MSN on October 07, 2014, 10:21:33 PM
สถาบันไอเอ็มซี จัดงานแถลงข่าวโครงการวิจัย “ความพร้อมด้าน Cloud Computing ของหน่วยงานในประเทศไทย”



สถาบัน IMC เผยผลสำรวจ Cloud Computing Readiness in Thailand 2014  ความพร้อมด้าน Cloud ของหน่วยงานไทยถูกจัดระดับ “ค่อนข้างน้อย”

ผลสำรวจพบความพร้อมของบุคลากรไทยในการพัฒนาซอฟต์แวร์บน Cloud Computing ยังมีค่อนข้างน้อยถือเป็นอุปสรรค์ใหญ่ขององค์กรที่เห็นโอกาสทางธุรกิจและต้องการก้าวให้ทันกับเทคโนโลยี Cloud

แม้บริษัทหรือหน่วยงานขนาดใหญ่ในไทยมีการใช้งาน Private Cloud เป็นสัดส่วนที่สูงกว่า SMEs ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจขนาดใหญ่มีความซับซ้อนของข้อมูลในการดําเนินงานและเข้มงวดในเรื่องข้อมูล ความลับทางการค้า แต่ SMEs กลับมีสัดส่วนแผนการใช้งาน Private Cloud ในอนาคตที่สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่

5 ประเภทของ Software ที่องค์กรไทยต้องการใช้บริการ SaaS Public Cloud ได้แก่ ระบบ E-mail, ระบบซอฟต์แวร์สร้างงานเอกสาร เช่น Office 365, ระบบพื้นที่เก็บข้อมูล เช่น Dropbox, ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) และระบบบริหารทรัพยากรขององค์กร (ERP)

แนวโน้มของ Cloud Computing ในประเทศไทยในปี 2015 คือการก้าวข้ามอุปสรรคที่องค์กรไทยเผชิญอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 70.62 ที่เห็นว่าการใช้งาน Cloud Computing ยังมีความเสี่ยงด้านระบบความปลอดภัยต่างๆ ขณะที่ร้อยละ 49.15 ยอมรับว่าขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้าน Cloud Computing ที่ดีพอ

กรุงเทพฯ 7 ตุลาคม 2557 – – สถาบัน IMC เล็งเห็นถึงความสำคัญของหน่วยงานในประเทศไทยในการตั้งรับและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Cloud Computing จึงจัดทำโครงการวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง “ความพร้อมด้าน Cloud Computing ของหน่วยงานในประเทศไทย” (Cloud Computing in Thailand Readiness Survey) เพื่อเปรียบเทียบความพร้อมของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคโดยได้ทำการสำรวจทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพื่อเป็นแนวทางและข้อมูลในการเตรียมความพร้อมบุคลากรและองค์กรในประเทศไทยต่อไป

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบัน IMC ระบุว่าการสำรวจ Cloud Computing Readiness in Thailand 2014 จัดทำขึ้นจากแบบสอบถามออนไลน์และการสัมภาษณ์ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม ถึง 18 กันยายน พ.ศ. 2557 ในกลุ่มผู้บริหาร ผู้อํานวยการ ผู้จัดการ และพนักงานทั้งในสายไอทีและอื่นๆ ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการสํารวจจํานวน 383 ราย และได้คัดกรองข้อมูลเหลือจำนวน 177 หน่วยงาน ในจำนวนนี้เป็นองค์กรบริษัทขนาดใหญ่ (Large Enterprises) ที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน จํานวน 61 หน่วยงาน (ร้อยละ 34 ของกลุ่มตัวอย่าง) และองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ที่มีพนักงานน้อยกว่า 1,000 คน จํานวน 116 หน่วยงาน (ร้อยละ 66 ของกลุ่มตัวอย่าง)

“ธุรกิจที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจนี้มีทั้งกลุ่มธุรกิจไอที (ร้อยละ 26) กลุ่มธุรกิจอื่น เช่น ห้างสรรพสินค้า พลังงาน ก่อสร้าง และสิ่งพิมพ์ (ร้อยละ 15) กลุ่มธุรกิจการเงินและการธนาคาร (ร้อยละ 12) กลุ่มธุรกิจการผลิต (ร้อยละ 10) และหน่วยงานภาครัฐ (ร้อยละ 9) ซึ่งการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39 มีพนักงานไอทีน้อยกว่า 20 คน ร้อยละ 33 มีพนักงานไอทีจํานวนระหว่าง 21-100 คน และอีกร้อยละ 28 เท่านั้นที่มีจํานวนพนักงานไอทีมากกว่า 100 คน”

ในส่วนของ Private Cloud การสำรวจเพื่อประเมินรูปแบบการใช้บริการ (Cloud Service Models) พบว่ากลุ่มตัวอย่างจํานวนถึง 167 ราย (ร้อยละ 94) มี Servers ใช้งานในองค์กร แต่ในกลุ่มนี้มีเพียง 47 รายเท่านั้น (ร้อยละ 28) ที่มีการใช้งาน Private Cloud อยู่แล้ว โดยกลุ่มตัวอย่าง 48 ราย (ร้อยละ 29) มีแผนการใช้ติดตั้งในอนาคต ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 72 ราย (ร้อยละ 43) ยังไม่มีแผนงานด้าน Private Cloud แต่อย่างใด

แนวโน้มที่น่าสนใจของการสำรวจที่พบ คือแม้ปัจจุบัน บริษัทหรือหน่วยงานขนาดใหญ่จะมีการใช้งาน Private Cloud เป็นสัดส่วนที่สูงกว่า SMEs ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจขนาดใหญ่มีความซับซ้อนของข้อมูลในการดําเนินงานและเข้มงวดในเรื่องข้อมูลความลับทางการค้า แต่ปรากฏว่า SMEs มีแผนการใช้งาน Private Cloud ในอนาคตคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ถือเป็นแนวโน้มสำคัญที่อุตสาหกรรม Cloud ในประเทศไทยไม่ควรมองข้าม

สำหรับการใช้บริการ Public Cloud ของหน่วยงานในประเทศไทยในปัจจุบัน การสำรวจพบว่าหน่วยงานไทยใช้บริการ Cloud Computing แพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะรูปแบบการบริการ Infrastructure as a Services (IaaS) และ Software as a Service (SaaS) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากจํานวนผู้ให้บริการในประเทศที่มีจํานวนเพิ่มขึ้น แต่ในส่วนรูปแบบการบริการ Platform as a Service (PaaS) ยังไม่มีข้อมูลว่ามีผู้ให้บริการภายในประเทศ

ในกลุ่มตัวอย่าง พบว่ามีหน่วยงานกว่า 81 หน่วยงาน (ร้อยละ 45.76) มีแผนงานใช้บริการ Public Cloud มีความต้องการใช้บริการรูปแบบ IaaS มากเป็นอันดับที่ 1 (ร้อยละ 66.67) รองลงมาเป็นบริการรูปแบบ SaaS (60.49) และรูปแบบ PaaS (ร้อยละ 39.51)

ไม่น่าแปลกใจที่การสำรวจพบว่า SMEs มีแผนการใช้บริการ Public Cloud ในสัดส่วนที่มากกว่าบริษัท/หน่วยงานขนาดใหญ่ โดยผลการศึกษาเฉพาะกลุ่ม SMEs ระบุว่า SMEs มากกว่า 50% มีแผนการใช้บริการ Public Cloud ในองค์กรด้วยรูปแบบ IaaS เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด (ร้อยละ 72.88)

ขณะที่หน่วยงานหรือบริษัทขนาดใหญ่ มีแผนการใช้บริการ Public Cloud เพียง 22 รายเท่านั้น (ร้อยละ 36.07) แต่เป็นแผนใช้งาน Public Cloud ในรูปแบบ SaaS มากที่สุด (ร้อยละ 68.18)

ในจำนวนผู้ให้บริการ IaaS Public Cloud ในประเทศไทย อาทิเช่น True IDC, DataPro, EGA (G-Cloud), iNet ฯลฯ และผู้ให้บริการต่างชาติ พบว่าผู้ให้บริการ IaaS ที่มีผู้ใช้บริการในปัจจุบันมากที่สุด 2 อันดับแรกคือ Microsoft Azure และ True IDC โดย Amazon Web Services และ G-Cloud ได้รับความนิยมเท่ากันในอันดับ 3 รองลงมาเป็นผู้ให้บริการรายอื่นๆ อาทิ เช่น Fujitsu, NTI, Digital Ocean เป็นต้น

แม้ Microsoft Azure จะครองตลาด แต่การสำรวจพบว่าหน่วยงานไทยกำลังให้ความสำคัญกับบริการ Cloud Computing ที่เป็นมาตรฐานเปิดหรือ Open Source เพิ่มขึ้นในสัดส่วนไม่น้อย โดยผู้ให้บริการ IaaS ที่หน่วยงานมีแผนการใช้บริการในอนาคตมากที่สุดอันดับ 2 คือ OpenShift ของ Red Hat ซึ่งไล่ตาม Microsoft Azure และ Google App Engine ที่หน่วยงานไทยมีแผนใช้งานในอนาคตเป็นอันดับ 1 โดยอันดับที่ 3 เป็นของ Amazon Web Services

สำหรับบริการ Cloud Computing ประเภท SaaS การสํารวจพบว่าหน่วยงานส่วนใหญ่เลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการต่างประเทศ โดย Google Apps ครองความนิยมมากที่สุด รองลงมาเป็น Office 365 และ Dropbox Enterprise ตามลําดับ นอกจาก 3 บริการนี้ หน่วยงานไทยยังมีแผนใช้งานบริการของ Salesforce, OpenERP, Smartsheet และ Amazon ในอนาคตด้วย

จุดนี้ การสำรวจสรุปว่าประเภทของซอฟต์แวร์ที่หน่วยงานไทยต้องการใช้บริการ SaaS Public Cloud มากที่สุดคือระบบ E-mail (ร้อยละ 63.39) อันดับที่ 2 คือระบบสร้างงานเอกสาร เช่น Office 365 (ร้อยละ 56.06) รองลงมาเป็นระบบฝากข้อมูล เช่น Dropbox (ร้อยละ 46.94), ระบบ CRM (ร้อยละ 30.61) และระบบ ERP (ร้อยละ 24.49)

กลุ่มตัวอย่างหน่วยงานในประเทศไทยนั้นแสดงความพึงพอใจในการใช้บริการ Cloud Computing ในภาพรวม โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 71.75) ยอมรับว่าบริการ Cloud Computing สามารถลดค่าใช้จ่ายขององค์กรได้ ขณะที่ร้อยละ 62.71 เห็นประโยชน์ว่าบริการ Cloud Computing ช่วยให้องค์กรสามารถทํางานได้ต่อเนื่อง และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.15 เห็นว่าองค์กรสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างไม่จํากัด

อย่างไรก็ตาม บริการ Cloud Computing ในประเทศไทยยังคงต้องก้าวข้ามอุปสรรคที่หน่วยงานไทยเผชิญอยู่หลายประเด็น จากผลการสํารวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.62 เห็นว่าการใช้งาน Cloud Computing ยังมีความเสี่ยงด้านระบบความปลอดภัยต่างๆ อาทิเช่นเรื่องข้อมูล โดยร้อยละ 49.15 เห็นว่าการขาดบุคลากรที่มีความรู้ด้าน Cloud Computing ที่ดีพอ ยังเป็นอุปสรรคสําคัญ

ขณะที่ร้อยละ 45.20 เห็นว่ากฎระเบียบของหน่วยงานและภาครัฐยังไม่เอื้อต่อการใช้งาน Cloud Computing โดยร้อยละ 33.90 เห็นว่ายังมองไม่เห็นประโยชน์ที่ชัดเจนของการใช้ Cloud Computing และร้อยละ 31.64 ยังไม่มีงบประมาณ อีกทั้งร้อยละ 23.10 เห็นว่าการใช้งาน Cloud ในประเทศไทยยังขาดมาตรฐานอีกหลายด้าน พร้อมกับที่ร้อยละ 19.77 พบว่ายังไม่มีผู้ให้บริการที่สามารถให้บริการสอดคล้องกับความต้องการ

ข้อมูลน่าสนใจอื่นๆจากการสำรวจ Cloud Computing Readiness in Thailand 2014 ได้แก่ :

VMWare เป็นระบบ Private Cloud ที่หน่วยงานพิจารณาใช้งานมากที่สุด รองลงมาเป็น Microsoft System Center, Citrix CloudStack, และ Openstack
ผู้ให้บริการ IaaS ที่หน่วยงานมีแผนใช้บริการในอนาคตมากที่สุดคือ Microsoft Azure อันดับที่ 2 คือ True IDC และ Amazon Web Services ขณะที่ iNet อยู่ในอันดับที่ 3
ผู้ให้บริการ PaaS Public Cloud ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศ โดยในปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลว่ามีผู้ให้บริการ PaaS ภายในประเทศไทย โดยผู้ให้บริการ PaaS ที่มีจํานวนผู้ใช้ในองค์กรไทยมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ Microsoft Azure, Google App Engine, และ Amazon Web Services ตามลําดับ
ไทยมีผู้ให้บริการ Cloud Computing ประเภท SaaS Public Cloud มากที่สุด จากการสําารวจมูลค่าของตลาดซอฟต์แวร์บริการ โดยสํานักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พบว่ามีจํานวนผู้ให้บริการ SaaS กว่า 200 รายในประเทศไทย
จากระดับความพึงพอใจตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 5 (1 ไม่พึงพอใจที่สุด ถึง 5 พึงพอใจมากที่สุด) กลุ่มตัวอย่างหน่วยงานในประเทศไทยให้คะแนนความพึงพอใจบริการ Cloud Computing ที่ใช้งานอยู่เฉลี่ย 72 ถือว่าหน่วยงานส่วนใหญ่ มีความพึงพอในต่อการใช้บริการ
3 อุปสรรคในการใช้บริการ Cloud Computing ที่น่าสนใจซึ่งกลุ่มตัวอย่างบางรายให้ความเห็นไว้ คือผู้ให้บริการในต่างประเทศที่มีเสถียรภาพสูงอย่าง Windows Azure, Amazon, และ Google ไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินและใบกํากับภาษีสำหรับนํามาขอคืนภาษีภายในประเทศได้ ขณะที่ต้นทุนในการใช้งาน Cloud นั้นไม่ได้ต่ำอย่างที่คาดไว้ และราคาค่าบริการในหลายกรณียังสูงเกินไป
คลิกเพื่อดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย IMC Presentation
« Last Edit: October 20, 2014, 09:09:28 AM by MSN »