happy on September 13, 2014, 07:11:11 PM
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดประสบการณ์ใหม่ให้ผู้ประกอบการไทย
จัดใหญ่ “NFI OPPORTUNITY DAY AND FOOD LEADER PARTY 2014” สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานใหญ่ “NFI OPPORTUNITY DAY AND FOOD LEADER PARTY 2014” โชว์ศักยภาพงานให้บริการของสถาบันอาหารตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหาร ทั้งศูนย์พัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร, ศูนย์บริการปฏิบัติการอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มงานวิจัยข้อมูลและบริการข้อมูลอัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ได้เข้าถึงงานบริการ ตลอดจนองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นในการเตรียมรับมือกับการแข่งขันบนเวทีการค้าโลก แสดงนิทรรศการกิจกรรมไฮไลท์ภายใต้ 3 โครงการหลัก Thailand Food Quality to the World, Thailand Food Forward และ โครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ที่มุ่งสนองนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” พร้อมแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สถาบันอาหารร่วมมือกับผู้ประกอบการ SMEs ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาสู่ตลาดมาอวดโฉมเป็นครั้งแรก หวังสร้างปรากฎการณ์ใหม่ กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมอาหารไทยให้ตื่นตัว เตรียมความพร้อมในทุกมิติสู้ศึก AEC….ชี้ปี 58 อุตสาหกรรมอาหารของไทยยังสดใส คาดเศรษฐกิจโลกโตร้อยละ 4 แนะยึดตลาดเดิม เช่น จีน และสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มขยายตัวดีและมีกำลังซื้อสูง พร้อมรุกตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญ ทั้งบราซิล รัสเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ อาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เร่งหาช่องทางใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มประเทศสู่เป้าหมายส่งออกตลาดอาเซียน 1 ล้านล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยในงานนี้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 500 รายนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “โอกาสของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี2558 ในงาน “NFI OPPORTUNITY DAY AND FOOD LEADER PARTY 2014” ว่า การพัฒนาของอุตสาหกรรมอาหารมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศเติบโตมาจากการเป็นประเทศเกษตรกรรม ประเทศไทยมีผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอาหารประมาณ 110,000 ราย คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของจำนวนสถานประกอบการทั้งหมด โดยแยกเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพียงร้อยละ 0.5 และ SMEs ร้อยละ 99.5 ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 8 แสนคน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของการจ้างงานจากทุกประเภทกิจการ ในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่มีทักษะร้อยละ 54 โดยเฉลี่ยอุตสาหกรรมอาหารมีมูลค่าผลผลิตรวม 1.6 ล้านล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 18 ของมูลค่าผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ โดยผลผลิตที่สำคัญ 5 อันดับแรกคือ กลุ่มข้าวและธัญพืช รองลงมาคือกลุ่มสินค้าประมง มีสัดส่วนใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 17.7 อันดับต่อมา คือกลุ่ม เครื่องดื่ม น้ำมันและไขมันพืช และ เนื้อสัตว์ ตามลำดับ นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า “ปัจจุบันไทยยังคงพึ่งพิงการส่งออกสินค้าเกษตรและวัตถุดิบอาหาร ส่วนสินค้าอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานซึ่งเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มภาคเกษตร มีสัดส่วนส่งออกเพียง 45.3% แต่แนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 43.3% ในช่วงปี 2546-2550 สำหรับตลาดส่งออกอาหารที่สำคัญยังคงตลาดหลักหรือตลาดเดิม โดยมีตลาดอาเซียนเพิ่มความสำคัญมากขึ้น มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 21.1 ของมูลค่าส่งออก รองลงมาคือ ตลาดญี่ปุ่น มีสัดส่วนร้อยละ 14.2 ตลาดสหภาพยุโรป ร้อยละ 11.7 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 11.3 ตลาดที่มีความสำคัญมากขึ้นอีกตลาดคือ จีน มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 10.5 การส่งออกอาหารของไทยมีการกระจายตัวไปตลาดใหม่มากขึ้น ส่วนแบ่งตลาดอาหารไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง” นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า ในปี 2558 ธนาคารโลก และ IMF ต่างมองว่าเศรษฐกิจของโลกจะมีทิศทางการเติบโตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีนี้ โดยคาดว่าอัตราเติบโตของ GDP จะอยู่ที่ร้อยละ 4 เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.4 โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าจะมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3 อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินต่อไปในระยะยาวพบว่า จีนเป็นประเทศที่มีอำนาจซื้ออันดับ 1 ของโลก รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ญี่ปุ่น และรัสเซีย และสหรัฐอเมริกายังเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคต่อคนต่อปีสูงรวมถึงตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญ(Emerging Markets) ทั้งบราซิล รัสเซีย อินเดีย แอฟริกาใต้ อาเซียน ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ คาดว่าเศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2557 ซึ่งผู้ส่งออกไทยยังคงต้องให้ความสำคัญ สมชาย+วิฑูรย์+เพ็ชร ด้านนายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึง “เทรนด์ใหม่ของอุตสาหกรรมอาหารไทยในอาเซียน” ว่า อาเซียนนับเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก เนื่องจากข้อได้เปรียบพื้นฐานในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร และมีแรงงานจำนวนมากเพียงพอ และยังเป็นตลาดการบริโภคตลาดใหม่ที่มีความน่าสนใจ ในปี 2556 อาเซียนมีสัดส่วนมูลค่าการค้าอาหารในตลาดโลกอยู่ที่ร้อยละ 6.8 และคาดว่าในปี 2559 จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.3 ของมูลค่าตลาดประมาณ 827 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของตลาดโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.7 และพบว่า อาเซียนมีบทบาทในการส่งออกอาหารสู่ตลาดโลกสูงถึงประมาณร้อยละ 9.6 ซึ่งเป็นลำดับ 3 รองจาก สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตลาดอาหารในอาเซียนจะเติบโตอย่างมากบนพื้นฐานของการเติบโตภายใต้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ประชากร คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 624 ล้านคน เป็น 660 ล้านคน ในปี 2020(ที่มา www.asean.org) ขนาดเศรษฐกิจ จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว GDP จาก 2.1 พันพันล้านเหรียญสหรัฐ(trillions) จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 พันพันล้านเหรียญสหรัฐ (ที่มา : The IHS report , www.scmp.com) ด้านกำลังซื้อ คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันพันล้านเหรียญสหรัฐ(Trillions) ในปี 2020 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.7 จากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกลุ่ม middle class ที่เพิ่มขึ้น (ที่มา : Euromonitor)การบริโภค คาดว่าการบริโภคอาหารในภูมิภาคอาเซียนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ร้อยละ 70 ภายในปี 2020 นายเพ็ชร กล่าวต่อว่า “จากแนวโน้มดังกล่าว จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะขยายตลาดสินค้าอาหารเข้าสู่อาเซียนได้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 10 หรือในราว 200,000 ล้านบาท ของมูลค่านำเข้าอาหารทั้งหมดในอาเซียนที่มีอยู่ราว 2 ล้านล้านบาท หากมีเป้าหมายและแนวนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารจากทุกภาคส่วน ซึ่งสถาบันอาหารมองว่าเป้าหมายการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดอาเซียนที่ร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย โดยในปี 2020 จะมีรายได้จากการส่งออกอาหารไปอาเซียนสูงถึง 1 ล้านล้านบาท จากมูลค่าตลาดอาเซียนที่คาดว่าจะสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท” นายเพ็ชร ยังได้กล่าวถึงการจัดงาน “NFI OPPORTUNITY DAY AND FOOD LEADER PARTY 2014" ในครั้งนี้ว่า นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันอาหารริเริ่มจัดงานในรูปแบบนี้ขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ได้มีส่วนร่วม เข้าถึงข้อมูล ข่าวสารตลอดห่วงโซ่อาหาร รวมทั้งได้รับคำปรึกษา และคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากนักวิชาการ และบุคลากรจากงานบริการด้านต่างๆ ที่สถาบันอาหารให้บริการอยู่ทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ ศูนย์พัฒนาและสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร, ศูนย์บริการปฏิบัติการอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มงานวิจัยข้อมูลและบริการข้อมูลอัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ขณะเดียวกันก็เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ตระหนักถึงสถานการณ์การแข่งขัน ตลอดจนรูปแบบทางการค้าที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่ AEC ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเข้าถึงแหล่งองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบธุรกิจให้ครบทุกมิติ พร้อมแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สถาบันอาหารร่วมมือกับผู้ประกอบการ SMEs ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาสู่ตลาด ภายใต้แนวคิดเพื่อยกระดับและเสริมสร้างมูลค่าให้วัตถุดิบทางการเกษตร อย่างมีความคิดสร้างสรรค์ และภายใต้บริบทวัฒนธรรมของไทย อาทิ กาแฟสมุนไพรกระชายดำผสมน้ำตาลลำไย, ขนมปังกรอบหน้าครีมซอสทุเรียน, ทาร์ตเมี่ยงต้มยำกุ้ง, กระยาสารทสูตรต้มยำสมุนไพร, ข้าวเหนียวดำทุเรียนแช่แข็ง, พิซซ่าโรตีหน้าทุเรียน และกล้วยอบซอสมะขาม เป็นต้น
« Last Edit: September 13, 2014, 07:19:34 PM by happy »
Logged