sianbun on September 28, 2009, 04:39:38 PM
FAME เฟม ขอดัง โดนโดน



จัดจำหน่ายโดย  บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด

ชื่อภาษาไทย  เฟม ขอดัง โดนโดน

เว็ปไซด์  www.generationfame.com

ภาพยนตร์แนว  เพลง

จากประเทศ  สหรัฐอเมริกา

กำหนดฉาย  8 ตุลาคม 2552

ณ โรงภาพยนตร์  ทุกโรงภาพยนตร์

นักแสดง   Naturi Naughton, Kay Panabaker, Kherington Payne, Asher Book

ผู้กำกับ   Kevin Tancharoen

จุดเด่น - เป็นภาพยนตร์เพลงยอดนิยมในยุค ‘80 ที่คว้า 2 รางวัลออสการ์สาขา Original Score และ Original Song “Fame” ยังชนะได้รางวัล Best Sound จาก BAFTA, Best Original Song จาก Golden Globes และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาอื่นๆ อีกถึง 16 สาขา ภายใต้ฝีมือการกำกับของ Alan Parker

- นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 29 ปี ที่ Fame จะได้ขึ้นจอเงินอีกครั้ง ด้วยฝีมือการกำกับของ ผู้กำกับสายเลือดไทยสัญชาติอเมริกัน “เควิน ตันเจริญ” นักออกแบบท่าเต้น ของ มาดอนน่า, แดนเซอร์และนักออกแบบท่าเต้น ของ บริตนีย์ สเปียรส์ (Me Against the Music, The Onyx Hotel Tour)ได้นำ Fame มานำเสนอในรูปแบบใหม่ที่ฮิปฮอบกว่า แดนซ์กว่า ป๊อปกว่า และเร้าใจกว่าเดิม 

เรื่องย่อ

      ท่ามกลางบรรยากาศของการประชันขันแข่งที่แสนเร้าใจ เพื่อเฟ้นหาผู้มีพรสวรรค์ทางการเต้น การร้อง การแสดง และการเล่นดนตรี ใน New York City High School of Performing Arts ขุมพลังแห่งการสร้างสรรค์อันหลากหลาย ที่ซึ่งนักเรียนจากทุกสารทิศจะได้ปลดปล่อยความฝันและสร้างชื่อเสียงที่มั่นคงยาวนานอย่างแท้จริง อันเกิดจากพรสวรรค์ ความทุ่มเท และการฝึกฝนอย่างหนักหน่วง ความปรารถนาของนักเรียนแต่ละคนจะถูกทดสอบ ในขณะที่ทุกคนล้วนมุ่งมั่นเพื่อเป็นดาวเด่นในแสงไฟ ภายใต้การอบรมดูแลจากครูที่ดีที่สุดและเข้มงวดที่สุด พวกเขาจะได้รู้ว่าคนไหนมีทักษะมาแต่กำเนิดและจำเป็นต้องทุ่มเทเพื่อจุดหมายแห่งความสำเร็จ ด้วยรักและแรงสนับสนุนจากเพื่อนๆ ศิลปินด้วยกันเอง พวกเขาจะได้รู้ว่าใครมีคุณสมบัติมากพอที่จะคว้าชื่อเสียงมาครองได้…
« Last Edit: September 28, 2009, 04:46:23 PM by sianbun »

sianbun on September 28, 2009, 04:41:08 PM
Fame

กำกับโดย  เควิน ตันเจริญ


เบื้องหลังงานสร้าง

“จำชื่อฉันไว้นะที่รัก…”

      กับการนำภาพยนตร์สุดฮิตชนะรางวัลออสการ์ซึ่งสนั่นหวั่นไหวไปด้วยเสียงดนตรีและลีลาท่าเต้นกลับมาสร้างอีกครั้ง Fame ต้องใช้เวลาถึง 4 ปีเพื่อเฟ้นหาผู้มีพรสวรรค์ทางการเต้น การร้อง การแสดง และการเล่นดนตรี ใน New York City High School of Performing Arts ขุมพลังแห่งการสร้างสรรค์อันหลากหลาย ที่ซึ่งนักเรียนจากทุกสารทิศจะได้ปลดปล่อยความฝันและสร้างชื่อเสียงที่มั่นคงยาวนานอย่างแท้จริง อันเกิดจากพรสวรรค์ ความทุ่มเท และการฝึกฝนอย่างหนักหน่วง

      ท่ามกลางบรรยากาศของการประชันขันแข่งที่แสนเร้าใจ ความปรารถนาของนักเรียนแต่ละคนจะถูกทดสอบ  ในขณะที่ทุกคนล้วนมุ่งมั่นเพื่อเป็นดาวเด่นในแสงไฟ ภายใต้การอบรมดูแลจากครูที่ดีที่สุดและเข้มงวดที่สุด พวกเขาจะได้รู้ว่าคนไหนมีทักษะมาแต่กำเนิดและจำเป็นต้องทุ่มเทเพื่อจุดหมายแห่งความสำเร็จ ด้วยรักและแรงสนับสนุนจากเพื่อนๆ ศิลปินด้วยกันเอง พวกเขาจะได้รู้ว่าใครมีคุณสมบัติมากพอที่จะคว้าชื่อเสียงมาครองได้…


      เมโทร-โกลด์วิน-เมเยอร์  พิคเจอร์ส, เลคชอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ และ ยูไนเต็ด อาร์ทิสต์ ภูมิใจเสนอหนึ่งในงานสร้างโดย เลคชอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ Fame ผลงานกำกับโดย เควิน ตันเจริญ จากบทภาพยนตร์โดย แอลลิสัน เบอร์เนตต์ ซึ่งอิงกับต้นฉบับบทภาพยนตร์ของ คริสโตเฟอร์ กอร์ ร่วมด้วยทีมนักแสดงหน้าใสวัยระเริง แอชเชอร์ บุค, คริสตี ฟลอร์ส, พอล อิยาโคโน, พอล แม็คกิลล์, เนเชอรี นอตตัน, เคย์ พานาเบเกอร์, เคอริงตัน เพย์น, คอลลินส์ เพนนี, วอลเตอร์ เปเรซ และ แอนนา มาเรีย เปเรซ เดอ เทเกิล ฝ่ายครูผู้อบรมสั่งสอนหนุ่มสาวเหล่านี้ ได้แก่ อดีตนักแสดงใน Fame ต้นฉบับกับบทครูใหญ่ แองเจลา ซิมส์ พร้อมด้วย ชาร์ลส์ เอส. ดัตตัน, เคลซีย์ แกรมเมอร์, เมแกน มูลลัลลี และ เบเบ้ นูเวิร์ธ

      Fame ควบคุมงานสร้างโดย ทอม โรเซนเบิร์ก กับ แกรี ลุคเชซี และ ริชาร์ด ไรท์ กับ มาร์ก แคนตัน อำนวยการสร้างโดย เอริก เรด, เดวิด เคิร์น, เบธ เดอ พาตี และ ฮาร์เลย์ เทนเนบาม ร่วมด้วยทีมเบื้องหลัง ได้แก่ ผู้กำกับภาพ สกอตต์ เคแวน, ผู้ออกแบบงานสร้าง พอล อีอาดส์, ผู้ตัดต่อลำดับภาพ ไมรอน เคอร์สไตน์, ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เดย์นา พิงค์, ผู้ออกแบบท่าเต้น มาร์เกริเต เดอร์ริกส์ และผู้ประพันธ์ดนตรี มาร์ก อิสแชม


“ฉันจะคงอยู่ตลอดไป…”

นำ FAME กลับมาสร้างใหม่

      Fame ฉบับสร้างใหม่ 2009 ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ชนะรางวัลออสการ์ปี 1980 กำกับโดย อลัน ปาร์เกอร์ ไม่ว่าจะเป็นภาพติดตาตอนที่เหล่านักเรียนขึ้นไปเต้นหฤหรรษ์สนั่นหลังคารถแท็กซี่ หรือเพลงธีมติดหูจากเสียงร้องของ ไอรีน คารา ล้วนแต่ทำให้ Fame กลายเป็นที่กล่าวขานและเป็นประสบการณ์ทางภาพยนตร์ที่ตราตรึงอยู่ในใจผู้คน ยิ่งไปกว่านั้น ภาพยนตร์ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ถึง 6 สาขา และคว้ามาได้ 2 สาขา คือ ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม และเพลงประกอบยอดเยี่ยมจากเพลง “Fame” ส่วนสาขาอื่นๆ ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง ได้แก่ ตัดต่อยอดเยี่ยม, เพลงประกอบยอดเยี่ยมจากเพลง “Out Here On My Own”, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ต้นฉบับยอดเยี่ยม

      ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังคงเป็นที่จดจำของผู้ชมกลุ่มใหญ่  มีแฟนๆ ที่คลั่งไคล้มันมากมาย มิหนำซ้ำ ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา Fame ยังเป็นบ่อเกิดทางธุรกิจที่แตกแขนงเป็นซีรี่ส์ชื่อดังทางโทรทัศน์ซึ่งยาวนานหลายซีซั่นก่อนจะรวมกันเป็นชุดดีวีดี ตามมาด้วยละครเพลงบรอดเวย์, ทัวร์การแสดงรอบโลก และรายการเรียลิตีทางโทรทัศน์นานมาแล้วตั้งแต่ก่อนที่ American Idol หรือ So You Think You Can Dance จะฮิตและปักหลักอยู่ในโทรทัศน์ และวันนี้ 30 ปีให้หลัง นักแสดงรุ่นใหม่จะกลับมาสวมรองเท้าเต้นแท็ป เตรียมดีดเปียโน และจับไมโครโฟนเพื่อแสดงความสามารถที่พวกเขามีให้ประจักษ์


      เสน่ห์ของผลิตผลจาก Fame ทุกชิ้น คือการได้เห็นเด็กๆ ที่มีพรสวรรค์ไล่ตามจุดมุ่งหมายแห่งความสำเร็จอย่างไม่ย่อท้อ พวกเขาต้องทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกายกันเต็มที่ โดยมีความบันเทิงและอารมณ์ความรู้สึกๆ ต่างสอดแทรกอยู่ตลอดเส้นทางที่พวกเขาก้าวไป อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคที่รายการเรียลิตีหลอมละลายไหลรวมกับบรรดาคนดังสำเร็จรูปบนพรมแดง พร้อมด้วยคนรุ่นหนึ่งซึ่งคุ้นชินกับการตีแผ่ชีวิตตัวเองอย่างสะดวกสะบายผ่านทางเว็บไซต์อย่าง YouTube ภาพยนตร์เรื่อง Fame ฉบับใหม่ จะยังคงยืนหยัดอยู่บนทฤษฎีทางความคิดเกี่ยวกับ “ชื่อเสียงที่ยั่งยืนคงทนอย่างแท้จริง” ในภาพยนตร์โดย แอนดี วอร์ฮอล เรื่อง 15 Minutes นั่นคือ การแสดง อาชีพการงาน และความสำเร็จ จะตั้งมั่นอยู่บนฐานของพรสวรรค์ที่มีมาแต่กำเนิดซึ่งผ่านการฝ่าฟันฝึกฝนภายใต้ระเบียบวินัยอันเคร่งครัดและการพัฒนาตัวเองไม่รู้จบ     


      “ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้ของหนังต้นฉบับเลยทีเดียว ถึงแม้ว่าความเป็นไปของชื่อเสียงจะเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาก็ตาม” ผู้คุมงานสร้าง ทอม โรเซนเบิร์ก เล่า “เราอยากเดินไปตามวิถีทางเดิมๆ ของช่วงเวลานั้น เดินตามตัวละครเข้าไปในระยะเวลา 4 ปีในโรงเรียนศิลปะการแสดง แต่ไม่อยากเลียนแบบต้นฉบับทุกกระเบียด เพราะเราต้องการตัวละครที่สดใหม่และร่วมสมัยมากกว่านั้น อีกส่วนหนึ่งคือเราอยากตรวจสอบความเป็นไประหว่างชื่อเสียงที่แลกมาด้วยพรสวรรค์และการฝึกฝนอย่างหนักกับชื่อเสียงสำเร็จรูปที่ไม่ต้องแลกมาด้วยอะไรเลย”

      “สมัยที่ อลัน ปาร์เกอร์ ทำหนังเรื่องแรก” เขาเล่าต่อ “ความเป็นไปของชื่อเสียงน่าจะเชื่อมโยงกับพรสวรรค์มากกว่าทุกวันนี้ และผู้คนก็คงตระหนักดีว่าการฝึกฝนอย่างหนักบวกกับความมานะบากบั่นจะทำให้มีชื่อเสียงขึ้นมาได้ ซึ่งนั่นยังคงเป็นเรื่องจริง เพียงแต่ปัจจุบัน ความคิดที่ว่าเป็นคนดังได้โดยไม่ต้องมีพรสวรรค์อะไรทั้งนั้นมาแรงกว่า” กล่าวคือ ใครก็ตามที่มีข่าวในวงสังคมสักหน้าหนึ่งก็จะกลายเป็นคนดังทันที และใครก็ตามที่มีกล้องดิจิตอลดีๆ อยู่ในมือก็กลายเป็นคนทำหนังได้ “เพราะฉะนั้น เราอยากคงความคิดหลักของต้นฉบับไว้ คือเผยให้เห็นว่าพรสวรรค์บวกกับการฝึกฝนอย่างหนักเท่านั้นที่จะทำให้กลายเป็นศิลปินตัวจริง”


      ในการนำแฟรนไชส์ Fame กลับมาสร้างอีกครั้งด้วยพลังและสติปัญญาของคนรุ่นใหม่ เหล่าผู้คุมงานสร้างตัดสินใจเลือกหนุ่มมากความสามารถที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย เควิน ตันเจริญ ซึ่งไม่ต่างจากตัวละครของเขานัก เพราะต้องผ่านการออดิชั่นก่อนจะได้รับงานเช่นเดียวกัน

      “บ่ายวันศุกร์ที่เราเฟ้นหาผู้กำกับ เราได้พบผู้กำกับเก่งๆ ประมาณ 30-40 คนทีเดียว” ผู้คุมงานสร้าง แกรี ลุคเชซี บอก “แต่ยังไม่เจอคนที่เข้าตาเลย จนกระทั่งเควินเข้ามานั่งและเริ่มคุยให้ฟังเกี่ยวกับงานที่ผ่านมา เขาเคยเป็นแดนเซอร์ เคยร่วมงานกับ บริทนีย์ สเปียร์ส เคยออกแบบท่าเต้นให้เธอ และสุดท้ายยังเคยกำกับคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์ของเธอด้วย ซึ่งตอนนั้นเขาอายุแค่ 19 เอง ทำได้ยังไง ไม่น่าเชื่อเลยจริงๆ” นอกจากนี้ ผลงานของเขาในฐานะผู้ออกแบบท่าเต้นยังรวมไปถึงในการแสดงสุดอลังการของ N*Sync และในงานของมาดอนน่า แถมด้วยงานกำกับทัวร์คอนเสิร์ต Onyx Hotel ของ บริทนีย์ สเปียร์ส “ต่อมาเราคุยกันเรื่องการทำงานกับ เจนนิเฟอร์ โลเปซ ในส่วนของการกำกับ Dancelife และการร่วมงานกับ The Pussycat Dolls จากนั้นก็ถามเขาว่าเป็นคนเมืองไหน เขาบอกเขามาจากลอสแองเจลิส เขาโตมากับธุรกิจหนัง แต่ไม่ใช่ชนชั้นสูงมากอภิสิทธิ์หรอกนะ เขามีหน้าที่รับผิดชอบอย่างมดงานตัวหนึ่งเท่านั้น นั่นแหละที่ทำให้ผมสนใจเขายิ่งขึ้นไปอีก”

      หลังจากนั้น ลุคเชซีก็ขอให้แทนชาโรนส่งทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเคยกำกับมาให้ดู

      “วันต่อมา มีซองใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มส่งมาถึงผม เราดูแล้วประทับใจมาก ไม่ใช่แค่เรื่องการออกแบบท่าเต้นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสไตล์การเก็บภาพลีลาท่าเต้นและฉากอารมณ์อื่นๆ ผมรีบเอางานของเควินไปให้ทอมดู ก่อนที่เราจะเห็นตรงกันว่านี่แหละคือผู้กำกับที่เรากำลังตามหา”


      ถึงแม้ว่า Fame จะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับที่อายุเพียง 24 ปี ทว่าภูมิหลังของเขาซึ่งเกิดจากการผสมรวมดนตรีเข้ากับการเต้นและวัฒนธรรมป๊อป ถือเป็นส่วนผสมของประสบการณ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับภาพยนตร์อย่าง Fame อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ประสบการณ์ทั้งหมดส่งเสริมให้เขาพร้อมสำหรับงานชิ้นนี้ แต่ความจริงแล้ว ด้วยความที่เขาเข้าถึงองค์ประกอบเฉพาะของตัวเองจนเกิด ‘ความเป็น เควิน ตันเจริญ’ นั่นต่างหากที่ทำให้เขากลายเป็นคนที่ใช่สำหรับงานนี้

      “ก่อนจะเป็นผู้ออกแบบท่าเต้น ผมเคยเป็นแดนเซอร์แบบที่มีหมายเลขแปะอยู่ที่หน้าอก ระหว่างที่รอว่าลีลาจะเข้าตาใครสักคนก็ต้องเต้นให้ดีที่สุด” ตันเจริญฟื้นความหลัง “ตอนเป็นเด็กตัวเล็กๆ ผมซนมาก อยู่เฉยไม่ค่อยได้ ในขณะที่พี่สาวเป็นสมาชิกในกลุ่มนักร้อง Pretty in Pink เวลาเลิกเรียน ผมต้องไปดูพี่ซ้อมทุกๆ เย็น ยิ่งเห็นก็ยิ่งอัดอั้น รู้สึกว่าต้องหาอะไรสักอย่างทำมั่งแล้ว สุดท้ายๆ ก็เลยลองร้องๆ ไปตามพี่ และทำได้ดีซะด้วย ต่อมาแม่ก็ส่งผมไปเรียนเต้นกับเรียนศิลปะการต่อสู้ ซึ่งผมสนุกกับมันมากทั้งสองอย่างเลย ทั้งหมดนั้นแหละที่พาผมมาถึงอาชีพการงานทั้งหลายแหล่ในทุกวันนี้ และยังส่งเสริมให้ผมสนใจดนตรีอีกด้วย ถึงขนาดซื้ออุปกรณ์มาสร้างผลงานเพลงของตัวเองกันเลยทีเดียว”

      “นอกจากนี้ ผมยังรักหนังมาตลอดชีวิต” เขาเล่าต่อ “พ่อของผมทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายขนส่งให้กับหนังหลายๆ เรื่อง และผมก็ชอบไปหาพ่อที่กองถ่ายอยู่บ่อยๆ ครั้งที่ประทับใจที่สุดก็ตอนพ่อทำงานกับ Batman Returns ผมยังจำตอนที่เดินเข้าไปในโรงถ่ายได้แม่น ทีมงานกำลังสร้างหิมะกันอยู่ ผมเห็น อาร์โนลด์ ชวาเซเนเกอร์ เดินดูดซิการ์ ได้เห็นนกเพนกวิน ได้เห็นแบทแมน ได้เห็นแคตวูแมน น่าทึ่งมากจริงๆ และตั้งแต่นั้น มนต์เสน่ห์ของหนังก็ยิ่งทำให้ผมหลงใหลมันมากขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญ มันส่งอิทธิพลต่องานที่ผ่านๆ มาทั้งหมดของผมด้วย”

      “สำหรับหนังเรื่องนี้ ในระดับหนึ่งผมเหมือนได้ตีแผ่เรื่องราวของตัวเองที่ไม่ต่างกับเรื่องใน Fame เลย ผมเคยทำอย่างนี้มาก่อนตั้งแต่ตอน 8 ขวบแล้วล่ะ และยังทำมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ คือยังเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากครูชั้นเลิศอยู่เสมอ เอาเป็นว่าทุกๆ องค์ประกอบในหนังเหนี่ยวนำให้ผมได้มากำกับมันก็แล้วกัน” เควิน ตันเจริญ เผย


      นับตั้งแต่ Fame ต้นฉบับออกสู่สายตาสาธารณชน เควิน ตันเตริญ เห็นด้วยที่ภาพรวมของวงการภาพยนตร์เปลี่ยนไป ในแง่ที่ผู้ชมนิยมชมชอบภาพยนตร์สักเรื่องที่เต็มไปด้วยการเต้น เสียงดนตรี และความเป็นดราม่า ตัวอย่างชัดๆ ก็เช่น รายการเรียลิตีบันเทิงว่าด้วยการประชันลีลาท่าเต้น The History of Dance และอื่นๆ อีกมากมายทางเว็บไซต์ รวมถึงภาพยนตร์สุดฮิตอย่าง Save the Last Dance และ Step Up “เรียกว่าการแสดงดนตรีและการเต้นทุกๆ ประเภทถูกจับมานำเสนอเป็นความบันเทิงกระแสหลักไปแล้ว” เควิน ตันเจริญ พูดต่อ “ทุกวันนี้ ผู้ชมมีความรู้มากขึ้น อะไรๆ ก็ต้องไม่ธรรมดายิ่งขึ้นด้วย เราได้เห็นใครสักคนมาท้าทายขีดจำกัดของร่างกายด้วยการหมุนตัวด้วยหัว ได้เห็นนักร้องมากความสามารถเปลี่ยนการร้องจากร็อกมาเป็นแร็พ เปลี่ยนจากแร็พเป็นคันทรี่” ดังนั้น เควิน ตันเจริญ จึงอยากเพิ่มแรงดึงดูดให้กับภาพยนตร์ด้วยการเติมความยากเข้าไปอีกเล็กน้อย และนี่คือส่วนหนึ่งของเสน่ห์ในการทำงานของผู้ชายคนนี้ระหว่างที่ถ่ายทำเรื่อง Fame

      กล่าวคือ  ‘สิ่งใหม่ๆ’ ที่เติมลงไป เขาต้องแน่ใจแล้วว่ามันจะพาหนังไปถึงก้นบึ้งของความแปลกแหวกแนวและปลุกเร้าความสนใจของผู้ชมได้เป็นอย่างดี “ตอนที่ Fame ต้นฉบับออกสู่สายตาสาธารณชน” เขาบอก “มันกลายเป็นนวัตกรรมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว มันนำเสนอการเขยิบขึ้นมาอีกก้าวหนึ่งจากมิวสิคัลคลาสสิกๆ ของเอ็มจีเอ็มในช่วงทศวรรษที่ 1950 อย่างชัดเจน นอกจากนี้ก็คือ แสดงให้เห็นความเป็นศิลปินรุ่นเยาว์ที่เต็มไปด้วยความมุมานะบากบั่น แสดงให้เห็นความกระหายในความสำเร็จทั้งๆ ที่อะไรๆ ก็ยังไม่แน่นอนเลยสักอย่าง แถมไม่ใช่ว่าทุกคนจะคว้ามาได้อีกต่างหาก สิ่งที่เราพยายามทำอยู่คือนำแก่นของความคิดเหล่านี้กลับมาอีกครั้ง แล้วหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับสไตล์การแสดงและการเต้นที่แปลกใหม่ เพราะฉะนั้น นี่จะไม่ใช่แค่หนังที่มีแต่การเต้นกับเสียงเพลง แต่ยังมีเรื่องราวเบื้องหลังท่าเต้นและเสียงเพลงอีกด้วย”

      ในส่วนของการแสดงให้เห็นความมุมานะบากบั่นของศิลปินรุ่นเยาว์  เควิน ตันเจริญ ต้องการรวมทีมผู้เปี่ยมพรสวรรค์หน้าใหม่ ซึ่งมีหลายๆ ลักษณะในชีวิตจริงสอดคล้องกับตัวละคร กล่าวคือ ถ้าในชีวิตจริงของนักแสดงรุ่นเยาว์มีเรื่องราวที่ต้องประสบพบเจอไม่ต่างจากตัวละครบนจอ ย่อมเพิ่มความน่าเชื่อถือและพาเรื่องราวในภาพยนตร์เข้าใกล้ความเป็นจริงได้มากยิ่งขึ้น “ทีมนักแสดงมอบความสมจริงให้กับตัวละครได้อย่างไม่น่าเชื่อ” เควิน ตันเจริญ “พวกเขาเข้าใจโลกในหนัง ที่สำคัญ พวกเขาคือตัวละครโดยธรรมชาติอย่างแท้จริง” ในขณะที่เหล่านักแสดงก็รู้สึกว่าพวกเขาใส่ตัวเองเข้าไปในตัวละครเป็นอย่างมาก พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนบทให้เป็นตัวพวกเขาเอง โปรเจกต์นี้จึงกลายเป็นโปรเจกต์ที่วิเศษอย่างเหลือเชื่อไปโดยปริยาย 

   

“ให้เวลาฉัน แล้วจากนี้เธอจะลืมทุกอย่าง...”

sianbun on September 28, 2009, 04:41:50 PM
คณะครูอาจารย์ในสาขาต่างๆ

      สำหรับบทอาจารย์ผู้อบรมสั่งสอนศิษย์ในโรงเรียนมัธยมแห่งนี้  ทีมผู้สร้างภาพยนตร์ต้องการนักแสดงผู้ซึ่งประสบความสำเร็จมาแล้วจากหลากหลายสังเวียน ด้วยความที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนจากภาพยนตร์ไปเป็นซีรี่ส์ทางโทรทัศน์  หรือปรับจากละครเวทีไปสู่ห้องอัด  ระเบียบวินัยของโรงเรียนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละสาขาจะสะท้อนออกมาทางครูที่พร่ำสอนอยู่หน้าชั้นเรียน ซึ่งล้วนแล้วแต่รับบทโดยนักแสดงที่มีบทบาทการทำงานอันแตกต่างหลากหลายรอบด้าน 


      ในภาพยนตร์ต้นฉบับ เดบบี อัลเลน โด่งดังจากบทครูสอนเต้น ลิเดีย แกรนต์ ผู้เตือนลูกศิษย์เสมอว่าต้องทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกายเพื่อแลกกับชื่อเสียง ก่อนที่เธอจะไปร่วมแสดงและกำกับหลายๆ ฉากใน Fame ฉบับซีรี่ส์ทางโทรทัศน์ นับจากนั้นก็เพิ่มรายชื่อในตำแหน่งต่างๆ อีกมากมายให้กับประวัติผลงานของตัวเอง กระทั่งย้อนกลับมาสู่ Fame ฉบับใหม่ แต่คราวนี้เป็นบทครูใหญ่ แองเจลา ซิมส์

      อัลเลนมองว่า  แองเจลา ซิมส์ คือการกลับมาเกิดใหม่ของ  ลิเดีย แกรนต์ “ฉันคิดเอาเองว่าเธอคือ ลิเดีย แกรนต์ ซึ่งแต่งงานแล้วและเปลี่ยนนามสกุลเป็นซิมส์” อัลเลนเผย “ฉันบอกกับผู้คุมงานสร้างเลยว่า ‘จะให้ฉันชื่ออะไรก็ตามใจเถอะ แต่ฉันเชื่อว่าคนดูจะต้องรู้สึกเหมือน ลิเดีย แกรนต์ กลับมายืนอยู่ในหนังเรื่องนี้อีกครั้ง’ แต่คราวนี้เธอแค่เลื่อนขั้นเป็นครูใหญ่เท่านั้นเอง”

      กล่าวได้ว่า แองเจลา ซิมส์ เป็นบทที่อัลเลนซึ่งมีงานรัดตัวตีความไปตามความเข้าใจของเธอเอง “ฉันเปิดสถาบัน Debbie Allen Dance Academy และดำเนินงานเองทั้งหมด” เธอเล่า “ซึ่งหมายความว่าฉันต้องร่างแผนที่ หรือวางแผนการเดินเกมให้กับเด็กๆ ทุกคนที่ก้าวผ่านประตูหน้าสถาบันเข้ามา บทครูใหญ่ซิมส์ก็เลยไม่ต่างจากการตีแผ่หน้าที่การงานของฉันเองในหนัง ซึ่งมีอยู่สองสามฉากสั้นๆ ที่ฉันต้องทำให้นักเรียนรู้ว่ามีบันไดให้ก้าวขึ้นไปเพื่อคว้าความเป็นที่สุดที่ทางสถาบันหยิบยื่นให้ และถ้าก้าวขึ้นบันไดนี้ไม่สำเร็จก็เท่ากับล้มเหลว”


      ต่อกันที่ ชาร์ลส์ เอส. ดัตตัน ผู้รับบทครูสอนการแสดง  เจมส์ ดาวด์ อันที่จริงนั้น ครั้งหนึ่งดัตตันเคยสอนอยู่ในโรงเรียนการแสดงที่บัลติมอร์ (ลูกศิษย์ของเขาก็เช่น จาดา พิงเกตต์ สมิธ และ ทูแพ็ค ชาเคอร์) อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องรับบทนี้ ดัตตันกลับหวนนึกถึงครูสอนการแสดงของเขา ซึ่งไม่ได้ฝากไว้แค่เรื่องของจรรยาบรรณเท่านั้น แต่ยังฝากเรื่องหน้าที่อันสูงส่งของศิลปะเอาไว้ด้วย

      “ผมถ่ายทอดบทครูดาวด์ให้เหมือนกับบรรดาครูสอนการแสดงของผม” ดัตตันเผย “พวกท่านให้ทั้งความรักแบบโหดๆ ความรู้แน่นๆ และระเบียบวินัยเคร่งครัด โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าดาวด์พยายามจะชี้ให้นักเรียนเข้าใจว่าอย่าเป็นแค่ผู้มอบความบันเทิงแต่ต้องเป็นศิลปินให้ได้ จริงๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้ต่างกันนะ เพราะผู้มอบความบันเทิงน่ะจะทำอะไรก็ได้ แต่ศิลปินจะเลือกทำแต่สิ่งที่คิดว่าจรรโลงโลกเท่านั้น ตัวละครดาวด์เกิดมาจากแนวคิดนี้แหละ”

      ดัตตันสำเร็จการศึกษาจาก Yale School of Drama และเคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมี รางวัลโทนี และรางวัลลูกโลกทองคำจากการแสดงในภาพยนตร์โดย ออกัส วิลสัน เรื่อง The Piano Lesson เขาเชื่อมั่นว่าศิลปะเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตคนได้ด้วยการปลดปล่อยชื่อเสียงให้ขจรขจาย

      “พอผมตระหนักได้ว่าตัวเองเกิดมาเพื่อการแสดง ชีวิตก็เปลี่ยนไปทันที” เขาบอก “ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมมองว่าเส้นทางศิลปะของแต่ละคนล้วนแต่นำไปสู่การค้นพบความเป็นมนุษย์ในตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่แหละคือเนื้อหาของศิลปะ และควรจะเป็นแก่นแท้ของมันด้วย” ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปรัชญาที่ดัตตันศรัทธาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งหลังจากการพูดคุยเกี่ยวกับลักษณะของตัวละครผ่านพ้นไปแล้ว เควิน ตันเจริญ จับบางส่วนมาใส่ในบทสนทนาระหว่างครูดาวด์กับบรรดาลูกศิษย์ด้วย


      มาถึง เคลซี แกรมเมอร์ ผู้รับบท มาร์ติน แครนสตัน หนึ่งในครูสอนดนตรีประจำโรงเรียนแห่งนี้ แกรมเมอร์เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมี 16 ครั้ง เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ 8 ครั้ง เข้าชิงรางวัลจากสมาคมนักแสดงภาพยนตร์หรือ แซ็ก อวอร์ด 16 ครั้ง นอกจากนี้ ยังเคยผ่านงานมาแล้วทั้งกำกับ คุมงานสร้าง และร่วมแสดงในภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ชุด X-Men ที่พึ่งผ่านตาไปไม่นาน รวมถึงฝากฝีมือไว้กับละครบรอดเวย์อีกหลายๆ งานสร้างทั้ง My Fair Lady, Macbeth และ Othello

      แกรมเมอร์ยกย่องครูสอนร้องเพลงคนหนึ่งของเขาว่าเป็นแรงบันดาลใจที่พาเขามาสู่การดำเนินอาชีพบนเส้นทางสายศิลปะ เขาเคยศึกษาและฝึกปรือฝีมืออยู่ที่สถาบันจูลลิอาร์ด (Juilliard) ทว่าการถูกไล่ออกจากสถาบันชื่อดังนั้นต่างหากที่สอนบทเรียนอันมีค่าให้เขา

      “พอจบมัธยม ผมก็เข้าไปเรียนการแสดงที่จูลลิอาร์ด” เขาเล่า “ที่นั่นมีครูอยู่คู่หนึ่งที่เอาใจยากมาก แถมยังมีห้องฝึกจิตอีกต่างหาก ซึ่งล้วนแต่ทำให้การใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเป็นเรื่องที่ยากมากๆ เรียกว่ายากกว่าอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงก็แล้วกัน และในที่สุด ผมก็ไปไม่รอด พวกเขาถีบหัวส่งออกมาเลย แต่ผมรู้สึกยินดีปรีดามากทีเดียว จริงๆ แล้วผมรักที่นั่นนะ แล้วก็ภูมิใจมากที่พวกเขาถีบหัวส่งผมออกมา สารภาพตรงๆ เลยละกันว่าผมเสแสร้งทำยียวนเพราะอยากถูกไล่ออก และพวกเขาก็หลงกลซะด้วย”

      บทเรียนที่เขาได้รับนั้นทำให้การรับบทเป็นครูแครนสตันมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น  “แครนสตันเป็นครูที่โหดมากและไม่ปล่อยให้ใครผ่านไปได้ง่ายๆ” เขาเผย “เขาเป็นเหมือนกำแพงอุปสรรคด่านแรกที่หนุ่มสาวในเรื่องต้องประสบพบเจอ แต่อย่าลืมว่ากำแพงอุปสรรคในชีวิตศิลปินน่ะมีคุณค่าอยู่ตรงที่การได้เรียนรู้วิธีที่จะข้ามพ้นมันไปให้ได้  เขามุ่งมั่นตั้งใจอบรมสั่งสอนและนำทางเด็กๆ ที่มีพรสวรรค์เหล่านี้ แต่พวกเขาต้องใช้การได้ซะก่อน ไม่งั้นก็ไม่มีทางหลุดรอดไปได้แน่ๆ ถ้าปล่อยให้เด็กๆ ได้อะไรมาง่ายๆ เกินไป เขารู้ว่าเด็กพวกนี้จะไม่มีโอกาสโดยเฉพาะในสายงานบันเทิง ซึ่งต้องอาศัยทั้งพรสวรรค์ การทุ่มเทแรงกายแรงใจ และโชคช่วย ท้ายที่สุด เด็กๆ ทุกคนจะต้องเจอกำแพงขวางเข้าสักวัน และพวกเขาจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ครบครันพอที่จะช่วยให้ปีนข้ามผ่านไป”


      ในส่วนของครูสอนร้องเพลงขี้เล่นและอารมณ์ดี แฟรน โรแวน รับบทโดย เมแกน  มุลลัลลี นักแสดงสาวผู้คว้ารางวัลเอ็มมีมาได้ถึงสองรางวัลจาก  Will & Grace ผู้นี้เปิดตัวผลงานการแสดงครั้งแรกในละครบรอดเวย์เรื่อง Grease และหลังจากนั้นไม่นานก็ประสบความสำเร็จจากมิวสิคัลสุดฮิตเรื่อง Young Frankenstein มุลลัลลีเหมาะกับบทครูสอนร้องเพลงเป็นอย่างยิ่ง ด้วยความที่ความสำเร็จในด้านการร้องเพลงของเธอน่าประทับใจไม่ต่างจากผลงานทางด้านการแสดงเลย กล่าวคือ ไม่นานนี้ เธอได้ร่วมแสดงในคอนเสิร์ต The Allen Room ที่ ลินคอล์น เซ็นเตอร์ รวมถึงคอนเสิร์ตที่ เคนเนดี เซ็นเตอร์, ที่ เดอะ ซีแอตเทิล ซิมโฟนี และที่โรงละคร กู๊ดแมน เธียเตอร์ ในชิคาโก นอกจากนี้ยังได้ขึ้นร้องเดี่ยวที่ วอลท์ ดิสนีย์ คอนเสิร์ต ฮอลล์ อีกด้วย

      ใน Fame มุลลัลลีจะมีโอกาสได้แสดงพรสวรรค์ทางดนตรีให้ประจักษ์ตอนที่เธอพาลูกศิษย์ไปร้องเพลงในคาราโอเกะคลับเพื่อที่พวกเขาจะได้รู้จักการแสดงต่อหน้าผู้ชมจริงๆ แต่แล้วลูกศิษย์กลับออกอุบายให้ครูขึ้นเวที ก่อนที่เธอจะทำให้ทุกคนนิ่งอึ้งตะลึงงันด้วยการถ่ายทอดบทเพลง You Took Advantage of Me ของวง Rodgers & Hart ในแบบที่เลอเลิศทัดเทียมกับมาตรฐานของต้นฉบับ ซึ่งโอกาสในการแสดงเสียงร้องนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดมุลลัลลีให้เข้ามาร่วมแสดงใน Fame

      “หนังต้นฉบับกระทบใจฉันมากๆ” มุลลัลลีฟื้นความหลัง “ตอนนั้นฉันเรียนอยู่ในวิทยาลัย มันกลายเป็นเรื่องเด่นประเด็นร้อนในชมรมละครเล็กๆ ของฉันเลยทีเดียว และยังเป็นหนังเรื่องแรกๆ ที่ฉันได้เห็นว่าใช้นักแสดงนำเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันกับฉัน นอกจากนี้ ฉันยังเป็นนักร้องด้วยและดนตรีก็มีความสำคัญกับฉันมาก ยิ่งไปกว่านั้น คนส่วนใหญ่จำฉันได้ในบท คาเรน จากซิตคอมเรื่อง Will & Grace ซึ่งต้องร้องเพลงเยอะมาก เรียกว่ามากกว่าละครโทรทัศน์ทั่วๆ ไป อย่างกับแสดงอยู่ในละครเพลงแน่ะ พอได้ลองๆ อ่านบทครูสอนร้องเพลง ซึ่งมีฉากที่ต้องร้องเพลงจริงๆ จังๆ อีกต่างหาก ฉันก็คิดเลย ‘อืม...จะเป็นยังไงนะถ้ากลับมารับบทที่ต้องร้องเพลงด้วยอีกสักครั้ง’”

      นอกจากนี้ มุลลัลลียังขอเสนอเพลงที่จะใช้ในฉากร้องเพลงของเธอ ซึ่งเป็นเพลงที่เธอเคยมีประสบการณ์มาแล้ว  “ตอนที่ฉันเจอกับ เควิน ตันเจริญ และ แกรี ลุคเชซี เราคุยกันเรื่องฉากที่ฉันต้องขึ้นร้องเพลง ซึ่งแต่เดิมหวังไว้ว่าตัวละครจะต้องโชว์พลังเสียงชนิดหลังคากระจุยไปเลย แต่ฉันทำขนาดนั้นไม่ได้หรอก” เธอหัวเราะ “เราก็เลยต้องกลับมาคิดถึงเพลงที่ไพเราะกินใจแทน ฉันมีวงของตัวเองที่ตั้งมานานแล้วชื่อ Supreme Music Program ซึ่งเราเคยคัฟเวอร์เพลง You Took Advantage of Me มาก่อนด้วย เพลงนี้เป็นเพลงที่โชว์เนื้อเสียง พอใครได้ฟังก็ชอบกันทั้งนั้น วงของฉันก็เลยใช้เป็นเพลงอังกอร์เวลาขึ้นแสดงสดอยู่บ่อยๆ สุดท้าย ฉันลองเสนอเพลงนี้กับเควินและแกรี แล้วพวกเขาก็ชอบซะด้วย”


      ปิดท้ายคณะครูกันที่ เบเบ้ นูเวิร์ธ กับบทครูสอนเต้นผู้เข้มงวด  ลินน์ คราฟท์ ไม่ว่าจะเป็นในโทรทัศน์ที่บ้าน ในภาพยนตร์เรื่องไหนๆ หรือบนเวทีใดๆ ก็ตาม ผลงานบรอดเวย์ของนูเวิร์ธก็ยังคงโดดเด่นประทับใจไม่เสื่อมคลาย ไม่นานนี้ เธอรับบท ร็อกซี ในบรอดเวย์เรื่อง Chicago ซึ่งทำให้เธอคว้ามาได้ทั้งรางวัลโทนีและรางวัลดรามาเดสก์ ก่อนจะคว้ารางวัลแอสแตร์มาได้อีกหนึ่งจากการแสดงเป็น เว็ลมา ในบรอดเวย์เรื่องเดียวกันนี้ ที่สำคัญ เธอคือนักแสดงเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์บรอดเวย์ที่แสดงบทนำหญิงทั้งสองใน Chicago สลับไปสลับมา นอกจากนี้ เธอยังคว้ารางวัลโทนีได้อีกครั้งจากบท นิกกี ใน Sweet Charity ส่วนผลงานบรอดเวย์เรื่องอื่นๆ ได้แก่ Fosse, Damn Yankees, Dancin, Little Me และ A Chorus Line

      นูเวิร์ธรักการเต้นเป็นชีวิตจิตใจ  รวมถึงก่อตั้ง Dancers’ Resource Advisory Council ให้เป็นส่วนหนึ่งของกองทุนนักแสดง ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่คอยช่วยเหลือบุคลากรในวงการศิลปะการแสดงและวงการบันเทิง เธอยกย่องการเต้นว่ามีส่วนช่วยให้เธอรู้จักวินัยในตัวเองและมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวชัดเจนขึ้น โดยที่เธอจับลักษณะเหล่านี้มาใส่ในตัวครูคราฟท์ด้วย

      “ที่ฉันฝึกเต้นมาเป็นอย่างดีคือบัลเลต์” นูเวิร์ธบอก “แต่พอทำงานเป็นนักเต้นประจำโรงละคร กลับได้เต้นแจ๊สตลอดเลย ทว่าก็ยังฝึกบัลเลต์อยู่ดี สิ่งที่ได้จากการฝึกบัลเลต์อย่างจริงจังคือระเบียบวินัย ความเป็นมืออาชีพ รวมทั้งการรับรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนและคนอื่นๆ อยู่ตรงไหน ตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างเวลาฝึกอยู่ที่ราวซ้อมแล้วต้องทำบัตเตอมองต์หรือเตะขาสูง ซึ่งต้องรู้จักมองคนข้างหน้าข้างหลังให้ดีๆ จนแน่ใจแล้วว่าจะไม่เตะขาไปถูกใครเข้า นี่เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ตีความนำมาใช้กับโลกภายนอกได้ด้วย ประมาณว่าเราจะได้รู้จักเว้นที่ว่างให้คนอื่นๆ รู้จักการเป็นสุภาพชน ถือเป็นบทเรียนชีวิตที่แทรกอยู่ในการฝึกก็ว่าได้”

      “ครูคราฟท์เป็นคนมีพื้นฐานทางบัลเลต์แน่นมาก ก็เลยไม่แปลกหรอกถ้าเธอจะขอให้ลูกศิษย์ยึดมั่นในจรรยาบรรณ” เธอเล่าต่อ “ลึกๆ แล้ว เธอเป็นห่วงลูกศิษย์มากๆ เพราะรู้ว่าชีวิตจริงน่ะยากลำบากสุดๆ เธอรู้ว่าเด็กๆ ที่ผ่านมาในชีวิตของเธอ บางคนจะผ่านไปสู่ความสำเร็จและบางคนจะไม่มีวันนั้นเลย ฉันคิดว่าเธอน่าจะเป็นครูมานานแล้วนะ และที่เธอยังอยู่ที่นี่ไม่ไปไหน คงเพราะเธอสามารถมองทะลุไปจนถึงพรสวรรค์ที่แท้จริงได้ เธอรู้ว่าเด็กคนไหนจะทำได้หรือทำไม่ได้ ยากนะกับการดึงพรสวรรค์ในตัวใครสักคนออกมา แต่ด้วยความเป็นครู เธอต้องทำต่อไปเพื่อลูกศิษย์ จะเรียกว่านี่เป็นหนังที่สมจริงและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจก็คงไม่ผิด มันนำเสนอแก่นแท้ของการฝ่าฟันเพื่อเป็นศิลปิน มีปลายทางอันสวยงามอยู่มากมาย และนำความสมจริงมาเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คน ทั้งหมดนี้แหละที่ Fame จะมอบให้คนดู”

sianbun on September 28, 2009, 04:42:20 PM
เกี่ยวกับผู้สร้างภาพยนตร์

      เควิน ตันเจริญ (ผู้กำกับภาพยนตร์) เป็นผู้มีพรสวรรค์รอบด้านและผ่านงานมาแล้วหลากหลายทั้งในสายดนตรี มิวสิกวิดีโอ และการแสดงต่างๆ วันนี้เขากล้าแกร่งพอที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโลกภาพยนตร์ ก้าวมายืนอยู่หลังเลนส์ และเปิดตัวผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกกันที่ Fame นอกจากนี้ ด้วยความที่มีภูมิหลังทางดนตรีอันเข้มข้น เขายังยื่นมือเข้าไปช่วยในส่วนของซาวด์แทร็กประกอบภาพยนตร์อีกด้วย โดยมีรายชื่อเป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์

      เควิน ตันเจริญ คลั่งไคล้ภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก เขาเริ่มไปดูหนังกับพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ราวๆ เกรด 6 ก็เขียนรายงานว่าด้วยภาพยนตร์ของผู้ทรงอิทธิพลในวงการอย่าง โรเบิร์ต โรดริเกซ และ เควนติน ทารันติโน ตั้งแต่ตอนอายุยังน้อย เควิน ตันเจริญ ก็รู้ตัวแล้วว่าเขาสนใจเทคนิคสร้างสรรค์ในการสร้างภาพยนตร์ และสนุกสนานไปกับ ‘เบื้องหลังการถ่ายทำ’ และ ‘หลังฉาก’ ที่เสริมเข้ามาในดีวีดีราวกับว่านั่นเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ชักนำเขามาสู่การสำรวจตรวจลึกเข้าไปในความคิดสร้างสรรค์ของสเปเชียลเอฟเฟกต์ต่างๆ กระทั่งสมัครเรียนกระบวนการสร้างหุ่นจำลองร่วมชั้นกับกลุ่มคนที่อายุมากกว่าถึงสองรอบ หลังจากนั้น ด้วยความที่เคยเฉียดเข้าไปในโลกของดิจิตอลเอฟเฟกต์ บวกกับรายล้อมไปด้วยนักดนตรีผู้มุ่งมั่น เควิน ตันเจริญ จึงถูกดึงตัวเข้าไปรับหน้าที่ถ่ายทำและตัดต่อมิวสิกวิดีโอให้กับนักดนตรีเหล่านั้น และในขณะเดียวกัน ก็เริ่มสำรวจตรวจสอบพรสวรรค์ทางด้านการแสดงของตัวเอง โดยไปเข้าร่วมกับกลุ่มนักเต้นซึ่งมีผู้ออกแบบท่าเต้นชื่อก้องโลก เวด ร็อบสัน เป็นหัวหน้า ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็นผู้ออกแบบท่าเต้นเสียเอง กระทั่งฉายแววโดดเด่นไปเข้าตาศิลปินระดับซุปเปอร์สตาร์อย่าง บริทนีย์ สเปียร์ส และวง N*Sync จนได้ร่วมงานกับทั้งสอง

      ประสบการณ์อันหลากหลายทั้งในส่วนของการเต้นและดนตรี มิหนำซ้ำยังเป็นนักชิมหนัง  ทำให้เขาได้รับผิดชอบโปรเจกต์ปรุงใหม่การแสดงดนตรีและการแสดงพิเศษอื่นๆ มากมาย นอกจากนี้ ผลงานวิดีโอยังรวมไปถึงงานหลายๆ ชิ้นของ คริสตินา อากีเรลา, เจสซิกา ซิมป์สัน และไทรีส

      ส่วนโปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่องต่อไป Arcana จะเป็นการผสมผสานองค์ประกอบต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อเขา ตั้งแต่หนังสือการ์ตูน, ภาพยนตร์หลายๆ แนว, การเต้น ไปจนถึงศิลปะการต่อสู้
 


      คริสโตเฟอร์ กอร์ (ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง Fame ปี 1980) เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขาบทภาพยนตร์ต้นฉบับยอดเยี่ยมจากเรื่อง Fame

      กอร์เริ่มเขียนงานมิวสิคัลและบทละครเวทีทันทีหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเติร์น งานละครบรอดเวย์เรื่องแรกของเขา Via Galactica ในปี 1972 เป็นงานมิวสิคัลไซไฟสุดร็อกที่เขียนร่วมกับ จูดิธ รอซ และ กัลต์ แม็คเดอร์มอต หลังจากภาพยนตร์เรื่อง Fame ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง กอร์ได้ฝากฝีมือการเขียนไว้อีกในหลายๆ ฉากของเวอร์ชั่นซีรี่ส์ทางโทรทัศน์

      คริสโตเฟอร์ กอร์ ถึงแก่กรรมไปแล้วด้วยโรคมะเร็งในปี 1988 เมื่ออายุ 45 ปี

sianbun on September 28, 2009, 04:43:51 PM
FAME เฟม ขอดัง โดนโดน



ภาพยนตร์เพลงที่ดังที่สุดในยุค ‘80 จนคว้า 2 รางวัลออสการ์มาครอง

พร้อมประกาศเปิดตัว 10 นักแสดงหน้าใหม่

ที่จะมาเขย่าจังหวะการร้อง เต้น ให้บรรเจิดแบบโดนโดน!!!


  “เอ็ม พิคเจอร์ส” ขยับเสต็ปเต้น  8 ต.ค. นี้ทั่วประเทศ


      “เอ็ม พิคเจอร์ส” คว้า FAME เฟม ขอดัง โดนโดน ภาพยนตร์เพลงยอดนิยมในยุค ‘80 ที่กวาด 2 รางวัลออสการ์สาขา Original Score และ Original Song “Fame” ยังชนะได้รางวัล Best Sound จาก BAFTA, Best Original Song จาก Golden Globes และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาอื่นๆ อีกถึง 16 สาขา ภายใต้ฝีมือการกำกับของ Alan Parker นี่เป็นครั้งแรกในรอบ 29 ปี ที่ FAME เฟม ขอดัง โดนโดน มาฉายครั้งแรกในไทย 8 ตุลาคมนี้ เป็นครั้งแรกในโรงภาพยนตร์ ด้วยฝีมือการกำกับของ ผู้กำกับสายเลือดไทยสัญชาติอเมริกัน “เควิน ตันเจริญ” นักออกแบบท่าเต้น ของ มาดอนน่า, แดนเซอร์และนักออกแบบท่าเต้น ของ บริตนีย์ สเปียรส์ (Me Against the Music, The Onyx Hotel Tour) ได้นำ FAME เฟม ขอดัง โดนโดน มานำเสนอในรูปแบบใหม่ที่ฮิปฮอบกว่า แดนซ์กว่า ป๊อปกว่า และเร้าใจกว่าเดิม พร้อมประกาศเปิดตัว 10 นักแสดงหน้าใหม่ ร้องเอง เต้นเจ๋ง ที่ขอแจ้งเกิดบนแบบสุดอลังกาล... โปรดจำชื่อพวกเขาให้ดี เพราะพวกเขาจะมาเขย่าจังหวะการร้อง เต้น ให้บรรเจิดแบบโดนโดน!

       

แอชเชอร์  บุค เมืองเกิด: แฟร์แฟกซ์ ในเวอร์จิเนีย อายุ: 20

(Asher Book : The Pop Vocal Group “V Factory”)

      บุคซึ่งเป็นนักร้องนำของวงบอยแบนด์ V Factory ด้วยบอกชัดๆ “ตอนเรียนมัธยม ผมเป็นเด็กโง่เง่าคนหนึ่งเท่านั้นแหละ”
 


 เคริงตัน  เพย์น เมืองเกิด: ยอร์บา ลินดา ในแคลิฟอร์เนีย อายุ: 18

(Kherington Payne : “So You Think You Can Dance”)

      “ฉันรู้ว่าผ่านออดิชั่นงานนี้ตอนที่แข่งเต้นอยู่ในเรียลิตี้ So You Think You Can Dance?” นักเต้นสาวสวยเล่า “ยิ่งพอรู้ว่าได้บทนี้ก็แทบคลั่งเลย!” 


 วอลเตอร์  เปเรซ เมืองเกิด: เซาธ์เกต ในแคลิฟอร์เนีย อายุ: 26

(Walter Perez : “Friday Night Lights”)

        “ตัวละครของผมเติบโตในชุมชนแออัดในนิวยอร์ก ส่วนผมโตมาในชุมชนแออัดในลอสแองเจลิส” นักแสดงเล่าต่อ “แต่ผมก็ชอบเด่นอยู่บนเวทีมาตั้งนานแล้วล่ะ”
 
 
 


 เคย์  พานาเบเกอร์ เมืองเกิด: เนเปอร์วิลล์ ในอิลลินอยส์ อายุ: 18

(Kay Panabaker : “CSI : Crime Scene Investigation”)

      ก่อน  Fame เธอเคยเป็นแขกรับเชิญมาแล้วมากมาย อย่างเช่นใน ER แต่ถ้าไม่รุ่งทางงานแสดง “ฉันอยากเป็นครูค่ะ ก็วงการนี้น่ะซับซ้อนจะตาย คิดแผนสำรองไว้ก่อนดีกว่าค่ะ
 
 
 


 พอล อิยาโคโน เมืองเกิด: เซคอคัส ในนิวเจอร์ซีย์ อายุ: 20

(Paul Iacono : “The Naked Brothers Band : The Movie”)

 “ผมเริ่มจากการแสดงเลียนแบบเป็น เอเธล เมอร์แมน กับ แฟรงก์ ซินาตรา” นักแสดงที่รับบทเด็กหนุ่มผู้มุ่งมั่นไปสู่การเป็นคนทำหนังให้ได้กล่าว “จริงๆ แล้วผมชอบเป็นที่สนใจของใครๆ อยู่แล้วซะด้วยสิ”
 


 อันนา มาเรีย เปเรซ  เดอ เทเกิล เมืองเกิด: ซานโฮเซ่ ในแคลิฟอร์เนีย อายุ: 17

(Anna Maria Perez de Tagle : “Hannah Montana”, “Camp Rock”)

      เธอคือนักแสดงสาวที่ได้รับเลือกให้แสดงในซีรี่ส์  Hannah Montana มาแล้วหลายครั้ง “แต่จริงๆ แล้ว ฉันอยากเป็นส่วนหนึ่งในงานนี้มากกว่าค่ะ ก็นี่คือ Fame เชียวนะ”
 
 
 


 คอลลินส์  เพนนี เมืองเกิด: บรูคลิน อายุ: 21

(Collins Pennie)

        “ตอนอายุ 15 ผมกลายเป็นเด็กเร่ร่อนไม่มีที่อยู่” คอลลินส์ผู้รับบทศิลปินฮิปฮอปซึ่งมีเนื้อหาชีวิตแย่ๆ ไม่ต่างกันเผย “ตัวละครตัวนี้คือเรื่องราวในชีวิตของผมเลย”
 
 
 
 
 


 นาตูรี  นอตตัน เมืองเกิด: อีสต์ ออเรนจ์ ในนิวเจอร์ซีย์ อายุ: 24

(Naturi Naughtobn : “Notorious, former 3LW singer”)

      เธอเคยร่วมแสดงใน Hairspray ฉบับบรอดเวย์ แต่ครั้งนี้เธอจะมาเล่นเปียโนให้ดู “ตอนวัยรุ่น พ่อแม่ส่งฉันไปเรียนเปียโน แต่เสียดายจัง...ฉันน่าจะตั้งใจเรียนให้มากกว่านี้หน่อย”
 


 

คริสตี  ฟลอร์ส เมืองเกิด: ย่านบรองซ์ อายุ: 20

(Kristy Flores)

        “พวกเขาเจอฉันในแดนซ์สตูดิโอแถบๆ บรองซ์” ฟลอร์สที่ชื่นชอบการแต่งบทกวีและบทเพลงอีกด้วยบอก “แต่ Fame ฉบับใหม่นี่ไม่มีถุงเท้าเล้กวอร์มเมอร์ให้เห็นหรอก”
 


 พอล แม็คกิล เมืองเกิด: พิตต์สเบิร์ก อายุ: 21

(Paul McGill)

      “ก่อนนี้ผมแสดงในบรอดเวย์ A Chorus Line จนมันปิดการแสดงไปเลย” นักเต้นมืออาชีพซึ่งเข้าถึงการฝ่าฟันของเหล่าศิลปินใน Fame เป็นอย่างดียังเล่าอีกว่า “ส่วนตอนอายุ 17 ก็ย้ายมาอยู่นิวยอร์ก เพราะต้องแสดงใน La Cage aux Folles”