happy on February 24, 2014, 02:52:15 PM
สมอ. - สถาบันอาหาร ติวเข้มแนวทางการตรวจรับรองอาหารฮาลาล
จัด“Train the Trainer สำหรับผู้ตรวจรับรอง”



               นายญาณพัฒน์  อู่ทองทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กล่าวในพิธีเปิดการอบรมเรื่อง “Train the Trainer แนวทางการตรวจรับรองฮาลาลสำหรับผู้ตรวจรับรอง” ซึ่งร่วมจัดโดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า อาหารฮาลาลมีแนวโน้มการเติบโตและการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นเพราะผู้บริโภคมุสลิมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันประชากรมุสลิมทั่วโลกมีประมาณ 1,800 ล้านคน โดยอาศัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 300 ล้านคน เอเชียใต้ 400 ล้านคน เอเชียเหนือ100 ล้าน และคาดว่าภายในปี 2030 จะมีจำนวนมุสลิมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านคน และคิดเป็นร้อยละ 26.4 ของจำนวนประชากรทั้งโลก ตลาดอาหารฮาลาลในโลกนับเป็นตลาดใหญ่มีมูลค่าประมาณ 6 - 8 ล้านล้านบาท ดังนั้นการดำเนินกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม เพื่อกระตุ้นและสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารฮาลาลไทยจะส่งผลต่อการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้น

               “แต่ในปัจจุบันรูปแบบของการตรวจรับรองฮาลาล การกำหนดมาตรฐานรวมถึงการตีความหลักการศาสนานั้นมีความแตกต่างกันในระหว่างหน่วยงาน อันเนื่องมาจากการที่แต่ละหน่วยงานตีความในด้านความเชื่อของหลักศาสนาแตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ และเพื่อการพัฒนาหน่วยตรวจรับรองที่ทำการตรวจรับรองอาหารฮาลาลในปัจจุบันให้ได้เข้าใจในระบบการตรวจรับรองฮาลาลอย่างถูกต้องและเป็นไปในรูปแบบเดียวกันตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม  ทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวทางการผลิตและการค้าของอาหารฮาลาล โดยสร้างศักยภาพของระบบการตรวจรับรองอาหารฮาลาลให้มีประสิทธิภาพและเข้าสู่มาตรฐานสากลเดียวกันจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของประเทศไทยต่อไปในอนาคต”








               นางอรวรรณ  แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า การจัดอบรม ในครั้งนี้ทางสถาบันอาหารได้รับงบประมาณสนับสนุนภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพการตรวจรับรองอาหารฮาลาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการตรวจรับรองฮาลาลของฝ่ายกิจการฮาลาลของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือฝ่ายกิจการฮาลาลของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย  ทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถของบุคลากรด้านการตรวจรับรองฮาลาลตามประกาศคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการตรวจรับรองกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาล พ.ศ.2554 ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการกระตุ้นสถานประกอบการในการผลิตอาหารฮาลาลและการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลและเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ รองรับการขยายตลาดสู่ประเทศมุสลิม และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้มีความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าฮาลาลไทย

               “โดยกิจกรรมการที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้นั้น ได้แก่ จัดตั้งคณะกรรมการโครงการมาตรฐานการรับรองฮาลาลและคัดเลือกหน่วยรับรองนำร่อง การจัดทำ(ร่าง)คู่มือแนวทางการตรวจรับรองฮาลาลสำหรับผู้ตรวจรับรอง  การให้การสนับสนุนหน่วยตรวจรับรองฮาลาลนำร่องด้านระบบการตรวจรับรอง ฮาลาล เป็นต้น สำหรับการอบรมในครั้งนี้มีผู้เข้าอบรมรวมทั้งสิ้น 67 คน เป็นผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด  จำนวน61 คน  โดยแบ่งเป็นจากภาคใต้ 30 คน ภาคกลาง22 คน ภาคตะวันตก 6คน และภาคตะวันออก 3 คน และผู้ตรวจประเมินและที่ปรึกษาจากหน่วยงานอื่นๆ อีก 6 คน”