กรมวิทยาศาสตร์บริการ จับมือ มจธ. เปิดตัวโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้า OTOP ผ้าทอ
ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดสุพรรณบุรี
กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ประเภทผ้าทอ ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมุ่งประชาสัมพันธ์โครงการ เทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการกลุ่มผ้าทอให้มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอให้ มีคุณภาพและสามารถเข้าสู่กระบวนการขอการรับรองมาตรฐาน ขยายตลาดเพื่อรองรับการ ขยายตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต นางสุมาลี ทั่งพิทยกุล รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ประธานเปิดตัวโครงการฯ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ไทย มีภารกิจหลักในการให้บริการงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่หลากหลายแก่สังคม และชุมชน เป้าหมายหนึ่งของกรมวิทยาศาสตร์บริการ คือ นำกลไกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มายกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าอีกทั้งถ่ายทอดความรู้วิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีที่จะทำให้เกิดการรับรองสินค้าในเชิงคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อให้สอดคล้อง กับภารกิจดังกล่าว กรมวิทยาศาสตร์บริการจึงจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมคุณภาพสินค้า มุ่งเน้น ศักยภาพทางการค้า กับประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ประเภทผ้าทอ ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดสุพรรณบุรีขึ้น ถือเป็น โอกาสที่ดีที่จะทำให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตผ้าทอ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมา ยกระดับ OTOPผ้าทอ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการขอรับการรับรองมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.) เมื่อสินค้ามีคุณภาพได้รับการรับรองมาตรฐานจะสร้างชื่อเสียงของชุมชนให้เป็นที่รู้จักเกิดการยอมรับและเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งในชุมชนมี โอกาสขยายตลาดเพื่อรองรับการขยายตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะถึงอีกด้วย ผศ.ดร.วรนุช เกิดสินธ์ชัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หัวหน้าโครงการฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีดำเนินการจัดอบรม ให้คำปรึกษา มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการสินค้าผ้าทอในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือให้มีความรู้ความเข้าใจถึงการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน วิธีการทดสอบผ้าเบื้องต้นเช่นทดสอบความเป็นกรด-ด่างทดสอบความคงทนของสีต่อการซัก ถ่ายทอดความรู้การย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติรวมทั้งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสียอันเกิดจากกระบวนการผลิตและจัดทำบัญชีราชชื่อสีต้องห้ามอันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและรายได้ ซึ่งเป้าหมายของโครงการนั้นจะครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จังหวัดอุทัยธานีและสุพรรณบุรี สุพรรณบุรี แม่ฮ่องสอน แพร่ และอุทัยธานี โดยมีผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทผ้าทอ จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ผลิตภัณฑ์ สามารถเข้าสู่ระบบการขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งงานสัมมนาชี้แจงในครั้งนี้มุ่งเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีละสุพรรณบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 140 ท่านโดยประมาณ การเปิดตัวโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้า OTOP ผ้าทอ ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดสุพรรณบุรี มีกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าผ้าทอ OTOP ที่เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย กลุ่มทอผ้ากี่กระตุกบ้านยางลาว กลุ่มทอผ้าบ้านกร่างทองหนองน้ำห้าม กลุ่มทอผ้าเมืองซิ่นตีนแดง ศูนย์หัตถกรรมทอผ้าไหมประดิษฐ์ฯลฯ นายมานัส สุขรุ่งเรือง พัฒนาการจังหวัดอุทัยธานี ได้กล่าวในการสัมมนาฯ ว่าจากประสบการณ์การลงพื้นที่การที่จะทำให้ผ้าทอขายได้ราคานั้นควรให้ความสำคัญในเรื่องของลายผ้า เนื้อผ้า สีย้อมธรรมชาติ อุปกรณ์ที่จะทำให้ผ้าเกิดความสวยงามแปลกใหม่เมื่อก่อนอุปกรณ์จะทำจากไม้และเหล็กแต่ปัจจุบันมีการพัฒนากี่กระตุกเป็นแสตนเลต เรื่องเหล่านี้ถือว่าสำคัญเพราะถ้าลูกค้าชอบในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ราคาเท่าไหร่ลูกค้าก็ยินดี ยกตัวอย่างที่ จ.สุรินทร์ ผ้าทอจำหน่ายผืนละ2.5แสน ก็มีลูกค้าให้ความสนใจและอุดหนุนไปในที่สุด นางสาวเกสร พลายระหาญ นักวิชาการมาตรฐาน สำนักงานอุตสาหกรรม จ.สุพรรณบุรี ได้กล่าวในการสัมมนาฯ ว่าในส่วนของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี มีการแนะนำพร้อมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการอยู่แล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการใน จ.สุพรรณบุรีจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอด มีการนำผ้ามาตัดเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป คิดลวดลายแบบใหม่และปรับปรุงสีสัน ในเรื่องการย้อมผ้าจะมีทั้งสีธรรมชาติและสีเคมี แต่ปัญหาที่พบเจอในเรื่องของการขอการรับรองคือเรื่องสี ค่าPHของผ้า การเย็บ และขนาดของผ้าไม่เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด อาจจะเป็นเรื่องการเข้าใจผิดในช่วงขั้นตอนวัดผ้าอาจมีการดึงผ้าตรงไปตามมาตรฐานจะบอกแค่ว่าวางผ้าให้เรียบกับพื้นแล้วทำการวัดไม่ต้องรีดให้เรียบและดึงให้ตึงก็อยากให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงเรื่องดังกล่าว เพื่อลดเวลา ลดต้นทุนในการขอ มผช. นางวิไลรัตน์ ศรีเสถียร ประธานกลุ่มศูนย์หัตถกรรมทอผ้าไหมประดิษฐ์ ได้กล่าวในงานสัมมนาฯ ว่ากลุ่มทอผ้าบ้านห้วยรอบ หมู่ที่2 ได้จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2525 มีจำนวนสมาชิก 25 คน จากการเข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ถือว่าได้ความรู้อย่างมาก มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ้าทอกับวิทยากรถือว่าเป็นประสบการณ์แลกเปลี่ยนที่ดี ในฐานะประธานกลุ่มจะนำข้อมูลที่ได้รับไปถ่ายทอดแก่สมาชิกในกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมสัมมนาต่อไป ตอนนี้ทางกลุ่มมีผลิตภัณฑ์ที่ได้ มผช.แล้วคือ ผ้าขาวม้า ผ้ามัดหมี่ หลังจากเข้าร่วมโครงการนี้แล้วคิดว่าจะยื่นขอ มผช.เพิ่มเติมในส่วนของผ้ามัดหมี่ขยายดอกสอดดิ้น โดยจะนำความรู้ที่ได้จากวิทยากรไปพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐานเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐาน มผช.ต่อไป