“วิหารเทพวิทยาคม” ที่ได้มาจากแรงศรัทธา พร้อมสร้างงานและอาชีพให้ชาวบ้านในชุมชน
“วิหารเทพวิทยาคม” จ.นครราชสีมา หนึ่งในประติมากรรมเซรามิกที่จะเรียกว่าใหญ่ที่สุดในระดับเอเชีย หรือติดอันดับโลกเลยก็ว่าได้ เพราะใช้เซรามิกมากถึงกว่า 100 ตันทีเดียว ในขณะที่มีแรงงานกว่า 500 ชีวิต มาร่วมแรงร่วมใจในการก่อสร้าง พร้อมบรรจงติดเซรามิกชิ้นเล็กๆ นับล้านๆ ชิ้น ก่อให้เกิดเป็นรูปร่างของอาคารแบบปฏิมากรรมศิลป์อันอลังกาลได้ขนาดนี้ ในขณะที่ วิหารเทพฯ แห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่ขนาดเท่านั้นที่น่าสนใจ แต่ยังมีความงดงามแปลกตาด้วยพุทธศิลป์แนวใหม่ที่ถ่ายทอดผ่านสายตาของศิลปินออกมาให้เข้าใจ และเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างง่าย ๆ แน่นอนสถานที่แห่งนี้จะแล้วเสร็จไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่ด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านในชุมชนรอบๆ วิหารเทพวิทยาคม ที่พวกเขาเหล่านั้นมีต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และความเชื่อมั่นศรัทธาต่อหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ผู้ดำริให้สร้างแหล่งเรียนรู้ธรรมะจากพระไตรปิฏกผ่านงานศิลปะอันวิจิตรตระการตาแห่งนี้ขึ้น ณ วัดบ้านไร่
งานเซรามิกที่ปรากฏความสวยงาม ความประณีตในการสร้างสรรค์ให้มีความกลมกลืนเหมือนภาพวาด เกิดจากบุคคล 5 คน ได้แก่ คุณเชิดชัย เทียมทะนงค์ เป็นหัวหน้าทีมเซรามิก นอกนั้นมีผู้เชี่ยวชาญอีก 3 คน คือ คุณธิติพงศ์ ทับทิม, คุณกิตติกานต์ สุขสถาน และคุณอำนาจ จันทร์ลอย สำหรับในเรื่องรูปแบบ เรื่ององค์ประกอบสีเซรามิก ควบคุมและกำกับโดยคุณสัมพันธ์ สารารักษ์
- ชาวบ้านขยัน ใส่ใจ พร้อมเรียนรู้ การติดเซรามิกจึงไม่ยาก
“ธิติพงศ์ ทับทิม” ผู้เชี่ยวชาญด้านเซรามิกหนึ่งใน 5 ของผู้ดูแลควบคุมการจัดวางเซรามิก บอกเล่าถึงความภูมิใจในการทำงานครั้งนี้ว่า “การติดเซรามิกนั้นไม่ยาก จะติดตามแบบที่ช่างจิตรกรรมวาดไว้ แต่คนติดนั้นต้องมีจินตนาการ ต้องรู้ว่ารูปทรง, สีมันเป็นยังไง ซึ่งครั้งแรกต้องสอนวิธีการติด โดยเราก็จะขีดเป็นเส้นให้เขาว่าต้องใช้สีอะไรตรงไหน พอทำไปเรื่อยๆ เขาก็จะทำเป็น ดูแบบเป็นและเริ่มชำนาญ ซึ่งต้องยกนิ้วให้ชาวบ้านทุกคนเลยที่มาทำ เพราะว่าชาวบ้านที่นี่ เขาขยันมาก เอาใจใส่กับงาน และพร้อมเรียนรู้งานตลอดสองสามปีที่ผ่านมา แม้ว่าขณะนี้วิหารเทพฯ จะสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทางคุณเกรียงไกร จารุทวี รองประธานวัดบ้านไร่ ท่านก็เป็นห่วงชาวบ้านอยากให้มีงานทำกันไปเรื่อยๆ จึงคิดริเริ่มที่จะนำเศษเซรามิกมาทำเป็นของตกแต่งบ้าน หรือ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถสร้างงาน สร้างรายต่อไปได้ ให้มีอาชีพหลักหรือเสริมก็แล้วแต่บุคคล ที่สำคัญคือพวกเค้าไม่ต้องไปทำงานไกลจากบ้านเกิดอีกต่อไป”
- เศษเซรามิกจากวิหารเทพฯ หนึ่งเสน่ห์ของเฟอร์นิเจอร์เซรามิก ชิ้นเดียวในโลก
“กิตติกานต์ สุขสถาน” หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ เรี่ยวแรงสำคัญด้านงานเซรามิก เล่าถึงเสน่ห์ของเฟอร์นิเจอร์เซรามิกที่ถูกผลิตขึ้นจากฝีมือชาวบ้านตั้งแต่ขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้าย “เฟอร์นิเจอร์เซรามิกที่นี่ไม่เหมือนใคร และไม่แพงเพราะนอกจากจะได้เฟอร์นิเจอร์ที่แปลกและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว แต่ละชิ้นงานที่ออกไปล้วนแต่เกี่ยวเนื่องกับวิหารเทพฯ ทั้งสิ้น อาทิ ลายนักษัตร, ลายปลาคาร์ฟ, ลายดอกไม้ ฯลฯ และที่พิเศษสุดคือเซรามิกที่นำมาติดลงบนเฟอร์นิเจอร์เป็นเศษเซรามิกที่นำมาจากวิหารเทพฯ จึงมีความขลัง มีความศรัทธาของทุกคนที่ได้ร่วมกันสร้างวิหารเทพฯ อยู่ทุกชิ้นงาน และมั่นใจได้ว่าเป็นงานชิ้นเดียวไม่ซ้ำใคร แต่ละชิ้นจะถูกระบุซีเรียลนัมเบอร์ไว้ด้วย นอกจากนี้ยังถือเป็นการสร้างงานให้กับชาวบ้านตามเจตนารมย์ของหลวงพ่อคูณด้วย”
- ความภูมิใจที่ได้ร่วมบุญกับ “หลวงพ่อคูณ”
“ต่าง พิงขุนทด” ชาวบ้านที่มาร่วมติดเซรามิกบอกเล่าถึงถึงการทำงานด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “ป้ามาเริ่มทำงานติดเซรามิกให้กับทางวิหารเทพวิทยาคมครั้งแรก เริ่มจากส่วนของหัวพญานาค ทำเสร็จแล้วก็ต่อด้วยติดหางพญานาค, หลังคาก็ขึ้นไปติดไล่ทำมาเรื่อยๆ ซึ่งป้าว่ามันก็ไม่ยากเท่าไหร่นะ เขาจะมีแบบมาให้ดูว่าตรงไหนสีอะไรป้าก็ติดตามแบบ บางทีก็ติดตามจินตนาการเอาบ้าง แถมยังได้ฝึกสมาธิด้วยนะ เพราะการติดแต่ละชิ้น มันก็ชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่ต้องค่อยๆ ติดไปอย่าใจร้อน ส่วนที่ติดยากที่สุด ป้าว่า...น่าจะเป็นบนหลังคา เพราะมันสูง ต้องปีนนั่งร้านขึ้นไป นั่งติดเราก็กลัวหล่นเหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยมีใครตกลงมานะ อาจเพราะทุกคนมาทำด้วยใจ นอกจากเงินที่ได้แล้ว ป้าภูมิใจมากๆ นะที่ได้มีส่วนร่วมทำบุญกับหลวงพ่อคูณ ภูมิใจมากที่ได้มาทำตรงนี้ อีกอย่างก็ปลื้มนะ ที่ผู้ใหญ่ใจดีอย่าง คุณเกรียงไกรเดินมาดูเราทำงานแล้วก็ชมว่าเราติดสวย ยิ่งเวลาลูกหลานแวะมาเที่ยวป้าก็ชี้ให้ดูว่าแม่เป็นคำทำตรงนี้ตรงนั้นมันก็ทำให้ยิ้มได้”
“รามัญ เลิศขุนทด” บอกเล่าแบบเขินอายเสน่ห์แบบชาวด่านขุดทดว่า “ติดเซรามิกจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่าย ก็ง่ายครับ แล้วแต่ว่าติดตรงส่วนไหน อีกอย่างผมไม่เคยรู้เรื่องศิลปะเลย การใช้สีจับคู่สีก็ไม่ค่อยถูก ก็ต้องอาศัยทำตามแบบเขาเอา แต่ก็ทำได้ครับไม่ยากเกินความสามารถ แม้ว่ากว่าจะติดได้สวยก็ใช้เวลานานเหมือนกัน ติดเสร็จก็มีการยาแนวด้วย ส่วนนี้ไม่ยาก แค่ต้องระวังมันบาดมือเพราะเซรามิกมันมีส่วนที่คมอยู่ต้องมาลบรอยคมด้วย การได้มาทำงานที่นี่ผมได้อะไรกับไปหลายอย่างเหมือนกัน ตั้งแต่ความใจเย็น ความละเอียด ความรู้วิธีติดเซรามิก รวมถึงได้ดูหลักธรรมะจากานศิลปะที่อยู่ในวิหาร ซึ่งแนวคิดหลักธรรมเหล่านี้ก็ติดตัวกลับไปด้วย”
- จากวิหารเทพวิทยาคม ต่อยอดเป็นเฟอร์นิเจอร์ สร้างอาชีพให้ชาวบ้าน
อำนาจ จันทร์ลอย หนึ่งในกำลังหลักของการติดเซรามิกและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ เล่าว่า “เสน่ห์ของเฟอร์นิเจอร์เซรามิก คือ ความแปลกอย่างมีสไตล์ เป็นงานแฮนด์เมดมาสเตอร์พีซ ที่มีความละเอียดและมีเพียงชิ้นเดียวในโลก โดยเริ่มแรกก็จะมีการร่างแบบขึ้นบนโครงสร้างที่จะทำการติดวาง ก่อนนำไปยาแนวแล้วลบรอยคมเพื่อความปลอดภัยเวลานำไปใช้งาน อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ ชุดวางของ กรอบรูป ลายยอดนิยมของที่นี้จะเป็นลายดอกกล้วยไม้ ดอกไม้ ลายสัตว์ การเรียงสีแต่ละรูปมันมีรายละเอียดมันยากกว่าการวาดแต่ละชุดจึงต้องใช้เวลาตั้งแต่ขึ้นโครงสร้าง ติดเซรามิก เก็บรายละเอียดรวมแล้วอาทิตย์หนึ่งจะได้ประมาณ 2-3 ชุด หรือประมาณ 10 ตัวครับ ก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่มาเยี่ยมชมวิหารเทพตลอด และก็ถือเป็นการสร้างงานให้ชาวบ้านที่เคยทำงานติดเซรามิกมาก่อนด้วย ซึ่งกุศโลบายนี้ ทางคุณเกรียงไกรท่านมองว่าน่าจะต่อยอดให้ชาวบ้านได้ มีงานทำต่อไปในระยะยาวได้ ซึ่งผมถือว่าเป็นโชคดีของชาวบ้าน ที่ได้นำสิ่งที่ตัวเองถนัดและมีความชำนาญมาทำให้เกิดรายได้ เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เพราะชาวบ้านแต่ละคนที่มาติดเซรามิกที่วิหารเทพฯ ทำงานอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่แรกเริ่ม จึงมีความชำนาญในการติดค่อนข้างมาก อย่างน้อยเมื่อพวกเขามีรายได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปทำงานไกลบ้านเกิดด้วย”
เฟอร์นิเจอร์ที่ถูกผลิตขึ้นที่วิหารเทพวิทยาคมนี้ แต่ละชิ้นงานแต่ละลายที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการคิดของศิลปินที่มีมุมมองความคิดอย่างอิสระแต่แฝงด้วยความสวยงามและที่สำคัญแต่ละชิ้นที่ผลิตออกไปลายจะไม่เหมือนกันมั่นใจได้ 100% แต่จะสังเกตได้ว่าเราจะไม่นำภาพของวิหารเทพวิทยาคมมาอยู่บนเฟอร์นิเจอร์ จะมีภาพติดฝาผนังขนาดใหญ่ที่เป็นภาพวิหารเทพวิทยาคมที่นำเซรามิกมาติดซึ่งสวยงามและใช้เวลานานพอสมควรถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานที่น่าภูมิใจของคนทำงาน ที่แม้จะมีผลตอบแทนเป็นเงินตรา แต่ก่อเกิดจากแรงศรัทธาที่ได้ร่วมบุญกับหลวงพ่อคูณ ผู้ที่สนใจเฟอร์นิเจอร์แฮนด์เมดสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0816172122 คุณปริญญา
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากชาวบ้านที่มาร่วมเติมเต็มให้ “วิหารเทพวิทยาคม” ได้เสร็จสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ คือความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมบุญ และมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวทางพุทธศาสนาที่น่าภูมิใจของชาวโคราช และพุทธศาสนิกชนทุกคน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะเป็นกำลังใจให้กับพวกเขาเหล่านั้น คือรอยยิ้มจากผู้มาเยือนที่ชื่นชมผลงานจากแรงศรัทธาของพวกเขาเหล่านั้น