“สองทศวรรษ ......สถาปัตย์เกษตร” AKU 20th Anniversary
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฉลองครบรอบ 20 ปี “สองทศวรรษ ...สถาปัตย์เกษตร”AKU 20th Anniversary โชว์ศักยภาพผู้นำสถาบันที่มี “การมุ่งมั่นสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม”
โดดเด่นด้านการวิจัย วิชาการและบูรณาการ องค์ความรู้ ในวิชาชีพด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมยั่งยืน และสภาพแวดล้อม ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เปิดตัว 20 AKU Green Project ต้นแบบการนำองค์ความรู้และทรัพยากรขององค์กรตอบแทนสังคม ประกาศรับสมัครโจทย์ความต้องการด้านการออกแบบจากประชาชนทั่วไปหน่วยงานภาครัฐ เอกชน 20 โครงการ มอบหมายบุคลากรในคณะฯสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตอกย้ำปรัชญาดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ “ความอยู่ดี กินดีมีสุข “ของประชาชนในประเทศด้วยศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรม คืนกลับสู่สังคมเพื่อก่อประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
ผศ.รัชด ชมภูนิช คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการและบุคลากรมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ของคณะไว้ว่า “เป็นผู้นำด้านการวิจัย วิชาการ และบูรณาการองค์ความรู้ในวิชาชีพด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมยั่งยืน และสภาพแวดล้อม ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนมีภารกิจในการจัดการเรียนการสอนในศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมและที่เกี่ยวข้องเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มีคุณธรรม จริยธรรมและความรับผิดชอบด้านวิชาชีพต่อสังคม และศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ตอบสนองการเรียนการสอน ด้านการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ซึ่งจะเห็นว่า ผลผลิตบัณฑิตของคณะจะถูกปลูกฝังและมุ่งเน้นผ่านการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัยให้มีจิตสำนึกที่ดีในการสงวนรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการออกแบบที่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและสังคมเป็นสำคัญ
“การเรียนการสอนของสถาปัตย์เกษตร นอกเหนือจากเนื้อหาในหลักสูตร รายวิชาที่เน้นการออกแบบ สถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืนตั้งแต่ชั้นปีต้นแล้ว ยังเน้นเติมเต็มความรู้ให้กับนิสิตรู้จักสภาพแวดล้อม ธรรมชาติ กายภาพรอบตัว เพื่อให้นิสิตเข้าใจกระบวนการว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมเข้าไปตั้งอยู่ หรือผสมผสานกับที่ตั้งและสภาพแวดล้อมได้อย่างไร และคณะฯยังสอนให้รู้จักดิน หิน ทราย ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติมากกว่า คอนกรีต เหล็ก กระจก ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเอกลักษณ์ของบัณฑิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับบัณฑิตจากสถาบันอื่นๆคือ การมุ่งมั่นสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม”
อย่างไรก็ตามเพื่อให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของสังคมโลกและเทคโนโลยีสารสนเทศ วงการสถาปัตยกรรมและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ใน 10 ปีต่อจากนี้จะได้รับผลกระทบจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังรวมไปถึงการเข้าสู่รูปแบบมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถือปัจจัยหลักที่คณาจารย์ นิสิตและบุคลากรแห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จำเป็นต้องการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและบทบาท ควบคู่กับความต้องการยกระดับมาตรฐานทางวิชาการของตนเองและสถาบันการศึกษาของตนให้เข้าสู่สากลด้วยการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย สินทรัพย์ทางปัญญา เพื่อการพัฒนาทักษะความรู้ของทุกภาคส่วน ผนวกเข้ากับการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้แหล่งทุนเพิ่มเติม พร้อมกับการแสวงหาเครือข่ายเพิ่มเติมจากภายในมหาวิทยาลัย จากสถาบันการศึกษาสถาปัตยกรรมในอาเซียน และหน่วยงานเอกชนภายนอก ซึ่งสามารถสรุปเป็น Roadmap ในอนาคตของคณะได้ดังนี้
• การได้รับการจัดงบประมาณ 167 ล้านบาทจากมหาวิทยาลัยในการก่อสร้างอาคารนวัตกรรมทางการออกแบบอุตสาหกรรม จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสรรค์หลักสูตรใหม่ของคณะ (ออกแบบอุตสาหกรรม) เพื่อเป็นการต่อยอดการเติมเต็มความรู้และสร้างสรรค์ผลงานด้านการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมในแง่มุมของผลิตภัณฑ์และบริการ ที่มีส่วนสำคัญในการบูรณาการองค์ความรู้เข้ากับสรรพวิชาอื่นๆ ภายในมหาวิทยาลัย
• การสร้างเครือข่ายความรู้ผ่านการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในการนำศักยภาพและจุดแข็งขององค์กรออกไปเผยแพร่สู่โลกภายนอก ควบคู่ไปกับการผสมผสานองค์ความรู้เหล่านี้เพื่อให้เกิดเครือข่าย หลักสูตร กิจกรรมความร่วมมือด้านต่างๆ และการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง และเพื่อสร้างโอกาสในทางวิชาการและวิชาชีพให้แก่คณาจารย์และนิสิตต่อไป
• การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ยังมีมิติที่สำคัญคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนและสังคมด้วยการแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อพี่น้องประชาชนในสังคม การผนวกรวมแนวทางการออกแบบเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุในชุมชน การสร้างสุขภาวะที่ดีในเมืองและชุมชน เป็นประเด็นโจทย์จากสังคมที่คณะสามารถใช้เป็นเวทีฝึกปฏิบัติให้กับทั้งคณาจารย์และนิสิตได้อย่างมากมาย อีกทั้งการเรียนรู้จากชุมชนยังถือเป็นโอกาสอันดีที่จะนำองค์ความรู้จากชาวบ้านเหล่านั้นมาเผยแพร่สู่สาธารณะเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศต่อไป
• การสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) เป็นภาระหน้าที่สำคัญอีกประการที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้ศาสตร์ด้านการออกแบบเพื่อสภาพแวดล้อมกับการปรับปรุงมหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ ควบคู่ไปกับการออกแบบอาคารและการปรับปรุงอาคารเพื่อการประหยัดพลังงานของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยได้อย่างมากมาย รวมทั้งยังสามารถลดงบประมาณด้านพลังงานที่ถูกใช้ไปอย่างเปล่าประโยชน์เป็นจำนวนมาก
• จากการออกแบบทางกายภาพเป็นตัวอาคารสถาปัตยกรรม และการออกแบบสภาพภูมิทัศน์แวดล้อมที่เคยกระทำอยู่เดิม โอกาสในการสร้างสรรค์ผลงานจากจินตนาการและองค์ความรู้ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ยังมีอีกมากมาย อันเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และหน่วยงานภายในจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อมุ่งหาช่องทางหารายได้เพิ่มเติมจากทรัพยากรที่มีอยู่ ดังนั้น กลไกในการสร้างการธุรกิจบริการในรูปแบบต่างๆ ด้วยการออกแบบ (Design & Service) และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการออกแบบ (Value Added by Design) ที่เกิดขึ้นได้ทั้งจากการพัฒนารูปแบบธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์เดิม (อาทิ การออกแบบ พื้นที่เพื่อการหารายได้ของหน่วยงานต่างๆ และการปรับปรุงงานเกษตรแฟร์) ไปจนถึงการสร้างธุรกิจใหม่จากความคิดสร้างสรรค์ จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญของการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าใหม่ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
20 AKU Green Projects มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณที่มาจากเงินภาษีอากรของพี่น้องประชาชน ดังนั้นการใช้องค์ความรู้และทรัพยากรขององค์กรตอบแทนกลับสู่สังคมถือเป็นภารกิจหลักประการหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม ควบคู่ไปกับการใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบออกเผยแพร่และสร้างความรู้ ความเข้าใจในวิชาชีพสถาปัตยกรรมผ่านปัญหาใกล้ๆ ตัว แนวทางดังกล่าวจะเริ่มจากการประกาศรับสมัครโจทย์และความต้องการทางการออกแบบจากประชาชนทั่วไป หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวน 20 โครงการ เพื่อนำมาพิจารณาคัดเลือกและมอบหมายสู่คณาจารย์และนิสิตในแต่ละสาขาวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาดังกล่าว และใช้กระบวนการทางการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัยระหว่างภาคการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความต้องการดังกล่าวร่วมกับเจ้าของปัญหา ภายใต้กรอบแนวคิดการสร้างสรรค์
สถาปัตยกรรมและการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม จนได้ผลงานขั้นสุดท้ายที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็น บ้านพักอาศัยขนาดเล็ก อาคารที่อยู่อาศัยและอาคารสาธารณะขนาดกลางและเล็ก การออกแบบภูมิทัศน์รูปแบบต่างๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อเป็นการตอบแทนคืนกลับสู่สังคมเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป