐๐ เมตร ให้เป็นโรงละครขนาดใหญ่ที่มีความงดงามตระการตา พร้อมฉากม่านน้ำ (Water Screen) ขนาดใหญ่รวมความยาวกว่า ๑๐๐ เมตร โดยนำเทคนิค Effect Multi Media มาประกอบการแสดงสุดอลังการกับเทคโนโลยี Projector Mapping ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวบนอาคารขนาดใหญ่ที่มีความสูงกว่า ๑๐๐ เมตรเทียบเท่าตึกสูงกว่า ๓๐ชั้น ตื่นตาตื่นใจกับเรือไฮโดรลิค
ขนาดใหญ่กว่า ๓๐ เมตร ที่จะมาโลดแล่นบนผิวน้ำร่วมกับปูยักษ์และเหล่าอสูรกาย ซึ่งจะทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้ร่วมเดินทาง และผจญภัยกลางมหาสมุทรไปกับพระมหาชนก


นักแสดง

-   ทฤษฎี สหวงษ์ (ปอ)       รับบท พระมหาชนก
-   แคทรียา อิงลิช (แคท)       รับบท นางมณีเมขลา
-   กุลมาศ ลิมปวุฒิรานนท์ (ขนมจีน)  รับบท พระนางสีวลีเทวี
-   ณาณี ตราโมท (โย)        รับบท อำมาตย์
-   นักแสดงสมทบและทีมงานรวมกว่า ๑,๐๐๐ คน


สอบถามข้อมูลโทร

-   วันทูวัน คอนแทคส์  ๐-๒๙๗๕-๕๕๕๐

เพลงพระมหาชนก
คำร้อง / ทำนอง : ยืนยง โอภากุล
คำร้อง (ภาษาอังกฤษ): Todd Lavelle
ขับร้อง / ยืนยง โอภากุล, อัสนี โชติกุล, กิตตินันท์  ชินสำราญ

บ้านเมืองที่มีแต่ความวุ่นวาย
เกิดจากคนใน ยังขาดสติปัญญา
ขาดทั้งความรู้ ขาดทั้งธรรมะ
ไม่มีสัจจะ ไม่เคยมีความจริงใจ
แม้เพียงนิดเดียว

เกี่ยวโยงเรื่องราวพุทธประวัติ
อดีตชาติ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นอุทาหรณ์สอนเตือนใจเรา
ให้คนหนุ่มสาว ได้คิดได้เจริญรอย
พระมหาชนก

* กกม่วงกกนั้น รสมันหวานกินอร่อย
ชะรอยสรวงสวรรค์ประทานมา
หากเราเฝ้าถนอม ขยายพันธุ์ให้แตกกล้า
ภายภาคหน้ายังได้เก็บกิน
มีเหลือเฟือเผื่อแผ่แก่ผู้คน
เจ้าข้าวเจ้าของ ก็คือคนไทยทุกคน
คุณก็เป็นเจ้าของ ฉันก็เป็นเจ้าของ
แผ่นดินทอง เป็นของคนไทยทุกคน 

In as much as we trust that what's given
Is enough to sustain the lives we're living
In this golden land, Woman and man,
We can create the peace at hand (*)

แผ่นดินไทย ย้ายไปที่ไหนไม่ได้  [The Kingdom stands as one]
คนเกิดคนตาย ขอให้อย่าหนักแผ่นดิน [ As one our sacred land ]
พระมหาชนก พระมหาชนก
พระชาดก ที่อยากให้คนได้ยิน [ Let the whole world hear ]
พระมหาชนก พระมหาชนก
จากพระไตรปิฎก จากพระเจ้าแผ่นดิน