บางกอกแดนซ์ ปลื้ม เยาวชนไทยคว้าชัยเกือบ 100 รางวัลจาก 2 เวทีใหญ่ระดับนานาชาติ เดินหน้าเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพแข่งเต้น ปี 2558
สถาบันบางกอกแดนซ์ ปลื้ม เยาวชนไทยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย คว้ารางวัลใหญ่จาก 2 เวทีการประกวดเต้นระดับสากลเกือบ 100 รางวัล หลังระดมความคิดในการสร้างสรรค์ท่าเต้น และฝึกซ้อมอย่างหนัก พร้อมเดินหน้าเตรียมความพร้อมรับบทบาทเจ้าภาพในการแข่งขัน Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 17 ในปี 2558 มั่นใจนักเต้นนานาชาติตบเท้าเข้าร่วมแข่งขันด้วยดีเช่นเคย
คุณวัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบางกอกแดนซ์ และตัวแทนสถาบัน C.S.T.D. ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า “สถาบันบางกอกแดนซ์ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ที่รักการเต้น รวมถึงคัดเลือกเยาวชนและนักเต้นไทยที่มีศักยภาพไปแข่งขันในระดับนานาชาติมาตลอดกว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบัน และเป็นที่น่าภูมิใจคือ สถาบันบางกอกแดนซ์ได้รับรางวัลจากการแข่งขันทุกครั้งที่ส่งเยาวชนเข้าร่วมในการแข่งขันต่างๆ ซึ่งล่าสุด ทีมเยาวชนจากบางกอกแดนซ์ก็สามารถรักษาแชมป์และคว้ารางวัลกลับมาให้ประเทศไทยได้สำเร็จจาก 2 รายการในเวทีระดับนานาชาติ คือ การแข่งขัน Perth Theatrical Festival ประจำปี 2014 ณ เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นรายการที่รวมนักเต้นระดับสากลทั่วทุกมุมโลกที่เป็นสมาชิก มาประชันฝีมือกันอย่างเต็มที่ โดยทีมนักเต้นไทยได้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ Classical, Lyrical, National, Demi-Character, Modern และ Song and Dance ในปีนี้นักเต้นที่ถูกคัดเลือกจากสถาบันบางกอกแดนซ์ได้รับรางวัลจากการแสดงทุกประเภท และคว้ารางวัลมาได้ทั้งสิ้น 51 รางวัล ซึ่งในรายการนี้เยาวชนที่ไปประกวดได้คว้าถ้วยรางวัลใหญ่ Perpetual มีการสลักชื่อผู้ชนะเลิศไว้ที่ถ้วยเป็นประวัติถึง 3 ถ้วยรางวัลทีเดียว”
“ส่วนอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของสถาบันฯ โดยการเปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วประเทศได้เข้าร่วมคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยจำนวนกว่า 130 ชีวิต เดินทางไปแข่งขันในรายการ “Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 16” ณ ประเทศสิงค์โปร์ การแข่งขันศิลปะการเต้นระดับนานาชาตินี้ มีนักเต้นเข้าร่วมประชันความสามารถหลากหลายรูปแบบจากทั่วเอเชียและคาบสมุทรแปซิฟิกมีโชว์ร่วมทั้งหมดมากกว่า 400 ชุด ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเยาวชนไทยสามารถเอาชนะคู่แข่งได้อย่างน่าชื่นชม คว้ารางวัลมาได้ 44 รางวัล ด้วยการเตรียมความพร้อมที่ดีของน้องๆ เยาวชนและคุณครูผู้ออกแบบท่าเต้น ทำให้การสร้างสรรค์โชว์แต่ละชุดมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์หลากหลายโชว์ อาทิ รำนาคที่ต้องใช้นักเต้นจำนวนทั้งหมด 23 คน สร้างความประทับใจให้กรรมการ จนสามารถคว้ารางวัลใหญ่มาครองได้สำเร็จ คือ รางวัล The Best School “The Merlion Cup” ถ้วยคะแนนรวมสูงสุดประเภทกลุ่มแบบไม่จำกัดรุ่น นอกจากนี้ยังสามารถรักษาแชมป์และคว้ารางวัลอื่นๆ กลับมาให้ชาวไทยได้ภูมิใจ อาทิ The Betty Tilley Cup ประเภทคะแนนรวมบุคคลสูงสุด, Groups Open Freestyle และ Groups Open Classical, Lyrical, contemporary ฯลฯ นับว่าเป็นเกียรติประวัติที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เยาวชนนักเต้นไทยได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในครั้งนี้”
ด้าน ดร.พัฒนาชาติ กฤดิบวร อธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า “ ในฐานะกรมพลศึกษาต้องขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ เยาวชนไทยได้นำความรู้ความสามารถของศาสตร์การเต้นแขนงต่าง ๆ ไปโชว์ให้ชาวต่างชาติได้เห็นถึงศักยภาพด้านกีฬาของเยาวชนที่มีความสามารถในเรื่องการเต้นไม่แพ้ชาติใด และที่สำคัญต้องขอชื่นชมคุณครูผู้ฝึกสอนในการออกแบบท่าเต้นให้มีความโดดเด่นน่าสนใจ โดยผนวกเอาเอกลักษณ์ของไทยผสมผสานกับท่าทางการเต้นแบบสากล จนทำให้ชนะใจกรรมการคว้ารางวัลกลับมาฝากชาวไทย ทั้ง 2 รายการ รวมแล้วเกือบ 100 รางวัล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เยาวชนผู้มีใจรักในการเต้นได้ใช้ทักษะความสามารถ รวมถึงการเสียสละเวลาในการฝึกซ้อม ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การแข่งขันที่ผ่านมา จนสามารถนำรางวัลแห่งชัยชนะกลับมาให้พวกเราคนไทยได้ภูมิใจเหมือนเช่นเคย ทั้งนี้ กรมพลศึกษามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการให้โอกาสและสนับสนุนเยาวชนไทยในทุกการแข่งขัน ร่วมทั้งขอเป็นหนึ่งในกำลังใจให้เยาวชนผู้มีความรักในศิลปะการเต้นได้ใช้ทักษะความสามารถที่มีเดินหน้าสานฝันของผู้รักการเต้นให้เป็นจริง และร่วมเป็นพลังสำคัญอันจะช่วยพัฒนาวงการศิลปะการเต้นของไทยให้เจริญก้าวหน้าต่อไป”
ทั้งนี้ ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ.2558 ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทางประเทศไทยได้รับเกียรติจากทาง สถาบัน The Commonwealth Society of Teachers of Dancing (C.S.T.D.) ประเทศออสเตรเลีย เลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 17 ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะมีบรรดานักเต้นจากทั่วเอเชียเดินทางมาประชันความสามารถการเต้นกันเป็นจำนวนมากแล้ว ยังอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างประสบการณ์และการรับรู้เกี่ยวกับศิลปะการเต้นในรูปแบบใหม่ๆ ในวงกว้างมากขึ้น เพราะแต่ละประเทศจะต้องมีการออกแบบ สร้างสรรค์ ลีลาการเต้นมาแข่งขันกันอย่างเต็มทีแน่นอน และยังอาจเป็นการสร้างกระแสให้เยาวชนที่ชื่นชอบการเต้นได้ตื่นตัวและเห็นว่าการเต้นสามารถสร้างอาชีพ หรือสร้างความสำเร็จให้เราได้ถ้ามีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่แท้จริง นอกจากนี้ยังเชื่อได้ว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าว