happy on December 13, 2013, 04:17:08 PM
วศ./ก.วิทย์ แจง สุ่มตรวจภาชนะอะลูมิเนียมในท้องตลาดพบไม่ผ่านเกณฑ์กำหนดองค์ประกอบทางเคมี
ให้ประชาชนไทยเลือกซื้อ เลือกใช้ เลือกบริโภค

               ปัจจุบันสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเราหวาดผวากันมากคือ สารพิษปนเปื้อนที่มากับอาหาร แต่สารพิษส่วนหนึ่งที่เราได้รับ อาจเกิดขึ้นจากภาชนะในครัวเรือนที่ใช้กันอยู่ทุกวัน

               นางสาวเสาวณี มุสิแดง  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการได้มีการตกลงร่วมกันกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการทดสอบสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาชนะประเภทอะลูมิเนียม คือหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการตรวจสอบว่ามีคุณภาพเหมาะสมสำหรับใช้กับอาหารได้หรือไม่ วศ.จึงลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงราย นครพนม สุ่มเก็บตัวอย่างภาชนะอะลูมิเนียม จำนวน 21 ตัวอย่าง ประกอบด้วย หม้อ กระทะ ถาดใส่อาหาร ฯลฯ โดยการทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การหาองค์ประกอบทางเคมี และการทดสอบการละลายของโลหะหนักจากภาชนะตัวอย่าง จากการทดสอบองค์ประกอบทางเคมี พบว่าตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์กำหนด เกือบทั้งหมดเป็นภาชนะประเภท อะลูมิเนียมโลหะผสม ซึ่งพบ ปริมาณตะกั่ว สังกะสี และทองแดง สูงเกินเกณฑ์กำหนด สำหรับการทดสอบการละลายของโลหะหนักจากภาชนะตัวอย่าง ซึ่งเลียนแบบการใช้งานเวลาหุงต้มหรือปรุงอาหารประเภทกรด พบว่ามีปริมาณพบ อะลูมิเนียม ตะกั่ว เหล็ก และสังกะสี ละลายออกมาในสารละลายตัวแทนอาหาร โดยเฉพาะภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสม มีโลหะเหล่านี้ละลายออกมาสูงกว่า ภาชนะอะลูมิเนียม ดังนั้นในการปรุงอาหารประเภทกรด การใช้ภาชนะอะลูมิเนียมน่าจะปลอดภัยจากโลหะปนเปื้อนมากกว่าการใช้ภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสม ซึ่งข้อสังเกตในการเลือกซื้อระหว่างภาชนะประเภทอะลูมิเนียม และอะลูมิเนียมโลหะผสมคือ ภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสมผิวไม่ค่อยเรียบอาจมีรูพรุน มีความมันวาวน้อยกว่า และมีสีเข้มกว่า อย่างไรก็ตามการปนเปื้อนของโลหะจากภาชนะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น ประเภทอาหารที่ปรุง ระยะเวลา อุณหภูมิ

               สำหรับข้อมูลที่ประชาชนมีข้อสงสัยเรื่องอะลูมิเนียมทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์นั้น ทางองค์การอนามัยโลก และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้สรุปว่า ไม่มีหลักฐานใดสนับสนุนว่าอะลูมิเนียมมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดหรือเร่งให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

               ผู้ประกอบการและประชาชนที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้านงานทดสอบวัสดุสัมผัสอาหารสามารถสอบถามได้ที่ 02-201-7000