การซื้อของสักอย่างหนึ่งในยุคสมัยนี้ดูจะเป็นเรื่องง่ายดาย โดยเฉพาะการซื้อของทางเว็บไซต์ แต่ก็แฝงภัยร้ายต่างๆ ไว้มากมาย แล้วกฎหมายมีวิธีจัดการอย่างไร อ.ประมาณ มีคำตอบมาบอก
หลายวันก่อนบรรดาลูกสาวทั้งสามของผมพากันนั่งพูดคุย และปรึกษาชี้ชวนกันหน้าคอมพิวเตอร์ว่าจะซื้อเสื้อผ้าและกระเป๋าแบบไหนดี
พฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตแบบลูกสาวของผมนี่แหละ เป็นกระแสการใช้จ่ายเงินทองที่ง่ายแสนง่าย อยากได้ข้าวของอะไรก็ไปเปิดหาทางอินเทอร์เน็ต แต่การซื้อสินค้าแบบนี้ก็แตกต่างจากการซื้อขายสินค้าในแบบทั่วๆ ไป คือต้องเพิ่มความระมัดระวังในการซื้อขายมากกว่าเดิม แต่กฎหมายก็ให้ความคุ้มครองไปถึงนะครับ
ระวังหลอกลวง...ประมูลสินค้า
การประมูลสินค้าทางอินเทอร์เน็ตนับเป็นวิธีการซื้อขายสินค้าที่ได้รับความ นิยมมากที่สุดวิธีหนึ่ง ก็เลยเป็นวิธีการหลอกลวงที่พบมากที่สุดเช่นกัน และการหลอกลวงมีหลายรูปแบบ เช่น ผู้ชายไม่ส่งมอบสินค้าที่ผู้ซื้อประมูลได้ เพราะไม่มีสินค้าอยู่จริง หรือหลอกลวงโดยการปั่นราคาซื้อขาย ทำให้ผู้ซื้อรายอื่นต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงเกินจริง
ความเสียหาย...ที่เกิดขึ้น
ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ซื้อชำระค่าสินค้าแล้ว แต่ไม่ได้รับสินค้า ได้รับสินค้าที่ชำรุดเสียหาย หรือสินค้ามีลักษณะไม่ตรงกับที่เสนอขาย เวลาที่คุณผู้อ่านต้องการประมูลสินค้าผ่านเว็บไซต์จึงควรตรวจสอบว่า เว็บไซต์ที่ทำหน้าเป็นผู้ให้บริการด้านการประมูลทางอินเทอร์เน็ต (คนกลาง) มีวิธีการระบุตัวบุคคลที่เป็นผู้ชาย (หรือผู้ซื้อ) ดีพอหรือไม่ กล่าวคือมีการเก็บประวัติ รายละเอียดของผู้ชายที่สามารถติดต่อได้ หรือพิจารณาว่าผู้ให้บริการด้านการประมูลทางอินเทอร์เน็ต (คนกลาง) มีนโยบายการประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มีการรับประกันแบบนี้ก็อย่าเสี่ยงเลยครับ
ป้องกันอย่างดีแล้ว...ก็ยังเกิดปัญหา
ถ้าหากเราป้องกันปัญหาอย่างดีแล้ว แต่ก็ไมวายเกิดปัญหาจากการซื้อขายสินค้าทางเว็บไซต์ คือได้สินค้าชำรุด หรือได้สินค้าไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้ กฎหมายมีทางออกให้ผ่าน พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 โดยคุณสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ขายได้เลย สิ่งสำคัญอยู่ที่สัญญาการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต คือจดหมายโต้ตอบทาง E-Mail ให้คุณนำหลักฐานนี้แหละครับไปฟ้องร้อง
ถ้าไม่จัดการ...เจ้าของเว็บไซต์ร่วมรับผิด ในกรณีที่มีการหลอกขายของทางเว็บไซต์ และเจ้าของรับทราบ แต่ยังปล่อยให้มีการหลอกลวงขายสินค้าต่อไป เจ้าของเว็บไซต์ก็อาจต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้หลอกลวงคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท โดยบอกเลิกสัญญา ขอคืนสัญญาที่ชำรุด แล้วเรียกเงินคืน แถมยังสามารถเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้อีก เช่น ทำให้คุณเสียโอกาสในการนำสินค้าชนิดนั้นๆ ไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง แล้วความล่าช้านั้นก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่ค้าทางอินเทอร์เน็ตของคุณต้องรับผิดชอบครับ
ย้ำว่า...ต้องรู้ชื่อที่อยู่จริงๆ ของคู่ค้า
สิ่ง สำคัญที่สุดอันดับแรกก็คือ ก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อขายสินค้าบริการทางเว็บไซต์ควรจะแน่ใจว่า เขามีตัวตนอยู่จริง ชื่ออะไร บ้านอยู่ไหน หรือบริษัทชื่ออะไร สถานที่ดำเนินการตั้งอยู่ที่ไหน เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย หากเกิดปัญหาในการซื้อขายสินค้าและบริการ เพราะหากคุณตัดสินใจซื้อขายสินค้าทางเว็บไซต์โดยไม่รู้ว่าคู่สัญญาเป็นผู้ใด อยู่ที่ไหน การฟ้องร้องย่อมมีปัญหาแน่นอนครับ
ผมหวังว่าการพูดถึงปัญหาการซื้อของผ่านเว็บไซต์ทางอินเทอร์เน็ตในคอลัมน์ Woman & Law ของ Lisa ฉบับนี้คงไม่ทำให้คุณผู้อ่านหวาดหวั่นต่อการจับจ่ายใช้สอยผ่านระบบอินเทอร์ เน็ตนะครับ ช่วยๆ กันทำให้เศรษฐกิจกระจายตัวกันหน่อย ก็คงจะดี
ส่วนคนที่ยังหวั่นๆ ก็อาจจะตรวจสอบความเคลื่อนไหวของอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ผ่านศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี (
http://htcc.ict.police.go.th/) หมายเลขโทรศัพท์ 0-2205-2627-8 โทรสาร 0-2205-1889 อีเมล์
htcc@police.ge.th ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่คุณผู้อ่าน Lisa สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้เลยครับ