MSN on November 29, 2013, 01:53:22 PM
ร่วม “ปลูกต้นธรรม” ถวายในหลวง ปรับทัศนคติ เปลี่ยนค่านิยม เพื่ออนาคตของประเทศ “ธรรมะ” ... วิชาแรก หรือ วิชาสุดท้ายของชีวิต ?











การปลูกฝังค่านิยมที่ไม่เป็น “ธรรม” มักเริ่มจากตัวเราและครอบครัว ...“ลูกต้องเรียนให้เก่งโตไปจะได้ร่ำรวย” “ทำธุรกิจให้รวยต้องเลี่ยงภาษีให้เป็น” “เอาใจนายถูกทางได้เลื่อนตำแหน่งเร็ว” “ถูกจับก็ให้เงินปิดปาก” “มีเส้นถึงจะเติบโต”  “แก้ระเบียบเสียใหม่ ผิดจะได้กลายเป็นถูก” “กินตามน้ำจะได้อยู่รอด” ...ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ทำให้สังคมห่างไกลธรรมออกไปเรื่อยๆ….

ค่านิยมในสังคมทุกวันนี้ผลักดันให้คนกระโจนเข้าสู่กระแสแห่งทุกข์แก่งแย่งแข่งขันกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ต่างเดินมุ่งหน้าสู่ชีวิตที่ร่ำรวย มีชื่อเสียงเกียรติยศ จนลืมไปว่าชีวิตนี้ เราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะทุกข์ไปกับการดิ้นรนไขว่คว้าแสวงหาไม่มีที่สิ้นสุด ....ทั้งๆที่สิ่งที่ชีวิตต้องการจริง ๆ คือ “ความสุข”

จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่งมาจากที่ต่างๆ ได้มารวมตัวกันเก็บแต้มความสุขให้กับชีวิต ด้วยการใช้เวลาหลังเลิกงานเพียงวันละ 2 ชั่วโมง ในการเข้าร่วมการอบรมหลักสูตรธรรมะระยะสั้นชื่อ “ธรรมโฆษณ์” จัดขึ้น ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นหลักสูตรธรรมะสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย สมัครเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมได้เข้าใจธรรมะในแบบง่าย ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและเกิดความสำเร็จที่ยั่งยืน

ในการอบรมครั้งหนึ่ง ได้มีการยกประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงทัศนะว่า “หากเปรียบประเทศเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีผลไม้เต็มต้น คนจำนวนหนึ่งสามารถปีนขึ้นไปเก็บผลไม้ได้ อีกกลุ่มปีนต้นไม้ไม่เป็น จึงพากันเอาขวานมาโค่นต้นไม้ลงมาเพื่อให้พวกตนได้ผลไม้มากินเช่นกัน  ถามว่า ใครคือคนที่อยู่บนต้นไม้ และใครคือคนที่อยู่ด้านล่าง (คนที่ปีนไม่เป็น) แล้วเราแต่ละคนอยู่ตรงไหน  จะแก้ปัญหานี้อย่างไร”

แนวคิดแบบระบบตลาดเสรีของอดัมส์ สมิธ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อก้องโลกที่เชื่อว่า “ทรัพยากรมีจำกัด  แต่ความต้องการของคนมีไม่จำกัด”  ในมุมหนึ่งได้ส่งเสริมให้เกิดการลัทธิบริโภคนิยม ผู้คนใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย จนส่งผลให้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั่วโลกหมุนเวียนไม่ทันและเริ่มหมดลง  ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้ผู้คนเพิ่มการสะสมทรัพย์สิน เงินทอง อาหาร ที่อยู่อาศัย และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้กับตัวให้มากยิ่งขึ้นเพราะกลัวความขาดแคลน  ...และด้วยเหตุที่ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาสะสม กอบโกยเข้าตัวเองอย่างไม่ลืมหูลืมตานั่นเอง ได้กลายเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรบนโลกนี้เริ่มหมดไปจริง ๆ ตามความเชื่อแบบนั้น

หากมองในอีกมุมหนึ่ง ปรากฎการณ์นี้ก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่า วิธีคิดและความเชื่อมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิต ถ้าเช่นนั้น  เหตุใดเราจึงไม่เปลี่ยนวิธีคิดกันเสียใหม่ว่า “ทรัพยากรมีไม่จำกัด แต่ความต้องการของคนจำกัด” แล้วหันมาใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เพื่อปล่อยให้ทรัพยากรบนโลกได้เติบโต บนรากฐานแห่งความพอเพียงของผู้คน

ดิน น้ำ อากาศ แสงแดด พืชพรรณธัญญาหารล้วนมีเพียงพอสำหรับทุกชีวิตบนโลกนี้ เพียงแค่มนุษย์รู้จักประมาณในการบริโภค “กิน ดื่ม ใช้ เท่าที่จำเป็น”  ทรัพยากรของโลกที่กำลังเสื่อมลง เป็นพิษ และเริ่มหมดลง ก็จะมีเวลาสำหรับการฟื้นกลับคืนมาได้ เมื่อไหร่ที่คนในสังคม


เริ่มหยุดการสะสม หยุดการทำลาย แล้วเปลี่ยนมาเป็นผู้สร้างและผู้ให้ เราจะได้เห็นโลกในมุมใหม่ที่ผู้คนเริ่มมีความสุขกับการใช้ชีวิตพอเพียง ไม่จำเป็นต้องแก่งแย่งแข่งขัน ชีวิตก็มีความสุขได้ แล้วความร่มเย็นสงบสุขในสังคมก็จะเกิดขึ้นอีกครั้ง

มาช่วยกันปลูกฝัง “ความเป็นธรรม” ให้กลายเป็นค่านิยมของคนยุคนี้และยุคต่อไป ส่งเสริมให้พวกเขาแสวงหาความสุขที่มาจากภายใน แสวงหาทรัพย์อย่างพอประมาณ เพราะการแข่งขันที่ดีที่สุดคือการแข่งขันกับตัวเอง และมิตรภาพที่เกิดจากความเมตตาและรู้จักแบ่งปันคือมิตรภาพแท้ที่ยั่งยืนกว่าการใช้เงินตรา

แทนการตั้งเป้าไปสู่ความร่ำรวยที่ได้มาด้วยการดิ้นรนแก่งแย่งแข่งขันใช้ชีวิตแต่ละวันอยู่บนเปลวไฟแห่งความโลภ ทุกข์ทรมานเพราะความอยากได้ใคร่มีอยู่ทุกลมหายใจ หากเราเริ่มต้นตั้งเป้าหมายชีวิต ให้ดำเนินไปเพื่อความสุขและความพอเพียง  ยอมรับความจริงของโลก รู้จักแบ่งปัน  ความสุขจะเกิดขึ้นในทันที โดยมิต้องร้อนเร่าบนกองทุกข์ในวันนี้ เพื่อรอพบสุขในบั้นปลายชีวิตซึ่งอาจจะไม่ได้พบเจอก็ได้

...เพราะ
ทรัพย์ที่ล้ำค่าที่สุด คือ ปัญญาที่รู้ว่าเราเกิดมาทำไม และควรใช้ชีวิตอย่างไร
อำนาจที่น่าเกรงขามที่สุด คืออำนาจที่สามารถควบคุมจิตใจตนเอง
(ไม่ให้จมดิ่งลงไปในความโลภ โกรธ หลง)
เกียรติยศที่งดงามที่สุด คือ ความภูมิใจที่ได้เสียสละและทำอะไรเพื่อผู้อื่น
(อย่างจริงใจ โดยมิได้มีผลประโยชน์แอบแฝง)
คนที่ไม่เคยเข้าถึงธรรมะ แม้ว่าจะร่ำรวยเพียงใด ก็ยากนักที่ชีวิตจะมีความสุข

เมื่อรู้ธรรมแล้ว ย่อมรู้ว่า เป้าหมายชีวิตของคนล้วนเป็นหนึ่งเดียวคือต้องการ “ความสุข”  แล้วเหตุใดเราจึงไม่ช่วยกันสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในสังคมกันเล่า...

“ธรรมะ” จึงควรเป็นทั้ง  "วิชาแรกและวิชาสุดท้าย" ในชีวิตของทุกคน เราสามารถเริ่มต้นเรียนรู้ธรรมะกันอย่างง่าย ๆ จากอ่านหนังสือที่ให้ข้อคิดที่เป็นธรรม เข้าวัดฟังธรรม หรือเข้าเวปไซด์เพื่ออ่านและฟังธรรมะต่าง ๆ  ...และเมื่อคุณเฝ้ามองโลกภายนอกมาทั้งวันแล้ว ต่อไปนี้ขอให้คุณเฝ้ามองโลกภายในของคุณบ้าง ด้วยการฝึกหัดการนั่งสมาธิ และนั่งวิปัสสนาสุดท้ายคุณอาจลองไปฟังธรรมบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีการจัดบรรยายธรรมะอย่างง่าย ๆ อยู่ทั่วไปในแทบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ของขวัญแด่พ่อหลวงในปีนี้...คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่ชาวไทยแต่ละคนได้ “เริ่มต้นปลูกต้นธรรมขึ้นในใจ” เพราะ “พ่อได้เริ่มปลูกต้นธรรมไว้ให้เราได้อาศัยบนแผ่นดินและสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุขมานานมากแล้ว”

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้อง “สานต่อคุณธรรมของพ่อ ด้วยการปลูกต้นธรรมของเรา แล้วส่งต่อธรรมนี้ไปถึงเพื่อนร่วมสังคม” เพราะวันนี้ “ฮีโร่” ที่จะช่วยเปลี่ยนสังคมไม่ใช่ใครอื่นไกล คือ …ตัวของเราเอง...
« Last Edit: November 29, 2013, 01:55:26 PM by MSN »