สมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่สุดทน ผนึกกำลังเดินหน้าร้องขอความเป็นธรรมกับ สมอ. กรณีตรวจสอบมาตรฐานรถนำเข้า แนวทางการทำงานไม่ชัดเจน เลือกปฎิบัติส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
นายอภิชาติ สมรพิทักษ์กุล นายกสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ เปิดเผยว่า “ในขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์ใหม่ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ออกระเบียบให้ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระต้องนำรถยนต์ที่นำเข้ามาทำการตรวจสอบมาตรฐานก่อนการจำหน่ายทุกคัน ในขณะที่บริษัทผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ (Authorizer Dealers) ในประเทศไทยได้รับยกเว้นหรือผ่อนผัน ทั้งๆ ที่รถยนต์ที่ผู้นำเข้าอิสระกับผู้แทนจำหน่ายนั้น สั่งนำเข้ารถยนต์มาจากแหล่งผลิตหรือโรงงานเดียวกันจากต่างประเทศ”
แนวทางการปฏิบัติงานของ สมอ.ดังกล่าวนี้ เป็นการปฎิบัติที่ไม่เป็นธรรมส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ให้กับผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์อิสระ อาทิ ต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคขาดเสรีภาพและโอกาสในการเลือกซื้อ ระยะเวลาที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงตามที่ระบุไว้ในหลักเกณฑ์ กล่าวคือ สมอ. ระบุว่าจะสามารถตรวจสอบมาตรฐานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ในทางปฎิบัติจริงแล้วใช้เวลาตรวจสอบอย่างน้อย 90 ถึง 120 วัน ส่งผลให้การส่งมอบรถให้ลูกค้าเกิดความล่าช้าเสียหาย
อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ไม่มีมาตรฐานในการจัดเก็บที่แน่นอน โดยในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มีการปรับเปลี่ยนหลักการจัดเก็บถึง 3 ครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกประมาณต้นปี 2556 ผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์อิสระ ได้ยื่นขอตรวจสอบรถยนต์นำเข้า สมอ. คิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต มูลค่าประมาณ 100,000 บาท ต่อมา สมอ. ได้มีการเปลี่ยนแปลงคิดค่าธรรมเนียมโดยแยกตามประเภทของเครื่องยนต์ โดยดีเซลคิดค่าธรรมเนียม 19,000 บาท และ เบนซินคิดค่าธรรมเนียม 49,000 บาท ซึ่งในขณะนั้นใบอนุญาตใบแรกก็ยังไม่ออกเสียด้วยซ้ำ ล่าสุดมีการปรับค่าธรรมเนียมการจัดเก็บเครื่องยนต์ดีเซลอยู่ที่ 46,000 บาท และ เครื่องยนต์เบนซินอยู่ที่ 78,000 บาท ซึ่ง สมอ. ไม่เคยชี้แจงรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บเงินจำนวนเงินดังกล่าวเลย
“และด้วยคำสั่งล่าสุด ให้รถยนต์นำเข้าต้องผ่านการตรวจมาตรฐานเพื่อรับใบอนุญาตจาก สมอ. ทุกชิฟเม้นท์ ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจ รวมถึงความไม่เชื่อถือในหมู่ผู้บริโภคทั้งที่เป็นลูกค้าเก่า ลูกค้าใหม่ และบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ อีกทั้งคำว่า “ทุกชิฟเม้นท์” นี้ก็ไม่มีความชัดเจนว่าคืออะไร สมาคมฯได้ทำหนังสือถามเพื่อความชัดเจนไปที่ สมอ. ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจนถึงทุกวันนี้
ถ้าเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ (Authorized Dealers) สมอ.กลับผ่อนผันยกเว้นด้วยการใช้วิธีตรวจสอบจากการเทียบเคียงในรถรุ่นเดียวกันสามารถใช้ใบอนุญาต 1 ใบ ต่อรถจำนวน 5,000 คัน หรือไปตรวจสอบ ณ โรงงานผู้ผลิต แต่สำหรับผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์อิสระแล้ว สมอ.ระบุว่าต้องตรวจทุก ชิฟเม้นท์ ซึ่งสมาคมฯ ถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากในขณะนี้”
ทั้งนี้ สมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจได้เข้าพบเพื่อหารือหาแนวทางแก้ไขกับผู้มีอำนาจรับผิดชอบในสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) หลายๆ ครั้ง แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา โดยล่าสุดสมาคมฯ ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 25 เมษายน 2557 ต่อ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้พิจารณาให้ความเป็นธรรมในเรื่องการขอปรับเกณฑ์ในการตรวจสอบเพื่อการอนุญาตสำหรับผู้นำเข้ารถยนต์รายย่อย แต่คำร้องดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบรับจาก สมอ. แต่อย่างใด
“ดังนั้น ในนามสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่จึงได้ร่วมกันชี้แจ้งข้อเท็จจริง เพื่อให้มีการตรวจสอบอำนาจหน้าที่ และการทำงานของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่ต้องทำงานด้วยความสุจริต โปร่งใส ยุติธรรม และสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ และนับจากวันนี้สมาคมฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาและสรุปการดำเนินการในขั้นต่อไป” นายอภิชาติ กล่าวทิ้งท้าย