MSN on January 08, 2014, 02:01:58 PM
EFในไทย แนะเพิ่มบทบาทภาคประชาชนสู่การขับเคลื่อนประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)













วงเสวนาEFในไทย ระบุ สังคมไทยโหยหาผู้นำที่หมายถึงบุคคลเพียงคนเดียวมากขึ้น ทำให้มิติส่วนอื่นบกพร่อง แนะเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนเพื่อเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ มากกว่าการพึ่งพาผู้นำคนเดียว

การลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ขณะนี้ สามารถหาทางออกร่วมกันได้ด้วยการเพิ่มบทบาทให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ซึ่งในปัจจุบันกลับสวนทางกันเนื่องจากมิติในการแสดงบทบาทของภาคประชาชนกลับหายไป

ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (EF ASEAN Regional Program 2013) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “เพิ่มบทบาทของภาคประชาชน:กลไกที่หายไป” จัดขึ้นโดย Eisenhower Fellowships Alumni Thailand ร่วมกับทีดีอาร์ไอ  ระบุว่า ภายใต้สังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในด้านต่างๆ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทของภาคประชาชนที่มี 2 มิติ คือ 1.ความสามารถที่ประชาชนจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น และ 2.กลไก เครื่องมือ วิธีการที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทได้ รวมถึงภาคประชาชนต้องเต็มใจในการมีส่วนร่วมและกล้าแสดงบทบาทอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้กลับหายไป

นอกจากนี้ยังพบว่าตัวการที่ทำให้บทบาทภาคประชาชนหายไปคือ ภาคประชาชนเข้าถึงข้อมูลในเชิงลึกค่อนข้างยาก เพราะภาครัฐมักอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ยกตัวอย่างกรณีการเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ซึ่งต้องกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน หรือเปิดเผยภายในกี่วัน หากไม่เปิดเผยจะมีโทษอย่างไร และมีเหตุผลอะไรกรณีไม่เปิดเผยข้อมูล

ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ ยังตั้งข้อสังเกตถึงการแจ้งเบาะแสข้อมูลคอร์รัปชั่นว่าไทยยังมีปัญหาในเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นอุปสรรคของผู้ที่ให้ข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสของผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะที่ต่างประเทศมีกลไกคุ้มครองผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือต่อประเทศ อุปสรรคดังกล่าวจึงส่งผลให้ปัญหาคอรัปชั่นในไทยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ด้าน ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (EF Multination Program 2001) กล่าวถึงบทบาทภาคประชาชน โดยหยิบยกสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยระบุว่า การเกิดขึ้นของกลุ่มมวลมหาประชาชนเหมือนภาพเหตุการณ์เมื่อช่วงปี 2553 ซึ่งปรากฏซ้ำกันมาแล้ว เนื่องจากประชาชนไม่พอใจการใช้อำนาจของรัฐในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะกรณีการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ใช้กติกาให้เสียงข้างมากออกกฎหมายโดยไม่สนใจนิติธรรม นิติรัฐ ซึ่งหลายฝ่ายมองและตั้งคำถามว่านี่คือประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ส่งผลให้เกิดคลื่นของมวลมหาประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการบริหารงานที่ไม่ชอบมาพากล

แต่ในความขัดแย้งดังกล่าว ปลัดกระทรวงยุติธรรม กลับมองเห็นจุดร่วมของแต่ละขั้ว ว่ามีจุดร่วมเดียวกันคือ ความไม่พอใจในระบบประชาธิปไตย ความไม่พอใจในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นกลาง ซึ่งทางออกคือแกนนำจะแก้ปมเหล่านี้ได้ด้วยการศึกษา ทำความเข้าใจ คิดอย่างเป็นระบบและช่วยกันหาทางออกเพื่อประโยชน์ของประเทศให้มากขึ้น พร้อมกับยกข้อเสนอ 5 ข้อของโทนี่ แบลร์ อดีตรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ระบุว่า 1.การปรองดองจะสำเร็จได้ ทุกฝ่ายต้องได้รับประโยชน์ 2.หากอดีตยังตกลงกันไม่ได้ ค้นหาความจริงยังไม่ได้ การไม่ลืมอดีตแต่มองอนาคตแทนก็เป็นสิ่งที่ดี 3.มีกระบวนการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพูดคุยหาจุดที่รับได้ร่วมกัน 4.แนวทางต่างๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ไม่ใช่แค่แบบ Voting แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบ Thinking ด้วย และ5.คนที่เป็นผู้นำปฏิรูป หรือผู้นำการปรองดอง หากเป็นคนที่ประชาชนเชื่อถือก็จะเป็นประโยชน์ ที่สำคัญจะมองข้ามภาคประชาชนไม่ได้ ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้หากผู้เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียหาจุดร่วมให้ได้จะนำไปสู่ทางออกของความขัดแย้ง รวมถึงต้องมียุทธศาสตร์สลายขั้วขัดแย้ง ซึ่งในเรื่องนี้บทบาทภาคประชาชนจะมีความสำคัญที่สุดที่จะเป็นตัวขับเคลื่อน และหากทำได้จากนี้ไปสังคมไทยจะไม่โหยหาคำว่าผู้นำที่หมายถึงบุคคลเพียงคนเดียวอีกต่อไป   

สอดคล้องกับ นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (EF Multination Program 1994) กล่าวว่า สังคมไทยโหยหาผู้นำ (Single Agent) และให้ความสำคัญกับผู้นำซึ่งหมายถึงคนๆเดียวมากเกินไปทำให้มิติอื่นบกพร่อง โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านการเมืองที่ทุกคนหาแกนนำของตัวเอง ทำให้กลไกภาคประชาชนหายไป ไม่เว้นแม้แต่องค์กรรัฐที่มีความอ่อนแอ เนื่องจากรอฟังเฉพาะผู้นำอย่างเดียว

โดย นพ.บัญชา มองว่า ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ในอีกด้านสังคมไทยก็ต้องการความยุติ ซึ่งตนสนับสนุนแนวคิดของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่พูดถึงการทำงานเป็นเครือข่ายฝ่าให้พ้นทวิลักษณ์ ในความเชื่อที่ว่าในเหลืองมีแดง ในแดงมีเหลือง ซึ่งหากสามารถสร้างกลไกการมีส่วนร่วมได้จะทำให้ลดวิกฤติความขัดแย้งและรุนแรงได้เช่นกัน

   ด้าน นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ (EF ASEAN Regional Program 2013) กล่าวว่า  ภาคประชาชนต้องรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร ขณะเดียวกันสื่อต้องสามารถทำงานเชื่อมโยงกับภาคประชาชนได้ โดยเฉพาะภาคประชาชนที่เสพสื่อในโซเชียลมีเดีย หรือช่องทางอื่นๆที่มีประเด็นเรื่องความเร็วและความแท้ในการนำเสนอข่าว ทำให้ต้องมีการกำหนดวาระข่าวที่ต้องมีการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจมีด้วยกัน 2 ประเด็นคือ 1.สื่อจะทำหน้าที่ให้ดีกว่านี้อย่างไร และ 2.สื่อจะอยู่รอดในเชิงธุรกิจอย่างไร โดยทั้ง 2 ประเด็นถือเป็นเรื่องท้าทายมาก ว่าจะทำพร้อมกันอย่างไร

ทั้งนี้ คุณสฤณี ได้เสนอแนะไปยังสื่อในฐานะตัวกลางในการสื่อสารกับภาคประชาชนสามารถทำได้โดย 1.วารสารศาสตร์เชิงข้อมูล (Data journalism) สื่อและประชาชนมีส่วนร่วมสร้างเนื้อหา วิเคราะห์และตีความ ทำข่าวสารข้อมูล ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจะเป็นกลไกเพิ่มพลังให้แก่ประชาชน 2.ผลักดันให้เกิดมาตรฐานข้อมูลเปิด (Open Data) ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ซ้ำได้และเผยแพร่ได้ และเป็นระบบที่เข้าถึงง่าย และ 3.ผลักดันมาตรฐานรัฐเปิด (Open Government) ให้เปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และรับฟังความเห็นจากประชาชน

อย่างไรก็ตามวงเสวนา เห็นตรงกันว่า กลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะสามารถขับเคลื่อนสังคมให้พัฒนาและเดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้หลักการพื้นฐานนั่นคือ มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในการต่อต้านคอร์ปชั่น และยินดีที่จะเสียสละ ซึ่งจะทำให้ทิศทางการทำงานของภาคประชาชนมีบทบาทอย่างต่อเนื่องและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ดูข่าวนี้ได้ที่ http://tdri.or.th/tdri-insight/tdrireport20140121/
« Last Edit: January 22, 2014, 08:49:53 AM by MSN »

MSN on January 22, 2014, 08:46:37 AM
แนะนำ Eisenhower Fellowships และ Eisenhower Fellowships Alumni Thailand

1. แนะนำ Eisenhower Fellowships

Eisenhower Fellowships เป็นองค์กรซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอมริกา Eisenhower Fellowships มีจุดประสงค์ในการพัฒนาและสร้างเครือข่ายของผู้นำรุ่นใหม่จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้ผู้นำเหล่านี้มีขีดความสามารถสูงขึ้นและวิสัยทัศน์กว้างไกลขึ้น สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และสร้างสันติภาพในโลกได้อย่างเต็มศักยภาพ

ในแต่ละปี จะมีผู้นำรุ่นใหม่ ซึ่งอยู่ในช่วงกลางของเส้นทางอาชีพ (mid-career) และมีอายุ 32-45 ปี ประมาณ 25 คนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ได้รับคัดเลือกเป็น Fellow เดินทางไปสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำในด้านต่างๆ ที่ตนมีสนใจ ตามหนดการที่ออกแบบเฉพาะสำหรับแต่ละคน (individually designed program)   ทั้งนี้ การคัดเลือก Fellow จากแต่ละประเทศนั้นจะดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกระดับสูงในแต่ละประเทศ และการคัดเลือกในขั้นสุดท้ายโดยคณะกรรมการของ Eisenhower Fellowships ในนครฟิลาเดลเฟีย

2. แนะนำ Eisenhower Fellowships Alumni Thailand
ที่ผ่านมา มี Fellow จากประเทศไทยเดินทางไปเข้าร่วมโครงการแล้ว 41 คน เช่น ฉลอง ปึงตระกูล  (1954) ปรก อมระนันนท์ (1958) ศิวะวงศ์ จังคศิริ (1969) ประภาส อวยชัย (1971) ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ (1974) โสภณ รัตนากร (1977) ปกรณ์ มาลากุล (1978) เกษม สนิทวงศ์ (1980) ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ (1982) กุสุมา สนิทวงศ์ (1983) เอกมล คีรีวัฒน์ (1987) จันทนา ชานนท์ (1988) พิสิฐ เจริญวงศ์ (1989)  วิรดา สมสวัสดิ์ (1992) บัญชา พงษ์พานิช (1994) สนิทสุดา เอกชัย (1995)  เอนก นาคะบุตร (1996)  ดาเรศ ชูศรี (1997)  รพี สุจริตกุล (2000) กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ (2001) วิทิต มันตาภรณ์ (2002)   ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล (2002) อมรวิทย์ นาครทรรพ (2002) ศรีประภา เพชรมีศรี (2004) เมธี พยอมยงค์ (2007) สุภิญญา กลางณรงค์ (2007) สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  (2008) สราวุธ เบญจกุล (2009) สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (2013) ล่าสุดในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2013 ประเทศไทยมีผู้แทนเข้าร่วมโครงการอีก 5 คนคือ รัฐพล ภักดีภูมิ,ปริญญา หอมเอนก, วิรไท สันติประภพ, สฤณี อาชวานันทกุล และณัฏฐา โกมลวาทิน

Fellow จากประเทศไทยจำนวนหนึ่งได้รวมกลุ่มกันจัดตั้ง Eisenhower Fellowships Alumni Thailand ขึ้นเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนผู้สนใจสมัครเข้าเป็น Fellow และเพื่อมีส่วนช่วยประเทศไทยและเพื่อดำเนินการด้านสาธารณะประโยชน์ต่างๆ