happy on May 19, 2014, 06:52:19 PM
สทป. จัดค่ายวิทย์จรวดประดิษฐ์ครั้งที่ 3
จุดประกายความคิดสร้างนักวิทย์รุ่นใหม่พัฒนาศักยภาพยุทโธปกรณ์ไทย


               กิจกรรม “ค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ครั้งที่ 3” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ปิดฉากลงอย่างสวยงามพร้อมๆกับผลการตอบรับอย่างล้นหลามจากเยาวชนทั้ง 100 คน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ทั่วประเทศ ซึ่งได้รับการคัดเลือกเข้าค่าย จำนวน 4 วัน 3 คืน ท่ามกลางบรรยากาศการอบรมที่เป็นไปอย่างเข้มข้น บวกกับการเติมเต็มความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งในส่วนของกิจกรรมภายในค่าย เยาวชนจะได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ  เทคโนโลยีระบบจรวด การออกแบบและประดิษฐ์จรวด พร้อมกับการทดสอบการยิง ณ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ศูนย์การทหารปืนใหญ่ (ศป.)  โรงเรียนนายเรืออากาศ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรเอกชนอีกหลายแห่ง


พล.อ.อ พงษธร บัวทรัพย์

               พลอากาศเอกพงศธร บัวทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป. กล่าวถึงโครงการค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ครั้งที่ 3 ว่าเป้าหมายหลักของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ของ สทป. เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่สนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้ามาเรียนรู้จากบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่อย่างจรวด ซึ่งเป็นยุทโธปกรณ์ป้องปรามที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงแก่ประเทศ โดย สทป.มุ่งหวังว่ากิจกรรมนี้จะสามารถจุดประกายความคิดสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจค้นคว้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และพัฒนาสู่การเป็นนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต


ลงมือประดิษฐ์

               “กิจกรรม“ค่ายวิทย์จรวดประดิษฐ์”ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 เป็นการตอกย้ำบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมของ สทป. ในฐานะองค์กรที่ดำเนินงานพร้อมกับการเผยแพร่และพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่สังคม  โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งเป็นบุคลากรที่จะเป็นกำลังหลักของประเทศชาติในอนาคต  ด้วยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของบุคคลากรของ สทป. ที่สั่งสมจากโครงการวิจัยพัฒนาจรวดหลายลำกล้องให้แก่กองทัพ  ซึ่งในปีนี้ สทป.ได้มีการพัฒนาเนื้อหาวิชาความรู้ทั้งเคมีและฟิสิกส์ที่เกี่ยวกับจรวดให้เข้มข้นขึ้น  รวมไปถึงการออกแบบและการประดิษฐ์จรวด เพื่อให้เยาวชนที่เข้าค่ายได้รับความรู้ทางทฤษฎีและใช้ความรู้ที่ได้รับมาออกแบบสร้างแนวคิดและลงมือประดิษฐ์จรวดขึ้นเองภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ”

               พลอากาศเอกพงศธร ยังกล่าวถึงการพัฒนาขีดความสามารถของเยาวชนไทยในการแข่งขันระดับโลก ว่า ต้องมีการพัฒนาและสร้างเยาวชนจากค่ายดังกล่าวในแต่ละปี ซึ่งต้องพัฒนาองค์ความรู้ให้เข้มข้นมากขึ้นหรือปรับจุดแข็งของเยาวชนให้มีความแตกต่างจากคู่แข่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันจะเป็นตัวชี้วัดให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยซึ่งจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในสมรภูมิด้านนี้ให้เข้มข้นมากขึ้น


ปล่อยจรวด

               ทั้งนี้ การประดิษฐ์จรวดของเยาวชนในค่ายวิทย์จรวดประดิษฐ์ ทั้ง 20 ทีม ทาง สทป.กำหนดโจทย์ให้ทุกทีมประดิษฐ์จรวดทีมละ 2 ลูก จากเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 นิ้ว และ 2 นิ้ว โดยทดสอบยิงในระยะหวังผลประมาณ 400 เมตร ซึ่งการยิงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 1.5 นิ้ว ทีมที่ได้รับรางวัลได้แก่ ทีม Jack Enterprise  ยิงที่ความสูง 470 เมตร จากจรวดที่มีชื่อว่า Flexle X โดยมีสมาชิกในกลุ่มได้แก่ 1.นักเรียนจ่าอากาศ ชัยวัฒน์ คุณรอด โรงเรียนจ่าอากาศ 2.นายจิรายุ ระมาศ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย 3.นาย ธนนพ ศศิวิมลวิทย์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย 4.นางสาวณัฐณิชา ปิ่นเงิน โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี และ 5.นางสาวศิริภัทร์ ชวยบุญชุม โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ส่วนประเภทเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 2 นิ้ว ทีมที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ทีม Space Family ยิงที่ความสูง 291 เมตร จากจรวดชื่อว่า Mister Space สมาชิกในกลุ่มประกอบด้วย 1.นายปริญญา เพ็งคง โรงเรียนพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ 2.นายพีรพล หม่อมศิลา โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)2  3.นางสาวนิศารัตน์ กองพล โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 จังหวัดกำแพงเพชร และ4.นางสาวลักษิกา จิตรใจ โรงเรียนพะเยาพิทยาคม ซึ่งทั้ง 2 ทีมสามารถยิงจรวดได้สูงที่สุดและสมบูรณ์แบบที่สุด


ทีมJack Enterprise


ทีมSpace Family

               โดยเยาวชนทั้ง 2 ทีม เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ เพราะใฝ่ฝันอยากทำงานด้านจรวดและด้านอวกาศ และรู้สึกประทับใจเพื่อนๆ ทุกคนที่แม้มาจากต่างโรงเรียนแต่มีความฝันเดียวกัน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนทัศนคติที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งได้รับประสบการณ์ในด้านการประดิษฐ์จรวดจริง การทดสอบยิงในภาคสนามจริง ภายใต้การเติมเต็มองค์ความรู้ที่มีประโยชน์และเสริมสร้างทักษะที่พร้อมพัฒนาคุณภาพของบุคลากรในสาขาอาชีพนี้จากทีมงานของ สปท.ด้วย

               อย่างไรก็ตาม การพัฒนายุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยต้องใช้การต่อยอดและการสะสมองค์ความรู้พร้อมๆไปกับการวิจัยค้นคว้าอย่างต่อเนื่องและนำไปพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และกิจกรรม “ค่ายวิทย์จรวดประดิษฐ์” ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะขับเคลื่อนให้เยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในอนาคตได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ อันจะเป็นแรงบันดาลใจที่จะนำไปสู่การพัฒนายุทโธปกรณ์ของไทยให้มีศักยภาพมากขึ้น
« Last Edit: May 19, 2014, 07:08:09 PM by happy »