happy on August 28, 2014, 06:50:20 PM
นักวิจัย มจธ. เพิ่มมูลค่าข้าวหอมไทย
นำงานวิจัยผลิต “Pop Rice” สู่เชิงพาณิชย์รายแรกของโลก


นักวิจัยคณะทรัพยากรชีวิภาพและเทคโนโลยี มจธ. เจ๋ง!! สามารถคิดค้นเทคโนโลยีการผลิต “Pop Rice” ได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก โดยวิจัยร่วมกับบริษัทณัฐกฤษกาญจน์ฯ ซึ่งได้นำผลงานวิจัยมาพัฒนาสู่การพาณิชย์ ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ “Pop Rice” บุกตลาดพรีเมียม ปลายปี 57 หลังทดลองตลาดเพียง 4 เดือนได้ผลตอบรับอย่างดีจากกลุ่มผู้รักสุขภาพภายในและต่างประเทศ.




รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์

                “ป๊อปคอร์น” ขนมขบเคี้ยวยอดนิยมที่ทำจากเมล็ดข้าวโพดด้วยรสชาติหอมหวานมันเค็มจนเป็นที่ชื่นชอบทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ล่าสุดได้มีการนำเอาเมล็ดข้าวหอมของไทยมาผลิตเป็น “ป๊อปไรซ์” (Pop Rice) ได้เป็นผลสำเร็จรายแรกของโลกเป็นผลงานจากการวิจัยของ รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ ประธานสายวิชาเทคโนโลยีชีวเคมี สายวิชาเทคโนโลยีชีวเคมี คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และเตรียมนำออกสู่ตลาดโดยบริษัท ณัฐกฤษกาญจน์ อะกริเทค จำกัด น้องใหม่ในวงการสแนคที่ได้ร่วมงานวิจัยดังกล่าว นำมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกขายเจาะกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม หลังทดลองตลาดเพียง 4 เดือน ได้ผลตอบรับอย่างดี ถือเป็นนวัตกรรม new product ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ส่งผลให้มีพรีออเดอร์จากตลาดค้าปลีกหรือโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) เข้ามาแล้วจำนวนมาก ขณะที่บริษัทเตรียมวางขายใน 7- Eleven ภายในสิ้นตุลาคมนี้




ดร.ศศิธร สิงขรอาจ

                รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ ประธานสายวิชาเทคโนโลยีชีวเคมี มจธ. กล่าวว่า แนวคิดในการนำข้าวหอมมาพัฒนา Pop Rice เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก และในชีวิตประจำวันเราต่างกินข้าวกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีการนำไปผลิตเป็นแป้ง หรือทำเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่ปัจจุบันคนเริ่มสนใจบริโภคข้าวน้อยลงหันไปสนใจทานขนมขบเคี้ยว เช่น ข้าวโพดคั่ว หรือ ป๊อปคอร์น มากขึ้น แต่ป๊อปคอร์นต้องสั่งเมล็ดพันธุ์มาจากต่างประเทศ ขณะที่ภูมิปัญญาของไทยเองก็มีการนำข้าวมาแปรรูปเช่นกัน เช่น ข้าวพอง ข้าวแต๋น กระยาสารท ด้วยวิธีการทอด แต่มีปัญหาเรื่องกลิ่นหืน และน้ำมันที่ใช้ทอดอาจจะมีปัญหาต่อสุขภาพ หรือการนำข้าวมาทำเป็นข้าวตอก แต่ปัญหาคือไม่กรอบและไม่มีรสชาติทำให้ไม่เป็นที่นิยม จึงได้ทดลองนำข้าวมาแปรรูปในลักษณะเดียวกับข้าวโพดคั่ว เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวหอมของไทยในรูปแบบของขนมขบเคี้ยว

                “นวัตกรรม Pop Rice มีความแตกต่างจาก Popcorn คือ เวลาทาน Popcorn จะมีกากเหลือแข็งๆ เมื่อรับประทานแล้วยังหลงเหลืออยู่ทำให้รู้สึกระคายลิ้น แต่สำหรับ Pop Rice จะไม่มีปัญหาดังกล่าวเพราะผลิตจากข้าวกล้องหอม นอกจากนี้ข้าวโพดพันธุ์ที่นำมาแปรรูปเป็น Popcorn นั้น ประเทศไทยเรายังไม่สามารถปลูกเองได้ จะต้องนำเข้าเมล็ดข้าวโพดมาจากต่างประเทศ และการนำข้าวมาแปรรูปคล้ายข้าวโพดคั่วนอกจากเป็นการเพิ่มมูลค่าของข้าว โดยมีราคาเพิ่มขึ้นจากราคาข้าวเปลือกถึง 80 เท่าแล้ว ยังพบว่าช่วยให้ทานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาไม่สามารถทานข้าวหรือมีอาการแพ้โปรตีนกลูเตนที่อยู่ในข้าวสาลี เช่น คนในแถบยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาก็สามารถทาน Pop Rice แทนข้าวสาลีได้ นำมาทานเป็นซีเรียลหรืออาหารเช้า หรือการนำมาปรุงรสชาติให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เช่น รสช็อกโกแลต รสคาราเมล ฯลฯ เชื่อว่าจะได้รับความนิยมเช่นเดียวกันกับ Popcorn เราเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นนวัตกรรมจากภูมิปัญญาไทยสู่สากล และยังแสดงให้เห็นว่า “ข้าวคั่วพองกรอบยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ ด้วยการคัดสรรข้าวกล้องคุณภาพดีไม่ใช้น้ำมันในกระบวนการผลิต”








                รศ.ดร.ณัฎฐา กล่าวว่า มจธ.ได้เข้าไปให้ความรู้เรื่องการทำ Pop Rice และช่วยออกแบบเครื่องหรือตู้อบให้กับบริษัทฯ โดยเริ่มจากทดลองนำข้าวอินทรีย์ที่มีกลิ่นหอม เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนิล และคัดเลือกเฉพาะพันธุ์ข้าวหอมที่เหมาะสม เพราะมีสมบัติช่วยในการพองตัวของแป้งทำให้เมล็ดข้าวแตกหรือพองออกและมีขนาดใหญ่ เบื้องต้นได้ทดลองด้วยการนำไปคั่วแต่ข้าวยังพองได้น้อย จนมาได้ไอเดียเรื่องปริมาณอะไมโลส และทดลองในอุปกรณ์หลายๆแบบ ทำให้ต้องออกแบบกระบวนการในการผลิต จากการวิจัยและทดลองมากว่า 8 เดือน ทำให้รู้ว่าเราต้องเติมอะไรในสัดส่วนเท่าไหร่และต้องอบในตู้อบแบบไหนที่จะแก้ปัญหาไม่ให้ Pop Rice นิ่ม และสามารถคงความกรอบไว้ได้นานที่สุด ซึ่งเราได้ออกแบบและสร้างตู้อบสำหรับควบคุมค่าต่างๆ ทั้งอุณหภูมิ เวลา และปริมาณข้าว เพื่อให้ข้าวสามารถพองออกพร้อมๆกัน และสามารถเก็บรักษาความกรอบไว้ได้นาน 2 – 6 เดือนซึ่งขึ้นอยู่กับบรรจุภัณฑ์ ด้วย ส่วนเรื่องการปรุงรสชาตินั้นเป็นหน้าที่ของทางบริษัท

                ด้าน ดร.ศศิธร สิงขรอาจ ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ณัฐกฤษกาญจน์ อะกริเทค จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 เพื่อต้องการนำงานวิจัยออกมาสู่เชิงพาณิชย์ หรือ จากหิ้งสู่ห้าง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากข้าวและธัญพืช  เพราะส่วนตัวเห็นว่างานวิจัยข้าวไม่ควรอยู่บนหิ้ง และข้าวนั้นมีคุณค่าและสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวของไทยได้ จึงควรออกไปสู่มือผู้บริโภค ออกไปสู่ตลาด ประกอบกับตนเองจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. และเคยร่วมทำงานวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการงอกของข้าวกล้องเพาะงอกทำให้เกิดความสนใจเรื่องข้าวมาโดยตลอด กระทั่งมาเปิดบริษัทแรกๆ ขายเฉพาะข้าวกล้องเพาะงอก และข้าวผงผสมคอลาเจนชนิดชงดื่ม  ยังไม่ได้คิดเรื่อง Pop Rice พอได้ไอเดียนี้จากอาจารย์จึงลองแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เป็นขนมดูบ้าง นับเป็นจุดเริ่มต้นให้ลองมาทำวิจัยเรื่องดังกล่าวร่วมกับอาจารย์ ใช้ระยะเวลา 7-8 เดือน หลังจากปรับปรุงพัฒนากระบวนการต่างๆ จนสามารถผลิตได้ในปริมาณมากแล้ว จึงนำออกทดลองขายตามงานต่างๆ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ผลตอบรับดีมาก ทำให้บริษัทเตรียมแผนนำผลิตภัณฑ์ Pop Rice ออกสู่ตลาดหลังจากที่ได้พัฒนาแพคเกจจิ้งให้ดูทันสมัยขึ้น คาดว่าภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้จะเริ่มวางจำหน่ายได้ที่ร้าน 7- Eleven ทั่วประเทศ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Be Live Rice อาหารเพื่อสุขภาพ เจาะกลุ่มผู้รักสุขภาพ

                ทั้งนี้ Pop Rice เป็นหนึ่งในงานวิจัยภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากข้าวและธัญพืชผลงานวิจัยของคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. นอกจากเอกชนนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และกำลังกระจายออกไปสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศแล้ว ผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังเป็นหนึ่งในผลการวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดสู่พาณิชย์ จากผลงานภายใต้โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ Thailand National Research Universities Summit (NRU) 2014 คลัสเตอร์วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิศวกรรมชีวภาพและอาหาร ของมจธ.ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สอดคล้องกับซุปราคลัสเตอร์ (Supra Cluster) ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งได้มีการนำผลงานเข้าร่วมแสดงในการประชุมสุดยอดมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ครั้งที่ 3 เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา