MSN on August 05, 2014, 03:36:09 PM






สารจากผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา และพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร. วิชัย บุญแสง

โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ดำเนินงาน มาเป็นระยะเวลา 3 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2554-2556 นับว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการทำงานวิจัย เป็นเครือข่ายภายใน และระหว่างมหาวิทยาลัย ทั้งระดับชาติและนานาชาติของนักวิจัยเพื่อสร้างโครงการวิจัยที่เป็นผลงานเชิงประจักษ์ มีการสร้างความร่วมมือ และการรวมกลุ่มในการทำงานของนักวิจัย หรือแม้กระทั่งการสร้างพันธมิตรระหว่างมหาวิทยาลัยในรูปแบบของ Supra Cluster ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาและก่อให้เกิดผลงานมีคุณภาพระดับ World Class

ขณะนี้ใกล้สิ้นสุดโครงการในระยะที่ 1 (พ.ศ.2554-2557) ทางสำนักบริหารโครงการฯ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาผลงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยไทย เพื่อพร้อมก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก จึงกำหนดการประชุมวิชาการ ❝สุดยอดมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 3❞ ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2557 ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยในการจัดประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยในกลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 9 แห่ง (NRU) ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและนักวิจัยที่สนใจจากโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษา 70 แห่ง (HERP) ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญของ Supra Cluster ทั้ง 6 ด้าน นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยทั้ง 54 คลัสเตอร์ ภาคเอกชน สื่อมวลชน นิสิต-นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ในทิศทางการวิจัยของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการจัดประชุมเพื่อ

1.แสดงศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศในการสร้างความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และระดับโลก
2.แสดงให้เห็นถึงมิติใหม่ของการทำวิจัยเชิงบูรณาการในการสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรม พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของนักวิจัยไทย ให้แข็งแกร่ง
3.ให้มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 9 แห่ง ได้นำเสนอผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าทางวิชาการ
4.เป็นเวทีแลกเปลี่ยนและระดมความคิดทางวิชาการในการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และเชิงสาธารณะ

การประชุมในครั้งนี้นอกจากจะเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมผ่านทางกิจกรรมที่น่าสนใจต่างๆ เช่น การเสวนาพิเศษ การปาฐกถาพิเศษ การนำเสนอผลงานดีเด่นแบบบรรยายและแบบโปสเตอร์ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานจากมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ 9 แห่ง เป็นต้น ยังเป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ รวมทั้ง ปรึกษาหารือข้อเสนอเชิงนโยบายของการดำเนินโครงการระยะที่ 2 (พ.ศ.2558-2562) ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดเชิงลึกของงาน ที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ เนื่องจากผลงานวิจัยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง มีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ทำให้เห็นภาพรวมของงานวิจัยในระดับมหภาคที่ส่งผลต่อการสร้างผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมด้านต่างๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการต่อยอดเพื่อนำองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ต้นแบบไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เศรษฐกิจ ชุมชน และภาคอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนอง ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมหาวิทยาลัยเป็น Growth Engine พร้อมก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกต่อไป
« Last Edit: August 05, 2014, 03:53:02 PM by MSN »