เมืองไทยประกันชีวิต เปิดตัว ‘สัญญาตะกาฟุลออมทรัพย์ 10/9’ เพิ่มช่องทางสร้างเงินออมพี่น้องชาวไทยมุสลิม
นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมืองไทยประกันชีวิตเปิดตัว ‘สัญญาตะกาฟุล 10/9’ เพิ่มช่องทางวางแผน การสร้างเงินออมเพื่ออนาคต โดยชูจุดเด่นรับความคุ้มครองและฮิบะห์ที่คุ้มค่า ด้วยอัตราเงินสมทบตะกาฟุลที่เท่ากันทุกเพศทุกวัยที่ 193 บาทต่อปี* เพื่อส่งเสริมให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมสามารถเก็บออมได้ง่ายขึ้นและได้รับฮิบะห์ระหว่างสัญญาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สิ้นปีสัญญาที่ 1 - 9 และเมื่อครบสัญญาสิ้นปีสัญญาที่ 10 รับฮิบะห์อย่างน้อยเท่ากับ 150% ของจำนวนเงินหลักประกันตะกาฟุล ณ วันเริ่มสัญญา รวมรับฮิบะห์ตลอดสัญญา 184% ของจำนวนเงินหลักประกันตะกาฟุล ณ วันเริ่มสัญญา พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองชีวิตที่เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 150% ของจำนวนเงินหลักประกันตะกาฟุล ณ วันเริ่มสัญญา ซึ่งนับเป็น การสร้างหลักประกันให้แก่ครอบครัว โดยมีระยะเวลาชำระเงินสมทบตะกาฟุล 9 ปี รับความคุ้มครอง 10 ปี สามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 1 เดือน – 70 ปี ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
นายสาระ กล่าวว่า ปัจจุบันชาวไทยมุสลิมมีแนวโน้มจำนวนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) บริษัทฯ จึงมีแบบสัญญาตะกาฟุลที่หลากหลายแบบครอบคลุมทุกความต้องการ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิม อาทิ แบบตะกาฟุล ออมทรัพย์ 20/15 ซึ่งจะช่วยวางแผนการออมอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ ตะกาฟุล แฮปปี้ แคช 5/1 ซึ่งเป็นการวางแผนทางการเงินระยะสั้น ตะกาฟุล ตลอดชีพ 95/20 แบบวางแผนทางการเงินระยะยาวเพื่อสร้างประกันให้ตนเองและครอบครัว ตลอดจนตะกาฟุลเพื่ออุบัติเหตุส่วนบุคคล เมื่อเกิดอุบัติเหตุและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เป็นต้น
ทั้งนี้ สัญญาตะกาฟุลของเมืองไทยประกันชีวิตทุกสัญญาถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม มีความโปร่งใส ชัดเจน ขณะเดียวกัน สัญญาตะกาฟุลไม่ได้จำกัดการนำเสนอแต่เพียงพี่น้องมุสลิมเท่านั้น ลูกค้าทั่วไป แม้ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม หากเห็นว่าสัญญาตะกาฟุลมีรูปแบบที่น่าสนใจ สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ ก็สามารถซื้อได้เช่นกัน
“สำหรับภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันชีวิต มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จาก 4 ปัจจัยหลัก คือ 1. ประชากรที่เข้าใจและเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการประกันเพิ่มมากขึ้น 2.ช่องทางการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายและเติบโตอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ และช่องทางตัวแทน 3.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งในปัจจุบัน คือการตอบโจทย์ด้านการบริการสุขภาพ และสุดท้าย คือ ความเป็นสังคม ผู้สูงวัย ที่คาดว่าในอนาคตอันใกล้จะมีกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนเกิน 10% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มสูงวัยดังกล่าวอย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย” นายสาระ กล่าว./
หมายเหตุ *อัตราเงินสมทบตะกาฟุลต่อจำนวนเงินหลักประกันตะกาฟุล 1,000 บาท