MSN on February 21, 2014, 02:01:14 PM
สามัคคีศิลป์และพุทธศิลป์ร่วมสมัย ณ “วิหารเทพวิทยาคม” ถ่ายทอดเรื่องราวธรรมะจากพระไตรปิฎก ผ่านประติมากรรมเซรามิกจำนวนชิ้นมากที่สุดในโลก





ถ้าใครเคยไปวัดบ้านไร่ หรือวัดหลวงพ่อคูณ จ.นครราชสีมา ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คงต้องตื่นตาไปกับสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ของ “วิหารเทพวิทยาคม” อุทยานธรรมกลางน้ำที่เรียกว่าอลังกาล...งานสร้างอย่างมาก แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือการรวมใจของศิลปินและชาวบ้านมากกว่า 500 ชีวิต ที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานพุทธศิลป์ล้ำค่า เพื่อบอกเล่าเรื่องราวธรรมะในแบบที่เข้าใจง่ายสู่พุทธศาสนิกชนผ่านงานสถาปัตยกรรมเชิงประติมากรรม/จิตรกรรม และเซรามิก ที่รวบรวมศิลปะไว้ถึง 4 แขนง ได้แก่ จิตรกรรม,ประติมากรรม,เซรามิกและวิศวกรรม รวมเรียกว่า “สามัคคีศิลป์”

“กรรมกรทางศิลปะและจิตวิญญาณ” คำพูดที่ดูถ่อมตัวของ เพี้ยง-สัมพันธ์ สารารักษ์ ผู้ออกแบบและที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรมศิลปะของวิหารเทพวิทยาคม วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา ที่มาบอกเล่าเรื่องราวก่อนเข้ามารับหน้าที่หัวเรือใหญ่ด้านการถ่ายทอดเรื่องราวของพระไตรปิฎกผ่านงานศิลปะร่วมสมัย

   “ชีวิตนี้ไม่เคยทำงานด้านการออกแบบอะไรเลย ขนาดตัวเองยังไม่ออกแบบเลยเพราะเราเป็นจิตรกรทำงานวาดรูปเป็นหลัก ไม่มีความสามารถด้านสถาปัตย์ แต่เมื่อคุณเกรียงไกร จารุทวี ท่านรองประธานกรรมการวัดบ้านไร่ ที่เราคุ้นเคยและรู้จักเป็นอย่างดีมากว่า 20 ปี เป็นดั่งพ่อที่ค่อยชี้แนะเมตตาให้ในทุกด้านท่านบอกว่าอยากจะสร้างสถาปัตยกรรมอะไรสักอย่างเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ. นครราชสีมา หรือเป็นแห่งแรกในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ โดยมีโจทย์หลักที่อยากให้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมะที่เข้าใจง่ายๆ ซึ่งก็คิดว่าเราน่าจะออกแบบได้แต่จะสร้างได้หรือเปล่าตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำ เพราะเราเองไม่มีความรู้ด้านสถาปัตย์ ก็เริ่มลงมือเขียนแนวคิดแบบร่างกันเป็นร้อย ๆ รูปเลยทีเดียว กว่าจะสรุปและให้เขาปั้นโมเดลขึ้นมาได้ แต่ที่หนักกว่านั้นก็คือเรื่องราวของธรรมมะนี่สิเพราะเป็นเรื่องที่ห่างตัวเรา หรือเรียกง่ายๆว่าศิลปินเองก็ไม่ค่อยได้สนใจเท่าไหร่ แต่ยังโชคดีที่มีโอกาสถือว่าบุญยังมีเลยได้ทำ”

ศิลปินทุกคนต้องอ่านพระไตรปิฎก

“ใช่...พวกเราทุกคนต้องอ่านพระไตรปิฎกก่อนเพื่อให้เข้าใจความหมายและสามารถสร้างสรรค์งานศิลป์ที่จะถ่ายทอดออกมาอย่างถูกต้อง ช่วงแรกก็อาจจะยากหน่อย เพราะต้องอ่านพระไตปิฎกเป็นเล่มๆ หนาเตอะ แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะหากไม่เข้าใจมันก็สร้างสรรค์งานออกมาเป็นรูปเป็นร่างไม่ได้ ดีอย่างที่สมัยเรียนเป็นคนชอบสะสมหนังสือพระ หนังสือธรรมมะต่างๆ เวลาคุยกับเพื่อนก็ต้องอ่านบ้างจะได้คุยกันได้ ปกติผมไม่ชอบอ่านหนังสือแต่ผมชอบซื้อหนังสือ ซื้อมาเก็บไว้ อ่านนิดๆหน่อยๆ ซึ่งพอได้รับมอบหมายงานนี้ ผมถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่ได้ทำงานที่ชอบและได้ฝึกฝนทำความเข้าใจในหลักธรรมะมากขึ้น ”

สิ่งสำคัญของงานนี้ คือ การจัดวางดีไซน์ศิลปกรรมเพื่อร้อยเรียงเรื่องราวให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักธรรมของพระไตรปิฎก เรียกว่าทั้งออกแบบดีไซน์และลงมือวาดด้วย ส่วนงานนี้จะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่มีการร่วมมือร่วมใจของพลพรรคศิลปินเพื่อนพ้องน้องพี่ ลูกศิษย์ลูกหาที่มาช่วยกันจนก่อเกิดเป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่สวยงาม ทั้งงานภาพเขียน เซรามิก จิตรกรรม วิศวกรรม และปฏิมากรรมถือเป็นความภูมิใจมากที่  “วิหารเทพวิทยาคม” จะเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนาที่ทุกคน ประชาชนทุกคน เด็กๆไปจนคนเฒ่าคนแก่ ก็สามารถเข้าถึงหลักธรรมในพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น

ด้าน “ขุนสว่าง อนุศิลป์”ผู้ควบคุมดูแลงานประติมากรรมทั้งหมดของวิหารเทพฯ บอกเล่าถึงความประทับใจผ่านสายตาที่มุ่งมั่นว่า “มันเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างท้าทาย เริ่มแรกเกิดจากความเชื่อใจเพื่อนคือคุณเพี้ยงที่นำภาพสเก็ตมาให้ผมขยายเป็นโมเดล เป็นรูปสามมิติก่อนนำมาสร้างจริง ซึ่งแต่ละงานมันก็มีอุปสรรค์บ้างแต่มาทำปูนปั้นที่วิหารเทพฯ นี้ อุปสรรคกลับน้อยมาก เราใช้เทคนิคงานปั้นสด คือใช้ปูนซีเมนต์ปั้นสด สิ่งที่น่ากลัวคือฝน หากตกลงมาจะโทษใครก็ไม่ได้มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ แต่ที่น่าอัศจรรย์คือตอนผมกำลังปั้นเห็นฝนมาดำมืดไปหมด คิดว่าต้องตกแน่แต่สุดท้ายไม่ตกไปตกรอบ ๆ วิหารเทพฯ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวเกิดขึ้นหลายครั้งมาก ซึ่งถือเป็นบุญญาธิการของหลวงพ่อคูณ เพราะถ้าฝนตกก็ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ ผมภูมิใจมากที่ได้สร้างศิลปะร่วมสมัยแห่งรัตนโกสินทร์ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ในความหมายคือ รวมทุกอย่างที่เป็นศิลปะที่สัมผัสได้...ก้าวแรกการเดินทางมันค่อนข้างน่ากลัว ยากและลึกซึ้งตรงนี้มีความหมายในหลักธรรมที่มาช่วยพยุง เพราะคนทำงานศิลปะมันสามารถทะเลาะกันได้ง่าย ๆ แต่เพราะมีหลักธรรมศิลปินทุกคนที่นี้จึงอ่อนน้อมและผ่อนปรน อภินิหารเกิดขึ้นได้จากความศรัทธา”

ความอลังกาลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาด “ธีระพงศ์ ทับทิม” ผู้เชี่ยวชาญด้านเซรามิกหนึ่งใน 5 ของผู้ดูแลควบคุมการจัดวางเซรามิก  “เสน่ห์ของเซรามิกไม่มันไม่เหมือนใคร ความสวยงามเกิดจากการเรียงร้อยของวัสดุเคลือบเงาชิ้นเล็กก่อเกิดเป็นรูปต่างๆ ตามจินตนาการที่วางไว้มันดูพิเศษและนุ่มนวลยามต้องแสงอาทิตย์ ซึ่งที่วิหารเทพฯนี้ ต้องบอกก่อนเลยว่าเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกคนจริงๆ โดยเฉพาะชาวบ้านละแวกนี้ที่มาเรียนรู้การติดเซรามิกซึ่งทุกคนตั้งใจมาก เพื่อทำถวายหลวงพ่อคูณ มันมันใช่เล็กๆ แต่ใช้เซรามิกรวมๆมากขนาด 180 ตันเลยทีเดียว หรือราวๆ 20 ล้านชิ้นได้ ซึ่งตอนแรกไม่เชื่อว่าจะออกมาแบบนี้มันเกินความคาดหมายสวยงามอลังกาลและจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมะของทุกคนให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ที่นี้สอนธรรมะขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างน้อยมาที่นี้ได้กลับไปข้อหนึ่งก็ยังดี”

ปิดท้ายกับผู้ดูแลและควบคุมงานโครงสร้างทั้งหมด ช่างนัท-สมยศ แพผึ้ง“วิหารเทพวิทยาคมสร้างขึ้นมาโดยไม่มีแบบสถาปัตย์มีแต่แบบโครงสร้าง โดยจะขึ้นรูปมาจากโรงงานที่กรุงเทพบางส่วน แล้วนำมาปรับให้ได้ขนาดและรูปแบบที่หน้างานอีกครั้งหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ให้มันลงตัวและสมบูรณ์ อย่างชั้นที่ 1 จะไม่มีแอร์จะใช้วิธีธรรมชาติให้ลมไหลเวียนเพื่อสร้างความเย็น แล้วหลังคาก็เป็นรูปกลีบมะเฟืองที่รับลมได้เยอะถ่ายเทเร็ว ตอนนี้โครงสร้างทั้งหมดของวิหารเทพวิทยาคมเสร็จ 100%แล้วตอนนี้จะเป็นการพัฒนาพื้นที่รอบนอก คือในส่วนของสถานที่นั่งพัก, หมู่บ้านศิลปิน ฯลฯ ซึ่งผมว่าใครที่ได้มาที่นี้ชอบธรรมมะ ชอบถ่ายภาพ ความสวยงามของแต่ละมุมเพื่อเก็บเกี่ยวและบันทึกความทรงจำ รับรองว่าใช้เวลาวันเดียวไม่พอแน่นอนครับ”

สายธารแห่ง “สามัคคีศิลป์”เก็บเกี่ยวบุญเป็นพุทธบูชา

“ผมและเหล่าคณะทำงานรู้สึกดีใจมาก ที่คนศิลป์ต่างรวมตัวมาช่วยกันเยอะขนาดนี้ ผมมีหน้าที่ควบคุมดูแลในเรื่องของเนื้อหารูปแบบศิลปกรรมเทคนิค ทิศทางเรื่องราวต่างๆ ที่มาจากพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ต้องมีเนื้อหาควบคุมหมด จุดเด่นก็คือการทำให้ศิลปะที่นี่เกิดขึ้นแบบไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอาชีพหรือน้องใหม่ นักศึกษา หรือน้องๆระดับเด็กนักเรียน เพียงแต่ตั้งใจและอยากมาสร้างงานร่วมกัน แม้กระทั่งชาวบ้านไร่ในชุมชน ที่พวกเราสอนเค้าติดเซรามิกต่างๆ นับสิบล้านชิ้นลงบนวิหาร ด้วยจิตศรัทธาเป็นพุทธศิลป์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อย่างน้อยก็เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับการเก็บเกี่ยวบุญด้วยศิลปะเป็นธรรมบูชาที่จะมีโอกาสซึมซับหลักธรรมทางศาสนาเข้าจิตใจไปด้วยในตัว ภายใต้ความสมัครสมานร่วมใจกัน หรือเรียกได้ว่าสามัคคีศิลป์” คุณเพี้ยง กล่าวปิดท้าย

วิหารเทพวิทยาคม  วัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา  สถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาและวัฒนธรรม เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมมะที่เข้าใจง่าย ผ่านงานศิลป์ร่วมสมัย..ที่ต้องเห็นด้วยตา  เข้าถึงด้วยใจ
« Last Edit: February 21, 2014, 02:12:44 PM by MSN »

MSN on April 09, 2014, 07:22:20 PM




“วิหารเทพวิทยาคม” ที่ได้มาจากแรงศรัทธา พร้อมสร้างงานและอาชีพให้ชาวบ้านในชุมชน
   “วิหารเทพวิทยาคม” จ.นครราชสีมา หนึ่งในประติมากรรมเซรามิกที่จะเรียกว่าใหญ่ที่สุดในระดับเอเชีย หรือติดอันดับโลกเลยก็ว่าได้ เพราะใช้เซรามิกมากถึงกว่า 100 ตันทีเดียว ในขณะที่มีแรงงานกว่า 500 ชีวิต มาร่วมแรงร่วมใจในการก่อสร้าง พร้อมบรรจงติดเซรามิกชิ้นเล็กๆ นับล้านๆ ชิ้น ก่อให้เกิดเป็นรูปร่างของอาคารแบบปฏิมากรรมศิลป์อันอลังกาลได้ขนาดนี้  ในขณะที่ วิหารเทพฯ แห่งนี้ไม่ได้อยู่ที่ขนาดเท่านั้นที่น่าสนใจ แต่ยังมีความงดงามแปลกตาด้วยพุทธศิลป์แนวใหม่ที่ถ่ายทอดผ่านสายตาของศิลปินออกมาให้เข้าใจ และเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างง่าย ๆ  แน่นอนสถานที่แห่งนี้จะแล้วเสร็จไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่ด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านในชุมชนรอบๆ วิหารเทพวิทยาคม ที่พวกเขาเหล่านั้นมีต่อพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และความเชื่อมั่นศรัทธาต่อหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ผู้ดำริให้สร้างแหล่งเรียนรู้ธรรมะจากพระไตรปิฏกผ่านงานศิลปะอันวิจิตรตระการตาแห่งนี้ขึ้น ณ วัดบ้านไร่
   งานเซรามิกที่ปรากฏความสวยงาม ความประณีตในการสร้างสรรค์ให้มีความกลมกลืนเหมือนภาพวาด   เกิดจากบุคคล 5 คน ได้แก่ คุณเชิดชัย เทียมทะนงค์  เป็นหัวหน้าทีมเซรามิก นอกนั้นมีผู้เชี่ยวชาญอีก 3 คน คือ คุณธิติพงศ์ ทับทิม, คุณกิตติกานต์ สุขสถาน และคุณอำนาจ  จันทร์ลอย สำหรับในเรื่องรูปแบบ เรื่ององค์ประกอบสีเซรามิก  ควบคุมและกำกับโดยคุณสัมพันธ์ สารารักษ์ 
-   ชาวบ้านขยัน ใส่ใจ พร้อมเรียนรู้ การติดเซรามิกจึงไม่ยาก
   “ธิติพงศ์ ทับทิม” ผู้เชี่ยวชาญด้านเซรามิกหนึ่งใน 5 ของผู้ดูแลควบคุมการจัดวางเซรามิก บอกเล่าถึงความภูมิใจในการทำงานครั้งนี้ว่า “การติดเซรามิกนั้นไม่ยาก จะติดตามแบบที่ช่างจิตรกรรมวาดไว้ แต่คนติดนั้นต้องมีจินตนาการ ต้องรู้ว่ารูปทรง, สีมันเป็นยังไง ซึ่งครั้งแรกต้องสอนวิธีการติด โดยเราก็จะขีดเป็นเส้นให้เขาว่าต้องใช้สีอะไรตรงไหน  พอทำไปเรื่อยๆ เขาก็จะทำเป็น ดูแบบเป็นและเริ่มชำนาญ ซึ่งต้องยกนิ้วให้ชาวบ้านทุกคนเลยที่มาทำ เพราะว่าชาวบ้านที่นี่ เขาขยันมาก เอาใจใส่กับงาน และพร้อมเรียนรู้งานตลอดสองสามปีที่ผ่านมา แม้ว่าขณะนี้วิหารเทพฯ           จะสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทางคุณเกรียงไกร จารุทวี รองประธานวัดบ้านไร่ ท่านก็เป็นห่วงชาวบ้านอยากให้มีงานทำกันไปเรื่อยๆ จึงคิดริเริ่มที่จะนำเศษเซรามิกมาทำเป็นของตกแต่งบ้าน หรือ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถสร้างงาน สร้างรายต่อไปได้ ให้มีอาชีพหลักหรือเสริมก็แล้วแต่บุคคล ที่สำคัญคือพวกเค้าไม่ต้องไปทำงานไกลจากบ้านเกิดอีกต่อไป”
-   เศษเซรามิกจากวิหารเทพฯ หนึ่งเสน่ห์ของเฟอร์นิเจอร์เซรามิก ชิ้นเดียวในโลก
“กิตติกานต์ สุขสถาน” หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ เรี่ยวแรงสำคัญด้านงานเซรามิก เล่าถึงเสน่ห์ของเฟอร์นิเจอร์เซรามิกที่ถูกผลิตขึ้นจากฝีมือชาวบ้านตั้งแต่ขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้าย “เฟอร์นิเจอร์เซรามิกที่นี่ไม่เหมือนใคร และไม่แพงเพราะนอกจากจะได้เฟอร์นิเจอร์ที่แปลกและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว แต่ละชิ้นงานที่ออกไปล้วนแต่เกี่ยวเนื่องกับวิหารเทพฯ ทั้งสิ้น อาทิ ลายนักษัตร, ลายปลาคาร์ฟ, ลายดอกไม้ ฯลฯ และที่พิเศษสุดคือเซรามิกที่นำมาติดลงบนเฟอร์นิเจอร์เป็นเศษเซรามิกที่นำมาจากวิหารเทพฯ จึงมีความขลัง มีความศรัทธาของทุกคนที่ได้ร่วมกันสร้างวิหารเทพฯ อยู่ทุกชิ้นงาน และมั่นใจได้ว่าเป็นงานชิ้นเดียวไม่ซ้ำใคร แต่ละชิ้นจะถูกระบุซีเรียลนัมเบอร์ไว้ด้วย นอกจากนี้ยังถือเป็นการสร้างงานให้กับชาวบ้านตามเจตนารมย์ของหลวงพ่อคูณด้วย”

-   ความภูมิใจที่ได้ร่วมบุญกับ “หลวงพ่อคูณ”
   “ต่าง พิงขุนทด”  ชาวบ้านที่มาร่วมติดเซรามิกบอกเล่าถึงถึงการทำงานด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “ป้ามาเริ่มทำงานติดเซรามิกให้กับทางวิหารเทพวิทยาคมครั้งแรก เริ่มจากส่วนของหัวพญานาค ทำเสร็จแล้วก็ต่อด้วยติดหางพญานาค, หลังคาก็ขึ้นไปติดไล่ทำมาเรื่อยๆ  ซึ่งป้าว่ามันก็ไม่ยากเท่าไหร่นะ เขาจะมีแบบมาให้ดูว่าตรงไหนสีอะไรป้าก็ติดตามแบบ บางทีก็ติดตามจินตนาการเอาบ้าง แถมยังได้ฝึกสมาธิด้วยนะ เพราะการติดแต่ละชิ้น มันก็ชิ้นเล็กชิ้นน้อย    ที่ต้องค่อยๆ ติดไปอย่าใจร้อน ส่วนที่ติดยากที่สุด ป้าว่า...น่าจะเป็นบนหลังคา เพราะมันสูง ต้องปีนนั่งร้านขึ้นไป นั่งติดเราก็กลัวหล่นเหมือนกัน แต่ก็ไม่เคยมีใครตกลงมานะ อาจเพราะทุกคนมาทำด้วยใจ นอกจากเงินที่ได้แล้ว ป้าภูมิใจมากๆ นะที่ได้มีส่วนร่วมทำบุญกับหลวงพ่อคูณ ภูมิใจมากที่ได้มาทำตรงนี้ อีกอย่างก็ปลื้มนะ ที่ผู้ใหญ่ใจดีอย่าง คุณเกรียงไกรเดินมาดูเราทำงานแล้วก็ชมว่าเราติดสวย ยิ่งเวลาลูกหลานแวะมาเที่ยวป้าก็ชี้ให้ดูว่าแม่เป็นคำทำตรงนี้ตรงนั้นมันก็ทำให้ยิ้มได้”
   “รามัญ เลิศขุนทด” บอกเล่าแบบเขินอายเสน่ห์แบบชาวด่านขุดทดว่า “ติดเซรามิกจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่าย     ก็ง่ายครับ แล้วแต่ว่าติดตรงส่วนไหน อีกอย่างผมไม่เคยรู้เรื่องศิลปะเลย การใช้สีจับคู่สีก็ไม่ค่อยถูก ก็ต้องอาศัยทำตามแบบเขาเอา แต่ก็ทำได้ครับไม่ยากเกินความสามารถ แม้ว่ากว่าจะติดได้สวยก็ใช้เวลานานเหมือนกัน ติดเสร็จก็มีการยาแนวด้วย ส่วนนี้ไม่ยาก แค่ต้องระวังมันบาดมือเพราะเซรามิกมันมีส่วนที่คมอยู่ต้องมาลบรอยคมด้วย การได้มาทำงานที่นี่ผมได้อะไรกับไปหลายอย่างเหมือนกัน ตั้งแต่ความใจเย็น ความละเอียด ความรู้วิธีติดเซรามิก รวมถึงได้ดูหลักธรรมะจากานศิลปะที่อยู่ในวิหาร ซึ่งแนวคิดหลักธรรมเหล่านี้ก็ติดตัวกลับไปด้วย”

-   จากวิหารเทพวิทยาคม ต่อยอดเป็นเฟอร์นิเจอร์ สร้างอาชีพให้ชาวบ้าน
อำนาจ จันทร์ลอย หนึ่งในกำลังหลักของการติดเซรามิกและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ เล่าว่า “เสน่ห์ของเฟอร์นิเจอร์เซรามิก คือ ความแปลกอย่างมีสไตล์ เป็นงานแฮนด์เมดมาสเตอร์พีซ ที่มีความละเอียดและมีเพียงชิ้นเดียวในโลก โดยเริ่มแรกก็จะมีการร่างแบบขึ้นบนโครงสร้างที่จะทำการติดวาง ก่อนนำไปยาแนวแล้วลบรอยคมเพื่อความปลอดภัยเวลานำไปใช้งาน อาทิ โต๊ะ เก้าอี้  ชุดวางของ  กรอบรูป ลายยอดนิยมของที่นี้จะเป็นลายดอกกล้วยไม้ ดอกไม้ ลายสัตว์ การเรียงสีแต่ละรูปมันมีรายละเอียดมันยากกว่าการวาดแต่ละชุดจึงต้องใช้เวลาตั้งแต่ขึ้นโครงสร้าง ติดเซรามิก เก็บรายละเอียดรวมแล้วอาทิตย์หนึ่งจะได้ประมาณ 2-3 ชุด หรือประมาณ 10 ตัวครับ ก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่มาเยี่ยมชมวิหารเทพตลอด และก็ถือเป็นการสร้างงานให้ชาวบ้านที่เคยทำงานติดเซรามิกมาก่อนด้วย ซึ่งกุศโลบายนี้ ทางคุณเกรียงไกรท่านมองว่าน่าจะต่อยอดให้ชาวบ้านได้ มีงานทำต่อไปในระยะยาวได้ ซึ่งผมถือว่าเป็นโชคดีของชาวบ้าน ที่ได้นำสิ่งที่ตัวเองถนัดและมีความชำนาญมาทำให้เกิดรายได้ เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เพราะชาวบ้านแต่ละคนที่มาติดเซรามิกที่วิหารเทพฯ ทำงานอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่แรกเริ่ม จึงมีความชำนาญในการติดค่อนข้างมาก อย่างน้อยเมื่อพวกเขามีรายได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปทำงานไกลบ้านเกิดด้วย”

เฟอร์นิเจอร์ที่ถูกผลิตขึ้นที่วิหารเทพวิทยาคมนี้ แต่ละชิ้นงานแต่ละลายที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการคิดของศิลปินที่มีมุมมองความคิดอย่างอิสระแต่แฝงด้วยความสวยงามและที่สำคัญแต่ละชิ้นที่ผลิตออกไปลายจะไม่เหมือนกันมั่นใจได้ 100%  แต่จะสังเกตได้ว่าเราจะไม่นำภาพของวิหารเทพวิทยาคมมาอยู่บนเฟอร์นิเจอร์ จะมีภาพติดฝาผนังขนาดใหญ่ที่เป็นภาพวิหารเทพวิทยาคมที่นำเซรามิกมาติดซึ่งสวยงามและใช้เวลานานพอสมควรถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานที่น่าภูมิใจของคนทำงาน ที่แม้จะมีผลตอบแทนเป็นเงินตรา แต่ก่อเกิดจากแรงศรัทธาที่ได้ร่วมบุญกับหลวงพ่อคูณ ผู้ที่สนใจเฟอร์นิเจอร์แฮนด์เมดสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร.0816172122 คุณปริญญา
สิ่งหนึ่งที่เห็นได้จากชาวบ้านที่มาร่วมเติมเต็มให้ “วิหารเทพวิทยาคม” ได้เสร็จสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ คือความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมบุญ และมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวทางพุทธศาสนาที่น่าภูมิใจของชาวโคราช และพุทธศาสนิกชนทุกคน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่จะเป็นกำลังใจให้กับพวกเขาเหล่านั้น คือรอยยิ้มจากผู้มาเยือนที่ชื่นชมผลงานจากแรงศรัทธาของพวกเขาเหล่านั้น