QTC จับมือฮิตาชิ เมทัลส์ ผลิตหม้อแปลง Amorphous เจาะตลาดหม้อแปลงไทย
กรุงเทพฯ-บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) ผนึก ฮิตาชิ เมทัลส์ลงนามความร่วมมือ ร่วมพัฒนาหม้อแปลงไฟฟ้า Amorphous พร้อมทำตลาดในประเทศไทย ชูผลิตภัณฑ์ใหม่ช่วยลดการใช้พลังงาน มั่นใจตลาดจะตอบรับดี ดันผลงานเติบโตต่อเนื่อง
นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ ( MOU ) กับ บริษัท ฮิตาชิ เมทัลส์ จำกัด เพื่อร่วมมือในการพัฒนาหม้อแปลงไฟฟ้าอะมอฟัส (Amorphous) ให้สามารถผลิตและขายได้ในประเทศไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนการตลาด พร้อมกำหนดกลยุทธ์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงกำหนดยอดขายร่วมกับบริษัท ฮิตาชิ เมทัลส์ จำกัด อีกครั้ง
สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากยอดขายและกำไรของบริษัทฯที่จะเพิ่มขึ้นจากการขายผลิตภัณฑ์ใหม่แล้ว การผลิตหม้อแปลง Amorphous ดังกล่าว ยังช่วยในการลดการใช้พลังงาน และยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน ซึ่งส่วนนี้เป็นไปตามนโยบายด้าน CSR ในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย
“ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ QTC มีความแข็งแกร่งมากขึ้นจากการที่ได้พาร์ทเนอร์ระดับโลกอย่างฮิตาชิ เมทัลส์มาร่วมในการพัฒนาและผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า Amorphous เพื่อขยายตลาดในประเทศไทย เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้หม้อแปลงไฟฟ้า”นายพูลพิพัฒน์ กล่าว
ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ. คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) กล่าวเพิ่มว่า การร่วมมือในครั้งนี้ทางฮิตาชิ จะสนับสนุนในส่วนของการจัดหาวัตถุดิบในการผลิตหม้อแปลง Amorphous รวมไปถึงการถ่ายทอดความรู้ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ และกระบวนการผลิตให้กับบริษัทฯ
ทั้งนี้บริษัทฯได้ศึกษาและพัฒนาหม้อแปลง Amorphous ร่วมกับ บริษัท ฮิตาชิ เมทัลส์ จำกัด ตั้งแต่ปี 2555 จนปัจจุบันบริษัทฯ สามารถดำเนินการทดลองผลิตหม้อแปลง Amorphous ขนาด 50 KVA ตามมาตรฐานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำนวน 2 เครื่อง และขนาด 150 KVA ตามมาตรฐานของการไฟฟ้านครหลวง จำนวน 2 เครื่อง
นอกจากนี้บริษัทฯได้ประสบความสำเร็จในการผลิตและส่งมอบหม้อแปลง Amorphous ขนาด 500 KVA และ 1,000 KVA ให้กับบริษัทเอกชนในไทยแล้ว อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าหม้อแปลง Amorphous ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในประเทศไทย แต่หม้อแปลงชนิดนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
สำหรับหม้อแปลงไฟฟ้าที่ใช้วัตถุดิบ Amorphous มาทำแกนของหม้อแปลงแทนเหล็กซิลิกอน จะมีค่าความสูญเสียกำลังไฟฟ้าไม่มีโหลด (No Load Loss) ต่ำ โดยมีค่าความสูญเสียกำลังไฟฟ้าไม่มีโหลดเพียง 1 ใน 3 ของเหล็กซิลิกอน ซึ่งจะช่วยให้ลดค่าไฟฟ้าลงได้