คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง(สจล.) The Faculty of Engineering, King Mongkut's Institute of Technology Ladkrabang(KMITL)
วิศวลาดกระบัง จัดเสวนา“วิศวกรรมดนตรีกับการปฎิรูปทีวีดิจิตอลและสื่อบันเทิง...เปิดประตูสู่อาเซียน” เปิดรับสมัคร ป.ตรีหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม วันนี้ถึง 30 มิย. 57 บูมเส้นทางอาชีพอินเตอร์สู่โลกบันเทิงและข่าวสาร เปิดสอน สค.57
ในโอกาสที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)กำหนดเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี วิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม(Music Engineering and Multimedia) ครั้งแรกในอาเซียน ในเดือนสิงหาคม 2557 นี้ทั้งหลักสูตรภาษาไทย และอินเตอร์ในระดับมาตรฐานโลก เพื่อรองรับการเจริญเติบโตในธุรกิจทีวีดิจิตอล อุตสาหกรรมสื่อ ดนตรีและบันเทิงของประเทศไทย-อาเซียนและการแข่งขันในตลาดโลก พร้อมจัดเสวนา“วิศวกรรมดนตรีกับการปฎิรูปทีวีดิจิตอลและธุรกิจสื่อบันเทิง...เปิดประตูสู่อาเซียน”กูรูวงการศึกษาและทีวี-บันเทิง เผยความสำคัญของการสร้างและพัฒนาบุคลากรควบคู่เทคโนโลยี ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการศึกษา,เศรษฐกิจ,สังคม และวัฒนธรรมของประเทศบทบาทของวิศวกรรมดนตรีจะเสริมศักยภาพของไทยให้เป็นผู้นำในอาเซียน
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า“คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กำหนดเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีวิศวกรรมดนตรีและมัลติมีเดีย (Music Engineering & Multimedia) ครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นวิทยาการใหม่ในการพัฒนาและผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์วิจัย การสังเคราะห์และผลิตสื่อเพื่อยกระดับวงการข่าวสารและอุตสาหกรรมสื่อ-บันเทิง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ร่วมกับสถาบันเอส.เอ.อี บ.สยามดนตรียามาฮ่า ค่าย KPN ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญ จัดงานเสวนา “ ปฎิรูปทีวีดิจิตอลและธุรกิจสื่อบันเทิง...เปิดประตูสู่อาเซียนด้วยวิศวกรรมดนตรี”ณ โรงแรมสยาม@สยามนับจากนี้อีกเพียง 7 เดือน จะเปิดประตูสู่เศรษฐกิจอาเซียน(AEC) แล้ว ในจุดเปลี่ยนผ่านของโลกข่าวสารและบันเทิงสู่ยุคทีวีดิจิตอลของประเทศไทยซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ การศึกษา สังคมและความมั่นคงของประเทศ โดยมีสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลกว่า 48 สถานี มีมูลค่าลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท กระตุ้นภาพรวมการลงทุนในอุตสาหกรรมสื่อและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในช่วง 5 ปี ข้างหน้า จะมีมูลค่าแตะ 1–1.5 แสนล้านบาท ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด จำเป็นต้องสร้างเสริมและพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะวิศวกรดนตรีและมัลติมีเดียที่จะสร้าง นวัตกรรมควบคู่เทคโนโลยีมาช่วยสร้างสรรค์จุดแตกต่าง,ความสำเร็จและประสิทธิภาพในการนำเสนอข่าวสาร และยกระดับอุตสาหกรรมดนตรีและบันเทิงเทียบชั้นสากลและฮอลลีวู้ดสำหรับตลาดในประเทศและส่งออกอาเซียนซึ่งมีประมาณ 600 ล้านคน ประเทศไทยยังขาดบุคลากรด้านวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสมอีกมาก ทั้งการทำงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง และที่สำคัญตลาดด้านอุตสาหกรรมบันเทิงมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว มีบทบาทต่อสังคมสูง ทำให้มีการช่วงชิงบุคคลากรด้านนี้กันเป็นจำนวนมาก”
ในการเสวนาเรื่อง “วิศวกรรมดนตรีกับการปฎิรูปทีวีดิจิตอลและธุรกิจสื่อบันเทิง...เปิดประตูสู่อาเซียน”มี 7กูรูจากวงการศึกษาทีวี-บันเทิง และดนตรี ร่วมแสดงข้อคิดเห็นอย่างน่าสนใจประกอบด้วย
ผู้ร่วมเสวนา
• ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ (สจล.)
• ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน
ประธานหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม
คณะวิศวกรรมศาสตร์ (สจล.)
• นายสุระ เกนทะนะศิล
รองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิศวกรรมและการออกแบบ
บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง
• นายจิระพรรณ อังศวานนท์
ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม-บันเทิง
• นายณัฐ ยนตรรักษ์
ผู้บริหาร ณัฐ สตูดิโอ
• นายโสฬส ปุณกะบุตร
โปรดิวเซอร์
• มร.แดเนียล เชา
ผู้จัดการทั่วไป สถาบันเอสเออี (SAE INSTITUTE, BANGKOK)
• ดร. สุวรรณา วังโสภณ
ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส ฝ่ายสถาบันดนตรีสยามดนตรียามาฮ่า จำกัด
• ผศ.นรอรรถ จันทร์กล่ำ
ผู้อำนวยการภาควิชาดนตรีคลาสสิค สถาบันดนตรีเคพีเอ็น มิวสิค
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ ธรรมวารินประธานหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ (สจล.) เปิดเผยว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม (Bachelor of Engineering Program in Music Engineering and Multimedia ) ขึ้นมา เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี กำหนดเปิดรับสมัครวันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2557 และจะเปิดสอนในเดือนสิงหาคม 2557เนื่องด้วยความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยที่มีอยู่ ประกอบกับมีที่ตั้งที่เหมาะสม และมีความหลายหลายทางด้านวัฒนธรรม ศักยภาพการผลิตผลงานด้านการบันเทิงที่มีคุณภาพสูง และสามารถขยายตลาดทางด้านผลผลิตทางดนตรี โฆษณา เกมส์ ภาพยนตร์ และแอนิเมชั่นออกไปยังต่างประเทศและอาเซียนได้ ดังนั้นการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในอุตสาหกรรมบันเทิงจึงมีความจำเป็น เนื้อหาหลักสูตรนี้เน้นการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฏีควบคู่กับการปฏิบัติทำงานจริงในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งหลักสูตรออกเป็น 2 ภาษาได้แก่ หลักสูตรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จุดเด่นเป็นมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่าง Miami University, Stanford University ประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัย McGill ประเทศคานาดา และ Queen MaryUniversity of London ประเทศอังกฤษ รวมทั้งยังมีสมาคมวิชาชีพระดับนานาชาติรองรับ เช่น IEEE Signal Processing Society และ Audio Engineering Society ( AES) ซึ่งสามารถรองรับการเรียนการสอนทั้งนักศึกษาไทย นักศึกษาอาเซียนและนักศึกษานานาชาติได้เป็นอย่างดี
สำหรับเนื้อหาหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม(Music Engineering and Multimedia) นี้ ถูกออกแบบมาให้สอดรับกับแนวคิดการศึกษาในศตวรรษที่ 21ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก และเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและองค์ความรู้ด้านดนตรีเข้าด้วยกัน(Teach less, learn more) เพราะว่าในปัจจุบันศาสตร์ด้านศิลปะการดนตรียุคใหม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ อาทิ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมอิเลคทรอนิกส์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานสร้างสรรค์ทางด้านดนตรีและอีเว้นท์เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังผสมผสานศาสตร์และศิลป์ในการผลิตงานด้านบันเทิง ได้แก่ ศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่มุ่งเน้นการนำความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ สื่อสารโทรคมนาคม และไอที มาประยุกต์ร่วมกับศิลป์ คือ ดนตรี องค์ประกอบทางแสง สี เสียง กราฟิกและแอนิเมชั่น เข้าด้วยกันและด้วยความพร้อมของคณะอาจารย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์เครื่องมือในการฝึกปฏิบัติงาน ห้องสตูดิโอสำหรับบันทึกเสียงและห้องคีย์บอร์ดสตูดิโอ ห้องคอมพิวเตอร์มิวสิค ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจง่าย และสนุกสนานในการเรียน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน กล่าวเพิ่มเติมว่า “วิชาที่ศึกษาในหลักสูตรนี้จะเป็นกลุ่มวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เช่น Mathematics for Music Engineering and Multimedia, Physics for soundกลุ่มวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ เช่น MICROPROCESSOR AND EMBEDDED SYSTEM , DIGITAL AUDIO SIGNAL PROCESSING,ENGINEERING ELECTRONICS,ACOUSTIC MATERIALS AND DESIGN,ACOUSTICS ENGINEERINGกลุ่มวิชาเฉพาะสาขาทางด้านดนตรีMusic Theory, Keyboard Skill,กลุ่มวิชาทางด้านมิวสิคเทคโนโลยี เช่น COMPUTER MUSIC AND TECHNOLOGY, SOUND RECORDING, SOUND FOR FILM AND TELEVISION,SOUND REINFORCEMENT
การเรียนวิศวกรรมทางดนตรีและสื่อประสม(Music Engineering and Multimedia) ผู้เรียนจะสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกแบบและนำหลักการทางวิศวกรรมไปประยุกต์ใช้งานและสร้างนวัตกรรมทางดนตรีและสื่อประสมใหม่ๆขึ้นมาได้ ซึ่งต่างจากสถาบันอื่นๆที่มุ่งการเรียนเพื่อใช้เครื่องมือเป็นอย่างเดียว ทำให้ผู้เรียนมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงให้มีมาตรฐานและคุณภาพระดับสูงทัดเทียมฮอลลีวู้ด”
นอกจากนี้ ผู้จบการศึกษาสามารถประกอบอาชีพเป็นวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญที่มีรายได้สูงในอุตสาหกรรมสื่อ การกระจายเสียง ดนตรี อีเว้นท์ออกาไนเซอร์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น Sound Engineer, Light and Sound Control งานสร้าง Audio / Sound Effect สำหรับเครื่องดนตรีต่างๆ งานในอุตสาหกรรมภาพยนต์ /โฆษณา /เกมส์ และแอนิเมชั่น เช่น ทีมงานทางเทคนิคแสง-สี-เสียง-เอฟเฟค-ภาพ เป็นวิศวกรระบบเครือข่ายสำหรับ Download Digital Contents เกมส์ออนไลน์ Mobile Applications งานในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางเสียงและโสตทัศนะอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น วิศวกรด้านความปลอดภัยทางเสียงผู้ออกแบบและสร้างเครื่องช่วยฟัง งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น วิศวกรด้านระบบเสียงในรถยนต์ระบบอะคูสติกในห้องโดยสาร ระบบสื่อสารในรถยนต์และระบบการขนส่งอัจฉริยะ งานในกลุ่มอุตสาหกรรม Consumer Electronics เช่น วิศวกรด้านระบบเครื่องเสียงและอะคูสติกในสถานที่ต่างๆ การผลิตลำโพง และ Amplifier ตลอดจนเป็นวิศวกรและเจ้าหน้าที่โสตทัศนะอุปกรณ์ในสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ หน่วยงานราชการ และองค์กรต่างๆ รวมทั้งประกอบอาชีพอิสระในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดนตรีและสื่อประสม เช่น เปิด Studio House ทำเพลงประกอบโฆษณา/สารคดี เป็น Organizer จัดงานนิทรรศการ/งานแสดง/งานเปิดตัวสินค้า/คอนเสิร์ตเป็นต้น
ผู้สนใจศึกษาต่อในสาขาวิชาวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) จะเปิดรับนักศึกษา วันนี้ถึง 30มิถุนายน 2557 นี้ สอบถามเพิ่มเติมที่โทร.02-329-8000,02-329-8099 หรือ
www.music-engineering.kmitl.ac.th อีเมล์ :music_engineering@kmitl.ac.th