happy on August 02, 2014, 05:24:09 PM
นักวิทย์ฯรุ่นเก๋าแนะรัฐหนุนนักวิจัยผลิตผลงาน
หลังตลาดวิจัยไทยขาดแคลนถึงขั้นวิกฤติ


มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์



นักวิทย์ฯรุ่นเก๋า เผย รางวัลนักวิทย์ฯดีเด่นจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ถือเป็นแรงใจให้นักวิทยาศาสตร์ขับเคลื่อนผลงานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ระบุ อย่าระเริงว่าผลงานวิจัยไทยมีมาก หลังพบขาดแคลนนักวิจัยเฉพาะทาง พร้อมย้ำหากขาดการพัฒนานักวิจัย ไทยมีโอกาสหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางค่อนข้างยาก



                 การมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งในปี 2557 นี้นับว่าเป็นปีที่ 32 โดยการมอบรางวัลดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องวิทยาศาสตร์พื้นฐาน อันได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาหรือสาขาวิชาที่คาบเกี่ยวในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย ได้รับความสนใจและเกิดการกระตุ้นให้มีนักวิจัยใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะวิกฤติที่ไทยกำลังประสบปัญหาในเรื่องการขาดแคลนนักวิจัยส่งผลให้มีงานวิจัยค่อนข้างน้อย


                 ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยในการพัฒนายาต้านมาลาเรียหลังจากได้รับรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2527 สาขาเคมี ว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อมาลาเรียจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาสำคัญในขณะนี้คือการพบเชื้อมาลาเรียดื้อยาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้พัฒนาตัวยาต้านมาลาเรียมาโดยตลอด ด้วยการสร้างสารเคมีสังเคราะห์ที่มีชื่อว่า P218 ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่ได้จากการศึกษาโครงสร้างเอนไซม์ของเชื้อมาลาเรีย DHFR โดยพบว่าได้ผลดีในการยับยั้งเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ฟัลซิปารัม (Plasmodium falciparum) ซึ่งเป็นเชื้อที่มีคนติดมากที่สุด รวมทั้งเป็นสายพันธุ์ที่มีการดื้อยามากที่สุด โดยมีการทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการและความเป็นพิษของยาในสัตว์ทดลองแล้ว และเตรียมทดสอบในระดับพรีคลินิก(Pre Clinic)ในเร็วๆ นี้ คาดว่าหากได้ผลตามเป้าที่วางไว้สารต้านมาลาเรียดังกล่าวจะสามารถทดสอบทางคลีนิกใน 2 ปี ข้างหน้า และผลิตเป็นยาได้ในราว5 ปี แต่หากการทดสอบไม่สำเร็จ ทางทีมวิจัยได้มีการวิจัยสำรองสารตัวอื่นควบคู่ไว้ด้วย

                 ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ระบุว่า แม้นักวิจัยไทยสามารถพัฒนาตัวยาดังกล่าวได้ แต่สำหรับขั้นตอนการผลิตยาเพื่อทดสอบความเป็นพิษดังกล่าว นักวิจัยจำเป็นต้องส่งไปทดสอบยังห้องปฏิบัติการในต่างประเทศทำให้ขั้นตอนการทำงานของนักวิจัยไม่ครบวงจรหรือขาดความเชื่อมต่อของงานวิจัย เพราะห้องปฏิบัติการไทยยังไม่มีงานวิจัยด้านนี้มากนัก และยังไม่พร้อมนัก แต่ไม่ถือว่าการทำงานสะดุด เนื่องจากหากผลการทดสอบในห้องแล็บต่างประเทศมีผลเป็นที่น่าพอใจสามารถทำงานต่อได้ได้ ตัวยาดังกล่าวจะถูกส่งกลับมายังนักวิจัยเพื่อทำงานในขั้นตอนต่อไป

                 ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยังกล่าวอีกว่า การพัฒนานักวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐควบคู่กับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจาก“กับดักรายได้ปานกลาง”(Middle Income Trap) เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันในทุกๆด้านและสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างก้าวกระโดด

                 ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล  นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2546 สาขาเคมี และศาสตรเมธาจารย์ สวทช. (NSTDA Chair Professor) คนแรกของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลเมื่อปี 2552 ให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนด้านการวิจัยของไทยว่า แม้มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ โดยนับแต่ปี 2552 เป็นต้นมา งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยตกอันดับลงมาอยู่ที่ 3 ของอาเซียน รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ ทั้งที่ประชากรไทยมีมากกว่ามาเลเซียถึง 2.3 เท่า  ที่สำคัญคุณภาพงานวิจัยของไทยส่วนใหญ่ไม่ถึงระดับที่มีนัยยะสำคัญ จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการต่างๆ


                 ในกรณีนี้ ศ.ดร.จำรัส แนะว่าต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมแรงจากทั้งภาครัฐและนักวิจัยโดยภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจังในทุกด้าน เพื่อผลักดันให้เกิดผลงานวิจัยที่เป็นเลิศ คำนึงทั้งปริมาณและคุณภาพของผลงานวิจัย  ส่วนนักวิจัยเองต้องคำนึงองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.Research Productivity หรือเนื้อหางานวิจัย 2.Research Impact ผลกระทบของงานวิจัย หรืองานวิจัยได้ถูกอ้างอิงและนำไปใช้มากน้อยแค่ไหน และ 3.Research Excellence คุณภาพของงานวิจัย 

                 ศาสตราจารย์ จำรัส  ลิ้มตระกูล เป็นผู้บุกเบิกการวิจัยด้านการออกแบบวัสดุที่มีโครงสร้างระดับนาโนเมตร เพื่อประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมในหลายสาขา และมีผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ในส่วนของงานวิจัยที่ศาสตราจารย์ดร.จำรัส กำลังให้ความสนใจอยู่ในปัจจุบันนั้นยังคงมุ่งเน้นวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีเป็นหลัก โดยได้มีการค้นพบคุณสมบัติใหม่ๆของวัสดุ เช่นการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาประเภท แผ่นนาโนซีโอไลต์ (Nano sheet aluminosilicates) ซึ่งมีคุณสมบัติที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้ในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิต และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว


                 ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.นิพนธ์ ฉัตรทิพากร ประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเคยได้รับรางวัล“นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2555” จากงานวิจัยโรคภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ระบุว่า การทำงานที่ผ่านมาได้ขยายกรอบการวิจัยด้วยการสร้างความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงโรคที่เกิดจากสุขภาพองค์รวมของร่างกาย หรือโรคที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อหรือโรคติดต่อ (Non Communicable Disease , NCD) แต่มักจะเป็นโรคเรื้อรังที่ค่อยๆมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆทีละน้อย หากไม่ได้รับการดูแลรักษาหรือควบคุม เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคสมองเสื่อม เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและมีผลกระทบต่อการทำงานที่ผิดปกติหรือพยาธิสภาพของหัวใจเป็นเงาตามตัวด้วย

                 ขณะเดียวกันหากเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทยพบว่า สังคมไทยเริ่มเข้าสู่“สังคมผู้สูงอายุ” อันเนื่องมาจากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุและอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มมากขึ้น แต่สวนทางกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ซึ่งลดลง เนื่องจากปัญหาสุขภาพจากกลุ่มโรค NCD งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในทุกๆด้าน เพราะปัจจุบันไทยยังขาดแคลนนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญที่จะทำงานวิจัยระดับสูง การผลิตบุคลากรวิจัยที่มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายควรตระหนัก เพราะปัญหาสุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญในการนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี

                 โดยนักวิจัยทั้ง 3 ท่าน กล่าวเน้นย้ำว่า การได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นซึ่งหมายถึงการการันตีผลงานนั้นๆแล้ว นักวิจัยยิ่งต้องขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่ารางวัลดังกล่าวจะเป็นแรงผลักดันอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้นักวิจัยมีเป้าหมายในการทำงานมากยิ่งขึ้น

                 อย่างไรก็ตาม รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จะเป็นแรงบันดาลใจของนักวิทยาศาสตร์ในการผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้จำกัดแค่เรื่องยาหรืออุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการบริการ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากรโลก ส่งผลให้การทำงานวิจัยยังคงเป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง.

                 อนึ่ง รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2557 จะมีการจัดงานแถลงข่าวประกาศผลในวันที่ 5 สิงหาคม 2557 เวลา 10.00 12.00 น. ณ โรงแรมสุโกศล ห้องกมลทิพย์  ชั้น 2