อ่านแต่เล็ก เด็กฉลาด สมรรถนะดี
ช่วง 6 ปีแรก คือช่วงเวลาอันมีค่าที่สมองของเด็กจะพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เซลล์สมองจะแตกกิ่งก้านสาขามากขึ้น หนังสือ เปรียบเสมือนธนาคารแห่งความรู้อันจะช่วยสร้างเสริมทักษะชีวิต ต่อยอดความคิดและจินตนาการอันกว้างไกล กระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการตามวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย 3-5 ปี หมายถึง เด็กสามารถที่จะทำอะไรได้บ้างในช่วงอายุดังกล่าว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้เลี้ยงดู ครู อาจารย์และผู้ดูแลเด็ก จึงต้องจัดกระบวนการเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กในวัยนี้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะของเด็กอย่างเป็นองค์รวม อาทิ ความสามารถในการเคลื่อนไหวและสุขภาวะทางกาย พัฒนาการด้านสังคม ด้านอารมณ์ ด้านการคิดและสติปัญญา ด้านภาษา ด้านจริยธรรม และด้านการสร้างสรรค์ของเด็ก
ด้วยเหตุนี้ บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด และ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก จึงร่วมกันจัดทำ นิทานตามสมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย 3-5 ปี 1 ชุด 39 เล่ม พร้อมแผนการสอน เพื่อชี้แนะวิธีการใช้หนังสือนิทานอันเป็นสื่อช่วยกระตุ้นเซลล์สมองของเด็ก ก่อให้เกิดการพัฒนาสมรรถนะด้านต่างๆ กระทั่งเด็กสามารถเรียนรู้สิ่งรอบตัว ผ่านกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ ตามพัฒนาการการเรียนรู้ที่เหมาะกับช่วงวัย
"มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก โดยการสนับสนุนจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาสมรรถนะเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย 3-5 ปี มุ่งเน้นให้โรงเรียนในพื้นที่ศึกษาจัดกิจรรมและกิจวัตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเด็ก โดยการใช้หนังสือภาพสำหรับเด็กเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของเด็กปฐมวัยให้มีส่วนหลักครบ 7 ด้าน ได้แก่ ความสามารถในการเคลื่อนไหวและสุขภาวะทางกาย พัฒนาการด้านสังคม พัฒนาการด้านอารมณ์ พัฒนาการด้านการคิดและสติปัญญา พัฒนาการด้านภาษา พัฒนาการด้านจริยธรรม และพัฒนาการด้านการสร้างสรรค์" เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กล่าว
ด้าน ริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “ในบทบาทของสำนักพิมพ์ที่รณรงค์เรื่องส่งเสริมการอ่านของเด็กมานานกว่า 16 ปี ยังมั่นใจในแนวทางมาตลอด และผลงานวิจัยหลายหน่วยงานพบว่า เด็กที่อ่านหนังสือนิทานเป็นประจำ มีความสามารถและพฤติกรรมตามวัยในทุกๆ ด้านดีกว่าเด็กที่ไม่ได้อ่าน และในฐานะผู้นำด้านการผลิตหนังสือและสื่อสำหรับเด็ก เราจึงได้คัดสรรนิทานที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับสมรรถนะของเด็กปฐมวัย ใน 7 ด้าน แบ่งเป็น 39 สมรรถนะ มาจัดเป็น “นิทานตามสมรรถนะของเด็กปฐมวัย ในการพัฒนาตามวัย 3-5 ปี” จำนวน 39 เรื่อง พร้อมกับแผนการจัดประสบการณ์ทั้ง 39 เรื่องสำหรับครู เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ง่ายต่อการนำไปใช้ขยายผลและต่อยอดการจัดกิจกรรมที่หลากหลายสำหรับเด็กสังคมในปัจจุบันดำเนินเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลาและปรับตัวให้เกิดวิถีแห่งการเรียนรู้จึงเป็นกลไกสำคัญแห่งการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน
ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความเคลื่อนไหวสูง มีความแตกต่างมาก ท่านผู้ว่าอยากให้ กรุงเทพมหานครเป็นนครแห่งโอกาสของทุกคน เราเชื่อว่ารากแก้วถ้าเกิดฝังได้ตั้งแต่เล็กถ้าเอนไปเล็กน้อยก็จะกลับมาตั้งหลักได้ แต่ถ้ารากแก้วอ่อนแอ แม้เจออะไรที่มากระทบเพียงเล็กน้อยก็จะไม่สามารถยืนหยัดได้ โดยส่วนตัวเชื่อมั่นจริงๆว่าต้องดูแลตั้งแต่รากเลย”
ทางด้าน คุณทิพย์สุดา สุเมธเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการ เรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กระทรวงศึกษาธิการ “เมื่อประเทศไทยเริ่มปฎิรูปการศึกษา สภาการศึกษามองแผนการศึกษาในอนาคตว่าจะทำอย่างไรดีให้ประชาชนคนไทยได้พัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาเด็ก พ่อแม่ ก็ไม่รู้ว่าลูกจะต้องทำอะไรได้ พ่อแม่นึกว่าลูกเก่งกว่าเด็กทุกคน จากการที่ได้ทำโครงการเรื่องสมรรถนะเลยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสมรรถนะเด็กจากจากยูนิเซฟมาพูดให้ฟัง จาก 38 ประเทศ นั่นหมายความว่า เด็กตามช่วงอายุต่างๆจะต้องทำสิ่งต่างๆได้ ตามสมรรถนะของเขา จนกระทั่งถึงอายุ 5 ปี เราพบว่าเด็กที่อ่านหนังสือจะมีสมรรถนะดี ซึ่งสามารถนำไปสอนในโรงเรียนได้ ครูต้องสังเกตเด็ก พ่อแม่ด้วย เพื่อให้ลูกได้พัฒนาสมรรถนะอย่างมีประสิทธิภาพ หากเราลงมือทำ กระบวนการจะเกิด จากนั้นจึงเริ่มคิดถึงวิถีที่แตกต่างจากตรงนี้ได้ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้ เพราะครูมีความสามารถอยู่แล้ว หากมีความรักในงานและใฝ่หาความรู้และเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้วอยู่ตลอดเวลา”
คุณรังสรรค์ วิบูลอุปถัมภ์ หัวหน้าฝ่ายการศึกษาองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “เรื่องการอ่านบ้านเราทำกิจกรรมเรื่องนี้มาพอสมควร โดยเฉพาะสภาการศึกษาทำส่งเสริมการอ่าน หรือ Bookstart เรามองว่าหนังสือสำหรับเด็กยังมีน้อยมาก ในกลุ่มเด็กเล็ก 3-5 ปี เพราะฉะนั้นการส่งเสริมการอ่านเราจึงควรช่วยกันให้มีมากขึ้น และหนังสือนิทานสำหรับเด็กสามารถเชื่อมโยงกับสมรรถนะได้อย่างดีมาก การลงทุนที่เริ่มตั้งแต่ปฐมวัยจะมีการตอบแทนด้านสังคมสูง”
การอ่านหนังสือร่วมกับเด็กตั้งแต่วัยเยาว์ นอกจากสร้างห้วงเวลาแห่งรอยยิ้มและความสุขแก่ทุกคนในครอบครัวแล้ว นิทานยังช่วยเติมเต็มความคิด พัฒนาทักษะทางภาษา และเสริมสร้างพฤติกรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย