กนอ. นำทัพสื่อมวลชน ลงพื้นที่ นิคมฯ อุดรธานี เตรียมพร้อมรองรับเปิดเออีซี
กนอ. นำทัพ นักลงทุน สำรวจนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เตรียมพร้อมเข้า AEC นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การนำคณะนักธุรกิจ นักลงทุน โครงการเครือข่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม (ID Net) และสื่อมวลชน เดินทางศึกษาศักยภาพพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นโครงการจัดตั้งในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ. เพื่อรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ 56 ของประเทศ และเป็นจังหวัดที่ 16 โดยเอกชนผู้ลงทุน พัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค และเป็น cluster หลักของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและเทคโนโลยี เป็นต้น โดยนำหลักการ เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มาใช้ในการพัฒนานิคมฯ มุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพื่อทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเชื่อมั่น และคาดว่าจะเริ่มพัฒนาพื้นที่โครงการฯ ได้ภายในปี 2558 ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จะสามารถรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 สำหรับเป็นศูนย์กระจายสินค้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเชื่อมต่อระบบรางเข้าสู่พื้นที่นิคมฯ ในการรองรับการค้า การลงทุน และการขนส่งสินค้า การเปิดการค้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการเชื่อมโยงฐานการผลิตของอุตสาหกรรมระหว่างประเทศไทยสู่ประเทศสมาชิกอาเซียน
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี พื้นที่ประมาณ 2,219 ไร่ ในท้องที่ตำบลโนนสูง และตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ดำเนินงานโดย บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด พื้นที่โครงการอยู่ใกล้ศูนย์กลางคมนาคมหลัก พร้อมมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้อต่อการประกอบอุตสาหกรรม ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ประมาณ 20 กิโลเมตร สถานีรถไฟหนองตะไก้ ประมาณ 3 กิโลเมตร และมีระบบถนนที่เชื่อมโยงไปยังภูมิภาคอื่นได้สะดวก คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 74,000 ล้านบาท การจ้างงานไม่น้อยกว่า 16,900 คน อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารา ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดอุดรธานีเพิ่มขึ้น และให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับจังหวัด ตลอดจนรองรับการขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ กนอ. นำคณะนักลงทุน ข้ามสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 เยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวง เพื่อศึกษาโอกาสและลู่ทางในการเชื่อมโยงการขยายตัวของธุรกิจและการลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งสองฝ่าย
ในโอกาสนี้ กนอ. ร่วมกับนักลงทุน และสื่อมวลชน ทำกิจกรรม CSR โดยการมอบทุนสนับสนุนให้แก่โรงเรียนต่างๆ จำนวน 8 แห่ง จำนวน 80,000 บาท และมอบรถจักรยาน พร้อมมอบอุปกรณ์กีฬาเพื่อเป็นการสร้างเสริมการศึกษาให้กับชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม นายวีรพงศ์ กล่าวสรุป