happy on September 11, 2014, 05:58:31 PM
ฮอนด้า ผนึก"ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต"( CIC) ได้ฤกษ์เปิดแทร็กประเดิม ต้น ต.ค.นี้
รายการแข่งชั้นนำทั้งรถยนต์-จักรยานยนต์เมืองไทยและระดับโลกจ่อคิวลงชิงชัยเพียบ


                 ฮอนด้า เปิดตัวเป็นผู้สนับสนุนหลักสนามแข่ง "ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต (CIC)" เตรียมร่วมส่งมอบประสบการณ์ระดับโลกให้กับคนไทย ได้ฤกษ์ระเบิดความยิ่งใหญ่กับสนามแข่งรถยนต์มาตรฐานสากล ระดับ FIA เกรด 1 ประเดิมด้วยการแข่งขันระดับโลกรายการแรกในเมืองไทยอย่าง ซูเปอร์ จีที ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 ต.ค.นี้ ขณะที่รายการแข่งชั้นนำทั้ง ไทยแลนด์ ซูเปอร์ ซีรีส์, โปร. เรซซิ่ง ซีรีส์ ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนชิพ, ทรูวิชั่นส์ บ็อบบี้ ฮันเตอร์ ซูเปอร์วัน เรซ,โตโยต้า มอเตอร์สปอร์ต จ่อคิวลงแทร็กเพียบ ก่อนจะยกดับความมันเร้าใจกับรายการแข่งขันระดับโลกทั้งรถยนต์ทางเรียบและรถจักรยานยนต์ ด้าน "บิ๊กเน" ตั้งเป้า 5 ปี จะมีนักแข่งไทยขึ้นไปโลดแล่น พร้อมยืนยันถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด มี.ค.ปีหน้า จะมีรายการศึกจักรยานยนต์ เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ มาแข่งขันอย่างแน่นอน


                 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา นานเนวิน ชิดชอบ ประธานที่ปรึกษาโครงการ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ร่วมกับ  นายพิทักษ์  พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด  พร้อมด้วย มร.โนบุฮิเดะ นางาตะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด ผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในประเทศไทย เปิดตัวแถลงข่าวยิ่งใหญ่กับสนามแข่งรถยนต์มาตรฐานสากล ระดับ FIA เกรด 1 "ช้าง  อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต(CIC)" โดยจะประเดิมด้วยการแข่งขันระดับโลกรายการแรกในเมืองไทยอย่าง ซูเปอร์ จีที ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 ต.ค.นี้ ขณะที่รายการแข่งชั้นนำทั้ง ไทยแลนด์ ซูเปอร์ ซีรีส์, โปร. เรซซิ่ง ซีรีส์ ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนชิพ, ทรูวิชั่นส์ บ็อบบี้ ฮันเตอร์ ซูเปอร์วัน เรซ, โตโยต้า มอเตอร์สปอร์ต จ่อคิวลงแทร็กเพียบ ก่อนจะยกดับความมันเร้าใจกับรายการแข่งขันระดับโลกทั้งรถยนต์ทางเรียบและรถจักรยานยนต์

                 นาย เนวิน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ได้เริ่มโครงการก่อสร้างการก่อสร้างสนามแข่งรถ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ขึ้นมาในปี 2013 ขณะนี้คืบหน้าไปแล้วกว่า 90% แม้จะเริ่มต้นโครงการด้วยสนามระดับ 2 ของเอฟไอเอ 2 รองรับการแข่งขันรถยนต์สูงสุดคือ ฟอร์มูล่า 3 (Formula3) แต่หลังจากนั้นได้ขยับขยายแผนงานเกรด 1T ซึ่งสามารถรองรับการทดสอบรถแข่งฟอร์มูล่าวันได้ ล่าสุดมีการปรับโครงการก่อสร้างแทร็กให้เป็นสนามระดับ FIA เกรด 1 และหากก่อสร้างเสร็จจะสามารถรองรับการแข่งขันสูงสุดคือ ฟอร์มูล่าวัน ส่วนฝั่ง FIM หรือสหพันธ์กีฬาแข่งรถจักรยานยนต์โลกยังคงยึดระดับสูงสุดที่เกรด A รองรับสูงสุดคือโมโตจีพี






                 "การสร้างสนามแข่งรถระดับนี้ ผมถือว่าเราได้สร้างโอกาสพัฒนาให้กับคนไทยในการที่มีสนามระดับโลก โดยตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะมีนักแข่งไทยขึ้นไปโลดแล่น พร้อมยืนยันถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ในเดือน มี.ค.ปีหน้า จะมีรายการศึกจักรยานยนต์ เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ มาแข่งขันที่นี่อย่างแน่นอน อีกทั้งจะทำให้สนามแข่งรถ "ช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต (CIC)" ให้เป็นสนามอันดับ 1 ในเอเชียให้ได้ ถึงแม้นจะไม่ได้ใช่อันดับ 1 ของโลก" นายเนวิน กล่าวในที่สุด

                 ขณะที่ นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในนามผลิตภัณฑ์รถยนต์และรถจักรยานยนต์ฮอนด้าเปิดเผยว่า “ฮอนด้าให้การสนับสนุนด้านกีฬามอเตอร์สปอร์ต ทั้งการแข่งขันรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทั้งในเมืองไทยและระดับโลกมาอย่างต่อเนื่องโดยในแวดวงรถยนต์นั้น ฮอนด้าได้จัดการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตหลายรายการ อาทิ Honda Day Live Night Race การแข่งขันรถยนต์ทางเรียบสนามกลางคืน Honda Racing Fest’ และHonda Jazz One Make Race”

                 ส่วน มร.โนบุฮิเดะ นางาตะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในประเทศไทย กล่าวว่า “สำหรับในกลุ่มรถจักรยานยนต์ไทยฮอนด้าถือเป็นผู้นำวงการมอเตอร์สปอร์ตที่มุ่งเน้นการพัฒนานักแข่งรุ่นใหม่ผ่านโครงการฮอนด้าเรซซิ่งสคูล และสนับสนุนให้คนไทยได้ลงแข่งขันในต่างประเทศในระดับต่างๆหลายรายการ รวมไปถึงการแข่งขันชิงแชมป์โลกระดับโมโตทู”

                 “การถือกำเนิดขึ้นของสนามแข่งระดับโลกในเมืองไทยอย่างสนามช้าง ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จะกลายเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับวงการมอเตอร์สปอร์ตในประเทศ โดยจากนี้ไปจะมีการแข่งขันรถยนต์และรถจักรยานยนต์ระดับโลกรายการต่างๆเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังจะเป็นการสร้างชื่อเสียงและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดบุรีรัมย์ และประเทศไทยได้เป็นอย่างดี”

                 พร้อมกันนี้ นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในนามรถยนต์ฮอนด้า และ มร.โนบุฮิเดะ นางาตะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัดในนามรถจักรยานยนต์ฮอนด้า ยังได้ร่วมแสดงความยินดีกับคุณเนวิน ชิดชอบ ประธานที่ปรึกษาโครงการสนามแข่งช้าง ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต ในโอกาสที่สนามแห่งนี้ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดใช้งานแล้ว






                 “ทางฮอนด้าขอร่วมแสดงความยินดีกับชาวบุรีรัมย์และคนไทยทุกคนกับความภาคภูมิใจครั้งนี้ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเต็มที่กับการนำนักแข่ง และทีมแข่งระดับโลกของฮอนด้ามาเปิดประสบการณ์อันน่าตื่นตาตื่นใจให้กับคนไทยในเร็วๆนี้”

                 สำหรับสนามช้าง ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต เป็นสนามแข่งรถมาตรฐาน FIA Grade1 และ FIM Grade A มีความยาวสนาม 4.554 กิโลเมตร และมีโค้งทั้งสิ้น  12 โค้ง สามารถจุผู้ชมได้มากถึง 50,000 คน และจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบทัวร์นาเมนท์ซูเปอร์จีที (Super GT) ระหว่างวันที่ 4-5 ต.ค.นี้

                 ทั้งนี้แฟน ๆ มอเตอร์สปอร์ต คอยพบกับกิจกรรมเพื่อแฟนๆมอเตอร์สปอร์ตจากรถยนต์ฮอนด้าได้ที่ www.honda.co.th และจากรถจักรยานยนต์ฮอนด้าที่เว็บไซต์ www.aphonda.co.th



ข้อมูลของสนาม....






               ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต (CIC) ใช้งบประมาณก่อสร้าง 2,000 ล้านบาท ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ มีระยะทางต่อรอบ 4.554 กม. ทิศทางการวิ่งแบบตามเข็มนาฬิกา ประกอบด้วยจำนวนโค้งทั้งสิ้น 12 โค้งขวา 7 โค้ง และ ซ้าย 5 โค้ง จุผู้ชมได้สูงสุดถึง 50,000 คน จุดเด่นของสนามคือ ผู้ชมสามารถมองเห็นทุกส่วนของแทร็ก เมื่ออยู่บนแกรนด์สแตนต์ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมเกมมอเตอร์สปอร์ต โดยไฮไลต์ของแทร็กมีอยู่ 5 จุด คือ ทางตรงยาวระยะทาง 1 กิโลเมตร สามารถทำความเร็วในรถระดับทัวริ่งคาร์ได้ถึง 315 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในรถมอเตอร์ไซค์ ซูเปอร์ไบค์ โดยจุดนี้ถือเป็นจุดท้าทายนักขับในการหาจุดเบรกในการแซง

               ถัดมาคือโค้ง 4 เป็นโค้งซ้ายความเร็วสูงที่นักขับสามารถเข้าโค้งด้วยความเร็วระดับ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันก็จะต้องต่อสู้กับแรงเหวี่ยงอันมหาศาลในโค้งนี้ ตามด้วยโค้ง 7 เป็นโค้งหักขวา 70 องศา ที่ฝังอยู่ด้วยโค้งเล็กๆ อีก 2 โค้งในจุดนี้ และถือเป็นอีกหนึ่งโค้งความเร็วสูงของ BRIC ซึ่งรถแข่งระดับทัวริ่งคาร์และมอเตอร์ไซค์ซูเปอร์ไบค์ สามารถรักษาความเร็วได้ในระดับ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในช่วงออกจากโค้ง 7 นี้ รวมไปถึงโค้ง 9 และ 10 ที่มีความต่อเนื่องกัน โดยนักขับต้องใช้ไหวพริบอย่างมากในการขับจุดนี้ เพื่อต่อเนื่องไปยังโค้ง 12 โค้งแฮร์พิน หรือ โค้งยูเทิร์นหักศอกขวา 126 องศา ถือเป็นจุดไฮไลต์ของ BRIC สำหรับการแซงโดยนักแข่งสามารถเลือกเรซซิ่งไลน์ของตัวเองได้ตามความเหมาะสมก่อนจะหาจังหวะแซง

               ความพิเศษของ ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ยังรวมไปถึงการออกแบบให้มีบ่อน้ำภายในบริเวณแทร็ก เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ขณะเดียวกันยังติดตั้งระบบไฟส่องสว่างมาตรฐานเอฟไอเอ ซึ่งรองรับการแข่งขันกลางคืน หรือ ไนต์เรซ เช่นเดียวกับ ฟอร์มูล่าวัน รายการ สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ หรือ โมโตจีพี รายการ กาตาร์ กรังด์ปรีซ์ ได้อย่างไร้ปัญหา

                นอกจากนี้ยังมีพิตระดับมาตรฐานถึง 30 พิต รองรับความต้องการด้านการทำงานของทีมแข่งทุกระดับ โดยบริเวณด้านบนพิตถูกสร้างเป็นแพ็ดด็อก สำหรับกลุ่มผู้ชมระดับวีไอพี รวมไปถึงชั้นบนสุดที่ถูกสร้างเป็นสแตนด์อีกชั้น เพื่อให้แฟนมอเตอร์สปอร์ตได้สัมผัสการทำงานของทีมแข่งอย่างใกล้ชิด

               ภายใต้การก่อสร้างแบบเต็มกำลัง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จะถูกเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 4-5 ต.ค.นี้ ด้วยการแข่งขันระดับโลกรายการแรกในเมืองไทยอย่าง ซูเปอร์ จีที ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากแฟนมอเตอร์สปอร์ตชาวญี่ปุ่น รวมถึงมีการติดตามจากแฟนทั่วโลกนับล้านผ่านการถ่ายทอดสด

               CIC เซ็นสัญญากับ จีทีเอ เจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขัน ซูเปอร์จีที ด้วยสัญญา 2 ปี ในปี 2014-2015 นับเป็นการปลุกกระแสให้กับวงการมอเตอร์สปอร์ตเมืองไทยให้ตื่นตัวได้อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็เป็นการปักชื่อของ บุรีรัมย์ ในปฎิทินของการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกด้วย

               ขณะที่ ซูเปอร์ จีที มีรูปแบบการแข่งขันแบบมาราธอนใช้ระยะทางเป็นตัวกำหนด ในแต่ละเรซจะดวลความเร็วทั้งสิ้น 300-500 กิโลเมตร ซึ่งการแข่งขันที่จะมีขึ้นที่ BRIC ใช้ชื่อรายการว่า บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซูเปอร์ จีที นับเป็นการเก็บคะแนนสะสมสนามที่ 7 จาก 8 สนามของฤดูกาล 2014 ซึ่งในปีนี้ไทยถือเป็นชาติเดียวที่ได้รับสิทธิ์ให้เป็นเจ้าภาพสำหรับสนามแข่งนอกประเทศญี่ปุ่น

                ด้าน กติกาของ Super GT ได้แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 รุ่น คือ GT 300 และ GT 500 ซึ่งจะเป็นการแข่งขันระหว่างค่ายรถญี่ปุ่นและรถยุโรป อาทิ ฮอนด้า NSX, เลกซัส LF-CC และนิสสัน GT-R เฟอร์รารี่ พอร์ช บีเอ็มดับเบิลยู เมอร์เซเดส-เบนซ์ ออดี้ แอสตัน มาร์ติน และลัมบอร์กินี

               ส่วนความพร้อมด้านความปลอดภัย CIC ได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่จะเข้ามาเป็นผู้ร่วมสนับสนุนการแข่งขันบุรีรัมย์ ซูเปอร์ จีที 2014 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 ต.ค.นี้ โดยจะเข้ามาเป็นผู้ดูแลเรื่องของการรักษาพยาบาลและอุบัติเหตุจากเหตุการณ์ฉุกเฉินในสนามแข่งทั้งหมดในช่วงสัปดาห์ของการแข่งขัน ขณะเดียวกัน ยังจัดอบรมติวเข้มกรรมการภาคสนามขั้นพื้นฐาน หรือ MARSHAL สำหรับกีฬาแข่งรถยนต์ทางเรียบจำนวนกว่า 300 คน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการแข่งขัน ซึ่งเป็นการผลักดันให้มีการผลิตบุคลากรมอเตอร์สปอร์ตชาวไทย เพื่อรองรับการแข่งขันระดับโลก

               อย่างไรก็ดี นอกจากการแข่งขัน ซูเปอร์ จีที ในวันเปิดสนามแล้ว CIC ยังมีคิวรองรับการแข่งขันระดับอาเซียนหลายรายการในช่วงปลายปีนี้ได้แก่ เอเชียน เลอ มังส์ ซีรีส์ 2014, ทัวริ่งคาร์ ซีรีส์ อิน เอเชีย รวมถึงรายการจักรยานยนต์อย่าง เอเชีย โรด เรซซิ่ง ด้วย ส่วนรายการแข่งขันในเมืองไทย ก็มีรายการชั้นนำอย่าง ไทยแลนด์ ซูเปอร์ ซีรีส์, โปร. เรซซิ่ง ซีรีส์ ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนชิพ, ทรูวิชั่นส์ บ็อบบี้ ฮันเตอร์ ซูเปอร์วัน เรซ, โตโยต้า มอเตอร์สปอร์ต และอีกหลายรายการที่จ่อคิวเข้าร่วมการแข่งขันที่แทร็กระดับโลกของเมืองไทย

               ในปี 2015 CIC วางเป้าหมายให้มีการแข่งขัน 35 เรซ ตลอดทั้งปี โดยข่าวดีสำหรับคอความเร็วชาวไทย คือ จะมีรายการระดับโลก 4 รายการมาแข่งขันที่นี่ ที่ยืนยันชัดเจนคือ บุรีรัมย์ ซูเปอร์ จีที ขณะที่ความเป็นได้สำหรับรายการอื่นฝ่ายบริหารเล็งไปที่การแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือแม้กระทั่งรถยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก
« Last Edit: September 11, 2014, 06:07:56 PM by happy »