happy on November 25, 2013, 02:38:55 PM

ชื่อหนัง :           THE WORLD’S END

ชื่อไทย:            ก๊วนรั่วกู้โลก

วันที่เข้าฉาย       28 พฤศจิกายน 2556  เฉพาะ PARAGON CINEPLEX, SF WORLD CINEMA,

จัดจำหน่าย       บริษัท ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล พิคเจอร์ส (ฟาร์ อีสต์)


<a href="http://www.youtube.com/watch?v=Dj6M5s2g-4c" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=Dj6M5s2g-4c</a>

เรื่องย่อ

                The World’s End ส่วนผสมที่ลงตัวของความเป็นพี่น้องพ้องเพื่อน อารมณ์ขันรสเด็ด การดื่มไม่ยั้ง ทางเลือกในชีวิตที่น่าสงสัย การต่อสู้ประชิดตัวและเซอร์ไพรส์น่าอัศจรรย์ เป็นการร่วมงานกันอีกครั้งระหว่างผู้กำกับเอ็ดการ์ ไรท์และสองนักแสดง ไซมอน เพ็กก์และนิค ฟรอสท์ หลังจากภาพยนตร์ฮิตเรื่อง Shaun of the Dead (2004) และ Hot Fuzz (2007)

                เรื่องราวของ The World’s End เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน ปี 1990 ในเมืองนิวตัน ฮาเวน ที่อยู่ย่านชานเมืองของอังกฤษ เด็กหนุ่มห้าคนที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ได้เฉลิมฉลองวันเรียนจบด้วยการพยายามจะสรรค์สร้างตำนานการบุกตะลุยผับด้วยกัน แม้ว่าพวกเขาจะกระตือรือร้นและกระดกเบียร์ไปมากแค่ไหน พวกเขากลับไม่ประสบความสำเร็จดังความตั้งใจเพราะพวกเขาไม่สามารถไปถึง เดอะ เวิลด์ส เอนด์ ซึ่งเป็นผับสุดท้ายในลิสต์ของพวกเขาได้

                ประมาณกว่ายี่สิบปีให้หลัง “ห้าทหารเสือ” ต่างคนต่างก็จากบ้านเกิดไปคนละทิศละทาง และตอนนี้ พวกเขาก็เป็นสามี เป็นพ่อ เป็นชายผู้เจริญในหน้าที่การงาน ทุกคนประสบความสำเร็จด้วยดีเว้นแต่แกรี่ คิง (ไซมอน เพ็กก์) อดีตหัวโจกผู้พูดจาคล่องแคล่วของพวกเขา ตอนนี้ เขาเป็นชายวัย 40 ปีที่ยังคงมีความหลังฝังใจกับวัยรุ่นของตัวเอง แกรี่ ผู้เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น รับรู้ถึงความห่างเหินระหว่างเขาและแอนดี้ (นิค ฟรอสท์) ผู้เคยเป็นเพื่อนสนิทหมายเลขหนึ่งของเขา เขาก็เลยดึงดันที่จะกลับไปสู่การดื่มมาราธอน “เดอะ โกลเดน ไมล์” อีกครั้ง เขาเกลี้ยกล่อมแอนดี้, สตีเวน (แพ็ดดี้ คอนซิไดน์), โอลิเวอร์ (มาร์ติน ฟรีแมน) และปีเตอร์ (เอ็ดดี้ มาร์สัน) ให้ปฏิบัติภารกิจนี้อีกครั้ง และบ่ายวันศุกร์วันหนึ่ง พวกเขาก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง แกรี่รู้สึกเหมือนปลากระดี่ได้น้ำ กฎที่ถูกตั้งเอาไว้ก็คือ เวลาหนึ่งคืน ชายห้าคน ผับสิบสองแห่ง และพวกเขาก็ต้องดื่มเบียร์อย่างน้อยหนึ่งไพน์ต่อหนึ่งผับ เมื่อไปถึงนิวตัน ฮาเวน พวกเขาได้พบกับแซม (โรซามุนด์ ไพค์) น้องสาวของโอลิเวอร์ ที่ทั้งแกรี่และสตีเวนต่างก็ยังแอบมีใจให้อยู่

                ขณะที่พวกเขาพยายามที่จะประสานเรื่องในอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกัน การได้พบกับสถานที่เก่าๆ และคนที่พวกเขาเคยรู้จัก ที่ทั้งอันตรายและเพี้ยนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้พวกเขาตระหนักได้ว่า การที่พวกเขาฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เหล่านี้ก็เพื่ออนาคต แต่ไม่ใช่อนาคตของพวกเขาเท่านั้น มันยังเป็นอนาคตของมนุษยชาติด้วย และการไปให้ถึงเดอะ เวิลด์ส เอนด์อาจเป็นสิ่งที่น่ากังวลน้อยที่สุดก็เป็นได้...

                ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส อินเตอร์เนชันแนล ร่วมกับรีเลทีฟวิตี้ มีเดีย ภูมิใจเสนอ ผลงานสร้างโดยเวิร์คกิ้ง ไตเติล ร่วมกับบิ๊ก ทอล์ค พิคเจอร์ส The World’s End นำแสดงโดยไซมอน เพ็กก์, นิค ฟรอสท์, แพ็ดดี้ คอนซิไดน์, มาร์ติน ฟรีแมน, เอ็ดดี้ มาร์สัน, โรซามุนด์ ไพค์ คัดเลือกนักแสดงโดยนีนา โกลด์, โรเบิร์ต สเติร์น ควบคุมดนตรีโดยนิค แองเจิล ดนตรีโดยสตีเวน ไพรซ์ ออกแบบเมคอัพและทรงผมโดยเจน วอล์คเกอร์ ออกแบบเครื่องแต่งกายโดยกาย สเปแรนซา ลำดับภาพโดยพอล มาชลิส, เอซีอี ออกแบบงานสร้างโดยมาร์คัส โรว์แลนด์ กำกับภาพโดยบิล โป๊ป, เอเอสซี ร่วมอำนวยการสร้างโดยไมริ เบ็ทท์ ควบคุมงานสร้างโดยเจมส์ บิดเดิล, เอ็ดการ์ ไรท์, ไซมอน เพ็กก์, นิค ฟรอสท์, ลิซา ชาซิน เขียนบทโดยไซมอน เพ็กก์และเอ็ดการ์ ไรท์ อำนวยการสร้างโดยนีรา ปาร์ค, ทิม บีแวน, อีริค เฟลเนอร์ กำกับโดยเอ็ดการ์ ไรท์ จัดจำหน่ายโดยยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส อินเตอร์เนชันแนล

THE WORLD’S END
EDGAR WRIGHT Q+A

               ไรท์ ผู้ร่วมงานกับไซมอน เพ็กก์, นิค ฟรอสท์และผู้อำนวยการสร้างนีรา  ปาร์คมายาวนาน เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Shaun of the Dead และ Hot Fuzz เขาได้ทำงานในซีรีส์โทรทัศน์เรื่อง Spaced และได้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Scott Pilgrim vs. The World เขาได้ร่วมกับโจ คอร์นิชและสตีเวน มอฟแฟทท์เขียนบทภาพยนตร์โดยสตีเวน สปีลเบิร์กเรื่อง The Adventures of Tin Tin และหลังจากนี้ เขาก็จะกำกับภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากเรื่องราวซูเปอร์ฮีโรของมาร์เวล คอมิกส์เรื่อง Ant-Man ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาคือ The World’s End ที่เขาร่วมเขียนบทกับเพ็กก์ ผู้แสดงประกบนิค ฟรอสท์และทีมนักแสดงชาวอังกฤษระดับแนวหน้า ซึ่งรวมถึงมาร์ติน ฟรีแมน, โรซามุนด์ ไพค์, แพ็ดดี้ คอนซิไดน์และเอ็ดดี้ มาร์สัน

Q:   ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวพันกับ Shaun of the Dead และ Hot Fuzz อย่างไรบ้าง
A:   ความเกี่ยวพันแบบผิวเผินก็คือทีมนักแสดงของเรื่องและมุขเกี่ยวกับการกระโดดข้ามรั้วและไอศกรีม แต่มันก็มีธีมที่ทับซ้อนกันในหนังทั้งสามเรื่องและธีมที่สำคัญที่สุดคือการเติบโต การเป็นวัยรุ่นตลอดกาลและความสุขรวมถึงอันตรายที่เกิดจากความรู้สึกนั้นด้วย สิ่งที่เราต้องการจะทำกับแกรี คิง ตัวละครของไซมอน คือการให้คนมีอาการคิดถึงความหลังขั้นรุนแรงและเพื่อขับเน้นไอเดียที่ว่า ในชีวิตจริง การย้อนเวลา แม้แต่ในเชิงเปรียบเทียบ ก็ไม่ใช่ไอเดียที่ดีนักหรอก เราก็เลยอยากจะสร้างหนังเรื่องที่สาม ที่ใช้ธีมจากหนังทั้งสองเรื่องนั้น มันน่าจะเวิร์คในฐานะหนังสแตนด์อโลนแบบเดียวกับทีคุณไม่จำเป็นต้องดู Shaun of the Dead มาก่อน ถึงจะสนุกกับ Hot Fuzz ได้ คุณก็ไม่จำเป็นต้องดูเรื่องอื่นๆ เพื่อสนุกกับหนังเรื่องนี้เหมือนกัน แต่เราอยากจะประกาศแถลงการณ์สุดท้ายในหนังเรื่องนี้เพราะผมคิดเสมอว่า คุณจะเจอกับหนังเกี่ยวกับ ‘ผู้ชายที่มีความเป็นเด็ก’ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา และผมก็คิดว่าไม่มีหนังเรื่องไหนที่ซื่อสัตย์แบบนี้ นอกจากนั้น สำหรับไซมอนและนิค มันมีข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาเป็นทั้งพ่อและสามี และผมก็คิดว่า มันคงเป็นเรื่องเสแสร้งถ้าเราจะบอกว่าเราทุกคนอายุ 26 ปี แต่ตัวละครตัวหนึ่งอยากจะเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง ซึ่งผมคิดว่ามันมีความเป็นไปได้สูง ดังนั้น พอเราเลือกธีมนั้นแล้ว เรื่องราวก็เริ่มพรั่งพรูตามมา ไอเดียที่เป็นไซไฟ การรุกเงียบแบบนี้ มันแทรกซึมอยู่ในหนังไซไฟมากมายที่เราโตมากับมัน เหมือนอย่างจอห์น วินด์แฮม, ไนเจล นีลและจอห์น คริสโตเฟอร์ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์หลายเรื่องครับ
Q:   สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคุณคือหนังสือของนักเขียนเหล่านั้น หรือเป็นซีรีส์โทรทัศน์ที่สร้างจากหนังสือพวกนั้น อย่าง Chocky และ The Day of the Triffids และ Quatermass กันแน่ล่ะ
A:   ผมคิดว่าผลงานมากมายของวินด์แฮมเป็นแรงบันดาลใจให้กับผม แน่นอนว่า Chocky และ The Day of the Triffids ที่เป็นซีรีส์ก็ด้วย ส่วน Village of the Damned ก็เป็นอะไรที่คลาสสิก รวมถึงหนังสือเรื่อง The Midwich Cuckoos ก็ด้วย จอห์น วินด์แฮมเป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีอิทธิพลแผ่ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับไนเจล นีลและ Quatermass แล้วพอในอเมริกา คุณก็จะมีเรื่องราวอย่าง Invasion of the Body Snatchers และ The Stepford Wives หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมเคยดูมาตอนเด็กๆ ความหวาดระแวงที่เกิดขึ้นในเมืองเล็กๆ มักจะส่งผลกับผมอย่างมากเพราะผมมาจากเมืองเล็กๆ ดังนั้น มันก็จะส่งผลกระทบต่อผมมากกว่าเรื่องราวของเมืองใหญ่ หนังอย่าง The Stepford Wives จะมีผลกระทบต่อผมมากกว่าการที่ก็อดซิลล่าอาละวาดในเมืองใหญ่ครับ
Q:   คุณรู้จักใครที่เหมือนกับแกรี คิงในชีวิตจริงบ้างมั้ย
A:   ครับ บางครั้ง ผมกับไซมอนก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน สิ่งที่ผมชื่นชอบคือแม้ว่าจะมีองค์ประกอบด้านไซไฟและสเปเชียล เอฟเฟ็กต์พวกนั้น แต่คนก็จะบอกว่า ‘ฉันเองก็รู้จักคนแบบแกรี คิงนะ’ แล้วอีกคนก็อาจจะพูดว่า ‘ฉันนี่แหละแกรี คิง!’ ผมคิดว่าหลายคนเคยมีประสบการณ์แบบนั้น ผมเองก็เคยเป็น ไม่ว่าจะเป็นการกลับไปบ้านเกิดของตัวเองหรือการไปร่วมงานแต่งงาน การไปร่วมงานคืนสู่เหย้า หรือการได้พบกับเพื่อนเก่า มันเป็นประสบการณ์หวานปนขมเสมอครับ
Q:   นอกจากนี้ คุณยังให้ความเห็นเกี่ยวกับอิทธิพลของผับและร้านกาแฟที่เป็นแฟรนไชส์ด้วย...
A:   ผมมั่นใจว่ามันมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศอื่นด้วยเหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเครือข่ายที่ผูกขาดการค้า ถ้าคุณอยู่ในเมืองที่เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมใหญ่ พอคุณเริ่มออกไปข้างนอก คุณก็จะตระหนักว่าเมืองหลวงได้มีอิทธิพลต่อที่อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ผมโตมาในเมืองเล็กๆ และผมก็ย้ายไปลอนดอน แต่พอผมกลับไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมกลับไปบ้านเกิดเพื่อถ่ายทำหนังเรื่อง Hot Fuzz บ้านเกิดของผมกลายเป็นที่ที่โบราณมากๆ มันกลายเป็นเรื่องแปลกไปเลยที่ได้เห็นสตาร์บัคส์อยู่ใจกลางเมือง มันเหมือนกับ ‘อ๊ากกกกก!’มันดูไม่เข้ากับมุมมองอุดมคติสมัยเด็กที่ผมมีต่อสถานที่นี้เลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมจะต่อต้านสตาร์บัคส์หรืออะไรนะครับ!
Q:   The World’s End เป็นเรื่องราวเตือนใจในแง่นั้นรึเปล่า ว่าเราควรจะระวังไม่ให้ตัวเองถูกครอบงำจากบริษัทยักษ์ใหญ่
A:   ผมคิดว่างั้นนะครับ ผมรู้สึกแบบนั้นตอนที่ผมเดินทางทั่วประเทศนี้และในอเมริกา ผมจำได้ว่าผมขับรถจากนิวยอร์กไปแอลเอ ผ่านใจกลางประเทศที่มีพื้นที่ชนบทกว้างไกล ซึ่งมันงดงามมากๆ แล้วพอคุณเข้าใกล้แอลเอ ประมาณ 80 ไมล์ห่างจากแอลเอ ร้านฟาสต์ฟู้ดก็เริ่มโผล่ขึ้นมา แล้วตลอด 80 ไมล์นั้นก็เต็มไปด้วยเครือข่ายร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งทำให้ผมรู้สึกแบบว่า ‘พระเจ้า น่าหดหู่ชะมัด!’ แต่ผมคิดว่าที่มาของแรงบันดาลใจสำหรับหนังเรื่องนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผับอังกฤษ ที่มีการทำทุกอย่างให้เป็นเหมือนของชาวบ้านและโฮมเมด เหมือนอย่างลายมือเขียนด้วยชอล์คน่ะครับ ผมว่ามันเป็นเรื่องย่ำแย่จริงๆ คุณจะเห็นมันได้ในผับทุกแห่งใน The World’s End คุณจะเจอป้ายและลายมือเขียนแบบเดียวกัน และอีกสิ่งหนี่งที่สำคัญสำหรับผมคือประสบการณ์ในการกลับไปบ้านเกิดและรู้สึกแปลกแยกจากมัน ในตอนที่คุณมาจากที่ไหนซักแห่ง แล้วคุณกลับไปที่นั่น คุณจะไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่นั่นอีกต่อไปแล้ว มันเป็นประสบการณ์หวานปนขมมากๆ เราก็เลยอยากนำเสนอเรื่องราวเตือนใจในรูปแบบนั้นครับ
Q:   คุณมีประสบการณ์แบบนั้นกับบ้านเกิดของคุณเมื่อไหร่ ตอนที่ถ่ายทำ Hot Fuzz รึเปล่า
A:   มันเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นอีกครั้ง มีหลายสิ่งหลายอย่างในหนังเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นจริงตามนั้นเลย เรื่องหนึ่งก็คือการที่ผมได้เจอกับอันธพาลประจำโรงเรียนที่จำผมไม่ได้แล้ว มันเกิดขึ้นกับผมจริงๆ มันแปลกมากๆ เพราะผมเกือบอยากให้เขาจำผมได้ และการที่เขาจำผมไม่ได้ก็ทำให้ผมหัวเสียจริงๆ สิ่งอื่นๆ ในหนังเรื่องนี้ก็มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น ผมได้ไปร่วมงานแต่งงานของเพื่อนนักเรียนเก่า กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง แล้วเขาก็เปิดเพลงของ AC/DC ที่มีชื่อว่า Get it Hot ผมก็แบบ ‘ว้าว! ฉันไม่ได้ฟังเพลงนี้มาเป็นชาติเลยนะ นี่ฉันเป็นคนอัดเทปให้นายรึเปล่า?’ แล้วเขาก็ตอบว่า ‘ใช่ เทปม้วนนี้แหละ’ มันเกิดขึ้นจริงๆ ครับ
Q:   การสร้างหนังเรื่องนี้ให้ความรู้สึกเหมือนกับการคืนสู่เหย้าของเพื่อนเก่าเลย พวกคุณสามคนได้ทำงานที่แตกต่างกันมากมายนับตั้งแต่ Hot Fuzz รึเปล่า
A:   พวกเราสามคน ผม ไซมอนและนิค เราชื่นชอบการทำงานร่วมกันเพราะเราเป็นเพื่อนสนิทกันครับ มันเป็นเรื่องดีที่เราได้แยกย้ายกันไปทำงานกันคนละเรื่อง ผมได้กำกับ Scott Pilgrim...ส่วนพวกเขาก็ไปทำงานใน Paul และเราก็มีเรื่องราวสำหรับหนังเรื่องนี้เอาไว้แล้ว แผมคิดว่าเราคงไม่สามารถเขียนบทหนังเรื่องนี้ได้หากเป็นเมื่อหกปีก่อน เราต้องแยกย้ายกันไปคนละทางก่อนถึงจะกลับมาได้ ดังนั้น ผมก็เลยรู้สึกดีที่ได้เขียนบทเกี่ยวกับเพื่อนที่กลับมารวมตัวกันและได้มาพบกันอีกครั้งหนึ่งจริงๆ มันดีมากๆ เลยครับ
Q:   ความสัมพันธ์ระหว่างทีมนักแสดงเป็นอย่างไรบ้างในตอนที่คุณอยู่ในผับและกล้องหยุดเดินน่ะ พวกเขาได้คุยเล่นหัวกันรึเปล่า
A:   ถ้าคุณได้ดูโฆษณาหนังเรื่องนี้ คุณจะได้เห็นจุดรงกลางระหว่างบทสนทนาที่หลากหลายระหว่างพวกเขาทั้งห้าคน ที่พวกเขาจะคุยเรื่องอะไรต่อมิอะไรมากมายจนกระทั่งมีคำสั่ง ‘แอ็กชัน!’ พวกเขาห้าคนเข้ากันได้ดีมากๆ และผมคิดว่ามันก็แสดงให้เห็นในหนังเรื่องนี้ด้วย คนเดียวที่ผมไม่เคยทำงานด้วยมาก่อนคือเอ็ดดี้ มาร์สัน ผมไม่เคยร่วมงานกับโรซามุนด์ ไพค์ด้วยก็จริงแต่ผมก็รู้จักเธอ ผมไม่รู้จักเอ็ดดี้ แต่นิคเคยร่วมงานกับเอ็ดดี้มาก่อน ผมเป็นแฟนผลงานของเอ็ดี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังโดยไมค์ ลีห์ ส่วนแพ็ดดี้และเอ็ดดี้ก็เพิ่งเล่นหนังที่เข้มข้นมากๆ หลายเรื่อง ผมก็เลยอยากให้พวกเขาเล่นอะไรตลกบ้าง หวังว่าหนังเรื่องนี้จะให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติและสมจริงมากๆ เพราะพวกเขาเข้ากันได้ดีจริงๆ ครับ
Q:   คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการปิดกล้องหนังเรื่องนี้ คุณเศร้ารึเปล่า
A:   แค่เหนื่อยน่ะครับ มันเป็นการถ่ายทำที่เข้มข้นมากๆ เราปิดกล้องกันช่วงคริสต์ม และมันก็เป็นเรื่องแปลกมากๆ ที่จะปิดกล้องช่วงคริสต์มาสเพราะมันเป็นวันหยุดของทุกคนน่ะครับ ผมนอนสลบไสลสองวันติดโดยไม่ตื่นขึ้นมาเลย มันเป็นการถ่ายทำที่โหดมากๆ เพราะมีแอ็กชันเยะมาก มันมีอะไรให้ต้องทำมากมายเสมอแต่ผมคิดว่าด้วยความที่ว่ามันเป็นหนังที่เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในคืนเดียวและเพราะตัวละครรู้สึกสิ้นหวังมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่อง การถ่ายทำแบบนั้นก็ช่วยได้จริงๆ การที่คุณวิ่งไปมาท่ามกลางอากาศหนาวเย็นช่วยเพิ่มความรู้สึกอันตรายและความเข้มข้นในยามค่ำคืนได้ครับ
Q:   หนังเรื่องมีทุนสร้างแตกต่างจาก Shaun และ Hot Fuzz อย่างไร
A:   เรามีเงินเยอะกว่าครับ Hot Fuzz ใช้ทุนสรส้างมากกว่า Shaun ประมาณสามเท่า แต่หนังเรื่องนี้ใช้ทุนน้อยกว่าสองเท่าของ Hot Fuzz ดังนั้น ทุนสร้างก็เลยขยับขึ้นไปอีกเล็กน้อย ในหนังเรื่องนี้ ใช้เอฟเฟ็กต์มากขึ้น แต่เราก็ยังคงใช้ทีมงานชุดเดิม สิ่งที่เยี่ยมอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเวิร์คกิ้ง ไทเทิลและอีริค เฟลเนอร์คือตราบใดที่คุณไม่ใช้งบเกิน พวกเขาก็จะปล่อยให้คุณทำอะไรก็ได้ตามใจต้องการ ซึ่งสำหรับผมมันเหมือนฝันเลย ถ้าผมทำตามตารางการทำงานและถ้าผมใช้งบตามที่ตั้งไว้ พวกเขาก็จะปล่อยให้ผมถ่ายทำตามบท โดยไม่แทรกแซงเลย ซึ่งพวกเขาเป็นผู้ควบคุมงานสร้างที่ดีที่สุดเลยล่ะครับ
Q:   คุณตัดสินใจเลือกดนตรีสำหรับซาวน์แทร็คเรื่องนี้ได้อย่างไร
A:   ในตอนที่ผมกับไซมอนเขียนบท หนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่เราทำคือการทำเพลย์ลิสต์เพลงทั้งหมดสมัยที่เราเป็นวัยรุ่นและช่วงยี่สิบต้นๆ ซึ่งมันมีเพลงประมาณ 200 เพลงระหว่างปั 1987-1992 เพลงอย่าง Loaded โดยไพรมัล สครีมออกมาในปี 1990 ตอนผมอายุได้ 16 ปี และผมก็คิดว่านั่นเป็นปีแรกที่ผมเริ่มฟังดนตรีเจ๋งๆ แล้วมันก็เป็นตอนที่ผมเริ่มซื้อนิตยสาร NME ด้วย ก่อนหน้านั้น ผมก็แค่ฟังเพลงตามป๊อป ชาร์ต แล้วพอผมอายุมากขึ้น ผมก็เริ่มฟังเพลงแนวอัลเทอร์เนทีฟ และหลายเพลงก็ปรากฏในหนังเรื่องนี้ด้วย นอกจากนั้น ตัวละครของแกรีก็ยึดติดกับเพลงพวกนี้ พวกเพลงปาร์ตี้โดนๆ จากปลายยุค 80s และต้นยุค 90s และเขาก็ใช้มันเป็นไบเบิลของเขาครับ พวกเราก็รักเพลงพวกนี้เหมือนกัน ดังนั้น มันก็เลยเป็นเรื่องตลกสำหรับเราที่ตัวละครจะเลือกใช้ชีวิตตามเนื้อเพลงของซุป ดรากอนส์ สิ่งหนึ่งที่ผมชื่นชอบคือถ้ามีไทม์แมชชีนในหนังเรื่องนี้ มันก็คือเหล้าครับ พวกเขาเริ่มย้อนความคิดไปสู่อดีตและผมก็ชื่นชอบไอเดียที่นักแสดงเริ่มมีลักษณะเหมือนเด็กมากขึ้น แม้แต่ไอเดียของเลือดสีน้ำเงินในตัวหุ่นยนต์ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องย้อนอดีตครับ
Q:   ทำไมพวกเขาถึงมีเลือดสีน้ำเงินล่ะ
A:   การมีเลือดสีน้ำเงินเกิดขึ้นเพราะตอนที่ผมเรียนอยู่ ผมเคยมือเปื้อนหมึกเต็มไปหมด ผมเคยนั่งวาดรูปทุกวัน ผมทั้งเขียน ทั้งวาด ทำให้หมึกเปื้อนตัวผมไปหมด ดังนั้น ในฉากนั้นในผับแห่งแรก หลังการต่อสู้ มันเป็นการเปลี่ยนนักแสดงเหล่านั้นให้ดูเหมือนเด็กเล็กๆ อีกครั้งครับ!
Q:   คุณจำครั้งสุดท้ายที่คุณไปตะลุยผับได้มั้ย
A:   ครับ ผมเคยทำแบบนั้นตอนผมอายุได้ 19 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจสำหรังหนังเรื่องนี้ จริงๆ แล้ว สามนาทีแรกของหนังเรื่องนี้เป็นการนำเสนอเรื่องราวในค่ำคืนนั้นแบบใส่สีตีไข่ครับ ผมได้เขียนบทหนังเกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนผมอายุ 21 ปี ในปี 1995 เป็นบทหนังเรื่อง Crawl และผมก็ไม่เคยทำอะไรกับมันอีกเลย แล้วหลังจาก Hot Fuzz ผมก็มานึกถึงบทหนังเรื่องนั้นอีกครั้ง แล้วผมก็คิดขึ้นมาได้ว่า มันอาจจะน่าสนใจกว่าถ้ามันเป็นเรื่องของกลุ่มคนอายุมากกว่าที่พยายามเลียนแบบค่ำคืนนั้นอีกครั้ง ผมเคยพาไซมอนกับนิคไปบ้านเกิดผม แล้วเราก็พยายามจะตะลุยผับกัน มันน่าสมเพชยิ่งกว่าความพยายามในครั้งแรกเสียอีก ผมคิดว่าเราไปได้แค่สามที่เองครับ บอกตามตรงนะครับ ผมคอไม่แข็งเท่าไหร่ ก็เลยเมาง่ายมาก ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเตือนใจครับ
Q:   คุณจะถ่ายทำอะไรต่อไป
A:   ผมคิดว่าหลังจากนี้ ผมจะไปกำกับหนังของมาร์เวล [Ant-Man] และพอผมตระเวนออกสื่อสำหรับหนังเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว ผมก็จะไปต่อหนังเรื่องนั้นเลยครับ
« Last Edit: December 03, 2013, 06:46:06 PM by admin »

happy on November 25, 2013, 02:41:50 PM
THE WORLD’S END
SIMON PEGG Q+A

               ไซมอน เพ็กก์เป็นเพื่อนผู้ร่วมงานกับเอ็ดการ์ ไรท์และนิค ฟรอสท์มานาน ทั้งสามคนเคยร่วมงานกันมาก่อนในซีรีส์ Spaced รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง Shaun of the Dead และ Hot Fuzz  ซึ่งเขาก็ได้ร่วมเขียนบทกับไรท์ทั้งสองเรื่อง นอกจากนี้ เขายังได้รับบท มอนท์โกเมอร์รี “สก็อตตี้” สก็อต ในภาพยนตร์เรื่อง Star Trek และได้ร่วมแสดงใน Mission: Impossible III และซีเควล Mission: Impossible – Ghost Protocol นอกจากนี้ เขายังได้ทำงานใน The Adventures of Tin Tin, Run Fatboy Run และ Paul ซึ่งเรื่องสุดท้าย เขาได้ร่วมเขียนบทกับฟรอสท์ เขาได้กลับมาร่วมงานกับไรท์และฟรอสท์อีกครั้งใน The World’s End ซึ่งเขาเขียนบทร่วมกับไรท์ และที่เขารับบท แกรี คิง ผู้หลงออกนอกลู่นอกทาง...

Q:   สมัยเรียน คุณเหมือนแกรีรึเปล่า
A:   ผมคิดว่าผมเหมือนสตีเวน [รับบทโดยแพ็ดดี้ คอนซิไดน์] ครับ ผมจำได้ว่าหัวหน้ากลุ่มผมเป็นคนที่เจ๋งมากๆ เขาเป็นหนุ่มก็อธครับ ผมทำตัวแบบก็อธเพราะเขาและผมก็เป็นเหมือนลูกศิษย์ของเขา ผมเทิดทูนเขาเพราะเขาอายุมากกว่าผมหน่อย ผมก็เลยไม่ใช่แกรี แผมคิดว่าเราทุกคนต่างก็รู้จักแกรี และถ้าคุณไม่รู้จักแกรี คุณก็คือแกรีครับ!
Q:   คุณรู้สึกรึเปล่าว่าคอเมดีในหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นจากความจริงจัง จริงๆ แล้ว แกรีเป็นตัวละครที่น่าเศร้ามากๆ....
A:   ครับ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ สำหรับเรา ทั้งเอ็ดการ์ ผมและนิค เราพยายามจะใช้ความจริงจังเป็นพื้นฐานของคอเมดี เพื่อที่มันจะได้มีสิ่งยึดเหนี่ยว เพราะในตอนที่มุขแป้ก คอเมดีเรื่องนั้นก็จะพังครืน ถ้าไม่มีอย่างอื่นนอกจากมุข นอกจากนั้น คอเมดีที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นจากเรื่องราวดีๆ ตัวละครดีๆ และหัวใจและความหมายที่แท้จริงเสมอ แก่นแท้ของแกรี คิง ที่เป็นศูนย์กลางความวุ่นวายสุดป่วนคนนี้ คือโศกนาฏกรรมครับ เขาเป็นคนที่จมอยู่ในความหดหู่และการติดเหล้า และเขาก็เป็นคนที่ถูกจับตามองว่าเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายที่หนีจากโรงพยาบาลโรคจิตครับ
Q:   คุณเคยมีช่วงเวลาไหนที่คุณจะเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า ‘ฉันน่าจะโตได้แล้ว’ รึเปล่า หรือคุณรู้สึกไม่อยากโตซักที
A:   ผมคิดว่าหลายคนอนุมานว่าผมมีความเป็นผู้ใหญ่น้อยกว่าที่ผมเป็นอยู่ ผมเป็นคนค่อนข้างจะเรียบร้อยทีเดียวนะครับ ผมไม่ดื่ม และผมก็รู้ซึ้งถึงคุณค่าชีวิตครอบครัวเป็นอย่างดี ผมชอบการกลับบ้านเร็ว บ้านผมไม่ได้เต็มไปด้วยของเล่น และผมชอบเฟอร์นิเจอร์แอนธีคด้วยซ้ำไป ตัวละครใน Spaced เป็นเหมือนผมในสมัยอดีต แต่ผมโตขึ้นแล้ว สิ่งที่แปลกก็คือเรามีช่วงเวลาพิเศษในฐานะผู้ใหญ่ครับ สำหรับพ่อแม่ผม วัยเด็กของพวกเขาจบลงตอนอายุ 19 ปี หรืออาจจะก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ แล้วพวกเขาก็แต่งงาน มีลูก มีงานทำ ต้องสวมสูท ตอนนี้ แรงกดดันที่จะต้องทำตามความคิดของการเป็นผู้ใหญ่ผ่อนคลายลงนิดหน่อย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางสิ่งทำให้สังคมเราเด็กลง อย่างวิดีโอเกม และหนัง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่มีความเป็นเด็กทั้งหลาย อย่างซูเปอร์ฮีโรและยานอวกาศ ผมอายุ 43 ปี แต่ผมก็ยังเล่นวิดีโอเกมอยู่เลย ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในรุ่นพ่อแม่ผม จริงๆ แล้ว ผมก็ไม่ได้เล่นมันซักเท่าไหร่แล้ว ผมมัวแต่ยุ่งอยู่กับการเลือกเฟอร์นิเจอร์แอนธีคครับ!
Q:   คุณจะตะลุยผับได้กี่แห่งระหว่างการตะลุยผับล่ะ
A:   น่าจะซักเจ็ดแห่งล่ะมั้งครับ ผมชอบการนั่งแช่ในผับ สำหรับผม คุณจะออกไปเดินทำไมถ้าคุณอยากเมาล่ะครับ? ผมคิดว่าการตะลุยผับเกิดขึ้นเพราะมันเป็นวิธีที่จะดื่มเหล้า 12 ไพน์โดยไม่ต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าคุณเป็นคนติดเหล้าน่ะครับ! มันเหมือนกับว่า ‘ถ้าเราย้ายจากผับหนึ่งไปอีกผับหนึ่ง มันก็เป็นเหมือนภารกิจ’ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว สิ่งที่คุณทำก็แค่ดื่มกระจายเท่านั้นเอง คนที่ไปตะลุยผับอาจจะมีปัญหาเพราะพวกเขาอยากจะเมามาย ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนักแสดงตลกและเขาก็มีคำพูดดีๆ เกี่ยวกับการที่คนพูดว่าพวกเขาดื่มกันยกใหญ่เพราะกระหายน้ำ ผมชอบดื่มชานะครับ แต่ผมก็คงจะไม่ดื่มชา 12 ไพน์หรอกครับ
Q:   การสร้างตัวละครแกรีมีความยากที่ตรงไหน
A:   ผมชอบแกรีครับ ผมพยายามอย่างที่สุดที่จะทำให้เขาน่ารำคาญที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และผมก็อยากให้เขาเป็นผู้ร้ายของเรื่อง เป็นคนเลวยิ่งกว่าพวกเอเลียน ภัยเอเลียนนั้นเป็นของจริง พวกเขามีความตั้งใจดีและอยากจะทำให้โลกใบนี้เป็นสถานที่ที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่พวกเขาทำต้องแลกกับอิสรภาพของเรา ซึ่งพวกเขาทำได้ด้วยการควบคุมเรา แต่พวกเขาอยากทำให้โลกนี้เป็นสถานที่ที่ดีกว่าเดิม เพื่อที่เราทุกคนจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยสตาร์บัคส์ นี่คือสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่แกรีไม่ต้องการแบบนั้นและคุณก็ต้องคิดว่า ท้ายที่สุดแล้ว เขาควรจะปล่อยให้พวกเขาทำในสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่รึเปล่า มันจะดีกว่าสำหรับมนุษยชาติรึเปล่าถ้าเราไม่ตอบโต้กลับ เราจะยอมให้ตัวเราถูกครอบงำโดยเผ่าพันธุ์เอเลียนรึเปล่า ผมชื่นชอบไอเดียที่ว่าแกรีทำให้เกิดจุดจบของโลกใบนี้และมันอาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้ ผมชื่นชอบการที่ตอนจบหนังของเรามีความคลุมเครือ เหมือนอย่าง Shaun of the Dead ใช่ครับ เอ็ดตายแล้วก็จริง แต่เขาก็มีความสุขกว่าเดิมเพราะเขาไม่จำเป็นต้องไปหางานทำ เขาไม่จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบและเขาก็สามารถนั่งเล่นวิดีโอเกมได้เรื่อยๆ ในตอนจบของ Hot Fuzz สิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นกลายเป็นเหมือนรัฐฟาสซิสต์ครับ ฟาสซิสต์แบบที่นิโคลัส แองเจิลถูกกล่าวหา และเป็นในท้ายที่สุด เขาสวมถุงมือสีดำและมันก็กลายเป็นรัฐตำรวจ ซึ่งกลายเป็นบทสรุปที่คลุมเครือ สำหรับหนังเรื่องนี้ จริงอยู่ว่าอารยธรรมที่เรารู้จักกันได้สิ้นสุดลงแล้ว มันไม่มีไฟฟ้า แต่อย่างน้อยที่สุด แกรีก็ไม่ดื่มอีกต่อไปแล้วและเขาก็ได้คลุกคลีกับเพื่อนเก่าด้วยครับ!
Q:   การคิดตอนจบของหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องยากรึเปล่า มันมีตอนจบที่เป็นไปได้หลายอย่างรึเปล่า
A:   ไม่เลยครับ สำหรับหนังอีกสองเรื่อง เรามีตอนจบก่อนที่เราจะมีตอนกลางเรื่องเสียอีก ในหนังเรื่องนี้ เราเห็นจุดหมายปลายทางที่เราอยากไปให้ถึง เราอยากให้แกรีได้อยู่กับเพื่อนเขาเวอร์ชันหนุ่มกว่า ตอนแรก เราคิดว่าเราจะต้องใช้การเดินทางย้อนเวลา แต่มันเต็มไปด้วยปัญหา เรื่องราวการเดินทางข้ามเวลามักเต็มไปด้วยช่องโหว่เสมอ เราก็เลยคิดวิธีอื่น ซึ่งเราก็เลยคิดวิธีการบุกของเอเลียนอย่างในหนังเรื่องนี้  เราพบว่าถ้าใช้วิธีนี้ อย่างน้อยที่สุด เขาก็จะได้อยู่กับเพื่อนเก่าของเขาในตอนจบ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เราต้องการไปให้ถึงครับ
Q:   คุณตัดสินใจเลือกดนตรีสำหรับซาวน์แทร็คหนังเรื่องนี้ได้อย่างไร
A:   ผมกับเอ็ดการ์เป็นคนเลือกครับ ในฐานะมือเขียนบท นั่นเป็นงานของเรา เราเป็นคนยืนกรานว่าจะใช้เพลงไหน เราตัดสินใจเลือกใช้ดนตรีในช่วงห้าปีระหว่าง 1987-1992 และทุกเพลงที่ไม่ได้เป็นดนตรีประกอบ เว้นแต่เพลง Alabama Song โดยเดอะ ดอร์ส มาจากยุคนั้น เราชื่นชอบซุป ดรากอนส์, แฮปปี้ มันเดย์ส, เดอะ สโตน โรสเซส แล้วเราก็ใช้ไคลีย์ มิน็อค  แล้วเราก็เลือกใช้ป๊อป ดิสโก้จากงานของแซงต์เอเตียง, เดอะ บิวตี้ฟูล เซาธ์, เดอะ ซันเดย์ส ซึ่งเป็นเพลงที่ผมชอบจริงๆ และเพลง 20 Seconds to Comply โดยซิลเวอร์ บุลเล็ต ซึ่งเป็นดนตรีประกอบการต่อสู้ที่บีไฮฟ์ ซึ่งเป็นการต่อสู้สุดบ้าคลั่งที่นิคหยิบม้านั่งออกมา มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเราจริงๆ ในความเป็นจริงแล้ว เทปเพลงที่แกรีน่าจะอัดไว้ก็กลายเป็นดนตรีประกอบหนังเรื่องนี้ มันเป็นเทปที่อยู่ในรถของเขาตั้งแต่ปี 1990 แล้วครับ!
Q:   สำหรับตัวละครพวกนี้ คุณได้เขียนบทขึ้นมาเพื่อนักแสดงคนใดคนหนึ่งรึเปล่า แล้วคุณได้นำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตคุณมาใช้มากน้อยแค่ไหน
A:   มีตอนหนึ่งที่เรากำลังเขียนบทหนังเรื่องนี้ ที่เราใช้ชื่อของพวกเขาเป็นชื่อตัวละคร เราสลับชื่อปีเตอร์สำหรับ ‘เอ็ดดี้ มาร์สัน’ และเราก็ใช้ ‘มาร์ติน ฟรีแมน’ แทนโอลิเวอร์ ‘แพ็ดดี้ คอนซิไดน์’ แทนสตีเวน แล้วก็ผมกับนิค เราอยากให้เอ็ดดี้รับบทปีเตอร์เพราะเอ็ดดี้เล่นเป็นคนไม่ดีมาโดยตลอด แต่ปีเตอร์เป็นคนที่น่ารักมากๆ แล้วเราก็เคยร่วมงานกับแพ็ดดี้และมาร์ตินมาก่อน ซึ่งเราอยากให้มาร์ตินมีบทบาทที่สำคัญกว่าในหนังเรื่องนี้เพราะเขาอยู่ใน Shaun of the Dead แค่สองวินาที และใน Hot Fuzz สามนาที แต่ในเรื่องนี้ เขาอยู่ตลอดทั้งเรื่องเลยครับ
Q:   ทีมนักแสดงทุกคนทำตัวเหมือนเป็นเพื่อนกันและล้อกันเล่นแบบเพื่อนทำกันรึเปล่า
A:   ตลอดเวลาเลยครับ! ในกองถ่าย เราเรียกมาร์ติน ฟรีแมนว่า ‘มาร์ตินน้อย’ [ด้วยสำเนียงนิวซีแลนด์] เพราะผู้ออกแบบท่าเต้นของเราเคยพูดไว้ว่า ‘มาร์ตินน้อยทำนี่หน่อยได้มั้ย...’ ดังนั้น หลังจากนั้น เราก็ตัดสินใจเรียกเขาว่ามาร์ตินน้อยด้วยสำเนียงนิวซีแลนด์ ดังนั้น เขาก็คือมาร์ตินน้อยสำหรับเรา ผมคิดว่าเอ็ดการ์หงุดหงิดกับเรื่องนี้หลายครั้งตอนที่พวกเราห้าคนอยู่ด้วยกัน เราเป็นเหมือนเด็กๆ เลย มันเลวร้ายมาก บางครั้ง ผมก็เสียใจที่ทำให้เรื่องวุ่นวายเหลือเกิน แพ็ดดี้ คอนซิไดน์น่ะร้ายที่สุด เขาจะพูดจ้อไม่หยุดจนกระทั่งก่อนแสดง เขาจะพูดสิ่งที่น่าฉุนมากๆ ก่อนหน้าการสั่งแอ็กชัน ดังนั้น ในตอนเริ่มต้นฉาก เราก็ได้แต่พยายามไม่นึกถึงสิ่งที่เขาเพิ่งพูดไปน่ะครับ เราเป็นเด็กกันมากๆ เลย
Q:   เมื่อไหร่ที่คุณนึกถึงหนังพวกนี้ [Shaun, Hot Fuzz, The World’s End) ว่าเป็นไตรภาค คุณเริ่มต้นจากการคิดว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้รึเปล่า
A:   ไม่เชิงหรอกครับเพราะเราไม่ได้ทะนงตนถึงขนาดที่เราคิดว่าเราจะได้สร้างหนังอีกเรื่อง! เรารู้สึกโชคดีมากๆ ที่ได้สร้าง Shaun of the Dead และเราก็คิดว่าพอคนรู้เรื่องนี้แล้ว เราจะไม่ได้สร้างหนังอีก! แต่มันก็ไปได้สวย และ Hot Fuzz ก็ถูกสร้างขึ้น เราได้ใส่สิ่งที่อ้างถึง Shaun of the Dead เข้าไปใน Hot Fuzz เล็กน้อยเพราะเราชื่นชอบการสร้างซีเควลทางธีมขึ้นมาเพื่อที่หนังแต่ละเรื่องจะให้ความรู้สึกเชื่อมโยงกัน แต่มันไม่ได้เป็นซีเควลโดยตรง แล้วพอเราสร้าง Hot Fuzz เราก็ตระหนักว่าเราสามารถสร้างหนังอีกเรื่องได้และหนังทั้งสามเรื่องก็สามารถมีประเด็นที่เชื่อมโยงกันได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของธีม เป็นมุขเกี่ยวกับรั้วหรือการปรากฏตัวของรถไอศกรีมบางคัน...
Q:   คุณมีความสัมพันธ์อะไรกับบ้านเกิดคุณบ้าง
A:   ตอนนี้ ผมอยากกลับไปบ้านเกิดครับ มีบางครั้งตอนที่ผมยังหนุ่มที่ผมคิดว่าผมจะทิ้งมันไว้เบื้องหลังเพราะมันเล็กเกินไป แต่ตอนนี้ ผมอยากจะกลับไปที่นั่นเพราะมันทำให้เขานึกถึงการเป็นเด็กเล็กๆ ซึ่งเป็นเรื่องดีครับ ผมกลับไปเยี่ยมแม่และครอบครัวผมในกลอสเตอร์ ซึ่งผมชอบมันมาก แต่ผมก็แทบไม่ได้กลับไปที่นั่นซักเท่าไหร่ ผมพบว่ามันเป็นเรื่องยากมากที่จะรีดเวลาเพื่อขับรถไปที่นั่นสองชั่วโมง แม่ของผมมาหาผมที่บ้านผมตลอด ซึ่งนั่นเป็นวิธีที่ผมคงสัมพันธ์กับเมืองกลอสเตอร์เอาไว้ครับ
« Last Edit: December 03, 2013, 06:48:49 PM by admin »