วศ./ก.วิทย์ฯ เดินหน้าOTOPผ้าทอ จับมือผู้เชี่ยวชาญพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าทอ จังหวัดแพร่
ผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทผ้าทอ ได้แก่ ผ้าทอมือ ผ้าฝ้าย/ผ้าไหมพื้นเมือง เป็นกลุ่มสินค้า OTOP ประเภทหนึ่งของไทยที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผ้าทอเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เป็นภูมิ ปัญญาท้องถิ่น มีประวัติศาสตร์สามารถบ่งบอกเรื่องราวในอดีตได้เป็นอย่างดี ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ของผ้าไทยมายาวนานไม่แพ้ชาติใดในโลก การทอผ้าที่เป็นภูมิปัญญาของไทยนั้นจึงสืบทอดต่อๆ กันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังประสบ ปัญหาในการผลิตผ้าทอ บางครั้งผลิตได้ผ้าที่มีคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ( มผช.)
นางสาวเสาวณี มุสิแดง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย มีภารกิจหลักในการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่หลากหลายแก่สังคมและชุมชนโดยมุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป้าหมายหนึ่งของกรมวิทยาศาสตร์บริการ คือ นำกลไกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าไทย การใช้และถ่ายทอดความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อทำให้เกิดการรับรองสินค้าในเชิงคุณภาพและความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นว่าสินค้ามีความปลอดภัย มีคุณภาพรวมทั้งมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของมาตรวิทยาการมาตรฐาน การทดสอบที่จำทำให้เกิดความเชื่อถือสินค้า ตลอดจนวัตถุดิบและกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสินค้าทุกชิ้นตอนนี้ต้องมีทั้งมาตรฐานและคุณภาพสิ่งที่จะเป็นหลักประกันนั่นคือต้องผ่านการทดสอบจากห้องแลป ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์บริการมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือทำการทดสอบขั้นเบื้องต้น และจากการทดสอบผ้าทอเราพบว่าผ้าทอเป็นจุดอ่อนไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานซึ่งปัญหาหลักคือขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพ นำมาซึ่งการยื่นขอการรับรองมาตรฐานแล้วสินค้าผ้าทอไม่ได้รับการรับรอง ดังนั้นเพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มผ้าทอ จึงได้ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าทอเพื่อพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และสามารถเข้าสู่ระบบการขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เป็นสินค้าเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ
ผศ.ดร.วรนุช เกิดสินธ์ชัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทผ้าทอ เป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาและยกระดับ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีดำเนินการจัดอบรม ถ่ายทอดความรู้ และให้คำปรึกษาทางวิชาการแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพ สามารถเข้าสู่ระบบการขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน อันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าและรายได้ สร้างชื่อเสียงของชุมชนให้เป็นที่รู้จัก อีกทั้งให้ชุมชนมีโอกาสขยายตลาดเพื่อรองรับกับการขยายตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต วัตถุประสงค์ของโครงการนั้นก็เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการสินค้าผ้าทอในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสียอันเกิดจากกรับวนการผลิต และจัดทำบัญชีรายชื่อสีต้องห้าม ซึ่งเป้าหมายของโครงการฯ จะคลอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จังหวัดราชบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี แม่ฮ่องสอน และแพร่ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทผ้าทอ จำนวนไม่น้อยกว่า 50 ผลิตภัณฑ์ สามารถเข้าสู่ระบบการขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน สำหรับพิธีเปิดและสัมมนาชี้แจงในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมงาน เป็นจำนวนมากประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ผ้าทอ นักวิชาการจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ ผู้แทนจากอุตสาหกรรมจังหวัด พัฒนาชุมชนจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นางสาวรัตนา ปันฟอง หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าฯ การพัฒนา OTOP ผ้าทอให้ ได้มาตรฐานนั้น เราต้องเริ่มจากการคัดเลือกคุณภาพของวัตถุดิบที่ซื้อ พัฒนาตัวแบบผ้าเลือกผ้าที่มีคุณภาพ ทางด้านการออกแบบลายทอผู้ประกอบการควรปรับปรุงพัฒนาอยู่เสมอ รวมถึงการเลือกอุปกรณ์ทอผ้าถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะทำให้ผ้าทอของเรามีคุณภาพ ตัวอย่างจากการลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพผ้าทอ ทางเราพบความเป็นกรดเป็นด่างในผ้าเราจะลงมือแก้ไขและแนะนำวิธีการที่ถูกต้องทันที ในส่วนของมาตรฐานรายละเอียดจะเยอะมากถ้าผู้ประกอบการต้องการข้อมูลส่วนใดสามารถสอบถามเข้ามาได้ทางฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมยินดีให้คำปรึกษา อยากให้สินค้าของกลุ่มประกอบการได้รับมาตรฐาน ตลาด OTOP ผ้าทอจะได้กว้าง ขึ้นเพื่อรองรองการเข้าสู่ AEC
นายประดิษฐ ภู่พัด พาณิชย์จังหวัดแพร่ กล่าวว่า มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เปรียบเสมือนเป็นต้นน้ำที่จะยกระดับสินค้าก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้น รวมถึงระดับการส่งออกถ้าสินค้าไม่ได้รับการรับรองก็จะทำให้สินค้าขยายตลาดลำบาก ขอยืนยันว่า มผช. มีความจำเป็นอย่างมากถือเป็นเครื่องต่อรองราคากับลูกค้าได้ ถ้าสินค้าเรามีมาตรฐานเมื่อลูกค้าชอบในคุณภาพของสินค้าแล้วเชื่อมั่นว่าการซื้อขายก็จะง่ายขึ้น นอกจากนั้นอยากให้ผู้ประกอบการคำนึงในเรื่องของมาตรฐาน ขนาดของผ้า สี ความประณีต และปริมาณของผ้า อยากให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนจากคำว่าหัตถกรรมเป็นหัตถอุตสาหกรรม สร้างคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐานเหมือนกันทุกชิ้น