pooklook on May 01, 2009, 10:55:52 PM
ร่วมด้วยช่วยกันลดปัญหา ‘โลกร้อน’ ฉลาดใช้คอมพิวเตอร์แบบ ‘ประหยัดพลังงาน’... ในสถานการณ์ภาวะโลกร้อน และเศรษฐกิจซบเซา
อันเนื่องมาจากความผันผวนทางการเมือง น้ำมันราคาแพง และเงินบาทแข็งค่าอย่างไม่มีเหตุผลเช่นทุกวันนี้ องค์กรธุรกิจห้างร้านหลายแห่ง
เริ่มปรับตัว ด้วยการลดการใช้พลังงานกันบ้างแล้ว

ทั้งในมุมของการลดต้นทุนธุรกิจ หรือเป็นผู้มีจิตสากลเป็นห่วงสภาวะแวดล้อมโลกก็ตาม “คอมพิวเตอร์” เป็นอุปกรณ์สำนักงานอย่างหนึ่งที่
จำเป็นต้องเปิดไว้ตลอดชั่วโมงการทำงาน ยิ่งองค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์เยอะ ก็ยิ่งเพิ่มภาระค่าไฟมากขึ้นเท่านั้น
ทำให้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์จึงเป็นตัวเลือกอุปกรณ์อันดับแรกๆ ในการประหยัดพลังงานในบริษัท

บางองค์กรมีการรณรงค์ภายในให้พนักงาน ปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ในเวลาพักเที่ยง หรือช่วงที่ไม่มีการใช้งาน หากจะทำงานจึงค่อยเปิดเครื่องใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ช้าก่อน!! ต้องคิดให้ดีก่อนที่จะเลือกประหยัดไฟด้วยวิธีนี้

เพราะมีผลการทดสอบยืนยันว่า การปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วเปิดใหม่ กินไฟ มากกว่าเปิดทิ้งไว้เฉยๆ !! เป็นผลการทดสอบเกี่ยวกับการใช้พลังงาน
ไฟฟ้าของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

โดยเนคเทคได้มีการทดสอบคอมพิวเตอร์ ที่ใช้หน่วยประมวลผล CPU 2.8 GHz หน่วยความจำ 256 MB ความจุฮาร์ดดิสก์ 40 GB จอ LCD 15 นิ้ว
พบว่าคอมพิวเตอร์ ทั้งชุดใช้ไฟฟ้าในช่วงบูทเครื่อง 213 วัตต์ แบ่งเป็นการใช้พลังงานของจอแสดงผล 18 วัตต์ และหน่วยประมวลผล 195 วัตต์

ขณะที่พบว่าคอมพิวเตอร์ในภาวะที่เปิดไว้ปกติจะมีอัตราการใช้ไฟในอยู่ที่ 205 วัตต์ แบ่งเป็นจอแสดงผล 22.3 วัตต์ และหน่วยประมวลผล 183 วัตต์
หมายความว่าถ้าเป็นการหยุดใช้งานชั่วคราว ไม่นาน การเปิด-ปิดเครื่องอาจจะไม่คุ้มค่า เพราะการเปิดเครื่องใหม่ทำให้เปลืองไฟมากกว่า

แล้วอย่างนี้ทางเลือกในการประหยัดพลังงานควรจะทำอย่างไร ???
เนื่องจากในระบบปฏิบัติการวินโดวส์มีทางเลือกในการประหยัดพลังงานให้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องปิด-เปิดเครื่อง เพียงแต่บางคนอาจยังไม่รู้เท่านั้น
นั่นก็คือ ฟังก์ชั่น Power Option ซึ่งอยู่ใน Control Panel ซึ่งจะมีโหมดในการจัดการพลังงานอยู่ 4 โหมด คือ

1.โหมด Turn off Monitor ปิดหน้าจอ
2.โหมด Turn off Hard disk หยุดการทำงานของฮาร์ดดิสก์
3.โหมด System Standby ปิดจอแสดงผลและฮาร์ดดิสก์
4.โหมด System Hibernate คือการสั่งให้คัดลอกข้อมูลระบบไปยังพื้นที่ที่จองไว้บนฮาร์ดดิสก์แล้วปิดเครื่องโดยสมบูรณ์ ซึ่งทั้ง 4 โหมดจะเริ่มทำงาน
เมื่อไม่มีการใช้งานคอมพิวเตอร์ ในระยะเวลาที่กำหนด

จากการทดสอบของเนคเทคกับชุดคอมพิวเตอร์ข้างต้นพบว่า ในโหมด Turn off Monitor จะใช้พลังงานอยู่ที่ 187 วัตต์ แบ่งเป็นจอแสดงผล 3.9 วัตต์
และหน่วยประมวลผล 185 วัตต์

ขณะที่โหมด Turn off Hard disk ใช้ไฟ 197 วัตต์ แบ่งเป็นจอแสดงผล 22.3 วัตต์ และหน่วยประมวลผล 176 วัตต์ ขณะที่โหมด System
Standby และโหมด System Hibernate ช่วยประหยัดไฟได้มากที่สุด กล่าวคือ โหมด System Standby ใช้ไฟ 121 วัตต์ แบ่งเป็นจอแสดงผล
3.9 วัตต์ และหน่วยประมวลผล 118 วัตต์ และโหมด System Hibernate ใช้ไฟเพียง 7.2 วัตต์ แบ่งเป็นจอแสดงผล 3.9 วัตต์ และหน่วยประมวลผล
5.3 วัตต์ หรือประหยัดไฟจากช่วงเวลาปกติถึง 28.4 เท่าเลยทีเดียว

นอกจากนี้ รายงานจากเนคเทคยังระบุว่า ขณะที่คอมพิวเตอร์ไม่ได้เปิดใช้งาน แต่ “ซีพียู ยูนิต” เสียบปลั๊กอยู่จะมีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานอยู่ที่ 5.3 วัตต์
 ขณะที่จอแสดงผลที่เสียบปลั๊กไว้ แม้ว่าจะยังไม่ได้เปิดใช้งานและไม่ได้เปิดสวิตช์ ก็จะมีการใช้พลังงาน 2.9 วัตต์ และในกรณีที่จอแสดงผลเปิดสวิตช์ไว้
จะมีการใช้พลังงาน 4 วัตต์

ทั้งนี้ จอแสดงผลแบบแอลซีดีนั้นจะมีการใช้พลังงานที่น้อยกว่า จอซีอาร์ทีแบบเก่า

นอกจากนี้เนื่องจากเครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง ก็จะใช้พลังงานสูงตามไปด้วยดังนั้นการเลือกซื้อหรือใช้คอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน ก็จะช่วย
ประหยัดได้เช่นกัน

ทั้งนี้ หากผู้ที่สนใจการทดสอบดังกล่าวต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม ก็สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ http://www.nectec.or.th/pub/book/2004-8-20-189305-TESTcom.pdf

นี่เป็นทางเลือกการใช้คอมพิวเตอร์แบบประหยัดพลังงาน แต่ผู้ที่ตั้งระบบประหยัดพลังงานทั้งหลาย อาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษว่าจะไม่ลืมปิดเครื่องก่อนกลับบ้าน
โดยเฉพาะโหมด System Hibernate เพราะเมื่อเข้าโหมดนี้คอมพิวเตอร์จะไม่มีไฟกะพริบใดๆ ที่บ่งบอกว่า เครื่องกำลังพร้อมทำงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจ
ผิดว่าปิดเครื่องไปแล้วก็เป็นได้


คัดลอกมาจาก http://www.yenta4.com

dangjung on June 27, 2009, 08:20:51 PM
ความรู้ทั้งนั้นเลย :)