วศ. ก.วิทยาศาสตร์ฯ จับมือ สมอ. พัฒนาผู้ประกอบการเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP
เข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐาน
สินค้า OTOP ของไทยมีเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่นเป็นที่นิยมของผู้ซื้อช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนจำนวนมาก ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) และ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) จึงได้ร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP เข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐาน เน้นช่วยแก้ปัญหา พัฒนาการผลิต การบรรจุภัณฑ์ และส่งเสริมให้สามารถยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานต่างๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าจะส่งผลต่อการยกระดับรายได้ชุมชนและการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP เข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐาน ขึ้น ในวันพุธที่ 20 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีนางสาวเสาวณี มุสิแดง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และ นางรัชดา อิสระเสนารักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้เป็นประธานร่วมกันในการลงนาม นางสาวเสาวณี มุสิแดง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า วศ. ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างสินค้ามาทดสอบและมีการ พัฒนาสินค้ามาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งได้มีการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ในเชิงเทคนิคที่ใช้กลไกทางห้องปฏิบัติการทดสอบเป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ปัญหา พัฒนาการผลิต พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และส่งเสริมให้สามารถเข้าสู่กระบวนการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานต่างๆ การลงนามความร่วมมือ กับ สมอ. เป็นการช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการ OTOP ต่อเนื่องเพื่อเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน สนับสนุนให้สอดคล้องเชื่อมโยงกันทั้งระบบ สามารถพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ในการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าได้อย่างเป็นรูปธรรม ตรงตามความต้องการของชุมชนในแต่ละพื้นที่ และได้รับประโยชน์โดยตรงในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างทั่วถึง ขอบเขตความร่วมมือของ วศ. เป็นการสนับสนุนการทดสอบสินค้า OTOP ตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน การให้ความรู้ คำปรึกษา และจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการ OTOP ในเชิงลึก รวมทั้งยังรวบรวมองค์ความรู้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสินค้า OTOP เพื่อจัดทำเป็นสื่อเผยแพร่ข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ในระยะยาวส่งผลต่อการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถขยายศักยภาพทางการค้าโดยรวมของประเทศได้ นางรัชดา อิสระเสนารักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายมีความประสงค์ร่วมมือกันดำเนินงานพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐาน รวมถึงประชาชนได้บริโภคสินค้าที่มีความปลอดภัย โดยขอบเขตความร่วมมือของ สมอ. เป็นการสนับสนุนข้อมูลผู้ประกอบการสินค้า OTOP ที่ไม่ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ และเชิงพื้นที่ การประสานร่วมมือกับ วศ. ในการพัฒนาสินค้า OTOP กลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การยื่นขอการรับรองคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยจะเร่งรัดการให้มีการรับรองคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเมื่อได้รับรายงานผลการทดสอบของ วศ. รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินโครงการต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้