“จุก เสียด แสบ เปรี้ยว” 4 สัญญาณกรดไหลย้อนและอาหารไม่ย่อย
แนวคิดของแคมเปญ “จุก เสียด แสบ เปรี้ยว” 4 สัญญาณกรดไหลย้อนและอาหารไม่ย่อย โดยบริษัท เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เกิดขึ้นจากความใส่ใจในผู้บริโภคคนไทยและมุ่งหวังที่จะให้ทุกคนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง พร้อมกับหมั่นดูแลสังเกตอาการของตนเอง เพื่อวางแนวทางการรักษาอย่างถูกวิธีและปลอดภัย ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะจากสถิติทางการแพทย์ พบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยหลายรายไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดภาวะความเจ็บป่วยเรื้อรังส่งผลเสียต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ยิ่งกว่านั้นอาจลุกลามไปเป็นโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ในอนาคต
ลักษณะทั่วไป
กรดไหลย้อน โรคกรดไหลย้อน (Gastro-Esophageal Reflux Disease; GERD) คือภาวะที่มีกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจรวมไปถึงเอนไซม์เปบซิน และน้ำดีไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ซึ่งหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่ไม่ทนต่อกรด จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร โดยปกติ หลอดอาหารจะมีการบีบตัวไล่อาหารลงสู่ด้านล่าง และหูรูดจะทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนของน้ำย่อย กรด หรืออาหาร ไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร แต่ในบางคนนั้นหูรูดส่วนนี้ทำงานได้น้อยลง จึงทำให้มีกรด หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาทำให้ผนังหลอดอาหารอักเสบ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่มีอาการแสบร้อนกลางอก ซึ่งเป็นอาการหลักของผู้ป่วยกรดไหลย้อน มักมีอาการอาหารไม่ย่อยร่วมด้วย
อุบัติการณ์การเกิดโรคกรดไหลย้อน
• ประเทศแถบตะวันตก โรค GERD เป็นโรคทางระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง พบได้ใน10-20% ของประชากรทั่วไป คนอังกฤษสูงถึง 60% ที่เคยมีอาการของโรคนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
• ประเทศแถบเอเชีย มีข้อมูลทางสถิติค่อนข้างจำกัด แม้ว่ายังมีรายงานทางสถิติว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้น้อยแต่อุบัติการณ์ก็เพิ่มขึ้น 3-11% ของประชากรมีอาการแสบร้อนกลางอกอย่างน้อยเดือนละครั้ง
ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อน
• โรคกรดไหลย้อนพบได้ในคนทั่วไป ทุกกลุ่ม ทุกช่วงอายุ
– คนทำงานในที่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างเคร่งเครียดและเร่งรีบ
– มีพฤติกรรมการทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น กินมื้อใหญ่ นอนทันทีหลังทานอาหาร
– คนอ้วน
– เด็ก, ผู้สูงอายุ
• สตรีมีครรภ์ พบได้ถึง 6 ใน 10 คน เนื่องจากความดันในช่องท้องที่เพิ่มขึ้นจากการเจริญเติบโตของทารก และความผิดปกติของหูรูดที่เกิดจากฮอร์โมน ร้อยละ 60 ของสตรีที่ตั้งครรภ์ล้วนเคยมีอาการแสบยอดอกแบบเรื้อรัง แม้จะไม่เคยมีอาการกรดไหลย้อนมาก่อน สาเหตุสำคัญเนื่องจากความดันในช่องท้องที่เพิ่มขึ้นจากการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ทำให้ LES หย่อนลงในระหว่างตั้งครรภ์