2 นักวิจัยเคมีจุฬาฯ...คว้ารางวัลนักวิทย์ฯดีเด่นปี 57 มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
2 นักวิจัยจุฬาฯ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี “เคมีซุปราโมเลกุล”และ “เคมีอินทรีย์สังเคราะห์” คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2557 ระบุ พร้อมขับเคลื่อนองค์ความรู้ในงานวิจัยสู่การพัฒนาประเทศ
ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นปีที่ 32 ที่มูลนิธิฯ จัดขึ้น โดยระบุว่า รางวัลนี้เกิดจากความคิดริเริ่มของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่มีความห่วงใยต่อสภาวการณ์ที่วิทยาศาสตร์พื้นฐานอันได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และสาขาวิชาที่คาบเกี่ยวในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเกิดความคิดที่จะรณรงค์ให้คนไทยตื่นตัวในการสนับสนุนผลงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยังกล่าวอีกว่า จากผลสำรวจพบว่าประเทศไทยมีนักวิจัยประมาณ 11 คนต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีนักวิจัย 100 คนต่อประชากร 10,000 คน ประกอบกับการจัดสรรงบประมาณของรัฐที่แบ่งให้งานวิจัยและการพัฒนาเพียงแค่ร้อยละ 0.2-0.25 ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าที่ควรจะเป็นประมาณ 5- 10 เท่าส่งผลให้งานวิจัยที่ออกมามีสัดส่วนแปรผันตามงบประมาณ สวนทางกับโครงสร้างการพัฒนาประเทศที่ต้องการนักวิจัยในสายงานวิทยาศาสตร์มากเป็นเท่าตัว นอกจากนี้ยังพบว่านักวิจัยไทยยังมีผลงานวิจัยไม่หลากหลายสาขา ส่วนใหญ่มุ่งเน้นงานวิจัยด้านการเกษตรเป็นหลัก ขณะที่งานวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์และด้านสาธารณสุขยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ทำให้ขาดความสมดุลในงานวิจัยที่จะนำมาสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆด้านนี้
นอกจากงบประมาณการวิจัยแล้ว ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ไทยผลิตนักวิจัยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ นั่นคือระบบการศึกษาที่ล้มเหลว แม้ปัจจุบันจะมีการเพิ่มงบประมาณในส่วนการศึกษาสูงกว่างบประมาณการวิจัยถึงร้อยละ 5 ของจีดีพี แต่งบประมาณดังกล่าวกลับไม่ได้ช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จะเป็นแรงผลักดันอีกช่องทางหนึ่ง ที่ต้องการขับเคลื่อนงานวิจัยให้มีบทบาทในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ส่งเสริมให้นักวิจัยมีเป้าหมายในการทำงานมากยิ่งขึ้น มีความเป็นเลิศในงานวิจัยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ
สำหรับกระบวนการสรรหานักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ คณะกรรมการใช้เกณฑ์พิจารณาคือ ต้องเป็นผู้ที่มีผลงานวิชาการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มีคุณภาพ และผลงานวิชาการดังกล่าวมีผู้อ้างอิงถึงเป็นจำนวนมากเช่นกัน นอกจากนี้ ยังต้องเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมจริยธรรมสูง อันจะเป็นตัวอย่างที่ดี ก่อให้เกิดศรัทธาในนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันและต่อเยาวชนของชาติที่จะยืดถือและปฏิบัติตาม
โดยในปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นักวิจัย 2 ท่าน ได้รับรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2557”ได้แก่ 1.ศ.ดร.ธวัชชัย ตันฑุลานิ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บุกเบิกงานวิจัยด้าน “เคมีซุปราโมเลกุลหรือเคมีของโฮสต์-เกสต์” นำไปสู่การประยุกต์ด้านเซ็นเซอร์สำหรับไอออนและโมเลกุล เพื่อใช้ในการตรวจวัดปริมาณโลหะหนักที่ปนเปื้อนมากับน้ำที่ใช้ในการเกษตร และการตรวจวัดปริมาณของโลหะโซเดียมในเลือดเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคทางการแพทย์ และ 2.ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำความรู้ทางเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ ผลิตงานวิจัย “สร้าง PNA ซึ่งเป็นสารเลียนแบบ DNA” เพื่อรักษาโรคในระดับสารพันธุกรรม
ขณะที่รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2557 ได้แก่ 1.ผศ.ดร.ทรงยศ นาคอริยกุล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2.ผศ.ดร.ธงไทย วิฑูรย์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3. ดร.ปริญญา การดำริห์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 4. ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลงานวิจัยก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ หากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ-เอกชน ในการเข้ามามีบทบาทที่จะผลักดันและขับเคลื่อนงานวิจัยเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนาประเทศในทุกๆด้าน ส่วนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะมาถึงนั้น ศ.ดร.ยงยุทธ ระบุว่าสำหรับนักวิทยาศาสตร์ถือเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือ ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างภูมิภาคที่ไม่มีขีดจำกัด ซึ่งถือว่าเป็นผลดีของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะการร่วมมือกันแก้ปัญหาและการพัฒนาขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมของงานวิจัยเหล่านี้จะนำไปสู่สัมฤทธิผลที่มากยิ่งขึ้น