บูดาเปสท์ ถึงลอนดอน : ฉาก, โลเกชั่น และงานออกแบบ
การถ่ายทำ 47 Ronin แบ่งแยกระหว่างการทำงานในสตูดิโอในบูดาเปสท์ และการถ่ายทำที่โรงถ่ายขนาดใหญ่ที่เชพเพอร์ตัน สตูดิโอส์ใกล้ๆ กับลอนดอน อันที่จริงแล้ว เป้าหมายของทีมถ่ายทำนี้ ก็คือการสร้างภาพประเทศญี่ปุ่นที่งดงามจากเริ่มต้น ผู้อำนวยการสร้างแม็คลีออดสรุปว่า “คนเยอะแยะมากมายที่ไม่เคยไปญี่ปุ่น คงจะมีภาพที่ใจนึกไว้ว่าญี่ปุ่นจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร ภาพยนตร์เรื่องนี้จะนำภาพเช่นนั้นยกขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง มันเขียวขจีกว่า สดใสกว่า”
แอ็บดี้ได้พูดถึงความท้าทายต่างๆ ที่ต้องเจอตั้งแต่วันแรก “คุณจับคู่บทภาพยนตร์ของคริสและฮอสซีนเข้ากับการถ่ายทำในลอนดอนและบูดาเปสท์ และพยายามสร้างญี่ปุ่นในยุคเจ้าขุนมูลนายขึ้นมาใหม่อีกครั้ง มันเป็นกระบวนการหลากหลายระดับที่ทำให้คนที่มีความสามารถจำนวนมากต้องบากบั่นทำงานจนสำเร็จ”
ทางทีมผู้สร้างรู้ดีว่า เพื่อสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาให้เป็นธรรมที่สุด พวกเขาจำต้องทำงานในระดับยิ่งใหญ่ ในเวลาเดียวกัน พวกเขาจำต้องเข้าถึงคุณสมบัติจำเพาะของชีวิตในญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 18 ขณะที่ให้เกียรติกับความปรารถนาของพวกเขาที่จะนำเสนอเรื่องราวของประเทศแห่งนี้ขึ้นจอใหญ่ในแบบที่ยังไม่เคยเห็นมาก่อน
รินสช์ได้พูดคุยถึงสิ่งที่จำเป็นว่า “เราทำการค้นคว้า เพื่อให้แน่ใจว่าเรารู้จักวัฒนธรรมนี้ จากนั้น เราก็แสดงความเคารพด้วยการสร้างมันออกมาตามรูปแบบของเรา และเปลี่ยนแปลงมันไปในแบบที่ต้องสมเหตุผลต่อทุกวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี คนญี่ปุ่นใส่ความมีเหตุผลลงไปในทุกงาน คนตะวันตกจึงต้องระมัดระวังที่จะไม่ล่วงละเมิด เรื่องง่ายๆ อย่างเช่นการตรวจสอบให้แน่ใจว่าชุดกิโมโน่ทุกชุดถูกสวมใส่โดยซ้ายทับขวา กลายเป็นเรื่องสำคัญใหญ่หลวง เพราะหลังจากคุณเสียชีวิตแล้วเท่านั้นที่คุณจะใส่แบบขวาทับซ้าย ถ้าคุณไม่ระวังให้ดี คุณจะลงเอยด้วยการมีทีมนักแสดงที่กลายเป็นศพเดินได้”
“ฉากของเราใหญ่มาก” แอ็บดี้เปิดเผย “และประณีตมากด้วย และยังมีส่วนขยายที่เป็นงานวิชวลเอฟเฟ็กต์ จากนั้นก็มีรายละเอียดของการตกแต่งฉาก ซึ่งเหมือนจริงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้แต่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่นชา ห้องต่างๆ เสื่อตาตามิ มีอยู่ฉากหนึ่งที่มิกะกำลังแต่งหน้าเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับพิธีแต่งงานของเธอกับลอร์ดคิระ รายละเอียดในทุกอย่าง เรื่อยไปจนถึงแปรงแต่งหน้า และวิธีการแต่งหน้า สีสัน และโครงสร้างของลิปสติค มีองค์ประกอบแบบนั้นอยู่เป็นล้านๆ ที่จะต้องทำให้ถูกต้องในทุกแผนก”
แจน โรเอลฟ์ส โปรดักชั่นดีไซเนอร์ที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วถึงสองครั้ง และเมื่อเร็วๆ นี้เป็นคนออกแบบโปรดักชั่นให้กับภาพยนตร์เรื่อง Fast & Furious 6 ได้วางแผนการสร้างโลเกชั่นต่างๆ ของ 47 Ronin ในบูดาเปสท์ ทีมของเขาได้สร้างฉากขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นลานสนามของอาโกะ, เกาะเดจิมะ และป่าเทนกุ ส่วนที่เชพเพอร์ตัน พวกเขาได้สร้างฉากกลางแจ้งของอาโกะ และป้อมปราการของคิระให้กับฉากสุดท้ายสุดอลังการของภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย
แม็คลีออดให้ความเห็นเกี่ยวกับผลงานของทีมว่า “รายละเอียดนั้นพิเศษสุดจริงๆ กับฉากอาโกะ ต้นไม้เต็มไปด้วยดอกซากุระ นั่นเป็นภาพที่มีความเป็นญี่ปุ่นแบบเฉพาะตัว มีความขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างป้อมปราการของอาโกะ กับดอกซากุระที่งดงาม และความมืดมิดของป้อมปราการของคิระ ที่บ่งบอกถึงการเดินทางของเรื่องราวนี้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง”
โดยรวมแล้ว มีดอกซากุระปลอมกว่า 15,000 ดอกที่ถูกนำมาติดบนต้นไม้แต่ละต้นด้วยมือ และตัวต้นไม้เองก็มีขนาดใหญ่ซึ่งพวกเขาต้องแยกมันออกเป็นชิ้นๆ และนำใส่เรือขนไปยังสหราชอาณาจักร ฉากถูกตกแต่งให้ดีขึ้นด้วยต้นไผ่ จำนวนกว่า 300 ต้น แต่ละต้นมีความสูง 50 ฟุต ซึ่งถูกขนไปจากอิตาลี รวมถึงต้นไม้บอนไซสูง 3 ฟุต ซึ่งบางต้นนั้นมีอายุมากกว่า 100 ปี
ตัวอย่างผลงานของทีมงานของโรเอลฟ์ส รีฟส์ได้เล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวองก์สุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเป็นการบุกยึดป้อมปราการของคิระ ซึ่งถ่ายทำกันที่โรงถ่ายที่เชพเพอร์ตัน สตูดิโอส์ “กลุ่มนินจาโรนิน 47 ได้รับความร่วมมือจากคณะการแสดง ที่จะต้องมาแสดงให้กับลอร์ดคิระดูในคืนนั้น เราสามารถเข้าไปถึงตัวปราสาท และเริ่มแฝงตัวอยู่ในนั้นตามแผนการ และในช่วงนั้นเองที่เราพยายามเข้าไปปลิดชีพลอร์ดคิระและปลดปล่อยเจ้าหญิง”
อาซาโนะกล่าวว่าฉากดังกล่าวนั้นเป็นฉากในฝันเลยทีเดียว “มันสมบูรณ์แบบ ทั้งน่าเกลียด เยือกเย็น และว่างเปล่า หรืออีกนัยหนึ่ง ทุกอย่างเหมาะกับบุคลิกของคิระมาก”
รีฟส์ยอมรับว่าเขารู้สึกประทับใจกับความละเอียดลออในการสร้างฉากของภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยเฉพาะผลงานในป้อมปราการของคิระ “เรามีฉากที่สุดยอดมาก” เขากล่าวอย่างภูมิใจ “และมันถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมด้วยกล้อง มีส่วนเพิ่มเติมมาทีหลัง งานสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ และสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ต่างๆ แต่เรามีฉากใหญ่เหล่านี้ มันคืองานสร้างหนังสไตล์ดั้งเดิม มีฉากใหญ่ ตัวประกอบเพียบ เสื้อผ้า แสง กล้อง แอ็กชั่น คุณจะได้เห็นความสนุกเมื่อโรนินที่มีอยู่จำนวนน้อยนิด จัดการกับคู่ต่อสู้มากมาย มีการยิงธนู และการต่อสู้ การฟาดฟันกันด้วยดาบ มันเกิดขึ้นตามลานป้อมปราการที่มีลักษณะแตกต่างกันไป”
ในเรื่องราวเวอร์ชั่นของเรา ไคเติบโตมาในป่าเทนกุ ซึ่งเป็นฉากที่โรเอลฟ์สและทีมงานของเขาสร้างขึ้นมาในบูดาเปสท์ แอ็บดี้รู้สึกประทับใจกับฉากนี้มาก เธอกล่าวอย่างกระตือรือร้นว่า “ป่าเทนกุช่างน่าตื่นตามากทีเดียว มันอาจเป็นส่วนประกอบที่มหัศจรรย์ที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว มีองค์ประกอบมากมายในฉากนี้ มันคือวิธีที่จะพาคนดูดำดิ่งเข้าไปในสถานที่ลึกลับที่ไคเติบโตมา”
อาคานิชิเล่าว่าฉากต่อสู้ฉากแรกของตัวละครของเขานั้นน่าหวั่นเกรงมาก “ถ้ำแห่งนี้มีลักษณะที่ทั้งแปลกและดูน่ากลัวมาก ผมประทับใจกับรายละเอียดที่ทีมงานใส่ลงไปในฉากนี้ มันมีความซับซ้อน เป็นฉากแรกสำหรับผม และการได้เห็นมันเป็นครั้งแรก ผมรู้สึกทึ่งมากทีเดียวครับ”
ในบูดาเปสท์ ทีมงานได้สร้างฉากสภาพแวดล้อมของเกาะเดจิมะ ซึ่งเป็นสถานีทำการค้าที่ดัทช์เป็นเจ้าของ ที่นี่เองที่ไคและโออิชิได้ปะทะกัน เมื่อฝ่ายหลังพยายามปล่อยไคจากที่คุมขัง
แม็คลีออดเชื่อว่าไม่มีใครเหมาะเท่าโรเอลฟ์สอีกแล้วที่จะเป็นผู้จินตนาการโลกของ Ronin เขาให้ความเห็นว่า “กระบวนความคิดของแจน ไม่เพียงแต่เหมาะกับการออกแบบภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น แต่มันยังเข้ากันได้ดีกับความซับซ้อนของงานสตั๊นต์และงานวิชวลเอฟเฟ็กต์ ทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา”นกล่าเหยื่อ : งานสตั๊นต์และศิลปะการต่อสู้
แกรี่ พาวเวลล์ ผู้ประสานงานสตั๊นต์ซึ่งเคยแสดงฝีมือให้เห็นมาแล้วในภาพยนตร์อย่าง Skyfall และ Quantum of Solace จนถึงเรื่อง Unstoppable และ The Bourne Ultimatum เข้ามารับผิดชอบดูแลทีมต่อสู้ รินสช์กล่าวว่า “แกรี่สร้างผลงานที่สุดมหัศจรรย์มาก เราอยากจับภาพการต่อสู้ด้วยกล้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเขาก็นำทีมสตั๊นต์ไปสู่ผลลัพธ์ที่สุดยอดจริงๆ”
รีฟส์คุ้นเคยดีอยู่แล้วกับสไตล์การต่อสู้แบบเอเชีย โดยเขาเคยเรียนศิลปะป้องกันตัวแบบต่อสู้ตัวต่อตัวตอนที่ต้องแสดงภาพยนตร์ไตรภาคเรื่อง Matrix และจากผลงานการกำกับเรื่องแรกของเขา เรื่อง Man of Tai Chi อย่างไรก็ดี การฝึกเพื่อนำแสดงใน 47 Ronin หมายถึงการต้องเรียนสไตล์การต่อสู้แบบญี่ปุ่นที่เกี่ยวพันกับอาวุธต่างๆ เขาเล่าว่า “ผมเริ่มจากดาบคาตานะก่อนจะเริ่มถ่ายทำ และต้องฝึกอยู่นานหกอาทิตย์ เพื่องานพื้นฐานต่างๆ”
สไตล์การต่อสู้ของไคเป็นการผสมผสานองค์ประกอบพื้นฐานต่างๆ เข้ากับสไตล์การต่อสู้ที่โดดเด่นของปรมาจารย์เทนกุ มันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขาถูกขังอยู่ที่เกาะเดจิมะ ซึ่งตามที่รีฟส์บอก เขากลายเป็นเหมือน “หมานักสู้” “ไคนำองค์ประกอบที่เขาได้เฝ้าสังเกตซามูไร และเรียนรู้เทคนิคเพลงดาบแบบเทนกุมา จากนั้นก็ยังมีเทคนิคการต่อสู้ในลานต่อสู้อีกด้วย”
รีฟส์เล่าถึงฉากสำคัญที่เกาะเดจิมะที่เขาได้ต่อสู้กับโออิชิ “ระหว่างการต่อสู้นั้น เราได้ทำความรู้จักกันผ่านสไตล์ต่างๆ และผ่านแผนการ ไคเหมือนเสียสติไปแล้วเพราะเขาต้องอยู่ในห้องสังหารมานานกว่าหนึ่งปี และกลายเป็นสัตว์นักฆ่า แต่โออิชิเป็นคนที่นำสติของเขากลับคืนมา”
ซานาดะที่ใช้ดาบได้คล่องแคล่วอยู่แล้ว จำได้ถึงการซักซ้อมฉากนี้อยู่นานหลายอาทิตย์ เขาอธิบายว่า “โออิชิเป็นเจ้าแห่งดาบ แต่ในเวลานั้น ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในภาวะสงบ ดังนั้นซามูไรมากมายจึงไม่เคยได้ใช้ดาบของพวกเขาเลย ไคถูกเลี้ยงดูมาในเทนกุ และสไตล์การต่อสู้ของเขาก็ป่าเถื่อนมาก ในระหว่างการเดินทางนี้ ไคและโออิชิได้เรียนรู้สไตล์การต่อสู้ของกันและกัน
รีฟส์กล่าวว่าซานาดะช่วยได้มากเมื่อถึงเวลาเรียนรุ้ศิลปะการใช้ดาบแบบซามูไร “ซานาดะซังเก่งมากทีเดียว” เขากล่าวอย่างกระตือรือร้น “เขาเคยฝึกใช้ดาบแบบคลาสสิกสำหรับเขา ทุกอย่างล้วนแต่มีความหมาย เขาไม่ใช่แค่แสดงฉากแอ็กชั่นเพื่อให้มีฉากแอ็กชั่นเท่านั้น การจู่โจมแต่ละครั้งเหมือนไหลไปสู่การฟาดฟันครั้งต่อไป และเขาก็รับรู้และสำนึกในเรื่องนี้เป็นอย่างดี”
บนเกาะเดจิมะของดัทช์ ไคต้องเผชิญหน้ากับสิ่งมีชีวิตสุดมหัศจรรย์อีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ โอนิ (อ๊อกร์) ซึ่งรับบทโดย นีล ฟินเกิลตัน (X-Men: First Class) ผู้รับบทเป็น บรูท ทหารร่างยักษ์ของคิระในตอนต้นเรื่องด้วยอีกบทหนึ่ง ด้วยส่วนสูง 7 ฟุต 7 นิ้ว ฟินเกิลตันคือชายที่สูงที่สุดในอังกฤษ
รีฟส์เชื่อว่านั่นคือหนึ่งในการต่อสู้ที่ยากที่สุดเท่าที่เขาเคยแสดงมา “นั่นคือความท้าทาย คุณจะต่อสู้กับคนที่สูงขนาดนั้นยังไง ในแง่ของการโจมตี สำหรับผมมันเป็นเรื่องของการบุกสูงต่ำ คุณต้องบุกเท้า คุณต้องพยายามเข้าวงใน นีลเป็นนักกีฬาอาชีพ และมีทักษะทางร่างกายสูง ถึงแม้เขาจะเริ่มต้นด้วยการไม่มีประสบการณ์ในการต่อสู้สตั๊นต์เลยก็ตาม”
ฟินเกิลตันได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการเป็นชายตัวใหญ่ที่สุดในกองถ่ายนี้ว่า “ผมภูมิใจในความสูงของผมเสมอ คีอานูเป็นคนดีมาก การได้รู้จักเขาเป็นเรื่องสนุก กับการต่อสู้นั้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำความเข้าใจว่าเราแต่ละคนเคลื่อนไหวอย่างไร และผมเดาว่าสำหรับเขามันยากกว่าเพราะเขาต้องต่อสู้โดยเงยหน้ามองตลอดเวลา” ฟินเกิลตันกล่าว “ผมต้องมองต่ำ แต่ว่าผมก็คุ้นเคยกับการทำแบบนั้นอยู่แล้ว!”
ซามูไรพเนจรเหล่านี้ไม่ใช่ชายเพียงกลุ่มเดียวที่ต้องออกลุย อาคานิชิยอมรับว่าเขาตื่นเต้นมากที่ได้เรียนรู้การต่อสู้ในบทนี้ “ผมต้องฝึกการต่อสู้ด้วยดาบ และต้องขี่ม้า ผมยังไม่เคยทำอะไรแบบนั้นมาก่อน” เขากล่าวอย่างกระตือรือร้น “มันสนุก และเป็นเรื่องดีที่ได้เรียนรู้”