กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายตามคาด KTAMขายตราสารหนี้6เดือนชู2.60%ต่อปี
นางชวินดา หาญรัตกูล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนประเภทกำหนดอายุโครงการ 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ บี 104 ( KTSUPB104 ) เสนอขายวันที่ 14-19 สิงหาคม 2557 อายุ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ประมาณ 75%ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ประกอบด้วย เงินฝาก Bank of China , เงินฝาก China Construction Bank , MTN ออกโดย Banco BTG Pactual S.A , MTN ออกโดย Banco ABC ( Brasil ) ส่วนที่เหลือลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ประเภท หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงินสถาบันการเงิน บริษัทเอกชน ผลตอบแทนประมาณ 2.60% ต่อปี
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายรอบใหม่ ( Roll Over )ของกองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ทอินเวส 6เดือน 5 ( KTSIV6M5) เสนอขายถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2557 อายุ 6 เดือน เน้นลงทุนตราสารหนี้ภาคเอกชน 85% ส่วนที่เหลือลงทุนในเงินฝาก ธนาคารออมสิน ผลตอบแทนประมาณ 2.40%ต่อปี
สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยรวมปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยเฉพาะในช่วงอายุ 5-10 ปี ตามแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% ต่อปี และมีแนวโน้มที่จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนอย่างน้อยถึงสิ้นปี โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร อายุ 2 ปี ปรับตัวลดลง 1 basis point (bps.) มาอยู่ที่ 2.38% ต่อปี อายุ 5 ปี ปรับตัวลดลง 11 bps.มาอยู่ที่ 3.02% ต่อปี และอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลง 14 bps.มาอยู่ที่ 3.51% ต่อปี
ด้านฝ่ายวิจัย ของบลจ.กรุงไทย รายงานว่า ผลการประชุม กนง. ที่ผ่านมา มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.0%เป็นไปตามคาด ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ตามการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ดีขึ้นหลังเหตุการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย และแรงกระตุ้นด้านการคลังจะทยอยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามองว่าเม็ดเงินจากนโยบายการคลังอาจจะไม่ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเร็วนัก เพราะขั้นตอนการเบิกจ่ายที่ค่อนข้างใช้เวลา ทำให้นโยบายการเงินยังน่าจะอยู่ในลักษณะผ่อนปรนเช่นนี้ไปจนถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย ขณะที่การดำเนินตามโรดแมพของ คสช. ยังเป็นไปต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเข้ามาพิจารณากฎหมายต่างๆ ที่ค้างอยู่ โดยเฉพาะ พรบ. งบประมาณปี 58และคาดว่าน่าจะมีการเสนอชื่อ นายกรัฐมนตรีได้ภายในเดือนนี้ และมีการสรรหาและแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ภายในต้นเดือน ต.ค.