MSN on July 01, 2014, 03:19:13 PM
KTAMขายตราสารหนี้6เดือนชู2.60%ต่อปี
                             
นางชวินดา  หาญรัตนกูล   กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย  จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า     บริษัทเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทย ธนทรัพย์ เอ็นแฮนซท์ 5 ( KTSUPE5 )  ในวันที่ 2-8  กรกฎาคม 2557  อายุ 6 เดือน  มูลค่า 5,000 ล้านบาท    เน้นลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ประมาณ 75% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ประกอบด้วย เงินฝาก Bank of   china  , เงินฝากประจำ China  Construction  Bank ,   MTN  ออกโดย IS Bank   และ MTN ออกโดย Akbank T.A.S   ส่วนที่เหลือลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ประเภท หุ้นกู้  ตั๋วแลกเงิน สถาบันการเงิน / บริษัทเอกชน    ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 2.60% ต่อปี     และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน

นอกจากนี้   บริษัทยังอยู่ในระหว่างการเปิดจำหน่ายรอบใหม่ ( Roll Over ) ของกองทุนเปิดกรุงไทยประจำ 6 เดือนคุ้มครองเงินต้น 4 ( KTFIX6M4 )    ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2557  อายุ 6 เดือน    เน้นลงทุนตราสารในประเทศ   ประเภทพันธบัตรภาครัฐ    และเงินฝากธนาคารพาณิชย์       ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 2.00% ต่อปี

สำหรับภาวะตลาดตราสารหนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  ตราสารระยะสั้นถึงกลางทยอยปรับตัวขึ้นค่อนข้างแรง  เนื่องจากแรงขายของนักลงทุนในประเทศจากการปรับพอร์ตเพื่อไปลงทุนในเงินฝาก ซึ่งธนาคารพาณิชย์มีการระดมทุนเพื่อปิดงบครึ่งปี   โดยตราสารในรุ่นอายุ ไม่เกิน 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 1-3 bp    ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา  ตั๋วเงินคลังและพันธบัตรแห่งประเทศไทยระยะสั้นมีการประมูล ปรากฎว่าอัตราการประมูล BCR ต่ำกว่า 1 เท่า สะท้อนถึงความต้องการลงทุนที่ลดลง  แต่คาดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว

   ส่วนตลาดอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแกว่งตัวในช่วง 32.34 – 32.50 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ  ค่อนข้างมีเสถียรภาพแม้ว่าตัวเลขการส่งออก และดุลการค้าเดือนพฤษภาคม 2557 จะอยู่ในทิศทางลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า  ในส่วนของ USD Premium ซึ่งเกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสกุล THB และ USD ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ตามการแกว่งตัวขึ้นของเส้นผลตอบแทนพันธบัตรไทย โดยล่าสุด USD Premium ในช่วงอายุ 3-12 เดือน เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 1.50-1.65% ส่งผลบวกต่อผลตอบแทนในรูปสกุลเงินบาทจากการลงทุนในตราสารต่างประเทศและปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน