Fact Sheet
วันวัณโรคสากล ปี 2557
“วัณโรค ค้นให้พบ จบด้วยหาย”
วัณโรค เป็นปัญหา ด้านสาธารณสุขที่สำคัญของโลก และเป็นหนึ่งในสามโรค ซึ่งได้แก่ โรคเอดส์ วัณโรค และ มาลาเรียที่ทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตมากที่สุด ซึ่งจากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2555 พบว่าประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มยี่สิบสองประเทศ ที่มีปัญหาด้านวัณโรคสูง และคาดว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ทุกประเภทประมาณ 80,000 คน หรือ 119 ต่อแสน ประชากร ซึ่งผลสำเร็จของการรักษา(รักษาครบถ้วนและหาย) คิดเป็นร้อยละ 84 และ อัตราการตายคิดเป็นร้อยละ 7 และผู้ป่วยวัณโรค ที่ติดเชื้อ เอช ไอ วีร่วมด้วยร้อยละ 14 จากผลกระทบของการระบาดของเชื้อ HIV ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคมีมากขึ้น อัตราการตายสูงขึ้นและมีปัญหาวัณโรคดื้อยาเพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ป่วยวัณโรคที่ดื้อยาหลายขนาน 2,190 ราย
ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อการควบคุมวัณโรคตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก โดยนำยุทธศาสตร์ DOTS มาดำเนินการทั่วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และบรรลุเป้าหมาย การค้นหาผู้ป่วยวัณโรค มาตั้งแต่ปี 2546 ในขณะที่ผลการรักษาของผู้ป่วยที่เสมหะพบเชื้อ เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น จากร้อยละ 75 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 83 ในปี พ.ศ. 2550 ถึงแม้ว่าในภาพรวมปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาระบบสาธารณสุขขึ้นอย่างมาก ตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมวัณโรคของไทย เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ 2558 และก้าวสู่เมืองไทยปลอดวัณโรค โดยให้ความสำคัญด้านการค้นหาและ การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่จากข้อมูลข้างต้น ผู้ป่วยวัณโรคทุกประเภทรายใหม่นั้นยังมีสูงมาก โดยเฉลี่ยในแต่ละปีประมาณ 80,000 คน และหนึ่งในสาม หรือ 26,000 คน ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการเท่าที่ควร ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ผู้ให้บริการขับรถสาธารณะ แรงงานข้ามชาติ ผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเหล่านี้คือประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยเป็นวัณโรคมากที่สุด นอกจากนี้ในกลุ่มเสี่ยงของแรงงานข้ามชาติทุกประเภทซึ่งมีจำนวนประชากรประมาณ 3,000,000 – 3,500,000 คน แต่มีรายงานจำนวนของผู้ป่วยวัณโรคจากคนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการรักษาเพียง 2,000 รายเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบของการระบาดของเชื้อ HIV ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคมีมากขึ้น อัตราการตายสูงขึ้นและมีปัญหาวัณโรคดื้อยาเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ดังจะเห็นได้ว่าปัญหาเกี่ยวกับวัณโรค ยังคงเรื้อรังและต้องการการควบคุมและสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม โดยวันที่ 24 มีนาคมของทุก ๆ ปี ทั่วโลกจะมีการจัดวันรณรงค์วัณโรคสากล เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาการระบาดของวัณโรค ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของประชากรโลก โดยปีนี้มีคำขวัญระดับสากลในวันจัดงานภายใต้ Stop TB Partnership คือ “Reach the three million: A TB test, Treatment and cure for all” แปลได้ว่า “นำประชากรทั้งสามล้านคนเหล่านั้น มาตรวจ มารักษาให้หายขาดทุก ๆ ราย” โดยมาจากแนวความคิดที่ว่า มีประชากรเก้าล้านคนต่อปีทั่วโลกที่ป่วยเป็นวัณโรค โดยหนึ่งในสามหรือประมาณสามล้านคนมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการการตรวจรักษาและบางรายไม่ได้รับการบริการตามสมควร ซึ่งทางกลุ่มงานภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านวัณโรค ได้เสนอคำขวัญที่สอดคล้องกับสากลและสถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย จึงมีแนวคิดการจัดงานในระดับสากลในภาษาไทยว่า “วัณโรค ค้นให้พบ จบด้วยหาย”
โดยงานรณรงค์จะมีขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557 เวลา 11 .00 – 20.00 น. ณ ลาน feel fit ศูนย์การค้า ฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิต ซึ่งก่อนถึงวันงานได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ย่อยก่อนถึงวันงาน ตามสถาบันการศึกษา ช่องทางสื่อ ช่องทางของโซเซียลเน็ตเวิร์ค ติดโปสเตอร์และสื่อรณรงค์ตามสถานที่ หรือขนส่งสาธารณะ ในกรุงเทพมหานคร เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
แหล่งที่มาของข้อมูล
WHO (2013). Thailand TB country profile.
https://extranet.who.int Bureau of Tuberculosis (2014). Slide Presentation. National Strategic Plan for TB Control in Thailand, 2015-2019
WHO, Thai Ministry of Public Health and European Union (2013). Final report of TB Reviewing. Forum on international migration and health in Thailand: status and challenges to controlling TB. Bangkok, 4‐6 June 2013.
สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค (2555). คู่มือการดำเนินโครงการ “การส่งเสริมให้เข้าถึงการดูแลรักษาและควบคุมวัณโรคอย่างมีคุณภาพ และการเสริมสร้างพลังชุมชนเพื่องานวัณโรคในประเทศไทย. เจริญมั่นคงการพิมพ์.