happy on March 01, 2015, 04:38:38 PM
Paddington คุณหมี…หนีป่ามาป่วนเมือง


จัดจำหน่ายโดย       HANDMADE DISTRIBUTION
 
ชื่อภาพยนตร์         PADDINGTON  แพดดิงตัน คุณหมี…หนีป่ามาป่วนเมือง

ภาพยนตร์แนว         ผจญภัย-คอเมดี้

จากประเทศ         ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส

กำหนดฉาย          26 มีนาคม 2558

ผู้กำกับ             PAUL KING  (พอล คิงก์)


นักแสดงนำหลัก   

Ben Whishaw  (เบน วิสชอว์)  พากย์เสียง  Paddington (แพดดินตัน)
ผลงานที่ผ่านมา Cloud Atlas , Perfume , Bright Star

Nicole Kidman  (นิโคล คิดแมน) รับบท    Millicent  (มิลลิเซนต์)
ผลงานที่ผ่านมา Before I Go To Sleep , The Hours

Hugh Bonneville  (ฮิวจ์ บอนนาวิลล์)  รับบท   Henry Brown  (เฮนรี่ บราวน์)
ผลงานที่ผ่านมา ซีรีส์ Downton Abbey , The Monuments Men

Sally Hawkins  (แซลลี่ ฮอว์กินส์)   รับบท  Mary Brown  (แมรี่ บราวน์)
ผลงานที่ผ่านมา Blue Jasmine , Happy Go Lucky

Jim Broadbent (จิม บรอดเบนท์) รับบท   Mr.Gruber (มิสเตอร์ กรูเบอร์)
ผลงานที่ผ่านมา The Iron Lady , Moulin Rouge


<a href="http://www.youtube.com/watch?v=LLPow7YPjUk" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=LLPow7YPjUk</a>

PADDINGTON แพดดิงตัน คุณหมี…หนีป่ามาป่วนเมือง

                 “PADDINGTON แพดดิงตัน คุณหมี…หนีมาป่วนเมือง”เล่าเรื่องราวการผจญภัยของหมีตัวน้อย ที่ต้องเดินทางไปลอนดอนเพื่อตามหาบ้าน หลังจากที่หลงทางตามลำพังที่สถานีแพดดิงตัน เขาก็เริ่มกลัวว่าชีวิตเมืองไม่ได้เหมือนกับที่เขาจินตนาการไว้เลย จนกระทั่งเขาได้พบกับครอบครัวบราวน์ พวกเขาอ่านป้ายห้อยคอเขียนด้วยมือ (‘โปรดดูแลหมีตัวนี้ด้วย ขอบคุณ’) ครอบครัวบราวน์จึงรับหมีน้อยไปเลี้ยงดูอย่างดี  ตั้งชื่อให้เขา และให้เขามีที่หลับที่นอน ดูราวกับว่าโชคชะตาของแพดดิงตันกำลังเปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งเมื่อแพดดิงตันไปสะดุดตานักสตาฟสัตว์ของพิพิธภัณฑ์คนโฉดที่ต้องการนำหมีน้อยตัวนี้ไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ เรื่องราวไม่คาดฝันจึงเกิดขึ้น ติดตามการผจญภัยของหมีน้อยแพดดิงตันได้ใน“PADDINGTON แพดดิงตัน คุณหมี…หนีมาป่วนเมือง”

เกี่ยวกับงานสร้างภาพยนตร์ PADDINGTON

                 PADDINGTON สร้างจากซีรีส์หนังสือสำหรับเด็กเบสต์เซลเลอร์ที่เป็นที่รักของเด็กๆ ทั่วโลก โดยนักเขียนชาวอังกฤษ ไมเคิล บอนด์ จากบทภาพยนตร์ดั้งเดิมโดยผู้กำกับพอล คิงก์  PADDINGTON เป็นผลงานสร้างโดยเฮย์เดย์ ฟิล์มส์และสตูดิโอแคนัล กำกับโดย คิง ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงสองรางวัลบาฟตา อำนวยการสร้างโดยเดวิด เฮย์แมน เจ้าของหลายรางวัล (GRAVITY,  HARRY POTTER) และควบคุมงานสร้างโดยโรซี อลิสัน และเจฟฟรีย์ คลิฟฟอร์ด จากเฮย์เดย์ และโดยอเล็กซานดรา เฟอร์กูสัน

                 นักแสดงของเรื่อง นำทีมโดยนักแสดงอังกฤษมากฝีมือ อาทิ เบน วิชอว์ ในบทแพดดินตัน ,ฮิวจ์ บอนน์วิลล์ ในบทคุณบราวน์ คุณพ่อผู้เข้มงวด , แซลลี ฮอว์กินส์ ในบทคุณนายบราวน์ ผู้โอบอ้อมอารีและใจกว้าง , นิโคล     คิดแมน ในบทมิลลิเซนต์ นักสตาฟสัตว์คนโฉดผู้หมายตาแพดดิงตัน , จิม บรอดเบนท์  ในบทคุณกรูเบอร์ เจ้าของร้านขายของเก่า ผู้ให้คำแนะนำที่ชาญฉลาด , จูลี วอลเตอร์ส  ในบทคุณนายเบิร์ด แม่บ้านนิสัยพิลึกของครอบครัวบราวน์ และ   ปีเตอร์ คาพัลดี้ ในบทคุณเคอร์รี เพื่อนบ้านผอมโซที่มักแอบสังเกตุการณ์อยู่หลังม่าน

จุดเริ่มต้นของ PADDINGTON

                 เด็กๆ ได้รู้จักหมีแพดดิงตันเป็นครั้งแรกในหนังสือปี 1958 ของไมเคิล บอนด์ชื่อ A Bear Called Paddington และหนังสือชุด Paddington Bear ทำยอดขายได้กว่า 35 ล้านเล่ม และถูกแปลเป็น 40 ภาษา     เรื่องวุ่นๆ ของหมีตัวน้อยจากเปรู ผู้ซึ่งมารยาทเพียบพร้อมและความตั้งใจดีของเขามักจะนำไปสู่ความโกลาหลที่น่าขบขันและช่วงเวลาอลหม่าน ได้สะกดใจคนทั่วโลกและบัดนี้ เรื่องราวของเขาก็ได้รับการยกย่องไปทั่วโลกในฐานะหนังสือคลาสสิกสำหรับเด็กยุคใหม่

                 เดวิด เฮย์แมน (ผู้อำนวยการสร้าง HARRY POTTER) อธิบาย เรื่องราวเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน “…ตอนที่ผมไปอ่านเรื่องราวของหมีแพดดิงตันอีกครั้งเมื่อ 9 ปีก่อน ผมทึ่งกับความน่าขบขันของมัน มันทำให้ผมหัวเราะ แต่มันก็ทำให้ผมซาบซึ้งด้วย มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนนอกที่ต้องการบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทุกคนสามารถเข้าใจได้ครับ…”

                 หลังจากนั้นก็ถึงเวลาของการหาผู้กำกับที่คู่ควรต่อการเนรมิตชีวิตให้กับแพดดิงตัน เดวิด เฮย์แมนกล่าวว่า “…ผมชื่นชมผลงานของพอล คิงก์ มาโดยตลอด ทั้งความคิดความอ่านที่น่าขบขันของเขา จินตนาการที่บรรเจิดของเขา พอลมาร่วมประชุมกับเราและเขายังรู้จักเรื่องราวพวกนี้ดีกว่าผมอีก! บทสนทนาช่วงเริ่มแรกพวกนั้นน่าตื่นเต้นและสร้างแรงบันดาลใจมาก เขาก็เลยร่วมผจญภัยกับเราเพื่อพัฒนาโปรเจ็กต์นี้ครับ พอล คิงก์ เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่น่าตื่นเต้นที่สุดที่มาจากอังกฤษในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาเป็นเหมือนแพดดิงตันในหลายๆ แง่มุม ตรงที่เขามีเสน่ห์ สุภาพ มีวินัย อบอุ่น มีความรู้สึกน่าอัศจรรย์ และใช่ครับ เขามีพุงนิดๆ ด้วยครับ…”

โปรดดูแลหมีตัวนี้ด้วย ขอบคุณ

                 พอล คิงก์ อธิบายถึงแนวทางของเขาในการดัดแปลงเรื่องราว Paddington ให้กลายเป็นภาพยนตร์

                 “…ผมก็เหมือนกับคนส่วนใหญ่ที่รุ่นราวคราวเดียวกับผมที่มีความทรงจำดีๆ เกี่ยวกับแพดดิงตันตั้งแต่ตอนเด็กๆ ผมโตขึ้นมากับอนิเมชั่นของฟิล์มแฟร์ และตุ๊กตาหมีของเขาก็มีที่อยู่ในห้องนอนของผม จนกระทั่งผมได้กลับไปอ่านเรื่องราวเหล่านี้อีกครั้งตอนเป็นผู้ใหญ่ ผมได้ตั้งคำถามว่าทำไมตัวละครตัวนี้ถึงดึงดูดใจผมนัก มีสัตว์พูดได้ไม่กี่ตัวที่มีเสน่ห์อมตะอย่างแพดดิงตัน สำหรับผม ความลับอยู่ที่ป้ายห้อยคอเขาที่ว่า ‘โปรดดูแลหมีตัวนี้ด้วย ขอบคุณ’ ภายนอกหมีน้อยตัวนี้จะดูนิ่งๆ และมั่นใจในตัวเอง แต่มันก็บอกเราว่าภายในแล้ว เขาก็เปราะบางและต้องการความช่วยเหลือในโลกใหม่ที่แสนน่ากลัวใบนี้

                 ในบางช่วงบางตอนของชีวิต ทุกคนต่างก็เคยรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก คุณไม่จำเป็นต้องเป็นหนึ่งใน  ผู้อพยพ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพของหมีน้อยหลงทางนั่งอยู่บนชานชลา โดยมีป้ายห้อยคออยู่ หรือต้องหนีจากอันตรายเหมือนคุณกรูเบอร์ เพื่อนของแพดดิงตัน หรือต้องข้ามน้ำข้ามทะเลอย่างผู้อพยพวินด์รัช ที่ลงหลักปักฐานในน็อตติง ฮิล ในเวลาที่ไมเคิล บอนด์เขียนเรื่องราวแรกๆ ขึ้นมา  คุณแค่ต้องเคยใช้เวลาวันแรกที่โรงเรียนหรือใช้เวลาในช่วงค่ำคืนอยู่ห่างจากบ้านเพื่อจะเข้าใจความรู้สึกของหมีน้อย ที่หลงทางและอยู่ตามลำพัง และสำหรับผม สิ่งนี้เองที่ผู้ชมรุ่นแล้วรุ่นเล่าเอาใจช่วยเขา

                 ฉากที่โด่งดังจากตอนเปิดตัวหนังสือเล่มแรกอยู่ตรงนั้น ตั้งแต่การค้นพบตัวเขาที่สถานีรถไฟ โดยที่เนื้อตัวเขามีเพียงหมวกใบหนึ่งและป้ายห้อยคอ ไปจนถึงการไปเยี่ยมห้องน้ำชาที่ยุ่งเหยิง การใช้ห้องน้ำครั้งแรกที่แสนวุ่นวาย และการผจญภัยในสถานีใต้ดิน และแม้ว่าเราจะได้พบแพดดิงตันเร็วกว่าที่เราได้พบเขาในหนังสือเล่มแรก ประวัติแพดดิงตันของเราก็ตรงกับแบ็คกราวน์ที่ไมเคิล บอนด์พัฒนาในเรื่องราวหลังๆ ครับ

                 แพดดิงตันมาลอนดอนในฐานะเด็กกำพร้าที่ต้องการบ้าน แพดดิงตันกลับเจอครอบครัวบราวน์นับตั้งแต่ตอนที่พวกเขาเห็นแพดดิงตันไปจนถึงตอนที่พวกเขาต้อนรับเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ทัศนคติที่ขัดแย้งพวกนี้ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนที่มาของดราม่าเยี่ยมๆ และความลังเลของเฮนรีที่ไม่อยากจะข้องเกี่ยวกับหมีตัวน้อยนี้ คุณบราวน์รู้สึกว่าแพดดิงตันไม่ใช่ความรับผิดชอบของพวกเขา เขายินดีที่จะทิ้งหมีน้อยตัวนี้ให้นอนในถังขยะถ้าจำเป็น เขาไม่ใช่คนไม่ดี เพราะเขาก็แค่อยากพาครอบครัวกลับบ้านอย่างปลอดภัย แต่สัญชาตญาณปกป้องนี้ก็มารบกวนสัญชาตญาณเกี่ยวกับคนแปลกหน้าของเขาครับ…”

การคัดเลือกนักแสดงในPADDINGTON

                 ฮิวจ์ บอนน์วิลล์  รับบท คุณบราวน์  เขาชื่นชอบการรับบทพ่อ  “…ผมจำได้ว่ามีคนอ่านหนังสือเรื่องนี้ให้ผมฟัง แล้วผมก็อ่านเองด้วย ผมตกหลุมรักเรื่องราว แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นในโลกร่วมสมัยก็ตาม แต่มันยังคงมีกลิ่นไอของหนังสือต้นฉบับ มันยังมีอารมณ์ขันมากมายร้อยเรียงอยู่ในเรื่อง เรื่องตลกไร้เดียงสา รวมถึงไหวพริบหลักแหลมซึ่งโดนใจทุกคน   ภายในห้าวินาทีที่ผมได้พบกับพอลและเดวิดเพื่อคุยกันเรื่อง แพดดิงตัน ผมก็ตกลงทันที ผมทึ่งที่พอลเข้าใจแพดดิงตันมากแค่ไหน เขาคือแพดดิงตันครับ! เขาทั้งไร้เดียงสา บริสุทธิ์และน่ายินดีพอๆ กับเพื่อนตัวขนของเราเลยครับ!”

                 แซลลี ฮอว์กินส์  ในบทคุณนายบราวน์   หญิงคนแรกที่ได้พูดคุยกับหมีน้อยที่อยู่ตามลำพังบนชานชลาในสถานีแพดดิงตัน ครอบครัวของคุณนายบราวน์ก็เคลิ้มไปการกระทำที่ตั้งใจดีโดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมาของเธอ  แซลลีแสดงได้อย่างสมจริงมากๆ เธอพูดกับหมีตัวนี้อย่างไพเราะราวกับเขาเป็นสิ่งมีชีวิตจริงๆ ผู้ชมเชื่อในเธอและจะเชื่อใน  แพดดิงตัน

                 พอลกล่าวว่า “…การร่วมงานกับฮิวจ์และแซลลีเป็นความสุขอย่างยิ่งครับ พวกเขาเป็นทั้งมือเขียนบทและนักแสดงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ผมรู้สึกอุ่นใจมากๆ ที่รู้ว่าพวกเขาไม่ยึดติดกับไดอะล็อค และพวกเราสามารถร่วมกันเนรมิตชีวิตให้กับตัวละครพวกนี้ได้ การแสดงของพวกเขาเป็นรากฐานสำคัญของเรื่อง   มันตลกก็จริงแต่ก็ซาบซึ้งใจ มันสมจริงแต่ก็สามารถอยู่ได้ในโลกที่เรายอมรับสัตว์พูดได้ มันเป็นสมดุลที่เปราะบาง และพวกเขาก็รักษามันได้อย่างงดงาม…”

                 สมาชิกอีกคนหนึ่งของครอบครัวบราวน์คือคุณนายเบิร์ด นิสัยพิลึก ที่รับบทโดยจูลี วอลเตอร์ส คุณนายเบิร์ด ญาติห่างๆ ผู้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวบราวน์และดูแลบ้านหลังนี้ด้วยกฎเหล็ก เป็นคนเข้มงวดแต่ก็มีน้ำใจงามในยามจำเป็น! เธอเป็นคนฉลาด และไม่ได้นึกว่าเป็นเรื่องแปลกที่มีหมีพูดได้ เดินได้ ก้าวเข้ามาในบ้าน และเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราทุกคนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

                 คุณกรูเบอร์ ที่รับบทโดย จิม บรอดเบนท์  และคุณเคอร์รี  รับบทโดย ปีเตอร์ คาพัลดี้  เพื่อนบ้านจอมจุ้น เป็นตัวละครที่เด็กๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่าที่โตมากับเรื่องราวเหล่านี้คุ้นเคยกันดีพอๆ กับแพดดิงตัน  พอล คิงก์ อธิบายว่า “…ผมก็เลยอยากได้คนที่จะมาอยู่ฝั่งตรงข้ามแพดดิงตัน คนที่ไม่ใจอ่อนกับคำขอร้องที่ว่า ‘โปรดดูแลหมีตัวนี้ด้วย’ ผมรู้สึกว่า สำหรับหมีตัวน้อย คนที่จะอยู่ฝั่งตรงข้ามเขาที่สุดไม่ใช่คนที่ไม่อยากให้เขาอยู่ในบ้าน หรืออยากให้เขาอยู่ข้างถนน แต่เป็นคนที่รู้สึกว่าหมีตัวนี้อยู่ได้ที่เดียวเท่านั้นในลอนดอน ซึ่งก็คือพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติครับ…”

                 นิโคล คิดแมน ผู้ยินดีกับการรับบทมิลลิเซนต์ตัวร้าย อธิบายว่า “…ฉันโตขึ้นมากับการอ่านเรื่อง แพดดิงตัน ฉันรักหมีตัวนี้และชื่นชอบการที่เขาต้องใช้เสน่ห์ในการเอาตัวรอด ฉันต้องบอกลูกสาวว่าฉันไม่ได้รับบทแม่ของหมีแพดดิงตัน แต่ฉันต้องรับบทคนที่พยายามจะสตาฟหมีตัวนี้ ซึ่งเป็นเรื่องแย่มากค่ะ แต่ฉันชอบบทหนังเรื่องนี้มาก มันก็เลยเป็นแรงจูงใจสำหรับฉัน บวกกับการที่ฉันมองหาสิ่งที่ลูกๆ ฉันจะสามารถมาดูได้และเราสามารถเพลิดเพลินกับการดูมันด้วยกันได้ค่ะ…”

เกี่ยวกับสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ PADDINGTON

                 ทีมงานได้ดำเนินการเพื่อให้ได้ถ่ายทำในโลเกชั่นที่โด่งดังที่สุดของลอนดอน ที่มีบทบาทสำคัญต่อเรื่องราว ตั้งแต่สถานีแพดดิงตัน ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงตลาดปอร์โตเบลโลที่ผู้คนพลุกพล่าน และภายในของ      รีฟอร์ม คลับในปอล มอล ก่อนที่เราจะได้สัมผัสพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติที่สง่างาม PADDINGTON เผยให้เห็นเส้นทางท่องเที่ยวของอัญมณีเม็ดงามและสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่น รถบัสรูทมาสเตอร์ แท็กซีสีดำและรถไฟใต้ดินต่างก็ปรากฏในความวุ่นวายอันน่าขัน ที่ดูเหมือนจะตามติดแพดดิงตันไม่หยุดหย่อนในตอนที่เขาพยายามจะเดินทางในเมืองใหญ่แห่งนี้

                 เดวิด เฮย์แมนอธิบายว่า “…แพดดิงตันของเราจะสมจริงกว่าที่เคยมีการสร้างมาก่อนและจะแตกต่างจากตุ๊กตาหมีในภาพวาดบางภาพ แต่เขาก็ยังเป็นหมีพูดได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่วิเศษสุดในตัวมันเองอยู่แล้ว  เรารู้สึกว่าเขาไม่น่าจะสามารถรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับลอนดอนตามธรรมชาติได้ ดังนั้น นอกจากเราจะนำ  แพดดิงตันของเราออกไปสู่โลกแห่งความจริงแล้ว เรายังนำโลกของเราไปสู่แพดดิงตันด้วยครับ…”

                 แกรี วิลเลียมสัน ผู้ออกแบบงานสร้างของเรื่อง เล่าว่า “…ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราก็จะได้เห็นโลเกชั่นในชีวิตประจำวันที่คุ้นเคย และยังมีการสร้างฉากภายในและพื้นผิวหน้าอย่างละเอียดละออโดยแกรีและทีมงานมากฝีมือของเขา เพื่อแสดงถึงโลกใหม่ที่แปลกต่าง ที่แพดดิงตันได้เจออีกด้วย จากมุมมองของแพดดิงตัน โลกใบนี้ดูเก่าแก่แต่ก็ทันสมัย มีความเป็นอังกฤษแต่ก็แต่งแต้มไปด้วยกลิ่นไอนานาชาติ  เราตั้งใจทำให้มันมีภาพวิชวลที่ชัดเจน และใช้สีสันเป็นจุดตั้งต้นสำหรับตัวละครรวมถึงสิ่งแวดล้อมของพวกเขาด้วย คุณนายบราวน์ คุณบราวน์ พวกเด็กๆ มิลลิเซนต์ ทุกคนต่างก็มีสีสันที่เฉพาะเจาะจงของตัวเอง ซึ่งลินดี้ เฮมมิง ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายของเราก็เอาสีพวกนั้นมาใช้กับเสื้อผ้าของพวกเขาด้วยครับ..”

                 สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดคือเป็นการถ่ายทำกลางแจ้งและท่ามกลางสาธารณชน “…ผมสามารถควบคุมฉากในสตูดิโอได้ แต่ผมควบคุมลอนดอนไม่ได้!” ถึงกระนั้น ทีมงานก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีในทุกมุมเมือง เพราะหมีที่โด่งดังตัวนี้เป็นที่รักของผู้คนมากหน้าหลายตาเหลือเกิน และมันก็ช่วยได้อย่างมากเมื่อพวกเขาต้องการจะปิดชานชลาของสถานีรถไฟใหญ่แห่งหนึ่ง ปรับแต่งอาคารสำคัญของรัฐบาลเสียใหม่ เข้ายึดพิพิธภัณฑ์แห่งชาติและถ่ายทำในอู่ต่อเรือที่เปิดทำการจริงๆ! ตามที่ผู้กำกับบอกเราว่า ไม่มีอะไรเป็นปัญหาเลย ทุกคนต่างเอื้อเฟื้อกับเรา ช่วยเหลือเรา และปล่อยให้เราทำอะไรต่อมิอะไรที่เราไม่ควรจะทำ อะไรบางอย่างในแพดดิงตันได้ดึงเอานิสัยเอื้อเฟื้อของผู้คนออกมาครับ..”

                 การถ่ายทำห้าคืนติด ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างพิเศษสุด “…ผมคิดว่ามันช่วยสร้างบรรยากาศที่เหลือเชื่อให้กับหนังเรื่องนี้ มันเป็นส่วนที่สำคัญต่อเรื่องราวจริงๆ และการได้อยู่ในพิพิธภัณฑ์จริงๆ ก็เป็นโบนัสเสริม มันน่าทึ่ง น่าอัศจรรย์ อันตรายและความเป็นไปได้...”

                 ทีมงานได้ครอบครองอาคารที่งดงามนี้ในช่วงกลางคืน เพื่อถ่ายทำในห้องโถงใหญ่ ห้องจัดแสดงไดโนเสาร์ที่โด่งดัง ห้องแร่ธาตุและห้องค้นคว้า ระเบียงที่วิจิตรบรรจง หรือแม้กระทั่งบริเวณโดยรอบของอาคารหลังนี้ ลองมองให้ดีๆ แล้วคุณจะเห็นว่าแม้แต่ดิโพลด็อคคัส หรือ ‘ดิปปี้’ ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวหลายพันคนทุกวัน

การเนรมิตชีวิตให้PADDINGTONด้วยเสียง

                 การค้นหาเสียงสำหรับแพดดิงตันใช้เวลาหลายสัปดาห์และนักแสดงที่เก่งกาจที่สุดของอังกฤษหลายคนก็เข้ามาทดสอบเสียงเพื่อบทสำคัญนี้ แทนที่จะใช้วิธีการแบบเดิมๆ หรือบางที เขาอาจจะเลียนแบบแพดดิงตันเองก็ได้  พอล คิงก์ ได้เขียนไปถึงนักแสดงจอเงินและละครเวทีชาวอังกฤษ เบน วิชอว์ เพื่อถามว่าเขาสนใจทดสอบบทนี้ไหม เพราะ คิงก์ ชื่นชมผลงานของเขามาหลายปีแล้ว หลังจากเบนเข้ามาอ่านบทครั้งหนึ่ง

                 พอลก็ยอมรับว่า “…ผมได้ยินเสียงของเขาทุกครั้งที่ผมนึกถึงแพดดิงตันครับ มันมีอีกสิ่งหนึ่ง ในเสียงของเบน แพดดิงตันเรียนภาษาอังกฤษจากการฟังแผ่นเสียงเก่าๆ ดังนั้น เขาก็เลยมีสำเนียงผู้ดีแบบเก่า แต่ในขณะเดียวกัน มันก็มีคุณสมบัติที่น่ารักแบบสัตว์มีขนที่เบนนำมาสู่บทนี้ด้วย  อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้มากคือการที่วิชอว์เป็นนักแสดงที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เขาสามารถลืมตัวเองและสวมบทเป็นตัวละครของเขาได้อย่างแนบเนียน ไม่ว่าจะเป็นบทมนุษย์หรือสัตว์ก็ตามที…”

การกำเนิดหมีPADDINGTON

                 หมีแพดดิงตันเป็นตัวละครที่เป็นที่จดจำได้ด้วยหมวกสีแดงเก่าๆ เสื้อโค้ทสีฟ้าและรอยยิ้มซุกซนของเขา  พอล คิงก์ กล่าวต่อว่า “…แพดดิงตันของเพ็กกี้ ฟอร์ทนัมดูเหมือนลูกหมีจริงๆ มากกว่าเวอร์ชันหลังๆ ซึ่งในความคิดของผม ทำให้มันยิ่งมีเสน่ห์มากขึ้นไปอีก แพดดิงตันของเธอมีจมูกเหมือนหมีมากกว่า ผอมกว่า และสำหรับผม เขาให้ความรู้สึกเหมือนลูกหมีจริงๆ มากกว่าตุ๊กตาหมี เหมือนเด็กซนๆ คนหนึ่งครับ…”

                 กระบวนการ ‘สร้าง’ แพดดิงตัน เป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างสูง ตัวนี้มีความสูง 3 ฟุต 6 นิ้ว ตอนไม่สวมหมวก และจะสูง 3 ฟุต 9 นิ้ว ตอนสวมหมวก เขาจะต้องมีตัวตนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เคียงข้างคนและสถานที่จริงๆ ซึ่งมันจำเป็นต้องอาศัยวิสัยทัศน์และทักษะของผู้คนจำนวนมากกว่า 500 ชีวิต ต่างก็มีบทบาทสำคัญในการเนรมิตชีวิตให้กับหมีตัวนี้

                 ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายของเรื่อง ลินดี้ เฮมมิง กล่าวว่า “…ตั้งแต่เริ่มต้น ฉันพยายามใช้แนวคิดที่ว่า  แพดดิงตันเป็นตัวละครจริงๆ มันก็เลยมีความต้องการและความกดดันในการนำเสนอเขาในรูปแบบที่ใช่ เช่น หมวกใบนั้นมันเข้ากับเขาแค่ไน แล้วเขาสวมมันยังไงตอนที่เขาเดิน สิ่งที่น่าสังเกตคือแซนด์วิชแยมส้ม ที่เขาพกติดตัวเผื่อยามฉุกเฉิน ก็ยังคงอยู่ใต้หมวกของแพดดิงตันอย่างไม่เปลี่ยนแปลง…”

                 หมีแพดดิงตัน มีอารมณ์ขันและการแสดงกิริยามารยาทที่ดีงาม เป็นลักษณะโดดเด่นที่ผู้อ่านจดจำได้ของหมีเปรูตัวนี้ จะถูกนำเสนออย่างเต็มที่สำหรับผู้ชมรุ่นใหม่  หัวใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือเรื่องราวที่เป็นอมตะอย่างแท้จริง คือ แพดดิงตันเป็นผู้อพยพ  ทีมงานเลยนำเสนอภาพสะท้อนของกรุงลอนดอน ในฐานะเมืองเปิดกว้างที่ทุกคนได้รับการต้อนรับ พวกเขาสามารถทำตัวแตกต่างกันได้ แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของที่แห่งนี้ มันเป็นการเดินทางที่เราร่วมผจญภัยไปกับแพดดิงตัน   มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเมตตา ความอดทน ความเห็นใจ...และหมีแพดดินตันก็เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับความใจดีของคนแปลกหน้าและการเปิดกว้างที่จะเข้าใจคนอื่น
« Last Edit: March 01, 2015, 05:11:55 PM by happy »