ไทยเป็นเจ้าภาพ 2 งานไอทีระดับโลก Connect Asia-Pacific Summit และITU Telecom World 2013
- การประชุมสุดยอดผู้นำเริ่ม 18 พ.ย. ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ “เอเชีย-แปซิฟิก 2020: สมาร์ทลี่ดิจิตอล”
- งานนิทรรศการนวัตกรรมไอทีและการแลกเปลี่ยนความเห็นผู้นำ เริ่ม 19-22 พ.ย.
กรุงเทพฯ 7 พฤศจิกายน 2556 – สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ยก 2 งานใหญ่ระดับโลกประจำปีมาจัดที่ประเทศไทยระหว่าง 18-22 พฤศจิกายน 2556 เปิดเวทีให้ผู้นำจากทั่วโลกทั้งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รัฐบาล และนักวิชาการ พบปะกันเพื่อร่วมกำหนดกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนการใช้ไอซีทีอย่างเหมาะสม รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น สร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนนำเสนอนวัตกรรมไอซีทีเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั่วไป
ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกทั้ง 2 งาน ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ โดยงาน Connect Asia-Pacific Summit จะจัดขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรี หน่วยงานกำกับดูแล และผู้นำอุตสาหกรรมไอซีทีจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และประเทศต่างๆ มาร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์ และความเห็นเกี่ยวกับความท้าทายของโลกดิจิตอล รวมถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ตลอดจนกำหนดแนวทางด้านการลงทุนในโครงข่ายพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและไอซีที แอพพลิเคชันและบริการที่สร้างสรรค์ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่วิสัยทัศน์ Asia-Pacific 2020: Smartly Digital หรือทิศทางในการพัฒนาอุตสาหรรมไอทีในอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2563 โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดงาน
ส่วนงาน ITU Telecom World 2013 ที่จัดขึ้นใน วันที่ 19-22 พฤศจิกายน 2556 ที่ ชาเลนเจอร์ฮอล์ 1-2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้คนในวงการไอทีจากทั่วโลกได้พบปะสร้างเครือข่ายพันธมิตร และแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนการอภิปรายในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ร่วมงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้พบปะกันและตกลงความร่วมมือทางธุรกิจ ผู้ที่จะมาร่วมงานดังกล่าวจะมีทั้งผู้นำธุรกิจไอซีทีจากประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้บริหารระดับสูงที่มีหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับไอซีที กิจกรรมสำคัญนอกจากการอภิปราย สัมมนาเชิงวิชาการแล้ว ยังมีการแสดงนิทรรศการ และการพบปะกันทางธุรกิจอีกด้วย
สำหรับงานประชุมสุดยอดผู้นำด้านไอซีทีหรือ Connect Asia-Pacific Summit นั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ส่วนงาน ITU Telecom World 2013 นั้น เป็นการจัดงานโดยความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เป็นแกนหลัก
ดร. สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานกรรมการแห่งชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า “งาน Connect Asia-Pacific Summit และงาน ITU Telecom World 2013 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ ถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมไอซีทีของไทย และตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นที่ประชาคมโลกมีต่อประเทศไทย รวมถึงความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีของโลกในอนาคต”
ดร. อุนจู คิม ผู้อำนวยการ ภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกค สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU กล่าวว่า “เทคโนโลยีอันทันสมัยมีความสำคัญมากในการเชื่อมโยงโลกและประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว พร้อมกันนี้ก็จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาด้านสังคมและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนของคนทั่วโลก โดยไม่แบ่งแยกเพศ อายุ วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งผู้พิการ โดยทั้งสองงานจะเปิดโอกาสให้ผู้นำในอุตสาหกรรมไอซีทีของโลก และด้านอื่นๆ ได้มาพบกันเพื่อเรียนรู้ พบปะพูดคุย แบ่งปันข้อมูล กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมทั้งขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ Asia-Pacific 2020: Smartly Digital เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และพร้อมที่จะสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ได้ตกลงดำเนินการร่วมกัน ให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง”
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ว่าองค์กรใดหรือประเทศใด จำเป็นต้องใช้ไอซีทีทั้งสิ้น รวมทั้งเตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกดิจิตอล การที่ประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนและเป็นเจ้าภาพงานใหญ่ระดับโลกด้านไอซีทีทั้งสองงานจะช่วยตอกย้ำจุดยืนและความมุ่งมั่นของประเทศที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางขอองธุรกิจไอซีทีในภูมิภาคนี้”
พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกลายมาเป็นส่วนสำคัญที่ขาด
ไม่ได้ในชีวิตผู้คนยุคปัจจุบัน เราหวังว่างานสำคัญทั้งสองงานที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพนี้จะ
สนับสนุนอุตสาหกรรมไอซีทีและช่วยกระตุ้นให้คนไทยได้หันมาสนใจและเข้าใจถึงความสำคัญและผลกระทบจากการพัฒนาไอซีทีต่อชีวิตเรา เพื่อที่จะสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีเหล่านี้
โดย กสทช.ได้เข้าร่วมในงาน ITU Telecom World 2013 นำเสนอคอนเซ็ปต์ “Digital Thailand Digital Community ใน NBTC Pavilion” ซึ่งในงานจะนำเสนอ 3 ส่วนแรกคือการแนะนำองค์กรและวิวัฒนาการความก้าวหน้าของการบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ ส่วนที่ 2 คือการกำกับดูแลงานทั้งด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และในส่วนที่ 3 คือการดำเนินงานด้านสังคม เช่นผลงานกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ การสนับสนุนการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ”
ดร. นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า “การดึงงานระดับโลกอย่าง ITU TELECOM WORLD 2013 มาจัดในประเทศไทย เป็นครั้งแรกนับว่าสำคัญยิ่ง และคาดว่าจะมีผู้แทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไอซีทีของอาเซียนเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ทั้งนี้การจัดงาน Connect Asia-Pacific Summit และ ITU Telecom World 2013 จะมีส่วนขับเคลื่อนมูลค่าอุตสาหกรรมไมซ์ขของไทยได้เป็นอย่างดี โดยคาดว่าจะมีกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกประมาณ 20,000 คนเข้าร่วมงาน และสร้างเม็ดเงินจากการใช้จ่ายและการสร้างงานในประเทศเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจไมซ์หรือการประชุมและแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
งาน Connect Asia-Pacific Summit จะเริ่มขึ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมร่วมกับ ดร. ฮามาดูน ทูเร เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ การประชุมสุดยอดในครั้งนี้ จะเริ่มด้วยการกล่าวของผู้นำรัฐบาลและประเทศต่างๆ การรับรองวิสัยทัศน์ผู้นำเอเชีย-แปซิฟิก 2020 (Asia-Pacific 2020: Smartly DIGITAL) ตลอดจนการประชุมของผู้นำระดับสูงในการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมไอซีทีในหัวข้อ Envisioning Asia-Pacific 2020 การประชุมฝ่ายต่างๆ และการประกาศการเป็นพันธมิตร (Multi-stakeholder Meetings and Partnership Announcement) รวมถึงการประชุมโต๊ะกลมของรัฐมนตรีด้านไอซีที จากประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อให้วิสัยทัศน์ Asia-Pacific 2020: Smartly Digital เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา รวมถึงการอภิปรายและประชุมเชิงวิชาการเกี่ยวกับความท้าทายในโลกดิจิตอลที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกำลังประสบ ตลอดจนการพัฒนาด้านไอซีทีเพื่อสร้างผลลัพธ์และกลยุทธ์สำคัญ การลงทุน เพื่อพัฒนาโครงข่ายพื้นฐานและแอพพลิเคชั่นด้านไอซีที
ภายในงาน ITU Telecom World 2013 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 19-22 พฤศจิกายน 2556 จะมีทั้งการสัมมนา การอภิปรายเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาและอนาคตของอุตสาหกรรมไอซีที รวมทั้งประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นิทรรศการแสดงนวัตกรรมล่าสุดของโลก การเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้พบปะสังสรรค์กัน และการประกวดผลงานนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ หัวข้อของการสัมมนา/อภิปรายจะอยู่ในกรอบแนวคิดหลักของการจัดงานคือ “Embracing Changes in a Digital World” หรือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิตอลอุตสาหกรรมไอซีทีที่มีผลต่อวิถีชีวิตของผู้คน โดยเน้น 5 หัวข้อหลัก อาทิ
• Riding the data Wave ค้นหาวิธีการที่ดีที่สุดที่จะจัดการกับข้อมูลมหาศาลที่ท่วมท้นในโลกดิจิตอล
• การประชุมโต๊ะกลมของผู้นำในภูมิภาค - ซึ่งมีผู้นำธุรกิจไอทีของโลก อาทิ เทเลนอร์ และ อูรีดู (Ooredoo) ผู้ชนะการประมูลการให้บริการ 3G ในเมียนมาร์ การอภิปรายเรื่องความท้าทายและโอกาสในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิตอล
• Telcos & OTT – ความท้าทายของบริการ OTT
• How can world citizens ensure their privacy in a Digital World? - บทบาทของรัฐบาล ธุรกิจ และองค์กรระหว่างประเทศ และสิทธิของประชาชน
• Internet of Everything – วิธีการที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดในการทำให้มั่นใจว่าการเชื่อมต่อในอนาคตจะมีประสิทธิภาพ
• The Social Media App-friend or foe? - อุปสรรคของแอพพลิเคชั่นด้านมีเดียและโมบาย
ในงาน ITU Telecom World 2013 บริเวณการจัดนิทรรศการ จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานเข้าชมนวัตกรรมไอทีที่ทันสมัยในศาลาแสดงนิทรรศการของแต่ละประเทศ (country pavilion) ที่มีการนำเสนอโอกาสในการลงทุนจากประเทศต่างๆ รวมทั้งมุมพิเศษสำหรับการแสดง “นวัตกรรม” ของผู้เข้าประกวด Young Innovators Competition 2013 ชิงรางวัลใหญ่ในบริเวณนี้ยังมี The Lab ที่นำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจรวมถึงโซลูชั่นที่เปี่ยมความสร้างสรรค์ ซึ่งผู้ที่เข้ารอบสุดท้ายของ Young Innovators Competition ได้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อศิลปะ เทคโนโลยีและสังคมแห่งอนาคต รวมถึงจะมีการสาธิตเทคโนโลยีต่างๆ แบบสดๆ เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ การพิมพ์แบบ 3D แหล่งพลังงานใหม่ และเทคโนโลยีที่สวมใส่ได้
หนึ่งในไฮไลต์ของงานนี้ได้แก่ ไทยแลนด์พาวิลเลียน (Thailand Pavilion) ซึ่งจะจัดขึ้นในแนวคิด “บริบทประเทศไทยในยุคดิจิตอล” เน้นการนำเสนอบริบทอัน “หลากหลาย” ที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย ที่ผสมกลมกลืนอย่างลงตัวออกมาเป็น “ความเป็นไทย” ในสายตาชาวโลก รวมถึงสะท้อนการพัฒนาในภาคส่วนต่างๆ อย่างยั่งยืนและสมดุล โดยมีจุดเด่นที่ รอยัลพาวิลเลียน ซึ่งนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการพัฒนาประเทศและประชาชน เพื่อให้คนไทยอยู่อย่างพึ่งพาและเกื้อกูลกับธรรมชาติ รวมถึงเพื่อนร่วมสังคมบนแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาพัฒนาวิถีภูมิปัญญาเดิมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ มากมายที่สื่อถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ และการป้องกันภัยพิบัติ เป็นต้น
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
http://world2013.itu.int/เกี่ยวกับ ITU
ITU เป็นทบวงการชำนัญพิเศษภายใต้สหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสาร ด้วยประวัติการทำงานเกือบ 150 ปี ITU ได้ประสานความร่วมมือในการจัดสรรการใช้คลื่นวิทยุความถี่ของสังคมโลกส่งเสริมความร่วมมือของนานาชาติในการจัดสรรวงจรดาวเทียม ตลอดจนทำงานภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงระบบการสื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ ITU ยังมีบทบาทในการวางมาตรฐานโทรคมนาคมทั่วโลกเพื่อเชื่อมโยงระบบการสื่อสาร การคมนาคมรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ITU มุ่งมั่นเชื่อมโยงโลกทั้งใบผ่านระบบสื่อสารต่างๆ ตั้งแต่เครือข่ายบรอดแบนด์ เทคโนโลยีไร้สายยุคใหม่ ระบบนำร่องเพื่อการบินและการเดินทะเล ระบบดาราศาสตร์วิทยุ ระบบพยากรณ์อากาศผ่านดาวเทียม การประสานเทคโนโลยีไร้สายและใช้สายเข้าด้วยกันเพื่อให้สื่อสารได้ทุกที่ทุก เวลา ไปจนถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและระบบออกอากาศของโทรทัศน์จากอนาล๊อคสู่ดิจิตอล