happy on August 23, 2014, 04:42:34 PM
สพฉ. จับมือภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉิน
ย้ำประชาชนจำขั้นตอน “ห่วงโซ่การรอดชีวิต” เพิ่มโอกาสกู้ชีพผู้ป่วยฉุกเฉิน

สพฉ.รับมอบเครื่อง AED พร้อมส่งต่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน : นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร (ที่ 4 จาก ซ้าย) เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดงานแถลงข่าว “พิธีรับมอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED” จำนวน 10 ชุด จาก บริษัท เซนต์  เมดิคอล (คริติคอล  แคร์) จำกัด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามหลัก “ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต” พร้อมส่งต่อให้แก่หน่วยงานต่างๆ ในการนำไปเรียนรู้ และติดตั้งตามสถานที่สาธารณะ เพื่อให้เกิดศักยภาพในการช่วยชีวิตแก่ประชาชน ณ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) วันก่อน

                 ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นประธานในพิธีรับมอบเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED จำนวน 10 ชุด จากบริษัท เซนต์  เมดิคอล (คริติคอล  แคร์) จำกัด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามหลัก “ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต”


นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร  เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)


ผู้บริหารรับมอบเครื่อง AED

                 นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร  เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในปัจจุบัน มีการกำหนดขั้นตอนการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินที่หมดสติ หรือหยุดหายใจ ตามหลักการที่เรียกว่า Chain of Survival หรือ ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อเนื่องประกอบด้วย 1.การตระหนักถึงภาวะฉุกเฉินและการแจ้งทีมช่วยชีวิตที่หมายเลข 1669 อย่างรวดเร็ว ( Early Access)  2.การเริ่มปฏิบัติการช่วยชีวิตในทันที  (Early CPR) ซึ่งการกดหน้าอกที่มีประสิทธิภาพนั้นช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ 2-3 เท่า  3.เมื่อมีข้อบ่งชี้ให้การรักษาด้วยกระแสไฟฟ้าให้รวดเร็วที่สุด ภายใน 3-5นาที  (Early Defibrillation) 4.ปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นสูงอย่างรวดเร็ว (Early ACLS) และมีประสิทธิภาพ และ 5.ให้การดูแลหลังจาก CPR อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ (Integrated Post Cardiac Arrest Care)

                 “ในขั้นตอนที่ 3 นี้ก็ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก โดยปัจจุบันมีฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาชนิดหนึ่ง สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต  ถ้าสามารถเริ่มต้นการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานโดยการกดหน้าอกร่วมกับการใช้เครื่อง AEDได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพียงใด ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้โดยบุคคลทั่วไปแม้จะไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ แต่ได้รับการฝึกฝนหรือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือศูนย์ 1669 ก็สามารถใช้งานเครื่องได้ โดยทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ในการส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้และจดจำขั้นตอนเหล่านี้ต่อไป” เลขาธิการ สพฉ.กล่าว

                 ด้าน นางโสรัจจา บุญประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซนต์  เมดิคอล (คริติคอล  แคร์) จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทZOLL Medical และบริษัท  เซนต์ เมดิคอล (คริติคอล  แคร์) จำกัดได้เล็งเห็นความสำคัญของการช่วยชีวิตผู้ป่วย Sudden Cardiac Arrest หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยใช้เครื่อง AED ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และทางบริษัทต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยผลักดันให้เกิดความตระหนักเรื่องภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในภาคประชาชน จึงมีความประสงค์มอบเครื่อง AED เวอร์ชั่นภาษาไทย พร้อมตู้ติดตั้งจำนวน 10 ชุด ให้แก่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย เพื่อส่งต่อให้แก่หน่วยงานต่างๆ ในการนำไปเรียนรู้ และติดตั้งตามสถานที่สาธารณะ เพื่อให้เกิดศักยภาพในการช่วยชีวิตและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน












เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED)


สาธิตวิธีการช่วยชีวิตด้วยเครื่อง AED
« Last Edit: August 23, 2014, 04:44:37 PM by happy »