กระทรวงพลังงานรับมือแหล่งก๊าซเจดีเอหยุดซ่อม
ซักซ้อมเตรียมป้องกันไฟดับภาคใต้
กระทรวงพลังงานไม่ประมาทเรียกประชุมคณะทำงานติดตามการบริหารเชื้อเพลิง เพื่อเตรียมความพร้อมกรณีแหล่งผลิตก๊าซในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือเจดีเอ จะหยุดซ่อมบำรุงช่วงกลางปีนี้โดยวางมาตรการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันไม่ให้เกิดไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ ขณะเดียวกันไม่กังวลช่วงสงกรานต์ที่แหล่งก๊าซบงกชจะหยุดซ่อมบำรุงเพราะมีเชื้อเพลิงอื่นทดแทนเพียงพอ นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เรียกประชุมคณะทำงานติดตามการบริหารเชื้อเพลิง เพื่อหารือถึงการหยุดซ่อมแหล่งก๊าซ ๒ แหล่งหลักในปีนี้ ทั้งแหล่งบงกชในช่วงระหว่างวันที่ 10-27 เมษายน 2557 และแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยและมาเลเซีย (เจดีเอ) ที่จะปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2557 ทำให้โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ซึ่งอาศัยก๊าซฯจากแหล่งดังกล่าวเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตต้องหยุดเดินเครื่อง เพราะไม่สามารถใช้เชื้อเพลิงอื่นทดแทนได้ และทำให้ไฟฟ้าหายไปจากระบบถึง 700 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน มีความเป็นห่วงสถานการณ์ โดยเฉพาะจากแหล่ง JDA และไม่ต้องการให้เกิดกรณีไฟฟ้าดับ 14 จังหวัด ซ้ำกับปีที่แล้ว จึงได้มีการติดตาม และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับขึ้น โดยจากการหารือกันนี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็ได้รายงานถึงมาตรการรองรับ โดยมีการปรับแผนตรวจสอบและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าภาคใต้ รวมถึงไม่ให้มีการหยุดบำรุงรักษาช่วงที่แหล่งเจดีเอปิดซ่อม อีกทั้งยังมีการเตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าภาคใต้ทุกเครื่อง อาทิ โรงไฟฟ้ากระบี่ได้ทดสอบให้เดินเครื่องเต็มกำลังผลิต 24 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลา 14 วัน เพื่อมาช่วยเสริมไฟฟ้าในระบบ ทดแทนโรงไฟฟ้าจะนะ นอกจากนี้ กฟผ. ได้มีการตรวจสอบอุปกรณ์ระบบส่ง และระบบป้องกันให้มีความพร้อมใช้งาน โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2557 ขณะเดียวกัน ก็ได้ประสานงานจัดเตรียมแผนย้ายโหลดหรือแผนดับไฟร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย ส่วนการดึงไฟฟ้าจากภาคกลางลงมาเสริมนั้น กระทรวงพลังงานได้หารือกับ กฟผ.ให้ส่งไฟฟ้าจากภาคกลางในปริมาณรองรับมาตรฐานความมั่นคงด้านไฟฟ้า โดยไม่กระทบกับภาคกลาง โดยคาดว่าจะมีการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางเข้าระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ ปริมาณ 700 เมกะวัตต์ ซึ่งโดยปกติภาคใต้ก็ต้องรับไฟฟ้าจากภาคกลางอยู่แล้วประมาณ 500 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นสามารถจัดส่งได้เพิ่ม โดยสามารถนำเข้าได้สูงสุดที่ 1,050 เมกะวัตต์ ด้านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท. ก็ได้เตรียมความพร้อมการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยมีการติดตามความคืบหน้าการทำงานของผู้ผลิตแหล่งเจดีเอ รวมถึงได้วางแผนการทำงานของแหล่งผลิตในอ่าวไทยแหล่งอื่นๆ และสหภาพเมียนมาร์ไม่ให้ตรงกับช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้งยังมีการเตรียมปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง เช่น น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของโรงไฟฟ้าในภาคใต้ด้วย “กฟผ. ได้ประเมินว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้สูงสุดในในช่วงที่จะมีการหยุดซ่อมบำรุงอยู่ที่ประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ การปิดซ่อมแหล่งก๊าซเจดีเอครั้งนี้ ส่งผลให้ไฟฟ้าหายไปจากระบบถึง 700 เมกะวัตต์ อาจทำให้ประชาชนเกิดความกังวลว่าไฟฟ้าจะดับ ซึ่งจากข้อมูลกำลังการผลิตไฟฟ้าภาคใต้ของ กฟผ. แม้ว่าโรงไฟฟ้าจะนะจะไม่สามารถเดินเครื่องได้ แต่ก็มีแนวทางการบริหารจัดการด้านอื่นๆ เพื่อให้ภาคใต้มีไฟฟ้าเพียงพอ นอกเหนือจากการจัดส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) หารือและขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่มีเครื่องผลิตไฟฟ้าสำรองภายใต้การกำกับของ พพ. เพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความจำเป็น ส่วนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ก็ให้ไปจัดเตรียมมาตรการรณรงค์เพื่อการประหยัดพลังงาน ด้านกรมธุรกิจพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัดก็ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย” นายสุเทพ กล่าว สำหรับในช่วงเดือนเมษายน 2557 ที่มีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชนั้น กระทรวงพลังงานเห็นว่าไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานมาก เพราะได้เตรียมการล่วงหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว โดยทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เจรจากับแหล่งบงกชเพื่อลดจำนวนวันในการหยุดซ่อมลงเหลือเพียง 18 วัน จากเดิมกำหนดหยุดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2557 เป็นหยุดซ่อมตั้งแต่วันที่ 10 - 27 เมษายน 2557 เท่านั้น นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวก็ไม่อยู่ในช่วงพีค หรือช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด รวมทั้งทาง กฟผ.ได้เตรียมการรองรับด้านการจัดหาเชื้อเพลิงสำรอง อาทิ น้ำมันเตา ไว้พร้อมใช้งานสำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน