happy on March 13, 2014, 05:06:50 PM
วศ. /ก.วิทย์ฯ  จับมือ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เปิดโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มสู่การรับรองมาตรฐาน รองรับอาเซียน


               “ปลาส้ม” เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประเภทผลิตภัณฑ์อาหารหมัก ที่ประชาชนนิยมบริโภคมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคกลาง แต่ผู้ประกอบการประสบปัญหาในเรื่องการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ เกิดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์และสารเคมีที่อาจเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค อีกทั้งมีรสชาติไม่คงที่สม่ำเสมอ ส่งผลให้ผู้ประกอบการปลาส้มอีกหลายรายยังไม่สามารถขอการรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ได้ เนื่องจากคุณภาพของปลาส้มยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดจึงไม่ผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานของ มผช.

               นางสุมาลี  ทั่งพิทยกุล รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานเปิดโครงการและแถลงข่าวโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มสู่การรับรองมาตรฐานในพื้นที่จังหวัดยโสธร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ดวันพฤหัสบดีที่ ๑๓  มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๗  ณ ห้องอมราวดี ๒ โรงแรมเดอะกรีนพาร์ค  จ. ยโสธร

               นางสุมาลี  ทั่งพิทยกุล รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ  กล่าวว่า  รัฐบาลมีนโยบายการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ประเทศ กรมวิทยาศาสตร์บริการ  กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีส่วนรับผิดชอบในการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีส่งเสริมผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP)  ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายศักยภาพทางการค้า รวมถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคจึงจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มสู่การรับรองมาตรฐาน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดยโสธร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น หนองบัวลำภู และชัยภูมิ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและถ่ายทอดเทคโนโลยีในเชิงลึก เรื่องการถนอมอาหาร การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพกระบวนการผลิต การพัฒนาสถานที่ผลิตแก่ผู้ประกอบการ และการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ในห้องปฏิบัติการมาตรฐาน (pre-test) ก่อนยื่นขอการรับรองมาตรฐาน  รวมทั้งติดตามผลการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มเป็นระยะ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ปลาส้มมีคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐานต่างๆ เช่น มาตรฐานกระบวนการผลิตที่ดีขั้นต้น (primary GMP) มาตรฐานกระบวนการผลิตที่ดี (GMP) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารและยา (อย.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

               นายร่องกี้  พลเยี่ยม พัฒนาการจังหวัดยโสธร  ได้กล่าวถึง  การร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับกรมวิทยาศาสตร์บริการครั้งนี้  จะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพฐานการผลิตของกลุ่มจังหวัดยโสธร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ให้แข็งแกร่ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  เชื่อมโยงกับฐานการผลิตของท้องถิ่น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนบนพื้นฐานองค์ความรู้ภูมิปัญญาไทย   ทำให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับชุมชนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ในชุมชน  รวมทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยทั่วไป ที่จะได้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่สะอาด และปลอดภัยอีกด้วย  ที่สำคัญยังก่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน เริ่มจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  อุตสาหกรรมจังหวัด กระทรวงอุตสาหกรรม  ผู้ดูแลมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน  สาธารณสุขจังหวัด  กระทรวงสาธารณสุข ผู้ดูแลมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารและยา   และพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ผู้ดูแลสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาส้มให้ได้มาตรฐานการผลิต
เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม  อย่างยั่งยืน


               รศ.ดร. อนุชิตา มุ่งงาม คณะบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นที่ปรึกษา โครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มสู่การรับรองมาตรฐาน ในพื้นที่จังหวัดยโสธร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด  จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการให้บริการแก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญได้พัฒนาการให้บริการรองรับหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้ม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตกันอย่างแพร่หลายและมีชื่อเสียงของภาคอีสาน เพื่อให้ได้มาตรฐาน จะดำเนินการให้ความรู้ ช่วยเหลือ ปรับปรุง แก้ไข พัฒนากระบวนการผลิต ณ สถานที่ผลิตเพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน รวมทั้งเก็บตัวอย่างวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ เพื่อการตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐาน ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  จนกระทั่งแน่ใจว่าผู้ผลิตสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ปลาส้มได้ตามมาตรฐาน ในขั้นสุดท้ายจะช่วยเหลือ แนะนำการยื่นขอมาตรฐานกับหน่วยงานที่ให้การรับรอง ถือว่าเป็นกระบวนการที่ครบวงจรในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มให้ได้มาตรฐานอย่างยั่งยืน และจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งเกิดความร่วมมือกับหน่วยราชการต่างๆ เพื่อบรรลุพันธกิจในการให้บริการแก่ประชาชนอีกทั้งยังทำให้เกิดการบูรณาการด้านการวิจัย และการเรียนการสอนเข้ากับการบริการวิชาการ ที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่องจากปัญหาหรือโจทย์วิจัยจากโครงการบริการวิชาการในครั้งนี้ และยังใช้เป็นตัวอย่างให้กับนักศึกษาในการเรียนการสอน และให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริงกับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ในชุมชนอีกด้วย


               นายประสาน  สงนวน ประธานกลุ่มอาชีพทำปลาส้มบ้านตะคู  จ. มหาสารคาม  ได้ให้ข้อมูลหลังการเข้าร่วมประชุม ว่า  การเข้าร่วมประชุมของกลุ่มในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มได้พบกับนักวิชาการ จากภาคราชการ การลงพื้นที่จะได้มาดูว่าเรามีการผลิตอย่างไร มีจุดที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างไร  ช่วยให้กลุ่มสามารถแก้ปัญหา  เป็นประโยชน์ที่จะทำให้สินค้าปลาส้มของกลุ่มสามารถนำไปขอมาตรฐานอย่าง อย. หรือ มผช. ได้ ขณะนี้กลุ่มมีสมาชิก 11  คน แต่มีการผลิตสินค้าปลาส้มเพิ่มขึ้นซึ่งถ้าเราสามารถพัฒนาให้คนยอมรับว่าสินค้าเราดี มีคุณภาพและปลอดภัยจะทำให้จำหน่ายได้ดีขึ้นและกลุ่มจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

               ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดการประชุมและอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มสู่การรับรองมาตรฐาน ในพื้นที่จังหวัดยโสธร มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ” เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ปลาส้มสู่การรับรองมาตรฐาน ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน พร้อมให้บริการแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ปลาส้ม เพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ปลาส้มให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และยกระดับไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ในอนาคต  การประชุมฯ จัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 13 เดือนมีนาคม 2557 ณ ห้องอมราวดี 2  โรงแรมเดอะกรีนพาร์ค  จ. ยโสธร  มีผู้ประกอบการปลาส้มเข้าร่วมประชุมและฝึกอบรมกว่า 80 คน

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call center กรมวิทยาศาสตร์บริการ 02-201-7555 หรือ 0-2201-7109  อาภาพร สินธุสาร  www.dss.go.th และ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม   ดร. สุมลวรรณ  ชุ่มเชื้อ
« Last Edit: March 16, 2014, 06:08:51 PM by happy »