Facebook on June 11, 2014, 09:39:26 AM
รองอธิการ มรภ.สงขลา ชี้ใต้เสี่ยงแผ่นดินไหว เขียนหนังสือเตือนคนไทยต้องพร้อมรับมือ





          รองอธิการบดี มรภ.สงขลา เขียนหนังสือแผ่นดินไหว พิบัติภัยที่คนไทยต้องพร้อมรับมือ ชี้ 9 จังหวัดใต้เสี่ยง ห่วงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดความรู้และการเตรียมตัว รับมือความสูญเสียในอนาคต

          ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักวิชาการแผ่นดินไหววิทยา รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา (มรภ.สงขลา) ผู้เขียนหนังสือให้ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวเล่มแรกของไทย เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่ จ.เชียงราย ถือเป็นวิกฤตในโอกาส เพราะเป็นการสะท้อนว่าเราพร้อมหรือยังที่จะรับมือกับเหตุการณ์นี้ ซึ่งตนได้เขียนหนังสือให้ความรู้เรื่องแผ่นดินไหว เพื่อให้ชาวบ้านหรือคนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ เพื่อก้าวข้ามคำว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ โดยได้ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว ลักษณะการเกิดแผ่นดินไหว คลื่นแรงสั่นสะเทือนขนาดแผ่นดินไหว การเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย รอยเลื่อนมีพลัง การทำนายการเกิดแผ่นดินไหว ระบบเตือนภัยล่วงหน้า ความรู้เรื่องการวัดแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ และข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวอีกมากมาย รวมทั้งความรู้เบื้องต้นในการรายงานข่าวแผ่นดินไหวด้วย ซึ่งแนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในภาคใต้ ในส่วนของ จ.สงขลา นั้นไม่เกิดอยู่แล้ว เนื่องจากอยู่ห่างจากแนวเลื่อนถึง 400 กิโลเมตร แต่ จ.ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร และ สุราษฎร์ธานี มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในภาคใต้ เพราะอยู่ในแนวรอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะลุ่ย ดังนั้น จึงต้องมีการฝึกซ้อมรับสถานการณ์ เช่น กรณีเกิดขึ้นในชุมชนเมืองอย่าง จ.ภูเก็ต การเตรียมการก็ต้องเป็นอีกลักษณะหนึ่ง ต้องมีการจำลองสถานการณ์ เพื่อให้ทราบถึงเครื่องมือและจำนวนคนที่ต้องใช้ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

          รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มรภ.สงขลา กล่าวว่า การคำนวณถึงระยะเวลาที่จะเกิดแผ่นดินไหวนั้นทำได้ยากมาก เนื่องจากไม่มีเครื่องมือมากเพียงพอที่จะวัดแผ่นดินไหวในแนวรอยเลื่อน ทำให้ไม่สามารถกะเกณฑ์ระยะเวลาที่แน่นอนได้ ซึ่งตลอด 50 ปี ประเทศไทยไม่เคยเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวในลักษณะนี้ นับตั้งแต่มีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว ข้อมูลที่วัดได้ไม่เคยเกิดการสั่นสะเทือนสูงถึง 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงรายไม่ใช่ครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ต มีระดับความรุนแรงต่างกัน แผ่นดินไหวที่มีระดับ 6 ขึ้นไป เรียกว่าระดับความรุนแรง หากเกิดใกล้กับผิวดิน ความลึกประมาณ 10 กิโลเมตร แต่แรงสะเทือนส่งผลต่อผิวดินทำให้เกิดความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนที่อยู่บนผิวดิน หรืออยู่ใกล้ๆ บริเวณกับหลุมให้ได้รับความเสียหาย หากโครงสร้างบ้านหรืออาคารสูงมีโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงและไม่ได้มาตรฐาน อาจจะทำให้พังถล่มลงมาได้ ประเทศไทยควรมีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวประมาณ 8-10 สถานี จึงจะเพียงพอที่จะใช้ในการพยากรณ์ข้อมูลทางสถิติ และคำนวณหรือคาดคะเนการเกิดแผ่นดินไหวได้ หลังเหตุการณ์แผ่นไหวที่ จ.เชียงราย ซึ่งสร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้าง การเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้มีความชัดเจนมาก ที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเรามีความพร้อมมากแค่ไหนในการรับมือ ซึ่งหากมีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือติดอยู่ในซากอาคาร ถ้าเราไม่พร้อมรับมือ ความสูญเสียก็จะเพิ่มมากขึ้น

          นักวิชาการแผ่นดินไหววิทยา ประจำ มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า วิธีป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทัยภัยให้มีชีวิตรอดให้ได้มากที่สุด วิธีเดียวคือ การกู้ชีพต้องรวดเร็ว และต้องส่งเสริมให้มีการเรียนการสอน ให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านแผ่นดินไหวและสึนามิ เพื่อถ่ายทอดให้ความรู้กับเยาวชนและประชาชนให้รู้จักและทำความเข้าใจ เพื่อฝึกให้ประชาชนให้มีข้อมูลความรู้อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหลังจากเกิดแผ่นดินไหว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา เช่น สำนักเฝ้าระวัง ศูนย์เตือนภัยพิบัติธรรมชาติ ศูนย์ทรัพยากรธรณีที่ติดตามเฝ้าระวังรอยเลื่อน ศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ต้องมีความพร้อมเรื่องกำลังคน อุปกรณ์ ความรวดเร็วในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงสามารถจัดหากำลังคนมาช่วยเหลือจากพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงได้ หากเกิดกรณีเช่นนี้อีกครั้ง รวมถึงโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่มีความสำคัญในการดูแลการจราจร การกำหนดเส้นทาง การลำเลียงในการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่หากเกิดอุทกภัยขึ้น